แผนสำรอง ‘กองทัพ’ เมื่อ ‘เศรษฐา’ สั่งชะลอ ‘ซื้ออาวุธ’

16 ต.ค. 2566 - 02:18

  • เปิดแผนสำรอง ‘กองทัพ’ หลัง ‘เศรษฐา’ สั่งชะลอซื้อ ‘ยุทโธปกรณ์’ งบปี 67 ทั้ง ทร.-ทอ. จะเอางบไปทำอะไร ? ทอ. ปรับแผนจัดหา ‘เครื่องบินรบ’ เปิดข้อเสนอ ทร. ‘เรือดำน้ำ’ ใส่ ‘เครื่องยนต์จีน’ เสนอรัฐบาล

Army-Navry-Airforce-Backup-Plan-Equipment-Srettha-Policy-SPACEBAR-Hero.jpg

ผ่านมา 2 สัปดาห์ สำหรับ ผบ.เหล่าทัพ ชุดใหม่ ที่เข้าสู่ยุค ตท.23-24 โดยสมบูรณ์ เรียกว่าเป็นการ ‘เปลี่ยนผ่าน’ ทั้ง ‘รัฐบาล’ และ ‘กองทัพ’ จากภายใต้ยุค ‘3ป.บูรพาพยัคฆ์’ มาสู่ยุค ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ ที่ยังมี ‘ร่างทรง 3ป.’ อยู่ในรัฐบาลเศรษฐา อีกทั้งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ของ ‘กองทัพ’ ที่มี ‘สุทิน คลังแสง’ เป็น รมว.กลาโหม ที่เป็น ‘พลเรือน’ ในรอบ 10 ปี อีกทั้งเป็นครั้งแรกที่ไม่ได้ควบตำแหน่งนายกฯ สำหรับสัมพันธ์ระหว่าง ‘สุทิน-กองทัพ’ ก็เป็นไปในลักษณะ ‘น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า’ ระหว่างกัน เรียกว่า ‘เอาใจกันเอง’  

สำหรับ ‘สุทิน’ ออกตัวชัดเจน จะช่วยชี้แจง ‘งบกองทัพ’ ต่อสภาฯ ที่ผ่านมาก็ได้ขอให้กองทัพจัดหายุทโธปกรณ์เท่าที่จำเป็น และต้องมีความโปร่งใส ภายหลัง ‘เศรษฐา ทวีสิน’ เคยได้พบปะทานข้าวกับ ผบ.เหล่าทัพ ชุดใหม่ ตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา หนึ่งในนั้นคือการขอกองทัพให้ชะลอการตั้งโครงการใหม่จัดหา ‘ซื้อยุทโธปกรณ์’ งบปี67 ออกไปก่อน ยกเว้นโครงการที่เป็น ‘งบผูกพัน’ จากปีงบประมาณก่อนหน้านี้ ก็ขอให้ดำเนินต่อไป

Army-Navry-Airforce-Backup-Plan-Equipment-Srettha-Policy-SPACEBAR-Photo06.jpg
Photo: พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. มอบนโยบาย ทร. ประจำปี 2567 ที่ประชุม ทร.

ทั้งนี้มีรายงานว่า ทร. ได้จัดทำข้อเสนอไปยัง ‘กลาโหม-รัฐบาล’ โดยย้ำถึง ‘เหตุผล’ ที่เลือกใช้เครื่องยนต์จีน พร้อมย้อนที่มาที่ไปว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้ยังได้ระบุ ‘ข้อดี’ ทั้งการเอาและไม่เอา ‘เครื่องยนต์จีน’ โดย พล.ร.อ.เชิงชาย อดีต ผบ.ทร. ก็ย้ำถึง ‘ประสิทธิภาพ’ ของเครื่องยนต์จีน ที่เทียบเท่าเครื่องยนต์ของเยอรมัน พร้อมยืนยันว่าไม่เสียคุณค่า ‘ทางยุทธการ’

สำหรับแนวทาง ระหว่างการใช้และไม่ใช้ ‘เครื่องยนต์จีน’ ต้องให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะโครงการจัดหาเรือดำน้ำเป็นการจัดหาแบบ ‘รัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี’ จึงต้องใช้มติ ครม. ในการแก้ไขสัญญาหรือยกเลิกสัญญา

ทั้งนี้ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ มีกำหนดเยือนประเทศจีน ช่วง 16-19 ต.ค.นี้ ร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง พร้อมเข้าพบ ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน จึงต้องจับตาว่าจะมีการหารือการแก้ปัญหา ‘เครื่องยนต์เรือดำน้ำ’ หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องให้ ‘ระดับรัฐบาล’ หรือ ‘ระดับผู้นำ’ เจรจาร่วมกัน

 ดังนั้นจึงอาจต้องรอ ‘เศรษฐา’ กลับจากจีน ว่าจะได้ ‘คำตอบ’ อย่างไร ? จะต้องให้ ทร. นำกลับไป ‘ทบทวน’ หรือไม่ ? หากมี ‘แนวทาง-ข้อเสนอ’ เพิ่มขึ้นมา

Army-Navry-Airforce-Backup-Plan-Equipment-Srettha-Policy-SPACEBAR-Photo05.jpg
Photo: พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. มอบนโยบาย ทร. ประจำปี 2567 ที่ประชุม ทร.

นอกจากนี้ พล.ร.อ.อะดุง มีแนวนโยบายนำงบมาดู ‘สวัสดิการทหาร’ ในการซ่อมบำรุงที่พักทหาร โดย ผบ.ทร. ให้กรมฝ่ายอำนวยการไปรับข้อมูลจากหัวหน้าหน่วยราชการ เพื่อนำ ‘บัญชีการซ่อมทำหน่วย’ มาให้ดู เช่น ห้องน้ำ ที่จะจัดงบให้ซ่อม เป็นต้น เพราะ ทร. มีภาระ ‘งบผูกพัน’ หลายโครงการ ในการจัดหายุทโธปกรณ์ก่อนหน้านี้

Army-Navry-Airforce-Backup-Plan-Equipment-Srettha-Policy-SPACEBAR-Photo04.jpg
Photo: พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. มอบนโยบาย ทร. ประจำปี 2567 ที่ประชุม ทร.

ในส่วนของ ‘กองทัพอากาศ’ ก็ต้องมีการ ‘ปรับแผน’ เช่นกัน ที่ต้องชะลอจัดหา ‘เครื่องบินขับไล่’ ในงบปี67 ออกไปก่อน ทั้งนี้ พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ได้ปรับเน้นการซ่อมบำรุงแทน เช่น การซ่อมเครื่องบิน C-130 ให้ปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีความปลอดภัยและประหยัดงบประมาณมากขึ้น ซ่อมบำรุงเครื่องบิน Airbus A-340 ด้วยการจัดหาเครื่องยนต์เพิ่มเติม เนื่องจากเครื่องยนต์ที่ใช้อยู่ ใกล้จะหมดอายุตามวงรอบการใช้งาน การซ่อมฐานล้อของเครื่องบิน Airbus A-340โครงการปรับปรุงเครื่องบิน BT-67 ติดตั้งอุปกรณ์บรรจุน้ำ เพื่อใช้ดับไฟป่าและหมอกควัน การจัดหาชุดจุดชนวนระเบิดสำหรับเก้าอี้ดีดนักบิน เป็นต้น

Army-Navry-Airforce-Backup-Plan-Equipment-Srettha-Policy-SPACEBAR-Photo02.jpg
Photo: พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. มอบนโยบาย ทอ. ประจำปี 2567 ที่ ร.ร.นายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช

สำหรับแผนงานจัดหา ‘เครื่องบินขับไล่โจมตี’ เพื่อทดแทนเครื่องบิน F-16 ที่จะทยอยปลดประจำการปี 2571-2575 พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี ระบุถึง ‘ปัญหาซ้อนปัญหา’ หากใช้วิธีการซ่อมบำรุง เพื่อยืดอายุการใช้งาน ก็ต้องใช้งบประมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ เพราะอะไหล่มีราคาสูงขึ้น เช่น จากเที่ยวบินละแสนกว่าบาท ต่อไปอาจขึ้นถึง 9 แสนกว่าบาทต่อเที่ยวบิน เพราะไม่สามารถหาอะไหล่ทดแทนได้ อีกทั้งโรงงานที่ผลิตอาจไม่ผลิตแล้ว ต้องจ้างทำเป็นพิเศษ เพราะบริษัทที่ผลิตคงไม่เก็บไว้ให้เรา ยกเว้นเป็นอะไหล่ Mass ก็จะถูกลง

ผบ.ทอ. ระบุอีกว่า ถ้าเหลือเครื่องบิน Gripen เพียง 1 ฝูงบิน แต่ต้องบินทั่วประเทศก็ จะมีความล่าช้าในการปฎิบัติการทั่วประเทศ แม้จะรักษาอธิปไตยทางน่านฟ้าได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถทำให้มั่นใจได้ว่าจะคุ้มครองทุกอย่างได้อย่างปลอดภัยหรือมีประสิทธิภาพได้

Army-Navry-Airforce-Backup-Plan-Equipment-Srettha-Policy-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. มอบนโยบาย ทอ. ประจำปี 2567 ที่ ร.ร.นายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช

สำหรับ ทอ. มีเครื่องบิน Gripen ที่ใช้งาน อยู่ที่ภาคใต้ ประจำอยู่ที่ กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี ส่วนภาคเหนือ-ภาคตะวันตก มีเครื่องบิน F-16 อยู่ที่กองบิน 4 ตาคลี ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ใช้เครื่องบิน F-16 ประจำอยู่ที่ กองบิน 1 โคราช 

ดังนั้นจึงต้องจับตา ‘งบกองทัพ’ ปี68 รัฐบาล ‘เศรษฐา’ จะให้กองทัพจัดหายุทโธปกรณ์ตามแผนหรือไม่ เพราะจะเข้าสู่ปีที่ 2 ของรัฐบาล สัมพันธ์ ‘รัฐบาล-กองทัพ’ จะเป็นอย่างไร อีกทั้ง รมว.กลาโหม ที่ชื่อ ‘สุทิน คลังแสง’ จะเก้าอี้เหนียวถึงวันนั้นหรือไม่

Army-Navry-Airforce-Backup-Plan-Equipment-Srettha-Policy-SPACEBAR-Photo03.jpg
Photo: พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. มอบนโยบาย ทอ. ประจำปี 2567 ที่ ร.ร.นายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์