การวางตัวของ ‘ไทย’ ในสมรภูมิ ‘เมียนมา’ ช่วงสุกงอม

9 เมษายน 2567 - 10:28

Artical-Thailand-and-political-positioning-in-the-Myanmar-war-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อ่านสถานการณ์จากอีกฟากของแม่น้ำเมย หลัง ‘กลุ่มกะเหรี่ยงอิสระ’ สถาปนาชัยชนะเหนือ ‘เมียวดี’ กับการวางตัวของ ‘ไทย’ ในฐานะ ‘ตัวแทนของอาเซียน’ ในการดูแลผู้ลี้ภัยตามหลักมนุษยธรรม กับมุมมองวิเคราะห์จาก ‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’ ผู้ศึกษาประเด็นความขัดแย้งในสหภาพเมียนมา

กลายเป็นต้องจับกระแสกับอีกครั้ง สำหรับสงครามกลางเมือง ที่เกิดขึ้นระหว่าง ‘รัฐบาลเมียนมา’ และ ‘กลุ่มชาติพันธุ์อิสระ’ หลังสู้รบมาหลายสิบปี ล่าสุดช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการยืนยันแล้วว่า ‘เมืองเมียวดี’ ตกอยู่ภายใต้การดูแลของ ‘กองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง’ (KNU) และ 'กองกำลังปลดปล่อยประชาชน' (PDF) ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ความพ่ายแพ้ของรัฐบาลทหารเมียนมารอบนี้ ยับเยินเกินกว่าจะสถาปนาชัยชนะในภาพรวมได้  

กระนั้น สิ่งที่ตามมาคือการรุกคืบเพื่อพิชิตสมรภูมิที่เหลือของกลุ่มติดอาวุธ และการตอบโต้กลับของกองทัพเมียนมาทั้งในระดับภาคพื้น และทางอากาศ ย่อมจะส่งผลต่อความสูญเสียของประชาชนทั้งสองฝ่าย และ ‘ประเทศไทย’ ในฐานะหนึ่งในประเทศที่มีพรมแดนติดกับจุดพิพาท จำเป็นอย่างยิ่งในการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม 

‘กะเหรี่ยงอิสระ’ กับการสถาปนาชัยชนะเหนือ ‘เมียวดี’ 

‘รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร’ ผู้ศึกษาประเด็นความขัดแย้งในสหภาพเมียนมา ได้วิเคราะห์จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ ว่ามีหลายประเด็นที่ต้องติดตาม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางพลวัตรของชนกลุ่มน้อย อย่างกรณีที่ชัดเจนของ ‘หม่องชิดตู่’ ผู้นำกองทัพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNA) และอีกหลายๆ กลุ่มเคลื่อนไหว ที่อดีตเคยร่วมมือกับกองทัพเมียนมา หรือเคยเป็นกลางในสมรภูมิ ซึ่งตอนนี้เริ่มมีการรวมตัว เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลกลางอย่างเป็นระบบมากขึ้น 

จุดเริ่มต้นของการต่อสู้ที่เป็นรูปธรรม เริ่มตั้งแต่ ‘ปฏิบัติการ 1027’ ที่มี 'กลุ่มพันธมิตรภราดรภาพ' (Brotherhood Alliance) เป็นหัวหอกรวบรวมกองกำลังภาคส่วนต่างๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลทหาร เข้าโจมในจุดยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐบาล จนหลายฝ่ายมองว่า นี่คือการเปิดฉากที่รุนแรงมากที่สุด นับตั้งแต่ ‘มิน อ่อง ลาย’ ทำรัฐประหาร ปณิธานมองว่า พลวัตรที่เกิดขึ้นกำลังไตร่ระดับ จนทำให้ทหารเมียนมาต้องกลายเป็นฝ่ายหลบหนีและตั้งรับแทนไปอีกระยะหนึ่งหลังจากเมืองเมียวดีแตก 

แต่จะถึงขั้นทำให้รัฐบาลเมียนมาพ่ายแพ้เลยหรือไม่ ปณิธาน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีหลายสาเหตุที่กลุ่มติดอาวุธ อาจจะยังไม่สามารถเอาชนะได้อย่างเบ็ดเสร็จ เพราะด้วยความได้เปรียบทางด้านทรัพยากรอาวุธที่กองทัพรัฐบาลมีความพร้อมและทันสมัยกว่า ดังนั้นการต่อสู้แบบเต็มระบบ หรือการทำ

สงครามกลางเมืองสมัยใหม่ กองกำลังชาติพันธุ์อาจจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ เพราะระบบการสร้างกองทัพ และการรวบรวมกองกำลัง ที่เมียนมาสามารถเกณฑ์คนเข้าร่วมได้ ทำให้กองกำลังอิสระยังต้องเผชิญกับความเสียเปรียบด้านนี้อยู่ 

แต่ส่วนความจริงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เมียนมาจะกลับไปเป็นรัฐเดี่ยว - ปกครองกลุ่มชาติพันธุ์แบบวันวาน เพราะการที่รัฐบาลกลางต้องเสียเมืองเมียวดีไป ย่อมส่งผลต่อกำลังใจของกลุ่มติดอาวุธมากพอสมควร และในอนาคตอาจได้รับแรงสนับสนุนจากต่างชาติ อาจมีการถ่ายเทยุทโธปกรณ์ทันสมัยเข้ามาให้กลับกลุ่มชาติพันธุ์มากขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกันกับสถานการณ์รบพุ่งในชาติตะวันตก อย่าง สงครามยูเครน - รัสเซีย

“ความเป็นเอกภาพของกลุ่มชาติพันธุ์ มันก็เป็นอีกปัจจัยในการตัดสินผลแพ้ชนะ ซึ่งขึ้นอยู่กับผลประโยชน์ที่สอดรับกันเพื่อขับไล่รัฐบาลทหารซึ่งเป็นพลวัตรใหม่ ตอนนี้เหมือนกับการจับมือแบบหลวมๆ แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดความขัดแย้งภายใน วันนั้นกองทัพเมียนมาก็จะเข้มแข็งเหมือนเดิม สุดท้ายก็อย่าลืมนะครับ ว่าไม่มีใครอยากทำงานกับอองซานซูจีเท่าไหร่ หากมีการปล่อยตัวออกมา ชนกลุ่มน้อยอาจแตกเหมือนเดิม เพราะไม่มีใครชอบเขาเยอะ”

จาก ‘เมียวดี’ สู่ ‘แม่สอด’ ไทยในฐานะ ‘คนกลาง’ ต้องทำอย่างไร 

ปณิธาน ให้ความเห็นในมุมตกกระทบ ที่ประเทศไทยจะได้รับหลังหัวเมืองที่ติดกับชายแดนในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เสียให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ว่า อาจกระทบเรื่องการค้าชายแดน โดยเฉพาะในระยะแรกๆ (ระยะนี้) ซึ่งเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอีกฝากฝั่งของแม่น้ำเมย ที่อยู่ในช่วงแปรปรวนหนัก จังหวะต่อไปคือการมองสถานการณ์การเจรจาของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น ที่แปรพักมาขึ้นตรงกับกลุ่มกะเหรี่ยง ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าจะคืบหน้าในทางที่ดี  

ส่วนกองกำลังทหารเมียนมาที่หลบหนีตามบริเวณตะเข็บชายแดน เพื่อรวบรวมกำลังเข้าตีเมืองเมียวดีคืน อาจจะมีการปะทะกับกองกำลังกะเหรี่ยงอยู่บ้าง แต่จะไม่รุนแรงเพราะรอการสนับสนุนทางอากาศจากส่วนกลางอยู่  

“ข้อเท็จจริงทหารไทยเราทราบอยู่แล้วว่า ส่วนแปรพรรคมีเท่าไหร่ ส่วนที่หลบหนีมีเท่าไหร่ ซึ่งกองทัพไทยจำเป็นที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับทราบ ว่ามันวิกฤติขนาดไหน แล้วมีทิศทางเป็นอย่างไร เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อม อย่างจีนเขาเตรียมไว้หมดแล้ว อยู่ที่ว่าเราจะเดินตามจีนคือการเปิดการเจรจากับกลุ่มติดอาวุธ เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านการป้องกันตนเองของเรามากขึ้นหรือไม่”

เมื่อถามว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ ประเทศไทยควรมีมิติทางการทูตอย่างไร นักวิชาการด้านต่างประเทศ ให้ความเห็นว่า ไทยไม่ควรตั้งรับแบบนี้ (กรณีเครื่องบินเมียนมาลงจอดที่สนามบินแม่สอด) เพราะจะทำให้รัฐบาลไทยต้องมาแก้ปัญหาภายหลัง ไม่ว่าจะการตรวจสอบความถูกต้องในการลงจอด หรือบนเครื่องมีสิ่งใดต้องห้ามหรือไม่ แต่ไทยควรดำเนินนโยบายที่เคยวางไว้แล้ว อย่าง แผนการรองรับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดน  

เท่าที่ทราบ ทางกองทัพภาคที่ 3 ก็มีการเตรียมการด้านความมั่นคงอยู่แล้วอย่างเข้มแข็ง และควรเพิ่มเติมในมิติการสื่อสาร อันจะส่งผลต่อภาพที่เป็นอยู่ ในด้านการรักษาสันติภาพและความเป็นไปทางด้านสิทธิมนุษยชน

“เราต้องแจ้งอย่างเป็นทางการ ว่าไทยพร้อมจะเปิดพื้นที่ในการลี้ภัยกับทุกกลุ่ม เน้นนะครับว่าต้องทุกฝ่าย จริงๆ เราต้องแถลงออกมาเลย ไม่ใช่แค่ตอนเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหารหรือคนเมียนมา หนีภัยสงครามเท่านั้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการแสดงท่าทีในความเป็นกลาง ในการรักษาชีวิตผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้อาวุธ ไม่ว่าเขาจะอยู่ฝ่ายใดเราก็ต้องช่วยเขา แล้วประกาศให้ทุกคนได้ทราบตามกติกาสากล”

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าว

ในส่วนการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ปณิธานมองว่า ไทยก็ต้องเดินหน้าไปอีกหนึ่งจังหวะ คือการขอความร่วมมือให้ทุกๆ ฝ่ายรักษาสัญญาด้านความมั่นคงไทย เพื่อให้ไทยได้ช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมมากขึ้น ด้วยการส่งเสบียงให้กับผู้ลี้ภัย หรือกลุ่มพลเมืองเปราะบาง ซึ่งขณะนี้หลายหัวเมืองได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐกะเหรี่ยง ทำให้ง่ายต่อการดูแลความปลอดภัย ซึ่งหากไทยสามารถปฏิบัติตามหลักมนุษยธรรมได้อย่างครบถ้วน จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ในแง่ความช่วยเหลือของประเทศเป็นอย่างมาก 

เนื่องจาก ณ ขณะนี้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรก และประเทศเดียวในภูมิภาคอาเซียน ที่ตกอยู่ในสถานะของพื้นที่สันติภาพ เพราะมีชายแดนติดกับประเทศเมียนมา ซึ่งหากมองในมิติความร่วมมือ ไทยจำเป็นต้องปฏิบัติตามฉันทามติ เรื่องการผดุงไว้ซึ่งเอกราชของตนเอง และการมีส่วนร่วมในการรักษาสันติภาพของภูมิภาคด้วย ซึ่งตอนนี้ไทยดูเหมือนจะเริ่มตั้งหลักได้ แต่ท่าทีของรัฐบาลยังดูไม่สันทันต่อเหตุการณ์อยู่ 

“ข้อสำคัญคือการรักษาสมดุลตรงนี้ไว้ เพราะยังไม่มีใครทราบว่าสถานการณ์ระยะยาวจะออกมาหน้าไหน แต่หากวันใดเกิดความเปลี่ยนแปลงก็จะไม่มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ที่เกิดขึ้นแล้วมันคือสถานะของรัฐคู่ขนานเท่านั้น”  รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร กล่าวทิ้งท้าย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์