บรรดา ‘ความสูญเสีย’ ที่เกิดขึ้นบนถนนการเมืองไทย ส่วนมากเกิดจากการล้อมปราบในการชุมนุม ทั้งจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ หรือคู่ขัดแย้งซึ่งเป็นประชาชนด้วยกัน แต่สำหรับความสูญเสียของ ‘เนติพร เสน่ห์สังคม’ หรือ ‘บุ้ง ทะลุวัง’ นักเคลื่อนไหววัย 27 ปี ผู้ต้องหาคดีทางการเมือง ที่เสียชีวิตระหว่าง ‘อดอาหารประท้วง’ เรียกร้องสิทธิประกันตัวในเรือนจำ กลายเป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความเคลือบแคลงให้สังคมหลายประการ
ทั้ง มติการเสียชีวิตในระหว่างการถูกควบคุมภายใต้ระบบยุติธรรม และสภาวะทางอารมณ์ของผู้คน ที่แตกออกไปหลายแง่มุมจนน่าเป็นห่วง
เป็นคำถามในหัวของใครหลายคนว่า ‘ความตาย’ ของนักขับเคลื่อนคนหนึ่ง (หรือความตายของมนุษย์คนหนึ่ง) ท่ามกลางการสรรเสริญและคำดูหมิ่น จะสร้างแรงตกกระทบให้กับสังคม และการเมืองไทย ได้ในมิติไหนบ้าง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่โลกเจริญขีดสุดทางความคิดและเทคโนโลยี การจากไปอย่างไม่หวนคืน ภายใต้ ‘ระบบ’ และการเรียกร้องแบบ ‘อหิงสา’ (Nonviolence) มันกำลังบอกสภาพของสังคมไทยออกมาในรูปแบบใด
‘บุ้ง ทะลุวัง’ ผู้เสียชีวิตรายแรกจากการ ‘อดอาหารประท้วง’
การเรียกร้องสิทธิ์ของ ‘บุ้ง’ ดำเนินการผ่านวิธี ‘อดข้าว’ ซึ่งเป็นวิธีขัดขืนโดยปราศจากความรุนแรง (มากที่สุดวิธีหนึ่ง) เป็นแนวทางที่ใช้ในประท้วงมายาวนาน เป็นที่ยอมรับสูงในแง่ของ ‘วิธีการแบบสันติชน’ สามารถศึกษาเรื่องราวในอดีต ผ่านบุคคลสำคัญของโลก ที่เลือกใช้วิธีการดังกล่าว เพื่อสร้างน้ำหนักและพลังของการเรียกร้อง อาทิ ‘มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์’ (Martin Luther King) ‘เนลสัน แมนเดลลา’ (Nelson Rolihlahla Mandela) หรือ ‘มหาตมะ คานธี’ (mahatma gandhi)
ในเมืองไทย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 มีบุคคลชั้นแกนนำหลายคน เลือกใช้วิธีการเรียกร้องแบบอดอาหาร อาทิ ‘พลตรีจำลอง ศรีเมือง’ และ ‘เรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร’ ซึ่งในบรรดาผู้ประท้วงในลักษณะดังกล่าว ยังไม่มีใครเผชิญหน้ากับความตายมาก่อนทั้งสิ้น ดังนั้น ‘บุ้ง ทะลุวัง’ จึงเป็นกรณีแรกของประเทศไทย ที่เสียชีวิตจากการอดอาหารประท้วง
ปรากฏการณ์ของ ‘บุ้ง’ กับนัยทางสังคม
‘ศาสตราจารย์กิตติคุณ สุริชัย หวันแก้ว’ นักรัฐศาสตร์และสันติวิทยาอิสระ อ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นกับ ‘เนติพร’ ที่สื่อกับสังคม ว่า การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ใช้วิธีการต่อสู้แบบอหิงสา ถือว่าใตร่ตรองและคิดมาดีแล้ว ซึ่งกระบวนการดังกล่าวได้รับการพิสูจน์จากสากล ว่าเป็นหนทางการตอบโต้ผู้ถูกประท้วงที่มีประสิทธิภาพ เพราะเกี่ยวข้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และสร้างแรงตกกระทบโดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลัง
แต่สำหรับประเทศไทย การแก้ปัญหากับผู้เห็นต่างทางการเมือง หรืออุดมการณ์ที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับรัฐ ยังไร้ซึ่งความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะการจับขังเยาวชนหรือนักเคลื่อนไหว โดยไม่ให้ประกันตัว ซึ่งแสดงให้เห็นถึง ‘ความอ่อนแอเชิงศีลธรรม’ ของระบบที่ดำรงอยู่ ณ ขณะนี้
นักสันติวิทยา แสดงความกังวลต่อภาวะทางสังคม ที่มักป้ายสีทางการเมือง กับผู้ที่มีอุดมการณ์แตกต่างจากตนเอง รวมทั้งยังตั้งคำถามกับกระบวนการยุติธรรม ที่อาจมีช่องโหววก่อให้เกิดความสูญเสีย ทั้งๆ ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในระบบของรัฐ ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลกำลังสะท้อนภาพความเป็นสังคมที่น่าห่วงกังวล แม้จะอยู่ในช่วงการบริหารงานแผ่นดิน ภายใต้การนำของรัฐบาลที่มาจากเสียงของประชาชน
“การมีคนตายท่ามกลางสังคมที่กำลังบอก ว่าจะต้องมีอนาคตที่ดี มันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะบอกว่าบุ้งสมควร (ตาย) นอกจากสังคมที่เป็นอยู่ เป็นสังคมที่มีแต่ความใจดำ แม้เขาจะไม่ใช่ลูกหลานเรา แต่เขาเสียชีวิตในวัยที่ยังไม่ถึงคราว ต่อจากนี้คงต้องมีการตรวจสอบกระบวนการยุติธรรมอย่างจริงจัง ว่ามันมีความบกพร่องถึงขั้นนี้ได้อย่างไร”
สุริชัย หวันแก้ว กล่าว
สุริชัย ขยายความต่อว่า แม้บางคนจะมองสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เนติพรตัดสินใจดำเนินการเอง จนแพทย์ไม่สามารถทำการรักษาได้ทัน แต่ทุกอย่างเกิดขึ้นภายใต้ระบบการดูแลของยุติธรรม ซึ่งระหว่างทางอาจมีแนวทางการแก้ปัญหา ไม่ใช่เพิกเฉยต่อการกระทำ จนกระทั่งเกิดความสูญเสีย ดังนั้นต้องมีคนรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้
ขณะที่ ‘พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ’ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ผ่านกระบวนตุลาการ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเนติพร มาจากกระบวนการศาล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ไม่สามารถแตะต้องได้ ผนวกกับความเชื่อมโยงประเด็นข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ส่งผลให้ต่อกระบวนจำกัดว่าเป็นคดีร้ายแรง และถูกเชื่อมโยงว่ามีหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐเข้ามาพัวพันด้วย
ไม่ว่าจะขั้นตอนการออกหมายจับ - คุมขังไว้ในเรือนจำ และผู้ต้องขังไม่ได้รับสิทธิ์ยื่นขอประกันตัว ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง มากกว่าการใช้กฎหมาย เพื่อยุติข้อพิพาท ซึ่งตอนนี้กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพ คือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนที่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างไม่สิ้นสุด
ส่วนกระแสสังคมหลังการเสียชีวิตของเนติพร นักประชาสังคมมองว่า มีความคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2516 ที่มีการใช้ภาวะทางอารมณ์ - ความเชื่อ นำหลักยุติธรรมและสิทธิความเป็นมนุษย์ ทำให้ความสูญเสียที่ไม่ควรเกิดขึ้นในเรือนจำถูกมองข้าม และกลายเป็นเรื่องขบขันสำหรับผู้คนบางกลุ่มทันที
พรเพ็ญ ให้ความเห็นว่า การแสดงออกผ่านท่าทีซ้ำเติม แสดงให้เห็นถึงระดับคุณธรรมที่ต่ำ ผิดกับการประชาสัมพันธ์ที่รัฐบาลแสดงต่อสังคมโลก ในด้านความเท่าเทียมมิติต่างๆ แต่ในความเป็นจริงสังคมไทยควรมีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมมากกว่านี้ โดยเฉพาะที่ปรากฎชัดเจนตั้งแต่ขั้นตอนการแจ้งความเอาผิด ไปจนถึงการออกหมายจับ แสดงถึงปัญหาของชาติ เรื่องวางมาตราฐานการเอาผิด กับกลุ่มผู้มีความคิดที่หลากหลาย
‘นิรโทษกรรม’ คือทางออก ?
ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของเยาวชน เหมือนเป็นการ ‘ใช้ไม้ซีกงัดไม้ซุง’ ไม่มีอำนาจใดในการต่อรองทั้งสิ้น จึงเกิดภาพการอดอาหารของผู้ต้องขังทางการเมืองหลายคน ซึ่งเป็นการต่อสู้โดยใช้หลักอารยะขัดขืน เพียงประการเดียวที่ผู้ถูกคุมขังจะสามารถทำได้
ส่วนประเด็นการขับเคลื่อนให้เกิด ‘กฎหมายนิรโทษกรรม’ ก่อนหน้านี้พรเพ็ญ ไม่เห็นด้วยกับการใช้คำว่า ‘นิรโทษกรรม’ เพราะมีนัยเรื่องการกระทำความผิด และการได้รับอภัยโทษ - เว้นโทษ แต่ ‘ข้อหาคดีความทางการเมือง’ ส่วนหนึ่งเกิดจาก ‘การกระทำที่ไม่ผิด’ ซึ่งมาจากการใช้ ‘อคติ’ ในกระบวนการยุติธรรม ส่งผลให้มีผู้ตกเป็น ‘เหยื่อทางการเมือง’ หลายคน ต้องประสบกับชะตากรรมอย่างไม่เป็นธรรม จึงเห็นสมควรในการผลักดัน เพื่อมอบอิสรภาพให้กับผู้ต้องขังที่ปราศจากมลทิน เชื่อว่ากรณีการเสียชีวิตของบุ้ง จะทำให้เกิดความคืบหน้ามากขึ้น ทั้งในส่วนคดีการเมือง และคดีสิทธิมนุษยชน
พรเพ็ญ ย้ำว่าภาคประชาชนได้พยายามผลักดันกลไกที่เรียกว่า ‘ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน’ (Transitional Justice) ซึ่งภาคการเมืองมีส่วนสำคัญมาก ต่อการค้นหาความจริง - การเยียวยาผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และการผลักดันกฎหมายเพื่อความเปลี่ยนแปลงด้วย
ดังนั้นการขับเคลื่อนกฎหมายนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมือง จะต้องทำอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่การหาเสียง หรือทำแต่นโยบายเรือธงของพรรค
“พรรคการเมืองมัวแต่คิดว่าจะทำการเมืองหน้าตักของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่เคยคิดถึงเรื่องอดีต อย่างพรรคเพื่อไทยที่ตอนนี้เป็นรัฐบาล ไม่เคยคิดถึงผู้ลี้ภัย หรือกรณีเมษายน - พฤษภาคม 2553 ไม่มีการพูดถึงเลย ทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้เสียสละชีวิต ดิฉันจึงมองว่าพรรคการเมืองในลักษณะนี้ เข้ามาจากอำนาจเบื้องหลัง และไม่ได้เป็นพรรคการเมือที่เป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ”
พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กล่าว
ขณะที่ สุริชัย มองว่า สังคมไทยในรอบ 20 ปี มีหลายประเด็นความขัดแย้งเกิดขึ้นหลายกรณี ซึ่งผู้อำนาจมักใช้อำนาจเกินขอบเขต ที่เห็นชัดเจนคือกระบวนการ ‘อุ้มหาย’ หรือทำให้เกิดการ ‘สังเวยชีวิต’ ซึ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากขึ้น เสมือนราดน้ำมันลงกองไฟ ส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์การเมือง ที่แบ่งขั้วออกเป็นหลายฝ่าย นำไปสู่การผลักดันร่างนิรโทษกรรม ซึ่งล้วนมาจากปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคมทั้งสิ้น
นักสันติวิทยา มองว่า สังคมไทยมักแก้ปัญหาโดยการใช้อำนาจทางกฎหมาย เล่นงานฝ่ายตรงข้ามอยู่เสมอ ซึ่งการเมืองแบบนี้เป็นลักษณะของ ‘ผู้มีอำนาจทางการเมือง’ คือ ‘ผู้ให้ความยุติธรรม’ เท่านั้น ไม่ได้ช่วยให้ประเทศร่มเย็น
ดังนั้นสังคมต้องเข้าใจว่าเรื่องนิรโทษกรรมอาจเป็นกระดุมเม็ดที่ 2 แต่กระดุมเม็ดแรก คือการแก้ปมความขัดแย้งในระดับภาคการเมืองและสังคม โดยเฉพาะนักการเมืองและประชาชน จะต้องร่วมสร้างสภาพแวดล้อมความเป็นประชาธิปไตย เคารพต่อเรื่องสิทธิและเสรีภาพก่อนเป็นขั้นแรก
ส่วนข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นในเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรม ต้องยกให้อยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ทางการเมือง อันหมายถึงเป็นผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชน ซึ่งต่อจากนี้จะกลายเป็นโจทย์สำคัญ ว่ากระบวนการออกกฎหมายจะตอบโจทย์การอยู่ร่วมกันในอนาคตของสังคมทั้งสังคม หรือไม่
แม้ในวันที่มีชีวิตอยู่ จะมีทั้งคนรักและเกลียดชัง แต่หวังว่าการจากไปของ ‘บุ้ง’ จะต้อง ‘ไม่สูญเปล่า’ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับกระบวนการยุติธรรม ที่ถูกตั้งข้อสังเกตในเรื่อง ‘ความเที่ยงธรรม’