เบื้องหลัง ‘สับขาหลอก’ ประชามติรัฐธรรมนูญใหม่!?

6 พ.ค. 2567 - 07:01

  • ย้อนดูคำชี้แจงของ ‘นิกร จำนง’ ประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ปมทำ ‘ประชามติ’ เพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ จับอาการงานนี้มี ‘สับขาหลอก’ หรือไม่

Behine-the-scenes-bait-and-switch-of-the-new-constitutional-referendum-SPACEBAR-Hero.jpg

ก่อนเที่ยงวันอังคารที่ 23 เมษายน 2567 ‘นิกร จำนง’ ประธานอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นการจัดทำประชามติฯ และ ‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ กรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติฯ ออกมาให้สัมภาษณ์ตรงกันเรื่องทำประชามติเพื่อนำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ หลังเข้าชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.ให้ความเห็นชอบรายงานผลการศึกษาที่เสนอไปแล้ว

พร้อมขยายรายละเอียดว่า ให้ทำประชามติ 3 ครั้ง โดยมีคำถามเดียวในการทำประชามติครั้งที่ 1 ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ทั้งยังกางปฏิทินคร่าวๆ สร้างความหวังไว้ด้วยว่า การทำประชามติครั้งแรกจะมีขึ้นในราวปลาายเดือนกรกฎาคม-สิงหาคมนี้

แต่อีกหนึ่งสัปดาห์ถัดมา การแถลงข่าวหลังการประชุมในวันพฤหัสบดีที่ 2 พฤษภาคม 2567 กลับกลายเป็น ‘หนังคนละม้วน’ เมื่อที่ประชุมเคาะให้แก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เสียก่อนจะทำประชามติครั้งแรก โดยจะใช้เวลา ราว 5-6 เดือน ซึ่งทำให้การทำประชามติขยับออกไปเป็นปลายปีนี้แทน

เรื่องนี้แม้แต่ผู้นำฝ่ายค้านฯ ‘ชัยธวัช ตุลาธน’ ก็ยังรู้สึกงงกับการแถลงข่าวในวันแรก พร้อมขอให้รัฐบาลสื่อสารกับประชาชนให้ชัดเจน หาไม่แล้วจะถูกครหาได้ว่าต้องการยื้อเวลาออกไป

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถามไถ่จาก ‘นิกร จำนง’ โฆษกคณะกรรมการศึกษาแนวทางการจัดทำประชามติ ก็ยืนยันว่า ไม่ใช่เรื่องหนังคนละม้วน แต่เป็นม้วนเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่ที่แถลงครั้งแรกไปแบบนั้น ก็เพราะออกมาจากที่ประชุม ครม.ก่อนจะพิจารณาไปถึงข้อที่ให้แก้ไขกฎหมายก่อนทำประชามติ?!

สรุปว่า ‘ดูหนังไปได้แค่ครึ่งม้วน’ พอ ครม.เห็นชอบผลศึกษาในช่วงต้น ก็รีบออกมาแถลงเลย โดยไม่อยู่รอข้อท้ายๆ ว่าผลเป็นอย่างไร ซึ่งไปพลิกดูมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ โดยมีรายละเอียดอยู่ในข้อที่ 2 และข้อที่ 3 ความว่า

2. ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง พิจารณายกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 ในประเด็นตามรายงานดังกล่าว โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณา และหากมีร่างพระราชบัญญัติที่มีลักษณะในทำนองเดียวกันของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่อยู่ระหว่างการบรรจุวาระการประชุมหรือได้บรรจุวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็ให้นำร่างพระราชบัญญัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว มาประกอบการพิจารณาด้วยแล้วเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

3. ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเท่าที่จำเป็น ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ทั้งนี้ เมื่อร่างพระราชบัญญัติตามข้อ 2 ได้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมาย และคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการออกเสียงประชามติแล้ว

แจ่มกระจ่างชัดกันตามนี้

ในขณะที่ข้อห่วงใยเรื่อง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2564 เป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศตามหมวด 16 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ‘นิกร’ ไม่ให้กังวล เพราะได้เลยระยะเวลา 5 ปีแรก ของการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้ว อีกทั้งผู้ที่จะชี้ว่า เข้าข่ายเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศหรือไม่ คือคณะรัฐมนตรี

ฟังดูก็คงเบาใจอย่างที่ว่า แต่ที่คาใจไม่หาย น่าจะเป็นเรื่องหนังม้วนเดียวกันมีหลายภาค เลยไม่รู้การทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จะมีสับขาหลอกกันอีกหรือเปล่า?!

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์