นับวันกระแส Soft Power ยิ่งสอดแทรกเข้าไปตามซอกหลืบของวิถีชีวิตคนไทย และกลายเป็นคำพูดติดหู ที่ถูกป่าวประกาศโดยรัฐ เสมือนการตอกหมุดนโยบายสร้างพลังนุ่มนิ่ม เข้าสู่รากแก้วของ ประชาชนทุกช่วงวัย ตอบรับจังหวะอันรุ่งโรจน์ของหนังไทยหลายเรื่อง ที่ประสบความสำเร็จ จนโกยรายได้เป็นกอบเป็นกำ ผ่านการนำเสนอเนื้อหาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยเฉพาะ 'สัปเหร่อ' ที่สร้างปรากฏการณ์ฟีเวอร์ ทั้งในสังคมคนอีสาน และคนเมืองตีนหุ้มเกือก
แต่เมื่อ 'ต้องเต' ผู้กำกับทรงฮิปปี้แห่งจักรวาลไทยบ้าน ตั้งปุจฉาถามหาความนัยของ Soft Power จนเป็นกระแสว่อนโซเชียล วงการม้วนฟิล์มคงต้องถอดบทเรียนกันอีกครั้ง ว่าจริงๆ แล้วอะไรคือพลังเงียบที่แฝงอยู่ในหนังไทย
ผมชวน 'สืบ' บุญส่ง นาคภู่ ชายวัยเก๋าผู้ปวารณาตนเป็นศิลปิน ใช้ศิลปะภาพยนตร์นอกกระแส เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนสังคม มานิยามความหมายของ Soft Power ที่แท้จริง พร้อมวิพากษ์แผนผลักดัน 'พลังเย็น' ของรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ 'เศรษฐา ทวีสิน' ว่าจริงๆ แล้วเขารู้ซึ้งถึงมันมากน้อยแค่ไหน
หมายเหตุ : บทสนทนาต่อจากนี้ ข้าพเจ้าขอคงไว้ซึ่งถ้อยคำที่ตรงไปตรงมา เพื่อผดุงเจตจำนงของแหล่งข่าว และเพิ่มอรรถรสในการอ่านบทสัมภาษณ์ เสมือนการโต้ตอบของตัวละคร ในภาพยนตร์สั้นๆ ตามคอนเซปต์ ที่เรากำลังจะพูดถึงต่อจากนี้

นิยามซอฟต์พาวเวอร์ในมุมของคุณคืออะไร
Soft Power มันมีมานานนับร้อยปีแล้ว อธิบายง่ายๆ คือ พลังนุ่มนิ่ม พลังอ่อนไหว ที่สามารถส่งผ่านผ่านไปถึงความคิดจิตใจคน สามารถเปลี่ยนแปลงมโนธรรมของผู้เสพได้ ถือเป็นอำนาจที่ไม่มีรูปธรรม เปรียบเปรยได้เหมือนสายน้ำ หรือเปลวควัน ที่สามารถสอดแทรกไปตามภาชนะต่างๆ ได้ อีกทั้งยังช่วยกล่อมเกลาจิตใจและเปลี่ยนแปลงความคิดคน นำไปสู่ความประทับใจที่เกิดขึ้นได้หลังการสัมผัส
ในทางการเมือง ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา มีการนำแนวคิดนี้มาใช้อยู่นานแล้ว ผ่านภาพยนตร์อันเลื่องชื่อ ที่พยายามสร้างภาพลักษณ์ ให้ทั่วโลกเห็นว่า ตัวเองเป็นประเทศมหาอำนาจ ที่มีสิทธิและเสรีภาพ และมีกองทัพที่เข้มแข็ง แม้อันที่จริงเนื้อในจะมีปัญหาวุ่นวายมากมาย ไม่ต่างกับประเทศอื่นๆ (หรืออาจจะหนักกว่าด้วยซ้ำ) แต่ Soft Power ของอเมริกาก็ทำหน้าที่ของมันได้อย่างดีเยี่ยม
ยกตัวอย่าง ภาพยนตร์สงคราม หรือหนังที่พยายามปลูกฝังภาพลักษณ์ความเก่งกาจของกองทัพในสมรภูมิต่าง ๆ ทำให้ทุกวันนี้ หากใครอยากจะซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ก็ต้องนึกถึงอเมริกาเป็นที่แรก เพราะ มีหนังสงครามดีๆ เยอะมาก หรือหากจะนึกถึงประเทศที่มีจุดยืนเรื่องเสรีภาพ ก็ต้องนึกถึงอเมริกาเป็นอันดับต้นๆ
ใกล้ๆ บ้านเราตอนนี้ก็มีประเทศจีนและเกาหลีใต้ ที่พยายามพัฒนาวงการภาพยนตร์ จนกลายเป็นพลังดึงดูดให้คนอยากมาท่องเที่ยว โดยเขายกระดับโดยการว่าจ้างผู้ผลิตเก่งๆ จากต่างชาติมาทำหนัง และเขาก็ทำได้ดีเทียบเท่ากับชาติตะวันตกด้วย โดยเฉพาะเกาหลีใต้ ที่เฟื่องฟูจนกลายเป็นหนังระดับนานาชาติไปแล้ว
อันนี้คือตัวอย่างความเข้าใจ ที่จะแปรสภาพของภาพยนตร์ให้กลายเป็นเครื่องมือแสนนุ่มนวลในการเผยแพร่วัฒนธรรมฐานราก
แต่เมื่อย้อนกลับมาที่รัฐบาลไทย สิ่งที่เขามอง Soft Power กลับเป็นแค่การรำไทย (หัวเราะ)
งั้นคุณช่วยวิพากษ์การมอง Soft Power ของรัฐบาลไทยให้ฟังหน่อย
ผมว่ารัฐบาลไทย มองเรื่องนี้แค่เปลือกนอก เห็นได้ชัดเจนคือ การพุ่งเป้าไปที่ นาฏกรรม ศิลปกรรม ประเพณี และวิถีชีวิตในแบบที่สวยงาม อ่อนช้อย บางขณะคือความโรแมนติไซต์ ที่สื่อมาในมุมของชนชั้นนำ โดยทั้งหมดทั้งมวล ถูกนำเสนอผ่านแว่นผู้มีอำนาจทางสังคม หรือจากศูนย์กลางอำนาจทั้งสิ้น
แสดงให้เห็นถึงความไม่เข้าใจของรัฐบาล ที่เข้าไม่ถึงแก่นแท้ของวัฒนธรรมและประเพณีนอกกระแส (เสือก) คิดผิดไปในทางคร่ำครึ ตามกรอบของผู้ฝักใฝ่แนวคิดแบบอนุรักษ์นิยม มันจึงกลายเป็นว่า Soft Power ที่ควรจะเป็น (ที่กล่าวไปในคำถาม) ไม่เกิดขึ้น
ซึ่งอันที่จริง ประเทศไทยมีวัตถุดิบทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทั้งด้านสังคม ประเพณี และวิถีชีวิต แต่รัฐไทยกลับเลือกที่จะนำเสนอแบบเดิม ๆ ยิ่งย้อนกลับไปสมัยรัฐบาลก่อน (รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) ก็ไม่ได้มีความเข้าใจเช่นกัน ซ้ำร้ายยังคิดและวางแผนแบบทหาร จนเกิดการส่งเสริมภาพยนตร์ที่ปลูกฝังคนรักชาติเยอะจนล้นตลาด ซึ่งความจริงเรายังเข้าใจนิยามคำว่าชาติไม่ถูกต้องด้วยซ้ำ
ผมพูดจริงๆ นะ ชาวต่างชาติหลายคน เขารู้จักเมืองไทยในฐานะประเทศแห่งโสเภณี แม้จะเป็นเรื่องดาร์กไซด์ แต่มันคือวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่หลายคนให้ความสนใจ แต่รัฐกลับไม่รู้สิ่งนี้ (หรือจริงๆ รู้แต่พยายามปกปิดอยู่)
นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้เข้าใจนิยามและพลังของ Soft Power เลยแม้แต่น้อย
แสดงว่าวิสัยทัศน์ของผู้นำประเทศ มีผลและเป็นส่วนสำคัญต่อการสร้างพลังอำนาจที่นุ่มนวลให้เกิดขึ้นได้จริงอย่างทรงพลังได้ ?
ถูกต้องครับ เพราะการพัฒนาด้านวัฒนธรรมและการทำหนังขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้นำ แต่พอมองภาพปัจจุบัน ผมกลับมีความรู้สึกว่า รัฐบาลผสมที่นำโดยพรรคเพื่อไทย เป็นบุคลากรของประเทศที่มีวิสัยทัศน์โบราณคร่ำครึ ไม่ทันต่อโลกยุคใหม่ ไม่มีอุดมการณ์ทางความคิด และไม่มีอำนาจที่แท้จริงอยู่ในมือ ซึ่งทำให้แผนพัฒนา Soft Power ของไทย ยังคงมองภาพแบบล้าหลัง
เขาไม่รู้ด้วยซ้ำ ว่าเรื่องแบบนี้มีกระบวนการสร้างสรรค์อย่างไร และมักใช้พลังของมันแบบผิด ๆ แทนที่จะใช้ด้วยวิธีการแบบอ้อมหรือสอดแทรกตามเนื้อหา จนเป็นความเข้าใจของผู้เสพ แต่เขาเลือกประชาสัมพันธ์รำไทย - อาหารไทย แบบโต้งๆ เหมือนคุณโยนเงินร้อยล้านลงแม่น้ำ ซึ่งมันไม่เกิดประโยชน์ เพราะคนดูเขาไม่ได้อยากรับรู้เรื่องราวแบบนี้แล้ว

พรรคเพื่อไทยเป็นหนึ่งในพรรคการเมืองที่มีการนำเสนอนโยบายเพื่อคนทำหนัง ช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 แม้ตอนนี้จะเป็นรัฐบาลผสม แต่ก็มีเป็นหัวเรือของฝ่ายบริหาร ผ่านมา 3 เดือนแล้ว คุณเห็นอะไรเป็นรูปธรรมบ้าง
นโยบายขายฝันครับ เขาพยายามโปรยเรื่องเหล่านี้เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากกลุ่มคนทำภาพยนตร์ แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้จริง ตอนนี้ผมไม่รู้ว่าเขาฉีกกระดาษใบนั้นทิ้งไปแล้วหรือยัง อย่างประเด็นการยุบกองเซ็นเซอร์ พระเจ้าช่วย ! จะทำได้ยังไง ในเมื่อมายด์เซตของคุณยังโบราณคร่ำครึเป็นคนแก่อยู่แบบนี้ ต่อให้ทำได้ก็คงทำไม่ได้หมด เพราะคุณไม่เข้าใจปัญหาโครงสร้าง และคุณก็ไม่เข้าใจเรื่องวัฒนธรรมและการทำหนังอย่างแท้จริง
คุณแน่ใจหรือ ว่าไม่ได้มองโดยใช้อคติทางการเมืองเข้ามาตัดสิน ?
ผมไม่ได้ใช้อคติ แต่หากพรรคเพื่อไทยมีการสนับสนุนเรื่องนี้จริง ผมคนหนึ่งก็พร้อมผลักดันช่วย แต่ที่ผมบอกอย่างนี้ไป มาจากการดูบริบททางสังคมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปกครอง หรือเงื่อนไขของกลุ่มทุนผู้มีเงิน ซึ่งผูกขาดความเจริญ ซึ่งคุณจะทำเรื่องนี้ได้คุณต้อง (เป็นนายกฯ) มีอุดมการณ์เท่านั้น
อุดมการณ์ที่ว่าต้องเกิดจากความเข้าใจที่แท้จริง ซึ่งจะผลักดันต่อยอดไปได้ ต้องเกิดการเห็นภาพรวมร่วมกันของสังคม แต่ปัจจุบันยังไม่มี
ส่วนตัวถ้าให้คะแนนนโยบายที่พรรคเคยหาเสียงไว้ ผมขอให้แค่ 2 เต็ม 10 คะแนน ย้ำนะครับ ผมพูดตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่วิจารณ์พรรคการเมืองแบบลอยๆ ซึ่งหากคุณสนใจเรื่องที่ผมนำเสนอก็ยินดีที่จะมอบไอเดียให้ แต่ใครจะมาสนใจคนทำหนังตัวเล็กๆ ชื่อบุญส่งล่ะ (หัวเราะ)
คิดว่าวัฒนธรรมของไทย ที่รัฐพยายามประดิษฐ์ให้ดูสวยหรู เป็นองค์ประกอบสำคัญหรือไม่ ต่อการทำให้หนังที่บอกเล่าวัฒนธรรนอกกระแส ถูกกลบและไม่มีวันโตได้ในเมืองไทย
เรื่องนี้พูดอีกก็ถูกอีก ยิ่งวิเคราะห์ผ่านมุมมองคนรุ่นใหม่ อาจตีความได้ว่า เป็นการผูกขาดทางวัฒนธรรม คนชายขอบ คนต่างจังหวัด หรือกลุ่มคนชั้นล่างหายไปไหน ? เพราะเขา (รัฐบาล) ไม่มีประชาชนอยู่ในหัวอยู่แล้ว เนื้อหาที่ถ่ายทอดมีแต่เรื่องราวของชนชั้นนำ หรือความสวยงามแบบอุปโลกน์ทั้งนั้น ส่วนเรื่องราวของไพร่ทาสก็ถูกละเลยในการเผยแพร่
จริงๆ เรื่องของเรื่องมาจากความดักดาน ที่กลายเป็นรากแก้วของปัญหาทั้งหมดของหนังไทย และการผลักดัน Soft Power ผ่านภาพยนตร์ไทย ก็ถูกแช่แข็งเช่นเดียวกันกับปัญหาโครงสร้างอื่นๆ ด้วย
แต่คุณ (หรือผู้กำกับคนอื่นๆ) ก็สามารถเลือกได้ไม่ใช่หรือ กับการที่จะทำหนังให้ตรงกับมายด์เซตของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งการสนับสนุน แล้วทำไมคุณถึงไม่เลือกจะทำบ้าง หนังอาจโกอินเตอร์ไปไกลมากขึ้น (หรือเปล่า)
ผมก็เป็นแค่คนทำหนังตัวเล็กๆ มีทุนน้อยหอยน้อย จะขยับอะไรก็ยาก ก่อนหน้านี้เราจึงทำเท่าที่ทำได้ เอาเรื่องราวของพ่อแม่หรือชุมชนใกล้ตัวมานำเสนอ ทำหนังงบแสนห้าผมก็เคยทำมาแล้ว ซึ่งบางทีเมื่อก่อนก็สามารถของบประมาณ จากกระทรวงวัฒนธรรมได้ แต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว
พอเริ่มแก่ตัวลง เทคโนโลยีการผลิตหนังก็เปิดกว้างมากขึ้น และเห็นรากเหง้าของปัญหาทางการเมืองอย่างถ่องแท้ ต่อจากนี้ผมจึงอยากทำหนังที่มีเนื้อหาที่เข้มข้น ตีแผ่เรื่องราวของสังคมมากขึ้น ขอพาร์ทเนอร์ให้ทุน ค่ากิน ค่าอยู่ ค่าเดินทาง สัก 3 แสนบาทก็พอใจแล้ว สำหรับภาพยนตร์สัก 1 เรื่อง
แต่จะให้ไปทำหนังที่ (ผม) ด่ารัฐอยู่ ผมคงไม่ทำ
มองอย่างไรกับกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ 'ต้องเต' - ธิติ ศรีนวล ผู้กำกับภาพยนตร์สัปเหร่อ ที่ออกมาเคลื่อนไหวตั้งข้อสังเกตเรื่อง Soft Power
ต้องเต เป็นน้องในวงการหนังที่น่ารัก ผมก็ให้กำลังใจน้องเขาตลอด แต่เขาอาจเป็นคนหนุ่มที่ยังไม่แตกฉานในหลายแง่มุม นอกจากวิถีพื้นบ้าน (ของเขา) แต่การที่เขาสร้างจักรวาลไทบ้านขึ้นมาได้นั้น ล้วนมาจากความจริงใจอันซื่อสัตย์ของตัวเขาเอง ที่อยากนำเสนอประเด็นท้องถิ่น ให้เป็นที่รับรู้
โดยเฉพาะเรื่องสัปเหร่อที่ปรากฏว่า ไอ้เหี้ย (คำอุทานที่บุญส่งไม่ได้เจตนาต่อว่าใคร) มีฐานแฟนคลับที่เป็นชาวบ้าน หรือคนอีสานจำนวนมากที่เข้ามาดูอย่างล้นหลาม จนกลายเป็นปรากฏการณ์สัปเหร่อฟีเวอร์ ซึ่งรายได้ที่เพิ่มพูนขนาดนี้ ล้วนมาจากคนท้องถิ่นที่ไม่ได้รู้ซึ้งถึง Soft Power ด้วย มันจึงกลายเป็นการตั้งคำถามของต้องเต
แล้วถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับต้องเตที่งงงวย ? มันมาจากความแปลกใจ ที่อยู่ดีๆ หนังได้รับความนิยมเกินความคาดหวัง และผมขอย้ำว่าความสำเร็จของสัปเหร่อไม่ใช่การฟลุก แต่เป็นการสั่งสมที่ได้มาจากการทำหนังจักรวาลไทบ้านก่อนหน้านี้
แต่ด้วยการตีความที่ไม่แตกฉานของรัฐบาลไทย จึงทำให้เขา (ต้องเต) และแฟนคลับบางคนที่มาถ่ายรูปด้วยหน้าโรงหนัง ไม่รู้ซึ้งถึง Soft Power จากหนัง เพราะรัฐพยายามประดิดประดอยความสวยงาม จนทำให้บางคนไม่เห็นพลังของวัฒนธรรมถิ่นฐาน
ซึ่งหนังสัปเหร่อ โดยเฉพาะฉากพิธีกรรมศพ จริงๆ แม้งเป็น Solf Power ที่โคตรมีพลัง แม้จะยังไม่ส่งถึงระดับนานาชาติ แต่เป็นพลังที่เข้มแข็งของหมู่ไพร่ทาสด้วยกัน ยิ่งสำหรับคนอีสานโคตรโดนใจ
นี่คือสิ่งที่รัฐไทยทำให้เกิดความสับสน เพราะปลูกฝังให้มองความเป็นรากเหง้า ผ่านจารีตของรัฐศูนย์กลางอันสวยหรู

เมื่อบอกว่า รัฐเป็นฝ่ายบกพร่อง แล้วอะไรคือสิ่งที่รัฐบาลต้องแก้ไข
รัฐบาลจำเป็นต้องพูดความจริงกับประชาชน ในทุกมิติที่เกิดขึ้นในสังคม ยิ่งรัฐบาลไทยไม่ใช่แบบนั้น แต่กลับหมกเม็ด ปิดหูปิดตาประชาชน เชื่อว่าหากประชาชนไม่รู้ก็เป็นเรื่องดีในการปกครอง หากเปรียบกับวงการภาพยนตร์ ส่วนนี้คือกองเซ็นเซอร์ขนาดใหญ่ ที่ทำให้วิสัยทัศน์หดหายไป
หากรัฐหันมาให้งบประมาณและสนับสนุน ภาพยนตร์นอกกระแส หรือหนังที่ตีแผ่สังคมรากหญ้าแบบเข้มข้น จะทำให้วงการไปได้ไกลขึ้นแบบหนังต่างประเทศหรือไม่
หากรัฐบาลยังมีฐานความคิดแบบอนุรักษ์นิยม คงเป็นไปได้ยากในการที่จะให้เงินสนับสนุน ผมว่าคำถามนี้เหมือนเป็นสิ่งเพ้อฝัน แต่ถ้าเกิดขึ้นจริงๆ ในรูปแบบการวางนโยบายที่ชัดเจน และมีงบประมาณให้กับคนทำหนังคุณภาพอย่างแท้จริง ตลาดหนังเมืองไทยก็จะเติบโต มีตัวเลือกให้กับคนดูมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องราวที่คนในประเทศยังไม่เคยเห็น หรือแม้แต่บางสิ่งที่คนท้องถิ่นไม่เคยสัมผัส
ส่วนคนทำหนังก็มีจะพลัง ความพร้อมที่จะตีแผ่เรื่องราวแบบเข้มข้นก็จะเพิ่มพูน คนต่างชาติก็จะได้เห็นวัฒนธรรมที่สอดแทรกในชีวิตประจำวันของผู้คนทุกระดับทุกภูมิภาค อาจมีแนวโน้มว่าหนังไทยจะได้รับคำการันตีจากนานาชาติมากขึ้น และอาจมีความเป็นไปได้ว่าการท่องเที่ยวจะเฟื่องฟูตามไปด้วย
ยิ่งคนทำหนังไทยเป็นคนมีฝีมือ เทียบระดับอินเตอร์ก็ไม่น้อยหน้าใคร หนังสัปเหร่อ 15 ล้านฝรั่งยังงงทำได้ไง หนังอินดี้บ้านเขาก็เป็นร้อยล้านแล้ว ใช่ครับคนไทยเก่งอยู่แล้วแต่ขาดการส่งเสริมที่ดี
ซึ่งจริงๆ อุปสรรคปัญหาของหนังไทยไม่ได้ขึ้นอยู่กับตลาดโลก แต่เป็นตลาดภาพยนตร์ไทย ก็คือผู้ที่มีอำนาจในวงการภาพยนตร์ อันดับแรกคือนายทุน ซึ่งหมายถึงพาร์ตเนอร์หรือโรงหนัง (ปัจจุบันอาจหมายถึงแพลตฟอร์มสตรีมเมอร์) และรัฐบาลด้วย
อย่างผมมีโปรเจคต์เรื่องหนึ่ง อยากทำเรื่องนางสิบสอง โดยการหยิบยกเรื่องราวชีวิตของคุณแม่ มาเล่าตั้งแต่การถูกจับแต่งงานแบบคลุมถุงชนในวัยแค่ 17 ขวบ แม่มีทายาททางสายเลือด 12 คน ใช้ชีวิตขลุกอยู่กับการทำอาหารและเลี้ยงลูก อย่างไร้ซึ่งความฝันในชีวิต ตามแบบฉบับชนชั้นล่างที่ไม่มีกำลังทางทรัพย์ โดยเรื่องราวจะเล่าผ่านภาพยนตร์ความยาว 12 ชั่วโมง (หรืออาจแบ่งเป็น 12 ตอน)
แต่พอคิดพล็อตหนังแบบนี้ แล้วจะทำในเมืองไทยโคตรยาก นี่จึงแสดงให้เห็นว่าศัตรูของคนไทย คือปัจจัยภายในไม่ใช่ภายนอก ถามว่าผมจะไปหานายทุนที่ไหนมาให้เงินทำหนัง อาจมีบ้างที่เขาเห็นด้วยแล้วมอบงบประมาณให้ แต่หากเขาไม่เห็นด้วยเราก็ต้องเปลี่ยนเรื่อง ทำตามสิ่งที่เขาอยากได้ สุดท้ายผมก็ไม่ได้ทำสิ่งที่อยากทำอยู่ดี กลายเป็นผู้กำกับทำหนังตามโจทย์
มันก็ต้องไปพึ่งรัฐบาล แต่ทำหนังแบบนี้รัฐบาลจะให้เงินเหรอ ? เขาอ่านบทก็คงไม่ให้แล้ว เพราะเห็นว่าเป็นแค่เรื่องของแม่ตัวเอง (แม่ของบุญส่ง) จะเสียเงินให้ทำไม ทั้งๆ ที่เรื่องราวมันเป็นการพูดถึงชีวิตของคนในชนบทจริงๆ แบบนี้มันจะเป็น Soft Power ได้ไง ทุกอย่างก็ย้อนกลับไปสิ่งที่ผมตอบคุณเรื่องวิสัยทัศน์ของผู้นำ กับการพัฒนาวงการหนังไทยอ่ะครับ
จะให้ไปขอกองทุนสื่อสร้างสรรค์และปลอดภัย (แม้ง) หนังผมก็ไม่ใช่หนังรักชาติเสียด้วย มันก็ไม่ตรงเป้าเขาอีก หรือต่อให้รัฐบาลสนับสนุน หนังผม 12 ชั่วโมง โรงหนังก็บอกยาวไป ฉายไม่ได้อีก (หัวเราะ)
นี่แหละคือสิ่งที่ผมบอก อุปสรรคของคนทำหนังในการผลักดันวัฒนธรรมนอกกระแส ล้วนแต่ทำสงครามกับองคาพยพภายในประเทศทั้งนั้น แต่ของแบบนี้ถ้าไปขายตลาดโลก ยังไงเขาก็เปิดรับ ยิ่งเรื่องที่คนไม่เคยเห็นยังไงก็ขายได้ครับ
ท้ายที่สุดคุณบุญส่งอยากฝากอะไรถึงผู้อ่าน ในสิ่งที่ผมยังไม่ได้ถามหรือไม่
ผมในฐานะคนทำหนัง และในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่มีสิทธิ์มีเสียง อยากสื่อสารให้คนในวงการภาพยนตร์รวมตัวกัน เพื่อบอกเล่าสิ่งที่ถูกต้องและควรจะเป็น ถ้าคนทำหนังยังต่างคนต่างทำอยู่แบบทุกวันนี้ การพัฒนาจะเกิดขึ้นได้ยาก เด็กจบใหม่ก็ไม่รู้จะเข้าวงการยังไง คนวัยกลางคนก็จิตตกเป็นโรคซึมเศร้าเพราะไม่มีงานทำ คนแก่ก็ถูกเขี่ยทิ้ง ถ้าคุณไม่สู้อะไรเลยวงการภาพยนตร์ไทยก็จะถอยหลังเข้าคลอง
สุดท้ายคุณต้องเข้าใจระบบการเมือง ระบบสังคม ในฐานะประชาชนภายใต้ระบอบการปกครองคนหนึ่ง และคุณก็ต้องเข้าใจตัวเอง ทำเท่าที่ทำได้ ทำเท่าที่ตัวเองมีโอกาส แต่อย่าเพิกเฉยกับความเหลวแหลกทางสังคม และอย่าสยบยอมต่อความอยุติธรรมของประเทศนี้ หาไม่ก็ไม่ต่างอะไรกับคนทำหนังที่ไร้ราก
อย่าลืมว่าจะถึงวันนี้ได้ คนทำหนังต่อสู้อะไรมาบ้าง พูดให้เห็นภาพ คือเมื่อวานทำให้เรามีวันนี้ เราทำวันนี้เพื่อให้มีวันพรุ่งนี้ ดังนั้นคุณอย่าเอาตัวรอดแค่คนเดียว
สุดท้ายจริง ๆ แล้วครับ ขอคำตอบว่าคุณจะสู้ไปจนถึงเมื่อไหร่
ผมพูดจากแก่นแท้ของจิตใจ ว่าผมคือคนทำหนัง เป็นนักศิลปะ เป็นศิลปินที่ไม่ลืมบรรพชนของวงการ และผมก็ไม่ลืมบุคคลที่จะมาสานต่องานในอนาคต ผมทำเท่าที่ผมทำได้ ผมสู้เท่าที่ผมสู้ได้ และอะไรที่ผมทำเพื่อประชาชนได้ ผมก็พร้อมจะทำ และผมไม่เคยคิดจะเอาตัวรอดแค่คนเดียว
แม้นในที่สุดแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ก็ต้องเกิดขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับว่ามันมาช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ยิ่งเทคโนโลยีและระบบสังคมยุคนี้เติบโตไปในแบบที่รวดเร็ว ไม่แน่ก่อนผมตาย ผมอาจจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นกับประเทศนี้ก็ได้
แต่ถ้าวันนั้นยังมาไม่ถึง ก่อนตายผมก็จะขอทำมันให้เต็มที่ เท่าที่ผมทำได้ (แน่นอน)
