‘อังคณา’ กลับลำ! ถอนญัตติ ‘ชั้น14 ป่วยทิพย์’

18 ก.พ. 2568 - 04:40

  • ‘อังคณา’ กลับลำ! ถอนญัตติ ‘ชั้น14 ป่วยทิพย์’ อ้างข้อมูลยังไม่เพียงพอ ต้องศึกษากฎหมายอภิปรายระหว่าง ‘ป.ป.ช.’ สอบได้หรือไม่

  • เผย ยื่นอีกครั้งสมัยประชุมหน้า ปัดกลัวถูกฟ้อง แต่ต้องรอบคอบ เพราะคนแตะเรื่องนี้ ถูกโต้กลับทุกครั้ง

  • จี้ ‘ทักษิณ-ยธ.’ แจงกระจ่าง

angkana_18feb2025_SPACEBAR_Hero_aceaa4fc1c.jpg

อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา(สว.) เปิดเผยว่า ได้ถอนญัตติ เรื่องขอให้วุฒิสภาพิจารณาหาแนวทางปฏิบัติในการให้สิทธิ์แก่ผู้ต้องขังที่ได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากข้อมูลตอนนี้ยังไม่เพียงพอ ขาดข้อมูลด้านการแพทย์ โดยขอข้อมูลแล้วถูกอ้างเป็นสิทธิของผู้ป่วย ประกอบกับเวลามีใครมาพูดหรือสงสัยในเรื่องนี้ ก็มักจะถูกตอบโต้กลับ จึงมองว่า ควรจะมีข้อมูลที่เพียงพอมากกว่านี้ อีกทั้งมีหลายคนติงว่า เรื่องดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้นของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จึงต้องดูว่า ข้อกฎหมาย ตัดอำนาจ สว. ในการอภิปรายเรื่องนี้หรือไม่ ยืนยันว่า ไม่ได้กลัวเรื่องของการถูกฟ้องร้อง เพราะทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาตลอด และตอนนี้ดำรงตำแหน่งวุฒิสภา เราจึงให้ความเห็นเรื่องนี้ในทางวิชาการ ไม่ได้โจมตีบุคคล จึงคิดว่า เรื่องดังกล่าวไม่ควรนำมาซึ่งการถูกฟ้องร้อง เพราะความเห็นในเชิงวิชาการ ควรได้รับความเคารพ 

อังคณา ยังกล่าวถึงจุดยืนของเรื่องนี้ว่า เห็นตรงกันกับรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ระบุว่าการที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นอนอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจ 181 วัน โดยที่ไม่มีการย้ายเข้าออก จึงสงสัยว่า อาการไม่ดีขึ้นเลยหรือ และมองว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาพยายามหาข้อมูล และขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่มักจะถูกอ้างว่าเป็นข้อมูลของผู้ป่วย ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ส่วนตัวมองว่า ผู้ที่ถูกตั้งข้อสงสัยควรจะสละสิทธิ์นี้ เพื่อเปิดเผยข้อมูลให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เพราะเรื่องนี้สาธารณะคลางแคลงใจมาก

“เราก็งงอยู่ว่า 180 วัน รักษาโดยที่ไม่ได้ออกมาเลยหรือ และพอออกมาแล้ว ก็ดูไม่เหมือนผู้ที่เคยป่วยวิกฤตมาก่อน จึงเป็นคำถามว่า หากเป็นกรณีผู้ป่วยรายอื่น จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันแบบนี้หรือไม่”

อังคณา กล่าว

อังคณา กล่าวว่า จุดยืนและเป้าหมายที่เสนอญัตตินี้นั้น มองว่า ผู้ป่วยทุกคน ควรได้รับสิทธิ์ในการรักษาอย่างเท่าเทียมกัน ควรเปิดโอกาสไปคุมขังที่อื่น ที่ไม่ใช่เรือนจำ เช่น กรณี เนติพร เสน่ห์สังคม ที่ควรได้รับการรักษาใกล้ชิดกับแพทย์เฉพาะทาง ทั้งนี้ สำหรับญัตติดังกล่าว น่าจะกลับมายื่นได้อีกครั้งในสมัยประชุมหน้า 

เมื่อถามว่า คาดหวังการทำหน้าที่ของ ป.ป.ช. ในการเคลียร์ประเด็นดังกล่าวมากน้อยแค่ไหน อังคณา กล่าวว่า ก็ต้องมั่นใจ เพราะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งองค์กรอิสระได้ตรวจสอบแล้ว และต้องดูว่า ป.ป.ช. สามารถเข้าถึงข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นข้อมูลส่วนตัวได้มากน้อยแค่ไหน และต้องดูว่า ป.ป.ช. มีอำนาจเรียกข้อมูลได้มากกว่ากรรมสิทธิฯ หรือไม่ 

ส่วนเรื่องนี้จะสามารถไขข้อสงสัย หรือสุดท้ายจะเงียบไป อังคณา กล่าวว่า ปัญหาคือเวลาที่สังคม หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมา ก็จะถูกตอบโต้ อย่างคราวที่แล้ว พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ออกมาพูดเรื่องนี้ก็ถูกพูดลอยๆ ว่า ประเทศไทยไม่มี พล.ต.อ.หญิง ซึ่งมันไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเลย และสุดท้ายก็ยังคงมีความคลุมเครือส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้กระทรวงยุติธรรม และ_ทักษิณ ควรออกมาชี้แจง เพื่อให้เป็นมาตรฐานคุ้มครองคนทุกคนอย่างเท่าเทียม_

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์