อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์กรณี ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ระบุทำนองว่า “กระทรวงมหาดไทยสามารถตัดไฟแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ได้เลย หากสัญญาซื้อขายไม่ถูกต้อง” ว่า หากกระทรวงมหาดไทยส่งไฟเข้าไปในตึกของแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์ ก็สามารถทำได้เลย แต่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ทำสัญญากับบริษัทที่ทางการพม่าและทางการรัฐบาลไทยรับรอง
ทั้งนี้ การตัดไฟทำง่ายมากสำหรับผู้จ่ายและผู้ตัด แต่คนประสานงานจ่ายไฟให้ประเทศเพื่อนบ้าน ต้องแจ้งให้เราหยุด ไม่ใช่เราฟังข่าวแล้วหยุดเลย เพราะจะถูกต่อว่า ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องจะเดือดร้อน
ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีเงื่อนไขสัญญาขายไฟอยู่ หากทำผิดสัญญา คนที่ลงนามสัญญา ครม.ให้การรับรองการขายไฟให้ประเทศเพื่อนบ้าน หน่วยงานที่ประสานเหล่านี้ต้องแจ้งกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผมยืนยันหลักการนี้ ถ้าแจ้งมาเราสับสวิตช์ทันที
จะไปรู้ได้ยังไงว่า ไฟเข้าไปในบ้านเลขที่เท่าไหร่ในชเวโกะโก, กระทรวงมหาดไทยเราข้ามชายแดนไปได้หรือไม่ ไม่มีคู่เจรจา
อนุทิน ชาญวีรกูล
เพราะฉะนั้นต้องขีดเส้นทำงานให้ชัดเจน จะได้รู้ว่าใครควรรับผิดชอบในส่วนงานด้านไหน ส่วนงานของผมถูกสั่งให้ขาย เมื่อผมถูกสั่งให้หยุด ก็จะหยุด
ก็สั่งมาสิ สั่งมาให้เรียบร้อย และผมก็ต้องรับฟังคำสั่งที่ถูกต้อง มีกฎหมายรองรับ ไม่ใช่ตามข่าว ความรู้สึก ความเชื่อ หรือการวิเคราะห์ของตัวเอง ไม่ใช่บริษัทส่วนตัวของผม จะไปสั่งอะไรได้ เพราะเป็นเรื่องของรัฐ และสนธิสัญญาต่างๆ
อนุทิน ชาญวีรกูล
ส่วนกรณี ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุว่า กระทรวงมหาดไทยก็เป็นหน่วยงานความมั่นคง สามารถชงเรื่องตัดไฟได้ อนุทิน กล่าวว่า ชงไปแล้ว กฟภ.ทำหนังสือไปแล้ว ซึ่งยังไม่ได้รับคำตอบ คำตอบคือสายลม ดังนั้น หากมีคำตอบจากหน่วยงานที่ทำเรื่องไป เราก็พร้อมดำเนินการทันที ต้องขีดเส้นให้ถูก
ท่านนายกฯ ยังไม่ได้สั่งผมเลย ผมจะไปทำตามคนอื่นได้ยังไง
อนุทิน ชาญวีรกูล
เมื่อถามว่า เรื่องนี้ต้องถึงนายกฯ หรือไม่? อนุทิน กล่าวว่า ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรายงานนายกฯ ซึ่งคิดว่าเรื่องสำคัญแบบนี้ต้องรายงาน คิดว่านายกฯ คงจะมีบัญชาอย่างใดอย่างหนึ่งมา เราถือเป็นผู้รับปฏิบัติ
ใคร ‘ส่งไฟฟ้า’ ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์นับเป็น ‘ผู้สมรู้ร่วมคิด’
ขณะที่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงสั่งการให้ตัดการขายไฟฟ้าไปยังประเทศเมียนมา หากพบว่ามีการส่งไฟฟ้าให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ว่า หากมีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคง ก็มีสิทธิที่จะร้องสั่งการให้ตัดไฟได้
หากเป็นเรื่องการตัดไฟ ก็อยู่ในดุลยพินิจเขาอยู่แล้วที่ต้องทำการ แต่หากเขาไม่มั่นใจว่าบริเวณตรงนี้มีปัญหาหรือไม่ ก็จะให้ฝ่ายความมั่นคงช่วยดำเนินการ ถือเป็นการดำเนินการตามปกติ ส่วนหน่วยงานด้านความมั่นคงที่หมายถึง คือ ทหาร ตำรวจที่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ผมเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ก็ต้องทำหน้าที่ประสานงาน
ภูมิธรรม เวชยชัย
เมื่อถามว่าหากกระทรวงมหาดไทยส่งเรื่องไปสามารถตัดไฟฟ้าได้ทันทีใช่หรือไม่? ภูมิธรรม ระบุว่า กระทรวงมหาดไทยก็ถือเป็นหนึ่งหน่วยงานของฝ่ายความมั่นคง ซึ่งต้องมีการหารือกัน เพราะอย่างที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็ได้มีการบูรณาการการทำงานทั้งหมด ซึ่งเราจะมีหน่วยบัญชาการที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ คือ กองบัญชาการหน่วยบัญชาการ สารตั้งต้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด หรือ นยบส. ซึ่งจะมีแม่ทัพภาคเป็นผู้ดูแล
เมื่อถามว่า ประเด็นดังกล่าวถือว่ากระทบกับความมั่นคงหรือไม่? ภูมิธรรม ระบุว่า หากพิจารณาในภาพรวม ก็จะดูว่ามีปัญหา แต่ประเด็นที่ 1 เรื่องตัดไฟที่จ่ายให้เมียนมา มี 2 จุด คือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว บริเวณนั้นไม่ได้มีการตัดไฟฟ้า เพราะถือเป็นการใช้ไฟตามปกติ เนื่องจากเป็นแหล่งชุมชนมีศูนย์เด็กเล็กและแหล่งพยาบาล และไม่มีความเกี่ยวพันกับเรื่องยาเสพติด หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ อีกส่วนคือ อำเภอแม่ฮ่องสอน ก็ยังคงจ่ายไฟเช่นกัน เพราะมีชาวบ้านอาศัยอยู่
แต่จุดที่มีปัญหาคืออำเภอแม่ระมาด และอำเภอแม่สอด ซึ่งเราได้ตัดไฟเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อปี 2567
แต่มีประเด็นที่ผมได้สั่งการไป หากพบว่าใคร ที่รู้ว่าจุดใดมีการส่งไฟให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และยังมีการจ่ายไฟอยู่ ให้ถือว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดมีความผิด ฝ่ายความมั่นคงเราจะดำเนินการ ซึ่งยืนยันว่าตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 มีการตัดไฟในจุดที่มีปัญหาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมไปถึงมีการรื้อเสาสัญญาณอินเตอร์เน็ตทั้งหมดแล้ว แต่หากเขาจะใช้เครื่องปั่นไฟเอง ก็ต้องติดตามดู เพราะเป็นเรื่องภายในของเขา
ภูมิธรรม เวชยชัย
เมื่อถามย้ำว่า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ปั่นไฟเองใช่หรือไม่? ภูมิธรรม ตอบว่า ไม่รู้ แต่ถ้าเป็นทางการว่าเราส่งไฟไปให้ ยืนยันว่ายกเลิกทั้งหมดแล้ว แต่อาจจะมีลักลอบส่งไป ก็ต้องตรวจสอบกันโดยตลอด ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เข้มงวดในบริเวณนั้นอยู่
ส่วนในเร็ววันนี้จะมีการประชุมเรื่องความมั่นคง จะได้ข้อสรุป ปัญหาการส่งไฟไปให้เมียนมากระทบกับความมั่นคงหรือไม่? ภูมิธรรม กล่าวว่า การเปิดปฏิบัติการสกัดกั้นและปราบปรามยาเสพติด “Seal Stop Safe” ในวันนี้ ก็จะเป็นแนวปฏิบัติสูงสุด ที่ทุกหน่วยต้องทำร่วมกัน เพื่อบูรณาการ เพราะวันนี้เป็นการประชุมร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองที่เกี่ยวข้อง ปปท. รวมถึง กอ.รมน. ถือเป็นการบูรณาการงานให้เป็นหน่วยเดียว
และเราจะเพิ่มการซีลชายแดนเพิ่มจากปกติโดยมี 51 อำเภอเข้าไปสนับสนุน เพื่อเป็นการซีลชายแดนชั้นที่ 2 เพราะหากเล็ดลอดมาตามช่องทางธรรมชาติ ก็จะมาพักอยู่ในตัวอำเภอ รวมถึงสถานีตำรวจ 76 สถานี และใช้เวลา 6 เดือนในการประเมินผล
ส่วนที่อำเภอแม่สอด เคยมีวิธีการใช้กฎหมาย ซึ่งในอดีตสมัย ทักษิณ ชินวัตร เคยใช้แล้วได้ผล ก็จะให้จังหวัดตาก ใช้ตรงนี้เป็นโมเดล ส่วนพื้นที่ภายในก็มีส่วนรับผิดชอบอยู่แล้ว
ไม่ห่วงไทยอาจถูกลดอันดับลง Tier 2 ย้ำไม่ได้นิ่งเฉย
เมื่อถามถึงความกังวลว่าไทยจะถูกปรับลดระดับในการแก้ปัญหา “สถานการณ์การค้ามนุษย์” ลงสู่ Tier 2 หรือไม่? ภูมิธรรม กล่าวว่า ไม่ห่วง เพราะปัจจุบันเราแก้ไขปัญหาไม่ได้นิ่งเฉยสิ่งที่เราทำทั้งหมดนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องยาเสพติดอย่างเดียว แต่จะใช้เรื่องยาเสพติดนำทางไปในเรื่องของการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ตามแนวชายแดน เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ ทุกอย่างจะรวมศูนย์อยู่ในนี้ เรื่องนี้เราได้มีการหารือ ไว้ทั้งหมดแล้ว ทั้งในระดับกองทัพ ตำรวจ
เรื่องนี้อยากให้มั่นใจ เมื่อรัฐบาลมอบหมายให้ ฝ่ายความมั่นคงก็จะดำเนินการอย่างเต็มที่ในเรื่องการปราบปรามยาเสพติด เพราะมันเกี่ยวพันหลายเรื่อง จึงอยากให้ประชาชนมั่นใจและสบายใจ ในช่วง 6 เดือน ได้เห็นผลอย่างแน่นอน ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่ได้รวมปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องมีมาตรการเฉพาะ
ภูมิธรรม เวชยชัย