ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 นายอนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ อดีต สส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้มีคำพิพากษาสั่งจำคุก 6 ปี ในคดีตบทรัพย์เรียกรับเงิน 5 ล้าน จากนายศักดิ์ดา วิเชียรศิลป์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนนายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการ ป.ป.ช. พร้อมพวกพนัก งานไต่สวนของป.ป.ช.รวม 10 คน ในคดีดังกล่าว ฐานความผิดเป็นเจ้าพนักงานไต่สวนโดยมิชอบ
อนุรักษ์ กล่าวว่า จากกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กล่าวหาว่าตนเรียกรับเงิน 5 ล้านบาทจากนายศักดา วิเชียรศิลป์ อดีตอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา แต่หลังจากนายศรีสุวรรณ จรรยา ถูกดำเนินคดีในคดีตบทรัพย์อธิบดีกรมการข้าว ตนได้กลับไปดูเอกสารหลักฐานที่นายศรีสุวรรณยื่นร้องเรียนตนเรื่องนี้ต่อ ป.ป.ช.
พบพิรุธว่านายศรีสุวรรณยื่นร้องวันที่ 10 ส.ค.63 นายนิวัติไชย เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ก็มีการสั่งรับคำร้องและดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ภายในวันเดียวกัน ทำให้เชื่อว่าถ้าไม่มีการเตรียมการกันไว้หรือถ้าไม่นัดกันมาก่อน ก็ไม่มีทางที่จะทำได้ โดยในวันรุ่งขึ้นนายศักดามาให้ถ้อยคำทันทีตามหนังสือเรียกที่นายนิวัติไชย ซึ่งขณะนั้นเป็นรองเลขาธิการ ป.ป.ช. เป็นผู้ลงนาม
ทั้งนี้ ตนเห็นว่าการดำเนินการของคณะกรรมการไต่สวนชุดดังกล่าวขณะดำเนินการนั้นยังไม่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการ ป.ป.ช ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วย ป.ป.ช.2561 มาตรา 50 วรรคแรก
“ผมได้ยื่นฟ้องเรื่องนี้ต่อศาลอาญาทุจริตภาค 1 ไปแล้ว แต่ที่ต้องมายื่น ป.ป.ช.เพราะเห็นว่าทั้งกรรมการ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ที่สำคัญเลขาธิการ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดขององค์กรนี้สามารถตรวจสอบไต่สวนข้าราชการ นักการเมืองได้ทุกวัน ดังนั้น ผู้จะปฏิบัติหน้าที่ต้องซื่อสัตย์ สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งนายนิวัติไชย ถูกผมฟ้องเป็นคดีที่ 4 แล้ว แต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้มีการไต่สวนเลย ทั้งที่เป็นเรื่องร้ายแรงยิ่งกว่าการทุจริต เพราะเจ้าหน้าที่ทั้งหมดใช้หน้าที่และอำนาจมาไต่สวนผมโดยที่ไม่ได้รับมอบหมาย จึงต้อง การให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนเรื่องนี้โดยเร็ว และสั่งให้นายนิวัติไชย หยุดปฏิบัติหน้าที่”
อนุรักษ์ ยังกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ได้เคยตั้งข้อสังเกตแล้วว่า เรื่องนี้เป็นขบวนการศรีสุวรรณ เพราะพอนายศรีสุวรรณมายื่นร้อง ก็จะมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของ ป.ป.ช. มารับเรื่องและดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งข้าราชการและนักการเมืองไม่ได้กลัวนายศรีสุวรรณ แต่กลัวเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.
“กรณีของตนจึงเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าร้องเรียนวันเดียวก็มีการแทงเรื่องให้ดำเนินการทันที พยานหลักฐานมีแค่เอกสารเพียงไม่กี่หน้า และก็ไม่ได้มีชื่อของตนอยู่ในเอกสารดังกล่าวเลย รวมถึงในวันรุ่งขึ้นก็มีการเรียกนายศักดามาให้ปากคำทันที การดำเนินการเป็นไปอย่างเร่งรีบทั้งที่ตามมาตรา 50 พ.ร.บ. ป.ป.ช.ให้เวลาคณะกรรม การไต่สวนในการดำเนินการรวม 180 วัน ทำให้มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้”
อนุรักษ์ กล่าวอีกว่า แต่ตนก็ไม่เคยถูกขบวนการของนายศรีสุวรรณตบทรัพย์ เพียงแต่มีพยานหลักฐานต่างๆ ที่ทำให้สามารถตั้งข้อสังเกตได้ และได้อุทธรณ์ประเด็นนี้ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เพราะไม่เห็นด้วยกับที่ในคำพิพากษาศาลฎีการะบุว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ใช้ดุลพินิจไต่สวนโดยชอบแล้ว