ร้อง ‘กมธ.ความมั่นคงฯ’ สอบปม ‘หมูเถื่อน-ส่งออกตีนไก่-เคลมภาษีน้ำมัน’

7 ธันวาคม 2566 - 06:25

Atchariya-brought-evidence-to-Security-Committee-examines-three-issues-SPACEBAR-Hero.jpg
  • ‘อัจฉริยะ’ หอบหลักฐานฟ้อง ‘กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐฯ’

  • บี้สอบปม ‘หมูเถื่อน-ส่งออกตีนไก่-เคลมภาษีน้ำมัน’ เผย ‘ข้าราชการ 3 กรม’ สารภาพหมดแล้ว

  • ‘รังสิมันต์’ ข้องใจเรื่องยืดเยื้อทั้งที่ ‘เทคแอคชั่น’ กันทุกฝ่าย เชื่อสาวถึง ‘ตัวใหญ่’ ได้ไม่ยาก

  • ถามอยากจบปัญหาแบบจริงๆ หรือจบแบบตัดตอน จวกสะท้อนถึงความหย่อนยานของกฎหมาย-ลอยแพเกษตรกร

อัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม นำหลักฐานมามอบให้ รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อตรวจสอบใน 3 ประเด็น ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ได้แก่

  1. การลักลอบนำเข้าเนื้อสุกรเถื่อน โดยมีข้าราชการระดับกรม 3 กรม เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งอาจโยงไปถึงนักการเมืองบางคน โดยถือว่าคืบหน้าไปมาก
  2. การสวมสิทธิ์ส่งออกตีนไก่ไปยังประเทศจีน ซึ่งเกี่ยวพันกับอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  3. การส่งออกน้ำมันไปยังเมียนมา และวนกลับมาจำหน่ายในประเทศไทย โดยมีการขอคืนภาษีแบบผิดกฎหมาย 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งกระทำมาแล้ว 6 ปี
Atchariya-brought-evidence-to-Security-Committee-examines-three-issues-SPACEBAR-Photo01.jpg

อัจฉริยะ ชี้แจงว่า เรื่องนี้กระทบต่อระบบเศรษฐกิจรวมถึงผู้ประกอบการและเกษตรกร ประเมินมูลค่าความเสียหายเป็นแสนล้านบาท ส่วนสิ่งที่นำมามอบในวันนี้ เป็นหลักฐานเบื้องต้น แต่หากวันที่กรรมาธิการเรียกชี้แจง จะมีตัวบุคคลที่รับเงินใต้โต๊ะ ตั้งแต่ระดับล่างจนถึงอธิบดี และเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี ซึ่งตนเองได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งหลักฐานเรื่องหมูเถื่อนและตีนไก่ ส่วนเมื่อถามถึงความมั่นใจว่า สามารถเอาผิดใครได้บ้าง อัจฉริยะ บอกว่า

ถ้าเอาแบบจริงจัง ไม่มีเกรงใจกัน ก็ถึงกันหมดทุกคน เพราะหลักฐานทิ้งร่องรอยด้วยเอกสาร คนทำชิปปิ้งก็ให้การรับสารภาพแล้ว รวมถึงมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมศุลกากร ก็ให้การซักทอดไปถึงผู้ใหญ่หมดแล้ว ขณะนี้มีครบแล้ว

ด้าน รังสิมันต์ ชี้ให้เห็นว่า ปัญหา ‘หมูเถื่อน’ ถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่ได้มีแค่การลักลอบนำเข้ามาแบบผิดกฎหมายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบถึงปัญหาการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ หากไม่เอาผิดทางกฎหมาย จะไม่มีทางรู้ว่าสินค้าทางการเกษตรที่เข้ามาสู่ไทย จะมีคุณภาพ หรือเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยหรือไม่ ยังไม่นับว่าอาจมีผู้เกี่ยวข้องที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่-คนสำคัญ-คนที่มีชื่อเสียงของบ้านเมือง นอกจากนั้น ยังส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร อย่างราคาหมูในประเทศ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเกษตรกร

เรื่องหมูเถื่อนจึงไม่ใช่แค่หมูเถื่อน แต่หมายความรวมถึงความหย่อนยานทางกฎหมาย ปัญหาทางสุขภาพ ปัญหาที่เกษตรกรอาจจะได้รับและอื่นๆ อีกมากมาย เพราะฉะนั้น ผมในฐานะประธาน กมธ.ความมั่นคงฯ จะเอาเรื่องนี้เข้าหารือในกรรมาธิการ เพื่อที่จะได้มีการประชุมและจะพิจารณากันต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งขอบเขตของ กมธ.ความมั่นคงฯ ค่อนข้างกว้างครอบคลุมหลายเรื่อง เราสามารถพิจารณาประเด็นเรื่องยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเรื่องนี้ หมูเถื่อน เมื่อพิจารณาแล้ว อยู่ในส่วนยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิบัติประเทศ หรืออาจจะกระทบกระเทือนต่อกฎหมายเหล่านี้ เราก็สามารถที่จะบรรจุเข้าพิจารณาได้ แต่ผมก็ไม่สามารถตอบได้ว่า จะเข้าในขอบเขตไหนบ้าง จึงขอไปพิจารณา และปรึกษากันในกรรมาธิการก่อน

Atchariya-brought-evidence-to-Security-Committee-examines-three-issues-SPACEBAR-Photo03.jpg

รังสิมันต์ ยังมองถึงกระบวนการการตรวจสอบหมูเถื่อน ว่า เรื่องนี้ค้างมาเป็นเวลานาน แต่ก็คิดคล้ายๆ กับอัจฉริยะ และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก น่าจะสาวไปถึงตัวการคนสำคัญได้หมด คำถามอยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ และแปลกใจว่าทำไมถึงยื้อกันนานขนาดนี้ ถ้าเรื่องไปถึงระดับดีเอสไอ และความพยายามแสดงออกของฝ่ายต่างๆ เรื่องนี้ควรจะจบได้แล้ว

ถ้ามาถึงขณะนี้ ยังไม่สามารถดำเนินการจัดการกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดได้ ระบบกฎหมายของเราจะมีใครเชื่อถือ ซึ่งไม่ใช่เป็นแค่การสาวคนที่เกี่ยวข้อง แต่เราต้องมานั่งคิดว่ามีเจ้าหน้าที่ใครบ้างที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เราจะสามารถป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นอีก และก็จะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งไม่ใช่แค่หมูเถื่อน ที่นายอัจฉริยะ มายื่นในวันนี้ ยังมีเรื่องตีนไก่ด้วย ก็ต้องตรวจสอบต่อไปว่าจะมีใครที่จะเกี่ยวข้องกับกรณีนี้บ้าง ซึ่งเรื่องตีนไก่ ผมยังไม่ได้ดูรายละเอียด จึงขอศึกษาและพูดคุยกับกรรมาธิการ เพื่อหาข้อสรุปก่อน

Atchariya-brought-evidence-to-Security-Committee-examines-three-issues-SPACEBAR-Photo04.jpg

เมื่อผู้สื่อข่าวชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปีที่แล้วที่มีการระบาดของโรคอหิวาต์หมู แล้วรัฐปิดบังประชาชน ทำให้การตรวจสอบหมูเถื่อนยืดเยื้อ รังสิมัน ก็บอกว่า หลักการสำคัญคือ ต้องให้ทำให้ประชาชนมีข้อมูล ประชาชนจึงสามารถแก้ปัญหาเบื้องต้น และรับมือและขั้นตอนต่อไปได้ หากเกิดเหตุแบบนี้ แต่ปัญหาคือในช่วงเวลาที่มีโรคระบาด ประชาชนไม่รู้ว่าเจอกับอะไรและต้องรับมืออย่างไร ไม่ได้มีแผนสำรองมาตรการภาครัฐก็ไม่ชัดเจน

กระบวนการเหล่านี้ เหมือนปล่อยให้ประชาชนที่เป็นเกษตรกรอยู่บนเรือ แล้วปล่อยให้อยู่กลางทะเล จะอยู่อย่างไร จะไปรอดหรือเปล่า ไม่มีทางรู้ ดังนั้น สิ่งสำคัญเมื่อเกิดปัญหาที่เป็นวิกฤตภาครัฐมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความจริงกับประชาชน อย่าไปกังวลว่า ถ้าให้ข้อมูลไปแล้วจะมีผลกระทบในลักษณะที่มีความกังวลหรือไม่ เดี๋ยวจะมีผลกระทบต่อตลาดหรือไม่ บางครั้ง หากมีวิกฤตเกิดขึ้น อย่าคิดว่าคนอื่นเขาไม่ทราบ ถ้าเราให้ข้อมูลกับประชาชน การเตรียมตัวต่างๆ ก็จะตามมา ประชาชนก็จะได้รับมือได้ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญ และเป็นบทเรียนของกระทรวงเกษตรฯ ในรอบที่แล้ว ในการแจ้งเตือนข้อมูลต่างๆ ให้ทางทันท่วงที

เมื่อถามต่อไปว่า เรื่องนี้เกี่ยวพันกับนายทุน มองว่าการตรวจสอบจะสาวไปถึงหรือไม่นั้น รังสิมันต์ มองว่า ถ้าสุดท้าย ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาจริงๆ คือการจัดการกับคนที่เรียกว่านายทุน หรือปลาตัวใหญ่ของเรื่องนี้ ถ้าไม่มีการจัดการไปถึงระดับนั้น สุดท้ายก็เป็นแค่การตัดตอน

คำถามคือ วันนี้เรื่องหมูเถื่อนจะจบแบบไหน จบแบบตัดตอน หรือสุดท้ายเป็นการแก้ปัญหาจริงๆ ที่จะนำไปสู่การทำให้การบังคับใช้กฎหมายของเราไม่หย่อนยานแบบที่ผ่านมา นี่คือสิ่งที่สำคัญ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์