เปิดท่าที ‘สว.’ ก่อนยื่น ‘ซักฟอก’ รัฐบาล

18 ม.ค. 2567 - 04:17

  • ในที่สุด สว.ก็รวบรวมรายชื่อได้เพียงพอต่อการยื่นขออภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 ในวันจันทร์ที่ 22 มกราคมนี้ แต่ก่อนจะถึงวันนั้น เรามาดูท่าทีของ สว.ตัวตึงทั้งหลายว่าจะเป็นอย่างไร?

attitude-senator-before-22jan24-SPACEBAR-Hero.jpg

นับเป็นการทิ้งทวนก่อนหมดวาระแบบเป็นที่จดจำ สำหรับวุฒิสภาชุดนี้ กับการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 กับการทำงานของรัฐบาล แรกเริ่มหลายคนต่างก็ลุ้นว่า ‘สว.เสรี สุวรรณภานนท์’ จะล่ารายชื่อได้ครบ 1 ใน 3 หรือ 84 คน หรือไม่ แต่สุดท้าย ตัวเลขก็พุ่งไปถึง 98 คน ถือว่า ครบแบบเผื่อเหลือเผื่อขาดนิดหน่อย

หากเช็กดูรายชื่อที่สนับสนุนการอภิปรายครั้งนี้ จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นอดีตแก๊ง 40 สว. นอกจากนี้ ยังมีทั้ง สว.พลเรือน อย่าง ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ,เฉลิมชัย เฟื่องคอน ,กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ และ สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ รวมถึง สว.สายทหาร อย่าง พล.อ.อู๊ด เบื้องบน ,พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ ,พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ,พล.อ.บุญธรรม โอริส เป็นต้น แต่เมื่อพยายามสอบถามรายชื่อเพิ่มเติม กลับได้รับคำตอบว่า ‘ขอให้รอติดตามในวันจันทร์ที่ 22 มกราคมนี้ ที่จะมีการยื่นญัตติอภิปรายอย่างเป็นทางการ’

แล้ว สว.จะอภิปรายประเด็นใดบ้าง?

สว.วางไว้ทั้งหมด 7 ประเด็นตามญัตติที่เตรียมอภิปรายรัฐบาล ได้แก่

  1. ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องประชาชน อาทิ การแก้ปัญหาความยากจน 
  2. ปัญหากระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมาย อาทิ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังตามคำพิพากษาที่สะท้อนกระบวนการยุติธรรม 2 มาตรฐาน 
  3. ปัญหาด้านพลังงาน 
  4. ปัญหาการศึกษาและสังคม 
  5. ปัญหาต่างประเทศและท่องเที่ยว 
  6. ปัญหาแก้รัฐธรรมนูญ 
  7. ปัญหาปฏิรูปประเทศ 

พุ่งเป้าปม ‘ดิจิทัลวอลเล็ต-กระบวนการยุติธรรม’?

‘สมชาย แสวงการ’ อดีตแกนนำก๊วน 40 สว. มีท่าทีที่ชัดเจนกับการตั้งเป้าอภิปรายรัฐบาลในประเด็น ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ที่เจ้าตัวโจมตีมาตลอด โดยเฉพาะ ‘การกู้เงิน’ มาแจก เพราะไม่คุ้มค่า ทั้งที่ควรนำเงินไปสร้างศักยภาพประเทศ จ้างงานในชนบท จ้างนักศึกษาลงไปในหมู่บ้าน เพื่อแก้ปัญหาแบบพุ่งเป้า แบบที่ ‘สี จิ้น ผิง’ ใช้เงิน 5 แสนล้านบาทต่อปีพัฒนาประเทศ ทำให้คนยากจนกระโดดขึ้นกลายเป็นคนที่ลืมตาอ้าปากได้ แต่ประเทศไทยไม่ได้รวย จะใช้เงินสุรุ่ยสุร่ายแบบนั้น ได้แค่ 0.6 ของจีดีพี แล้วในอนาคตต้องไปใช้หนี้ ก็ถือว่า ‘ไม่คุ้ม’ ซึ่งหากกฎหมายกู้เงินเข้าสภาฯ ก่อนหมดวาระ ส่วนตัวอาจจะโหวต ‘ไม่เห็นด้วย’ ดังนั้น เรื่องที่รัฐบาลควรทำตอนนี้ คือ แก้ปัญหาปากท้องให้ประชาชน 

“เสียเวลา 4 เดือนครึ่งนั้น ถือว่า นานจนเกินไปแล้ว ทำอย่างอื่นได้อีกเยอะเลย สร้างแรงงาน จ้างงาน สร้างงานดีกว่าการแจกเงิน” สมชาย กล่าว

‘สมชาย แสวงการ’ ยังเป็นอีกหนึ่งคนที่พุ้งเป้า ‘กระบวนการยุติธรรม’ ภายใต้รัฐบาลชุดนี้มาตลอด โดยเฉพาะประเด็นของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่มองว่า ทำให้เกิดข้อครหาในสังคมและเกิดความเคลือบแคลงสงสัย

“เรื่องความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียมนั้น ผมเห็นว่า ฝ่ายค้านไม่ทำหน้าที่ เสียดายคนรุ่นหนุ่มสาว เราเห็นเด็กรุ่นใหม่มาเป็น สส. เราก็ดีใจ แต่เรื่องนี้ เป็นเรื่องความยุติธรรมของคนทั้งหมด กลับไม่พูดเรื่องชั้น 14 ถือว่า ผิดปกติ ในฐานะประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน วุฒิสภา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนักโทษ ที่ถูกกระทำในคุก และเราก็เข้าไปดูในเรือนจำบ่อยมาก เขาไม่ได้อยู่ในสภาพที่สบาย แล้วตอนทำกฎหมายให้นักโทษออกจากเรือนจำ ผมเป็นเลขาวิปรัฐบาลสมัยนั้น ปี 2560 ที่ทำกฎหมาย มีนักโทษในเรือนจำ 4 แสนคน วันนี้เหลือนักโทษในเรือนจำ 2 แสนคน ผ่านมา 4 ปีกว่าๆ เราใช้กฎหมายแก้หลายๆเรื่อง คนล้นคุกออกไปครึ่งหนึ่งแล้ว ตกลงเราจะไม่มีคุกเลยหรือ นั่นเป็นปัญหาว่า ความยุติธรรมต้องเท่าเทียม” สมชาย กล่าว

ส่วน ‘คำนูณ สิทธิสมาน’ เป็นหนึ่งใน สว.ที่ยอมรับว่า แรกเริ่มไม่เห็นด้วยกับการเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 153 เนื่องจากรัฐบาลทำงานมาเพียง 4 เดือน ยังไม่ทันใช้งบประมาณของตัวเอง จะเร็วเกินไปหรือไม่? จวบจนกระทั่ง ได้เห็นหนังสือขอเปิดอภิปรายที่มีข้อเสนอแนะของ ‘พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์’ อดีตเสนาธิการทหารเรือ ขอเพิ่มประเด็น ‘การเจรจาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชา หรือ Overlapping Claims Area – OCA’ 

“ผมไม่ต้องคิดอะไรมากเลย ผมต้องร่วมลงชื่อ และถ้ามีการเปิดอภิปราย และจัดสรรเวลา ผมก็จะทำหน้าที่ชี้แจงเหตุและผลที่ผมเห็นต่างให้ดีที่สุด โดยเฉพาะเมื่อมี พล.ร.อ.พัลลภ เข้ามาด้วย ผมมีความมั่นใจขึ้นมามาก เมื่อก่อน เรื่องเขตแดนทางทะเล เป็นอะไรที่ไม่เข้าหัวผมเลย เพราะสมัยเรียนนิติศาสตร์ วิชากฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายทะเล ผมทำได้ไม่ค่อยดีนัก แต่ พล.ร.อ.พัลลภ ท่านทำได้ดีมาก ในตอนอภิปรายนโยบายรัฐบาล ท่านเป็นสมาชิกรัฐสภาคนเดียวที่อภิปรายประเด็นนี้ เพราะนี่คือนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล และท่านมีข้อเสนอแนะที่ผมฟังแล้วยังรู้สึกว่า แหลมคมมาก แต่เวลา 8 นาทีมันฆ่าทุกคน เพราะฉะนั้น ผมก็ตัดสินใจลงชื่อไป และคิดว่า ลงชื่อไปแล้วก็สบายใจ จะได้เปิดหรือไม่ได้เปิด ได้เวลาเท่าไหร่ ก็จะทำหน้าที่ที่ดีที่สุด เพราะโอกาสที่จะแสดงความเห็นเพื่อบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ คนรุ่นลูกรุ่นหลาน เผื่อว่าเขามาเปิดดูบันทึกการประชุมสภาฯ ส่วนรัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไร ก็เป็นสิทธิของรัฐบาล” คำนูณ กล่า

‘คำนูณ’ ย้ำอีกว่า เรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องที่รัฐบาลอยู่มา 4 เดือน แต่เรื่องนี้ น่าจะมีความคืบหน้าในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ เพราะผู้นำกัมพูชาจะมาเยือนประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลนี้ สืบทอดจากพรรคไทยรักไทยในอดีต ก็เป็นผู้ริเริ่มการเจรจา และเป็นผู้จัดทำบันทึกความเข้าใจของระหว่างสองประเทศ ดังนั้นก็เป็นเรื่องที่ ‘สมควรจะอภิปราย’

เหตุผลของ ‘คนเห็นต่าง’

ที่เซอร์ไพรส์สำหรับใครหลายคน ก็คือ หนึ่งใน สว.ตัวจี๊ด อย่าง ‘วันชัย สอนศิริ’ กลับ ‘ไม่ร่วมสังฆกรรม’ กับการ ‘ซักฟอก’ ในครั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่า รัฐบาลเริ่มทำงานได้แค่ 4 เดือน งบประมาณปี 2567 ยังไม่ได้ใช้ ในฐานะที่สนับสนุนให้มีรัฐบาลชุดนี้ จึงควรเปิดโอกาสให้ ‘เขา’ แสดงฝีมือและใช้งบประมาณเสียก่อน 

ลุ้นจะมี สว.ถอนชื่อก่อนวันยื่นญัตติหรือไม่?

นี่อาจเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่กลุ่มล่ารายชื่อเป็นกังวล เพราะหากดูจำนวน สว.ที่ลงชื่อ พบว่า มากกว่าตามที่กฎหมายกำหนดเพียงแค่ 14 คน กับระยะเวลาอีกแค่ 4 วันก่อนจะถึงวันยื่นญัตติ อาจมีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขรายชื่อจะเพิ่มขึ้น หรือลดน้อยลง เพราะ ‘สว.วันชัย’ ก็ยอมรับว่า มีหลายกลุ่มที่ ‘ไม่เห็นด้วย’ หรือ อาจจะมีคน ‘ถอย’ ก็เป็นไปได้ ดังนั้น คงต้องลุ้น!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์