วัฒนธรรม (ผิด) ลอยนวล : 20 ปี ‘ตากใบ’ เงื่อนไขโหม ‘ไฟใต้’ ครั้งใหม่

22 ต.ค. 2567 - 01:57

  • วิเคราะห์ฉากทัศน์ ‘สามจังหวัดชายแดนใต้’ หาก ‘คดีตากใบ’ เข้าสู่ปัจฉิมบทแบบ ‘สิ้นอายุความ’ พร้อมๆกับ เหตุผลของ ‘ความไม่สงบ’ ที่เกิดจากการปิดพื้นที่ ‘ความเป็นธรรม’ ตามมุมคิดเชิงรัฐศาสตร์ของ ‘เอกรินทร์ ต่วนศิริ’

Article-20-years-of-the-Tak-Bai-case-SPACEBAR-Hero.png

ข้อมูลทางการแพทย์มีระบุว่า มนุษย์ที่ตกอยู่ใน ‘ภาวะขาดอากาศหายใจ’ จะสามารถมีชีวิตอยู่รอดได้สูงสุดไม่เกิน 3 - 5 นาที ก่อนสมองขาดออกซิเจนและเสียชีวิตในที่สุด แต่เมื่อเกือบ 20 ปีก่อนหน้านี้ เคยมีคนไทยจำนวนกว่า 1,300 ชีวิต ถูกควบคุมตัวในลักษณะ ‘นอนเกยทับ’ เป็นชั้นๆ บนรถบรรทุกกำลังพลของกองทัพภาคที่ 4 เพื่อนำส่งยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ระยะทางกว่า 150 กิโลเมตร หลังการสลายการชุมนุม (ที่รุนแรง) ยุติลง 

เหตุการณ์ที่ว่าคือ ‘กรณีตากใบ’ โศกนาฏกรรมการชุมนุม ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังปราบปรามประชาชนอย่างหน้าหดหู่ที่สุด (ครั้งหนึ่งของประเทศ) มีผู้เสียชีวิตจากการถูกควบคุมกว่า 78 ราย ส่วนผู้รอดชีวิตหลายคน ต้องกลายเป็นผู้พิการทางร่างกาย อวัยวะภายใน และจิตใจ อันเป็นผลมาจากการถูกกระทำชนิดที่ ‘ไร้มนุษยธรรม’ 

‘เหตุการณ์ตากใบ’ เกิดขึ้นเมื่อ 25 ตุลาคม 2547 จากการชุมนุมของประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ‘บ้านโคกกูแว’ จำนวน 6 ที่หน่วยงานความมั่นคง เชื่อว่ามีส่วนรู้เห็นกับ ‘เหตุปล้นปืนและก่อความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้’ ก่อนหน้านั้น 

กรณี ‘ตากใบ’ กับ วัฒนธรรม(ผิด)ลอยนวล ‘ชายชาติทหาร’ หายไปไหน 

แม้ภายหลังกระทรวงกลาโหมจะมีการ จ่ายค่าสินไหมทดแทนรวม 42 ล้านบาทให้กับญาติผู้เสียหาย - เยียวยาผู้เสียชีวิตเพิ่มอีกรายละ 7.5 ล้านบาท และผู้บาดเจ็บอีกรายละ 5 แสนบาท แต่กลับยังไม่มีผู้สั่งการหรือเจ้าหน้าที่คนไหนถูกดำเนินคดีแม้แต่รายเดียว เป็นบาดแผลร้าวลึกที่ชาวบ้าน และกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน - ประชาธิปไตย ยังคงฝังใจถึงความ ‘อยุติธรรม’ ที่เกิดขึ้น 

กระทั่ง เวลาล่วงเลยมากว่า 20 ปี คดีที่มีการฟ้องร้องเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐกำลังเข้าสู่ห้วง ‘ปัจฉิมบท’ โอกาสเดียวของภาคประชาชน เพื่อให้การพิจารณาคดีเกิดขึ้น คือ หวังให้ (อย่างน้อย) 1 ในจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ 7 คน (ตามที่ศาลนราธิวาสรับฟ้อง) เข้ารายงานตัว ก่อนที่คดีจะหมดอายุความลงในวันที่ 25 ตุลาคมนี้  (เป็นการ ‘ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลย’ ตามมาตรา 227 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา)  

หากสมการออกหน้านั้น คงไม่ต้องแปลกใจว่าจะมีการวิจารณ์ ‘กรณีตากใบ’ เป็นอีกหนึ่งภาพสะท้อนที่ชัดเจน ถึง 'วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด' (culture of impunity) ภายใต้ระบบอุปถัมภ์ กฎหมาย อุดมการณ์ และความเชื่อทางการเมืองแบบไทยๆ อีกวาระหนึ่ง

วันนี้ ‘ชายชาติทหาร’ หายไปไหน… 

ฉากทัศน์ ‘3 จังหวัดชายแดนใต้’ หาก ‘ตากใบ’ หมดอายุความ (ดื้อๆ) 

แม้สังคมจะพยายาม ‘กดดัน’ ให้ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ พลิกแผ่นดินหา ‘พลเอกพิศาล วัฒนวงษ์คีรี’ อดีต สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะ ‘อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ช่วงกรณีตากใบ’ และจำเลยทั้งหมดที่ศาลรับฟ้อง แต่กระบวนการในฝ่ายบริหารดูล่าช้า ชนิด ‘ไม่จริงจัง’ จนมีความเป็นไปได้สูง ว่าความคาดหวังของประชาชนจะเป็นหมัน มิติทางฉากทัศน์จึงถูกวาดขึ้น ภายใต้สมมุติฐาน ‘คดีตากใบหมดอายุความ’ แบบดื้อๆ  

'รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ' อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ผู้ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (มาอย่างยาวนาน) ได้แสดงความกังวลถึงผลกระทบในเชิงรัฐศาสตร์ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หาก ‘คดีตากใบ’ สิ้นสุดอายุความ หากวิเคราะห์ตามสมมติฐานดังกล่าวแล้ว จะทำให้เห็นว่า การมองกระบวนการยุติธรรม โดยสาตาของชาวบ้าน จะไม่ได้รับความไว้วางใจ นำไปสู้ข้อเรียกร้องอื่นๆ ทั้งในทางการเมือง และเชิงสัญลักษณ์ จนเป็นอุปสรรคในการบริหารเพื่อสร้างสันติสุข 

  • ประการที่ 1 ในทางการเมือง รัฐบาลขณะนี้จะบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร เพราะจะต้องเกิดการทวงถาม ‘รัฐบาลแพทองธาร’ จะบริหารด้วยมิติแบบไหน ในเมื่อเรื่องตากใบยังกลายเป็นที่เคลือบแคลงใจของคนท้องถิ่นอยู่ เชื่อว่าการบริหารราชการแผ่นดินจะทำงานยากขึ้น  
     
  • ประการที่ 2 คือ ‘ความรุนแรง’ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น หากนำข้อมูลทางสถิติ หรือการสำรวจปฏิกิริยาของคนท้องถิ่น ตามมุมคิดทางรัฐศาสตร์ เชื่อได้ว่าหน่วยงานความมั่นคงและรัฐบาล อาจต้องเตรียมความพร้อมรับมือ ‘เหตุการณ์ความไม่สงบ’ มีเหตุผลจากปัจจัยพื้นที่ทางการเมืองถูกปิดลง ทำให้ประชาชนแสวงหาการใช้พื้นที่อื่นๆ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ไม่ว่ารูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง  

ทั้งรูปแบบการใช้กำลัง หรืออาจเป็นการแสดงความไม่พบใจ ด้วยการจุดไฟเผา หรือการแสดงออกด้วยการเขียนถ้อยคำ เป็นสัญลักษณ์ทางอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งเป็นเหตุเกิดขึ้นต่อเนื่องเรื่อยมาหลายสิบปี  

กระนั้น รัฐบาลหรือหน่วยงานความมั่นคง ‘จำเป็นต้องตั้งสติ’ หากเหตุการณ์เกิดขึ้นตามครรลองของประชาธิปไตย จะต้องไม่ใช้กำลังในการจับกุม เพราะจะกลายเป็นปัญหาซับซ้อนอีกรูปแบบหนึ่ง 

ส่วนจะส่งผลกระทบต่อการหารือ - เจรจา ระหว่างรัฐ ประชาชน และผู้มีแนวคิดแตกต่าง หรือไม่ เอกรินทร์ เชื่อว่ามีผลเกี่ยวเนื่องกัน อันเป็นสิ่งสืบเนื่อง (จากแนวคิดประการที่ 1) ด้วยขณะนี้ ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้แต่งตัวแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (The Peace DialoguePanel) คนใหม่ ที่ต่อจากนี้การบริหารราชการแผ่นดิน จะต้องถูกออกแบบภายใต้เงื่อนไขและสมการ ที่มีกรณีตากใบเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้นหัวหน้าคณะพูดคุยต้องมีความสามารถ และเข้าใจถึงปัญหาในชายแดนใต้ชนิดแตกฉาน เพื่อให้กระบวนการพูดคุยดำเนินต่อไปได้อย่างเป็นธรรม 

สำหรับ มิตรประเทศ อย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่เข้ามาเป็นตัวกลางอำนวยความสะดวกในการประสานการเจรจา เพื่อการคลี่คลายความขัดแย้งด้วย รัฐบาลต้องเตรียมหาเหตุผลชี้แจงความเป็นไปอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ โดยเฉพาะสถานะในปี 2568 - 2570 ที่ประเทศไทยจะได้รับการคัดเลือกให้เป็น ‘สมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ’

“ในระดับการประสานงาน รัฐบาลคุณแพทองธารจำเป็นต้องมีเหตุผลที่รับฟังได้ ไปชี้แจงต่อประชาชนรวมถึงนานาชาติ ว่าทำไมถึงปล่อยให้คดีตากใบหมดอายุความลงง่ายๆ โดยไม่มีความกระตือรือร้นจากฝ่ายบริหร เพราะมันมีโจทย์ใหม่สำคัญหลายประการ ที่เป็นความท้าทายต่อความเป็นไปในเชิงสันติภาพ”

เอกรินทร์ กล่าว

‘แพทองธาร’ ต้องแสดงจริงใจกับ ‘คนสามจังหวัด’ มากกว่านี้ 

เอกรินทร์ ในฐานะนักรัฐศาสตร์ ที่ติดตามสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้มายาวนาน (ตั้งแต่ช่วงโศกนาฏกรรมตากใบ) สะท้อนมุมคิดของชาวสามจังหวัด ว่าประชาชนในพื้นที่จำนวนมากเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย ผ่านการใช้พื้นที่ทางการเมือง ส่วนผู้ใช้ความรุนแรงอาจมีบ้างก็เป็นส่วนน้อย  

ฉะนั้น ในวันที่ประเทศมีประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง ชาวสามจังหวัด (หรืออีกนัยคือคนชายขอบ) จะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงออกเสมอ อย่าง การลงประชามติ ‘ร่างรัฐธรรมนูญ 2560’ ที่คนสามจังหวัดก็เลือก ‘ปฏิเสธ’ ไม่เห็นด้วย หรืออีกประเด็นที่เป็นนัยซ้อนเร้น ที่แสดงให้เห็นสุขภาพของประชาธิปไตยที่ดี คือ การออกมาแสดงความคิดเห็นทั้งเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ผ่านการออกมาชุมนุมอย่างสันติ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการตอบสนอง ด้วยการเปิดพื้นที่ทางความคิดแบบเสรีมากที่สุด 

ย้อนกลับไปสมัย ‘รัฐบาลยิ่งลักษณ์’ เคยมีการพูดคุยลงนามสันติภาพ ภายใต้คำสั่งของนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งมีมิติที่ดีขึ้น ทว่ากลับกลายเป็นวัฏจักร (ช่วงตกต่ำ) เมื่อ ‘รัฐบาลแพทองธาร’ ที่ปฏิเสธการใช้อำนาจในฝ่ายบริหาร ดำเนินการให้คดีตากใบอยู่ในสถานะของการใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม แต่กลับใช้ช่องทางกฎหมายที่ ‘เพื่อไทย’ ต้องรับผิดชอบ

“พูดด้วยความเคารพ ในนามนักวิชาการที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน และอยากเห็นความสงบในพื้นที่ รัฐบาลยังมีเวลาคิดเรื่องนี้ ผมว่านายกฯ ควรลงพื้นที่ด้วยตัวเอง เพื่อแสดงมิตรจิตมิตรใจกับคนท้องถิ่น ว่าตัวเอง (แพทองธาร) รู้สึกและทราบถึงความเจ็บปวดต่อกรณีตากใบ ก็จะทำให้คนในพื้นที่อุ่นใจมากขึ้น ไม่มีใครไม่ต้อนรับ เพราะใครๆ ก็อยากเห็นผู้นำประเทศแสดงสปิริตอย่างใจจริง”

เอกรินทร์ ต่วนศิริ กล่าวทิ้งท้าย

หมายเหตุ : ภาคการเมืองจะต้องรับผิดชอบอย่างไรต่อ ขอให้ผู้อ่านติดตามในบทความถัดไป (ต่อจากนี้) ...

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์