นโยบายต่างประเทศแบบ ‘ไม้ไผ่’ หรือ ‘ไผ่ลู่ลม’ คือ ไม่เลือกข้าง ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์หรือรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตให้เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชนมากที่สุด
ประเทศไทยใช้นโยบายต่างประเทศแบบไม้ไผ่ มาตั้งแต่สมัย รัชกาลที่ 4 แล้ว เพื่อรับมือกับการคุกคามของเจ้าอาณานิคมตะวันตก แม้ในช่วงยุคสงครามเย็นจะเลือกยืนข้างสหรัฐฯ ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่จีนและรัสเซียเป็นผู้นำ แต่มาถึงรัฐบาล ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช โลกเปลี่ยน ไทยเปลี่ยนตาม เปิดสัมพันธ์กับจีนในปี 2518 มาถึงปัจจุบัน สหรัฐฯ กับจีน คือ มหาอำนาจโลก ไทยก็คบทั้งสองฝ่าย แต่เป็นตัวของตัวเอง ยึดผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก
ตรงข้ามกับ ‘ไผ่ลู่ลม’ คือ นโยบายต่างประเทศแบบ ‘ยืนหลังตรง’ ที่พรรคก้าวไกล ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง โดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ครั้งที่เป็นหัวหน้าพรรค และว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ประกาศว่า ถ้าพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล จะทำการทูตแบบยืนหลังตรงในเวทีโลก คือแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ไม่ประนีประนอม เลือกข้างตะวันตก และสหรัฐฯ
พรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นรัฐบาล นายพิธาไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คนไทยจึงไม่มีโอกาสเห็นว่า นโยบายต่างประเทศแบบ ‘ยืนหลังตรง’ จะเป็นประโยชน์หรือสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติอย่างไร
ในขณะที่นโยบาย ‘ไผ่ลู่ลม’ ที่นำพาประเทศชาติให้อยู่รอดปลอดภัยมานานกว่า 150 ปีแล้ว ได้รับการพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า เป็นนโยบายที่ถูกต้อง เมื่อแรงงานไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับเป็นตัวประกัน ได้รับการปล่อยตัวแล้ว 14 คน จากจำนวน 23 คนที่ถูกจับ โดยกลุ่มฮามาสรับปากว่า จะปล่อยคนไทยที่เหลือทั้งหมดแบบไม่มีเงื่อนไข

การปล่อยตัวแรงงานไทย เกิดขึ้นในช่วง ‘พักรบ’ 4 วัน 24-27 พฤศจิกายน โดยอิสราเอลปล่อยนักโทษปาเลสไตน์ที่เป็นผู้หญิงและเด็ก 150 คน แลกกับตัวประกันอิสราเอลที่เป็นผู้หญิงและเด็กเช่นกัน 50 คน
การปล่อยตัวประกันไทย 14 คน ซึ่งเป็นผู้ชายทั้งหมด เป็นการเจรจาต่างหากอีกวงหนึ่งระหว่างรัฐบาลไทยกับฮามาส ผ่านคนกลางคือ กาตาร์ อียิปต์และอิหร่าน
ทันทีที่ฮามาสบุกฆ่า จับตัวประกันอิสราเอลและคนไทย นายพิธา ทวีตข้อความผ่านX (ทวิตเตอร์) ว่า ได้โทรศัพท์ไปแสดงความเสียใจต่อทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย และประกาศให้ครอบครัวแรงงานไทยในอิสราเอล ส่งอีเมล์มาหาตน เพื่อประสานงานกับสถานฑูตอิสราเอลในไทย ในการติดตามตัวแรงงานที่ญาติยังติดต่อไม่ได้
ฟากรัฐบาล นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ปากไวไม่แพ้กัน ทวีตข้อความประณามการโจมตีอิสราเอล ซึ่งเท่ากับประณามกลุ่มฮามาสนั่นเอง
ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับ ปาเลสไตน์ ยืดเยื้อมากว่า 70 ปี มีตัวละครมากมายหลายฝ่าย นายพิธาและนายเศรษฐาไม่รู้ความเป็นมา ไม่รู้ว่าใครเป็นใคร แต่ด่วนแสดงจุดยืนที่ถูกตีความได้ว่า เลือกข้างอิสราเอล
ยังดีที่รัฐบาลกลับลำ ตั้งหลักได้เร็ว รับฟังมืออาชีพด้านการทูต ที่เป็นข้าราชการประจำของกระทรวงต่างประเทศ ขอความร่วมมือจากกาตาร์ อียิปต์ ให้ช่วยประสานงานกับกลุ่มฮามาส ให้ปล่อยตัวแรงงานไทย โดยนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ บินด่วนไปพบ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีต่างประเทศ กาตาร์ และรัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ เพื่อขอให้เจรจากับกลุ่มฮามาสให้ปล่อยแรงงานไทย
ทั้งกาตาร์ และอียิปต์ เป็นชาติอาหรับที่อยู่ในกลุ่มเฉพาะกิจเจรจาช่วยตัวประกันร่วมกับอิสราเอล สหรัฐฯ และกาชาดสากลกาตาร์ กับอียิปต์ เป็นโซ่ข้อกลางระหว่าง อิสราเอล สหรัฐฯ กับกลุ่มฮามาส

อีกช่องทางหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือแรงงานไทยคือ กลุ่มนักการเมืองมุสลิม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้กลุ่มวาดะห์ หรือพรรคประชาชาติในปัจจุบัน ที่มีนายวัน มู ฮัมหมัด นอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นำ มอบหมายให้นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ที่ปรึกษาประธานสภา และนายมุข สุไลมาน เลขานุการประธานสภา เดินทางไปอิหร่าน เพื่อพบกับตัวแทนกลุ่มฮามาส ขอให้ปล่อยแรงงานไทย ซึ่งทางฮามาสรับปาก และยังได้พบกับผู้แทนของอิหร่าน ให้ช่วยคุยกันทางฮามาสอีกทางหนึ่ง
แรงงานไทยในอิสราเอลไม่ใช่เป้าหมายของกล่มฮามาส ถูกฆ่า และถูกกวาดจับไปตอนที่กลุ่มฮามาสโจมตีนิคมคิบบุตช์ ทางใต้ของอิสราเอล ตอนเช้าวันที่ 7 ตุลาคมเพราะไม่รู้ว่าใครเป็นใคร การเจรจาให้ปล่อยตัวไม่มีปัญหา แต่ถ้ารัฐบาลไปผิดช่องทาง ก็ไม่แน่ว่า จะถูกปล่อยตัวเมื่อไร
ถ้านายวันนอร์ เป็นแค่หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็น สส. เป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภาที่เป็นผู้นำ 1 ใน 3 อำนาจอธิปไตยของไทย ผู้แทนที่นายวันนอร์ส่งไปกรุงเตหะราน ก็อาจไม่มีน้ำหนักมากพอที่ตัวแทนกลุ่มฮามาสและรัฐบาลอิหร่านจะให้ความสำคัญ
การที่แรงงานไทยเป็นตัวประกันชุดแรกๆ ที่ได้รับอิสรภาพ โดยการประสานงานของกระทรวงการต่างประเทศ และนักการเมืองมุสลิม แสดงถึงสถานะของไทยในเวทีต่างประเทศว่า เราไม่ใช่ประเทศที่ไม่มีศักดิ์ศรีในเวทีโลก แต่เป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับ มีแต่มิตรไม่มีศัตรู ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายต่างประเทศแบบไม้ไผ่ หรือไผ่ลู่ลม มาอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ