สภาคางดำ! ‘สภาสีน้ำเงิน-สภาบ้านใหญ่’ อย่าเอาแต่พวกมากลากไป

7 ส.ค. 2567 - 03:43

  • สภาคางดำ! ‘สภาสีน้ำเงิน-สภาบ้านใหญ่’ อย่าเอาแต่พวกมากลากไป

BlueCouncil-BlackChin-Council-big-house-many-people-drag-it-away-SPACEBAR-Hero.jpg

หลังย่ามใจกับการใช้เสียงข้างมาก ยึดเก้าอี้ประธานวุฒิสภาและรองประธานฯ ทั้งสองเก้าอี้ไปแบบกินรวบ ไม่แบ่งใคร มาสัปดาห์นี้เริ่มประชุมอย่างเป็นทางการ สภาบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ก็ยังเดินหน้าใช้เสียงข้างมากหักเอาทุกเรื่อง

ไม่ว่าจะเรื่องใหญ่เรื่องเล็ก เอะอะเป็นใช้เสียงข้างมากลากไปท่าเดียว ทำให้ สว.ที่อยู่นอกกลุ่มสีน้ำเงิน รวมตัวกันใช้ไม้ซีกงัดไม้ซุง เมื่องัดไม่ไหวก็ใช้ท่าไม้ตาย “วอล์คเอาท์” เดินออกจากห้องประชุม ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย

เพราะตั้งแต่เรื่องเล็กน้อย การกำหนดวันประชุม การแก้ไขข้อบังคับการประชุม ไปถึงเรื่องใหญ่เลือกกรรมาธิการสามัญตรวจสอบประวัติ ความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ล้วนปิดจบด้วยการลงมติ ใช้เสียงข้างมากที่มีอยู่ในมือเป็นตัวตัดสิน

ไม่ได้คำนึงถึงเสียงเรียกร้องของอีกฝ่าย ที่ให้ใช้วิธีรอมชอม เกลี่ยตำแหน่งตามความเหมาะสม หรือจะใช้วิธีจับสลากก็ได้ เพื่อให้เกิดบรรยากาศของการทำงานร่วมกัน ซึ่งการกระทำดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจให้กับอีกฝ่ายที่อยู่นอกกลุ่มสีน้ำเงิน

โดย รัชนีกร ทองทิพย์ หนึ่งใน สว.ได้ลุกขึ้นอภิปรายร่ายยาวต่อที่ประชุมว่า ตนเองเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ได้เข้ามาเป็นวาระแรก และไม่เคยลงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ในชีวิต หวังจะได้ใช้ประสบการณ์การความรู้ ความสามารถ มาใช้ก่อประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติ ด้วยการเป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพ

วันนี้รู้สึกผิดหวัง เศร้าใจ เสียใจ และไม่คาดคิดจะมาเจอภาพแบบนี้ บรรยากาศที่มีการเสนอชื่อเป็นแพ็ค 15 คน เป็นกลุ่ม เป็นก้อน แล้วเราต้องมาโหวตกันหรือ วาระนี้เป็นวาระสำคัญที่สุดของการเป็น สว. คือวาระการแต่งตั้งหรือตรวจสอบองค์กรอิสระ ทำไมเราไม่คุยกัน ทำไมต้องลงมติ หรือทำไมต้องเลือกแพคกันมา

“เราเคยมีเผด็จการรัฐสภามาแล้ว วันนี้ทำไมเราจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เผด็จการวุฒิสภาอีกหรือ ดิฉันเป็นคนรุ่นใหม่ อายุ 46 ปี ชีวิตนี้ไม่เคยคาดคิดจะเข้ามาในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ด้วยวัยเท่านี้ แต่เมื่อมาแล้วเกิดอะไรขึ้น ท่านกำลังทำอะไรกันอยู่ ท่านทำหน้าที่เพื่อประชาชนประเทศชาติได้หรือไม่ เราต้องมาเลือกกันแบบนี้อีกหรือ แล้วอ่านไลน์หรือ จดกันอีกหรือ พอได้แล้ว อย่าให้ประชาชนที่มองเราในวันนี้ ผิดหวังกับเรามากไปกว่านี้ หลายท่านในที่นี้มีเกียรติ ทรงสง่าราศีทำคุณงามความดีมาทั้งชีวิต อย่ามาทิ้งไว้ตรงนี้เลย ขอให้ช่วยกลับไปทบทวนในจิตใจสักนิด ขอให้ปิดไลน์ และเมื่อสักครู่มีคนเดินบอกว่าให้อ่านไลน์ด้วย พอเถอะ ดิฉันอับอายประชาชนทั้งชาติทั้งประเทศ”

รัชนีกร กล่าวด้วยน้ำเสียงเสียงสะอื้น และขอให้ประธานที่ประชุมใช้วิธีไกล่เกลี่ย และหากไกล่เกลี่ยไม่ได้ขอให้เลือกกันเองหรือจับสลากแทน แต่เมื่อไม่เป็นผล จึงนำไปสู่การเดินออกจากห้องประชุมและไปแถลงข่าวร่วมกันในช่วงค่ำวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมาของ สว.กลุ่มนอกบ้านสีน้ำเงิน

โดยในการแถลง นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ ย้ำว่า การทำหน้าที่ในสภาของเราต้องหยุดชะงัก เนื่องจากประธานในที่ประชุมและเสียงส่วนใหญ่ได้ดำเนินการทางสภาโดยใช้เสียงข้างมากลากไป ทำให้พวกเราซึ่งเป็นเสียงข้างน้อยทักท้วงทุกวิธี ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ไม่ลงมติแต่ให้ปรับรูปแบบเป็นการจับสลาก เพื่อให้ทุกสัดส่วนสามารถเข้าไปเป็นกรรมาธิการได้ หรือแม้กระทั่งขอให้มีการแสดงวิสัยทัศน์ แต่เสียงข้างมากก็ไม่ยอม

นพ.เปรมศักดิ์ กล่าวต่อว่า วิธีการเช่นนี้ไม่เคยมีมาก่อนที่ประธานจะไม่รอมชอมสมาชิก ปล่อยให้เสียงข้างมากทุบเอาๆ จึงขอวอล์คเอาท์ไม่ร่วมสังฆกรรม เพื่อให้การประชุมวันนี้มีแค่คนที่เป็นเสียงฝ่ายเดียว ดำเนินการคัดเลือกบุคคลองค์กรยุติธรรม และทำให้ประชาชนได้รู้ว่ามีความไม่ยุติธรรมเกิดขึ้น เป็นรอยด่างของวุฒิสภาชุดนี้ ซึ่งเราได้มีการทักท้วงไว้ แต่ผลการทักท้วงของเราก็ไม่สำเร็จ

 “ผมจะไม่ยอมเป็นตรายางให้กับกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมเช่นนี้ และได้ขอให้ประธานในที่ประชุมทบทวน แต่ท่านไม่ทบทวน เราจึงมีอาวุธอย่างเดียวคือการไม่ร่วมสังฆกรรม หากจะเดินไปข้างหน้าก็ขอให้ท่านรับเองว่าในอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อ”

ด้าน นันทนา นันทวโรภาส สว.กล่าวเสริมว่า โดยหลักการการตั้ง กมธ.ชุดนี้ขึ้นจำนวน 15 คน จะต้องมีการจัดสัดส่วนกันว่าตัวแทนของแต่ละกลุ่มจะมีจำนวนเท่าไหร่ แต่ผลปรากฏว่ากลุ่มที่เขาแพ็คกันมาเป็นบ้านใหญ่มีการเสนอทั้งหมด 15 ชื่อเต็มจำนวน โดยไม่แบ่งให้ สว.กลุ่มอิสระ ถือว่าเป็นการรวบรัดตัดตอน มีการดำเนินการโดยไม่สนใจ สว. เสียงข้างน้อย จึงรู้สึกว่านี่ไม่น่าจะเป็นไปตามกลไกระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นไปตามเสียงข้างมากลากไป

ขณะที่ อังคณา นีละไพจิตร กล่าวเช่นกันว่า วันนี้ทุกคนได้ใช้ความพยายามอดทนอดกลั้นอย่างถึงที่สุด และพยายามที่จะเสนอทางเลือกให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เพราะเห็นว่าหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของวุฒิสภา คือการเห็นชอบบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ เราเคารพเสียงส่วนใหญ่แต่เสียงส่วนใหญ่ต้องไม่ละเลยเสียงข้างน้อย ไม่ปิดกั้นโดยการเสนอเป็นแพ็กเก็จมา สุดท้ายจะทำให้คนส่วนหนึ่งมีอำนาจที่จะออกแบบหรือได้มาซึ่งองค์กรอิสระแบบใดก็ได้

“ในฐานะเสียงข้างน้อย สิ่งที่ทำได้มากที่สุด คือการไม่อยู่ร่วมในการคัดเลือกครั้งนี้ ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่เราจะร่วมวง เพื่อรับรองมติที่ไม่เป็นธรรม”

นำเรื่องที่เกิดขึ้นในสภาสูงวันก่อนมาบันทึกไว้ตรงนี้ ให้อ่านเต็มๆ กันอีกครั้ง เพิ่มจากที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว เพื่อไม่ให้สังคมยอมรับไปเสียทุกเรื่องที่ไม่ปกติ จนกลายเป็นเรื่องปกติ และปล่อยให้เกิดขึ้นแบบซ้ำๆ อีก

ไม่ว่าจังหวัดเดียวมี สว.ไปกระจุกอยู่มากถึง 14 คน ขณะที่อีกหลายจังหวัด ไม่มี สว.แม้แต่คนเดียว ก็ปล่อยผ่านและก็ยอมรับกันได้ หรือแม้แต่คำว่าสภาสีน้ำเงิน สภาบ้านใหญ่บุรีรัมย์ ก็ยอมรับกันได้ไม่เคอะเขิน โดยไม่ได้คำนึงถึงข้อกฎหมายที่ออกแบบมาให้สภาสูงนั้น ปลอดจากการเมือง

แต่วันนี้สภาสูงเป็นสภาแฝด ไม่ได้เป็นสภาคู่ทำหน้าที่กลั่นกรองตามที่กฎหมายกำหนดไว้

แม้สิ่งที่เกิดขึ้นจะเลยทุกจุดไปมากโขแล้ว แต่หากนำมาถอดเป็นบทเรียน ยอมยืดหยุ่น เดินทางสายกลาง ยึดมัชฌิมาปฏิปทาเป็นหลัก ไม่ใช้เสียงข้างมากลากไปอย่างเดียว ก็น่าจะยังไม่สายที่จะปรับจูนเข้าหากันได้อยู่

ก็แค่ยกมาเป็นอนุสติร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดรอยด่างกับสภาสูงไปมากกว่านี้ ส่วนใครจะตระหนักหรือสังวรกันกี่มากน้อย สุดท้ายอยู่ที่คนกดปุ่มจะเอาอย่างไร?

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์