‘แก้จน’ วาระแห่งชาติ! ‘อนุทิน’ ลั่นต้องทำให้ได้ ปชช.พ้นทุกข์

20 พฤศจิกายน 2566 - 08:52

Anutin-supports-alleviating-poverty- as-a-national-agenda-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘อนุทิน’ หนุน ‘แก้จน’ เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า

  • ลั่นต้องทำให้ได้ ชี้แก้จนไม่ใช่ทำให้ทุกคนรวย แต่คือทำให้ประชาชนพ้นทุกข์

  • พร้อมใช้สายสัมพันธ์ ‘ธรรมนัส’ ของบ-แลกโครงการ หวังช่วยไปถึงเกษตรกร

รัฐสภา (20 พฤศจิกายน 2566) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (รมว.มหาดไทย) กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่องวาระแห่งชาติ นโยบายแก้จนของประเทศ ในงานสัมมนาเรื่องการแก้ปัญหาความยากจน วิถีความสำเร็จและความเป็นอยู่ที่ดี จัดโดยคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำวุฒิสภา ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

อนุทิน กล่าวตอนหนึ่งว่า นโยบายแก้จน ต้องเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า ที่ผ่านมาในการหาเสียงไม่มีรัฐบาลใดไม่คิดแก้ปัญหาความยากจน ดังนั้นเมื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติแล้วต้องแก้ไขให้ได้ ไม่ใช่ให้เป็นวาระที่ต้องทำแบบถาวร เมื่อตนมีโอกาสทำงานที่กระทรวงมหาดไทย ต้องทำทุกอย่างเพื่อกำจัดความยากจน และเป็นภารกิจและวาระแรกของตนที่ตั้งใจจะทำ

“ถ้าตั้งใจแก้ปัญหา โดยให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำปัญหาปากท้องให้ดีขึ้นเยอะๆ เมื่อมีคนพูดว่ามาแก้ความจน ผมก็ท้อ เพราะต้องแก้ทุกอย่างจะแก้ได้อย่างไร มีแค่พูดกันไปโยนกันมา แต่ผมมองว่าการแก้ปัญหาความยากจน ไม่ใช่ให้ทุกคนรวย เพราะความรวยมีหลายระดับ แต่ต้องทำให้ประชาชนพ้นทุกข์ขั้นพื้นฐาน มีสุขภาพชีวิตที่ดีขึ้น พ้นความลำบาก” อนุทินกล่าว

Anutin-supports-alleviating-poverty- as-a-national-agenda-SPACEBAR-Photo01.jpg

อนุทิน กล่าวต่อว่า นโยบายแก้จนของประเทศไทยต้องเป็นวาระแห่งชาติ โดยสนับสนุนสวัสดิการด้านต่างๆ ยกระดับการศึกษา เพิ่มรายได้ด้วยนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย โดยเชื่อว่าจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และพัฒนาให้เติบโตที่ยั่งยืนได้

อนุทิน กล่าวด้วยว่า กระทรวงมหาดไทยพร้อมสนับสนุนภารกิจต่างๆ รวมถึงนโยบายที่จะแก้ปัญหาตามอำนาจและหน้าที่ โดยขอให้สัญญาประชาคม และยืนยันความพร้อมทำเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จ ทั้งนี้แผนการทำงานนอกจากต้องสนับสนุนเรื่องปัจจัย 4 ให้ประชาชนแล้ว ยังต้องเติมเต็มปัจจัยที่ 5 คือการศึกษาของเยาวชนที่มีคุณภาพ 

ขณะเดียวกันต้องหาทางลดรายจ่ายของประชาชน เช่น สนับสนุนให้น้ำประปาดื่มได้ เพื่อประชาชนไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อน้ำบริโภค นอกจากนั้นแล้วตนยังมองในประเด็นการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการอพยพย้ายถิ่นที่มีประสิทธิภาพ เพื่อเปิดกว้างให้ประชากรคุณภาพจากต่างชาติเข้ามาในประเทศ

อนุทิน กล่าวอีกว่า สำนักสถิติระบุว่าประชาชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมีมากที่สุดและเป็นผู้ที่มีรายได้น้อยที่สุด ดังนั้นการแก้ปัญหา คือการหาที่ดินทำกินและพัฒนาแหล่งน้ำให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรม โดยตนในฐานะรองนายกฯ ที่ดูแลกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมจะใช้นวัตกรรมเพื่อใช้การบริหารจัดการน้ำ อีกทั้งต้องทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วย

“ผมกับ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรฯ ถือเป็นเพื่อร่วมรุ่นกันที่มีสายสัมพันธ์ ได้พูดคุยกกันและมีแนวคิดแนวทางเดียวกัน ซึ่งจะใช้เวลาเท่ากับอายุของรัฐบาลนี้ ทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์มากที่สุด ผมอาจจะขอเยอะ อาจจำเป็นต้องแลกกัน ทั้งงบประมาณที่ใช้ หรือโครงการที่ใช้ ผมจะใช้ความสัมพันธ์เพื่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนและบ้านเมือง” อนุทิน กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์