ถอดรหัส ‘เลือก สว.’ ระเบียบ ‘กกต.’ ที่ไม่ป้องการ ‘ฮั้ว’

24 เมษายน 2567 - 09:46

Artical-Somchai-former-Election-Commission-criticizes-digital-wallet-policy-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ถอดรหัสระดับไมโครชิป กลไกอลเวง ‘เลือก สว.’ ชวน ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ ชำแหละช่องทาง ‘การฮั้ว’

การที่หลายฝ่ายออกมากระทุ้งให้ ‘กกต.’ เร่งออกระเบียบและแบบคุณสมบัติของผู้พึงประสงค์ ในการมีส่วนร่วม ‘เลือก สว.’ เป็นเพราะต้องการเตรียมความพร้อม ไว้สำหรับวันเปิดรับสมัคร 13 พฤษภาคมที่จะถึงนี้ ซึ่งความล่าช้าข้างต้น นำไปสู่ความกังวล ด้านผลกระทบถึงกระบวนการตรวจสอบปมทุจริต ในห้วงของการคัดเลือกวุฒิสมาชิกในเดือนมิถุนายนได้ โดยเฉพาะในกรณี ‘การฮั้ว’ หรือ ‘การจัดตั้ง’ ผ่านการจ่าย ‘กระสุน’ ให้กับหัวคะแนน เพื่อเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือกสมาชิกอันทรงเกียรติ

“หากเกิดการฮั้วขึ้นจริงๆ ก็ยังไม่รู้ว่า กกต. จะตามทันได้อย่างไร มันเป็นเรื่องที่จับมือใครดมได้ยาก และผมยังไม่เห็นมีกลไกใดๆ ที่ถูกประกาศออกมา เพื่อป้องกันการทุจริตนี้ได้เลย ยิ่งไปเขียนกติกาที่ว่า ห้ามบุคคลภายนอกเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสถานที่เลือก สว. ยิ่งเป็นการปิดการสังเกตการณ์จากประชาชนด้วยแล้วไซร้”

ความเห็นของ ‘สมชัย ศรีสุทธิยากร’ อดีต กกต. ที่ออกมาวิจารณ์การทำหน้าที่ของ กกต. ต่อความล่าช้าในการออกระเบียบคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ในการเลือก สว. และกลไกที่ไร้ความชัดเจน ทั้งๆ ที่มีข้อมูลหลั่งไหลออกมาว่า อาจมีการจัดหาคะแนนในแต่ละขั้นตอนโดยมิชอบ ออกมาอยู่เนืองๆ  

สมชัย มองว่า ลำพังแค่กติกาที่มีช่องโหว่ว อย่างการให้คัดเลือกผ่านกลุ่มอาชีพ ที่ง่ายต่อการเกณฑ์คนด้วยวิธี ‘ว่าจ้าง’ หรือ ‘ให้เงิน’ เพื่อเข้าไปเลือกบุคคลที่ต้องการได้ ในระดับกับอำเภอและจังหวัด ระเบียบที่ระบุถึง ‘ข้อจำกัด’ ก็ยังสร้างความสับสน กกต. ไม่ออกมาเป็นรูปธรรมที่ตายตัวเสียที 

ดังนั้น ผู้ที่ตั้งใจจะสมัครเข้ารับเลือก อาจต้องแสวงหาวิธีการด้วยตนเอง ในการทำให้เป็นที่รู้จักของผู้คน ผ่านขั้นตอนดำเนินการได้หลายวิธี อาจเริ่มมีการตั้งกลุ่มบนพื้นที่ออนไลน์ของแต่ละท้องถิ่น และให้ผู้สมัครเข้าร่วม เพื่อทำความรู้จักกันก่อน ซึ่งประการนี้ก็ยัง ไม่มีใครทราบว่าเป็นความผิดหรือไม่ เพราะระเบียบปฏิบัติก็ยังไม่คลอด

“ส่วนตัวผมว่าเรื่องการสร้างกลุ่มไลน์ ไม่น่าจะเป็นความผิดเพราะตามธรรมชาติจะเลือกใครก็ต้องรู้จักกันก่อน แต่ถ้ามีการ จัดเลี้ยง เสนอผลประโยชน์ ซื้อเสียง ก็จะถือเป็นความผิดกฎหมาย ตรงนี้กกต.เองก็ต้องหาวิธีการ ว่าจะล่วงรู้ได้อย่างไร ใครไปกินหูฉลามที่ไหน กินกาแฟกับใคร เรายังไม่รู้เลย”

สมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าว

ขณะเดียวกัน สมชัย มองว่า หากต้องป้องกัน กกต. จำเป็นที่จะต้องเปิดช่องทางในการรับข้อมูลจากภายนอกให้กว้างที่สุด โดยเฉพาะการเน้นรับข้อมูลจากภาคประชาชน และบุคคลที่เข้าร่วมการคัดเลือก (ผู้สมัคร) เพราะแนวทางที่ออกมา ยังไม่เห็นการตรวจสอบที่เป็นรูปธรรม อาจส่งผลให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของประชาชนมากยิ่งขึ้น ผนวกกับปัจจัยเรื่องข้อกฎหนดในการคัดเลือกที่ออกมาในลักษณะ ‘ระบบปิด’ ทำให้บุคคลภายนอกไม่สามารถรับรู้สึกที่เกิดขึ้นในการคัดเลือกได้เลย ย่อมให้เกิดข้อท้วงติงได้ง่าย 

ในส่วนข้อกังวลที่ฝ่ายการเมืองขั้วอำนาจเดิม (หรืออีกนัยคือกลุ่มที่ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญปี 60) กำลังตั้งข้อสังเกตถึงความเคลื่อนไหวของ ‘คณะก้าวหน้า’ และ ‘กลุ่ม iLaw’ ว่ากำลังแทรกแทรงกระบวนการเพื่อจัดตั้งคนของตัวเองเข้าไปนั้น สมชัยให้ความเห็นว่า ตราบใดที่ยังปฏิบัติตามขอบเขต ‘การรณรงค์’ อยู่ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ประชาชนไปสมัครกันมากๆ เพื่อเพิ่มจำนวนตัวเลือกคนดี หรือบุคคลที่คิดว่าเหมาะสมเข้าไปทำหน้าที่ สว. สมัยหน้า ก็ไม่ถือเป็นความผิด   

แต่หากมีกระบวนการเชิญชวน เข้าข่าย ‘การชี้นำ’ ให้เลือกโดยเป็นตัวบุคคล หรือ มีการชี้นำผ่านลักษณะเครื่องหมาย - ตราสัญลักษณ์ให้เป็นที่จดจำ ในลักษณะการจัดตั้ง จะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิดทางกฎหมายมากขึ้น ส่วนจะ ‘เลือกเพื่อล้ม’ ได้หรือไม่ ไม่มีใครทำนายคาดเดาได้จนกว่าจะถึงวันประกาศผลอย่างเป็นทางการ แต่หากว่าไปตามหลักการ เมื่อประสงค์จะยื่น ‘แก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560’ จำเป็นที่จะต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 เสียง ตีเป็นตัวเลขกลมๆ คือต้องได้ 70 คนจากการเลือก สว. ครั้งนี้ 

สมชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า แม้กระบวนการและวิธีการได้มาซึ่ง สว. จะเป็นสิ่งยุ่งยาก แต่อยากให้เข้าใจว่า ประเทศไทยมีความซับซ้อน - เคยเปลี่ยนวิธีการมาแล้วหลายครั้งหลายรูปแบบ จึงอยากให้มองว่าเป็นการทดลองอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งรอบนี้อาจเป็นตัวกำหนดแบบแผน หรือแนวทางของประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภาที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

“ไม่ว่าจะออกมาหน้าไหน อยากให้มองการเลือก สว. รอบนี้เป็นบทเรียน ที่อนาคตเราจะใช้ออกแบบกลไกให้เหมาะสม หรือสุดท้ายแล้วหากไม่ได้จริงๆ ก็ต้องทบทวนว่าประเทศไทยยังจำเป็นที่จะต้องมี สว. อยู่หรือไม่”

สมชัย ศรีสุทธิยากร กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์