แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ หลักเกณฑ์การเยียวยาจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยเปลี่ยนเป็นการช่วยหลือแบบเหมาจ่ายอัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท ภายใต้กรอบวงเงินเดิม ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2567 คือวงเงิน 3,045 ล้านบาท
วันเดียวกันนี้ ธีรรัตน์ สำเร็จวานิชย์ รมช.มหาดไทย ได้รายงานเรื่องของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนหน้า ว่า จังหวัดเชียงราย, เชียงใหม่ ตอนนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานในพื้นที่ วางกรอบไทม์ไลน์ในการปฏิบัติงานตามหน้าที่รับผิดชอบ ทุกหน่วยงานได้รายงานผลว่า ทุกอย่างที่ลงไปในพื้นที่จะเสร็จตามกรอบเป้าหมายที่วางไว้ รวมถึงในตัวพื้นที่อำเภอแม่สาย
ส่วนที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ปางช้าง มีช้างเสียชีวิต โดยกำลังพลทหารได้เคลื่อนย้ายช้างที่เสียชีวิต 2 เชือก ออกจากพื้นที่แล้ว รวมถึงเคลื่อนย้ายสัตว์ไปยังพื้นที่ปลอดภัย และเตรียมอาหารสัตว์ และมีการเตรียมเครื่องนุ่งห่มอย่างเตรียมพร้อม
สำหรับข้อกังวลเรื่องน้ำจากจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มลดลงแล้ว ทั้งจากจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ภายใน 4-5 วันนี้ คิดว่าทุกอย่างจะกลับเข้าสู่เหตุการณ์ปกติ โดยที่จังหวัดลำปางและลำพูน น้ำจากจังหวัดเชียงใหม่จะลงไปแต่ก็ไม่ได้ท่วมเยอะ เพราะน้ำเคลื่อนตัวไปลงที่เขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก และแม่น้ำโขงด้วย แต่อย่างไรก็ตาม น้ำจะท่วมแต่ไม่เยอะ ฉะนั้นเราได้ส่งกำลังไปดูแล เตรียมพร้อมไว้แล้วขอให้ชาวจังหวัดลำปางและลำพูน สบายใจ มีทีมงานไปคอยช่วยเหลือแล้ว
แพทองธาร ชินวัตร
ในส่วนของกรุงเทพมหานคร อย่างที่เคยแจ้งไปครั้งที่แล้ว น้ำจะไม่ท่วมรุนแรง เหมือนปี 54 แน่นอน
ตอนนี้ แม่น้ำเจ้าพระยา ยังสามารถรับน้ำได้อีกเยอะ ซึ่งเมื่อปี 54 เหลือพื้นที่แค่ 1,000 กว่าล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แต่ปีนี้เหลือ 6,000 ล้าน ลบ.ม. ฉะนั้นยังไม่ต้องกังวล เรามีการวางแผนจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ
แพทองธาร ชินวัตร

ทั้งนี้ ได้คุยกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) รวมถึงในพื้นที่ท้ายเขื่อนด้วย การปล่อยน้ำจะพยายามไม่ให้กระทบกับประชาชน ซึ่งเราได้มอนิเตอร์เรื่องนี้ตลอด แล้วต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในด้านของอุปกรณ์ อาหาร ยานพาหนะต่างๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งพร้อมหมด
หลังจากนี้ จะมีการนัดประชุมคณะกรรมการอำนวยการและบริหารสถานการณ์อุทกภัยวาตภัย และดินโคลนถล่ม (คอส.) เพื่อติดตามความคืบหน้า แล้ววางแผนในการป้องกันเหตุการณ์ ในลักษณะนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ทั้งระบบ ซึ่งจะมีระยะเร่งด่วนและระยะยาวด้วย โดยในวันที่ 15 ตุลาคม หลังกลับจากการประชุมที่สปป.ลาว จะวางเรื่องของคณะกรรมการและคนที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยให้คำปรึกษา เรื่องการวางระบบน้ำทั้งระบบของทั้งประเทศ
เมื่อถามว่า กรณีบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหายจากโคลน นอกจากการเยียวยาเหมาจ่ายแล้ว จะมีการเยียวยากรณีพิเศษเพิ่มเติมหรือไม่ แพทองธาร กล่าวว่า กรณีที่หนักจริงๆ แล้วเราช่วยอะไรเพิ่มเติมได้จริงๆ มีกรอบที่เคยขยายไปแล้ว ซึ่งทางมหาดไทย ก็ได้เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (8 ต.ค.) ฉะนั้น กรณีต่างๆ อาจต้องมีการพิจารณาเป็นรายบุคคลอีกทีหนึ่ง, ทางผู้ว่าฯ จะช่วยดูในพื้นที่
เมื่อถามต่อว่า การช่วยเหลือแบบเหมาจ่ายครัวเรือนละ 9,000 บาท สามารถจ่ายได้ทันที หรือจะมีหลักเกณฑ์อื่นใดบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ตอนนี้หลายครัวเรือนจ่ายไปแล้ว 5,000 บาท ทางพร้อมเพย์ และอันนี้จะมีการทยอยจ่ายต่อเนื่อง โดยจะมีการพิสูจน์ว่าเป็นผู้ประสบภัยหรือไม่

ขณะที่ จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเช่นกันว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการเรื่องการปรับเกณฑ์การเยียวยาน้ำท่วม ซึ่งที่ผ่านมากำหนดกรอบจ่ายครัวเรือนละ 5,000 บาท, 7,000 บาท และ 9,000 บาท ต่อครัวเรือน
แต่ ครม.เห็นว่าพื้นที่ที่เกิดอุทกภัยมีทั้งสิ้น 57 จังหวัดทั่วประเทศ ดังนั้น ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์รับเงินเกณฑ์เดียวคือครัวเรือนละ 9,000 บาท จึงขอให้ท่านติดตามตรวจสอบจากจังหวัดของท่าน ซึ่งไม่รวมกรณีบ้านพังทั้งหลัง บาดเจ็บ ล้มตาย และพืชผลทางการเกษตรเสียหาย
นอกจากนี้ นายกฯ ยังสั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) และ ศปช.ส่วนหน้า จ.เชียงราย ประชุมทุกวัน เพื่อจะได้ออกประกาศเตือนพี่น้องประชาชน ขณะที่กระทรวงกลาโหม รายงานว่าที่ จ.เชียงราย และ จ. เชียงใหม่ ได้ขนย้ายสัตว์ต่างๆ ออกจากพื้นที่แล้ว และมีรายงานว่ามีช้างล้ม 2 เชือก โดยจะใช้วิธีการเผา
นอกจากนี้ กระทรวงที่เกี่ยวข้องส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือในพื้นที่ประสบอุทกภัยใน จ.เชียงใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมสร้าง และนายกฯ ยังขอให้มีโรงครัวไว้ถึงสิ้นเดือน แต่หากถึงเวลายังมีพี่น้องประสบภัยยังต้องการอาหาร ก็ให้คงโรงครัวไว้
ขณะที่ กระทรวงมหาดไทย รายงานว่า ขณะนี้ให้บริษัทที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ เช่น บริษัททำรถไฟร่างคู่ ให้นำเครื่องมือไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ส่วนสถานการณ์ล่าสุดในพื้นที่ จ.ลำพูน บางพื้นที่มีน้ำท่วม 15 - 30 ซม. คาดว่าจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
ยันน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 แน่นอน น้ำ ‘เขื่อนภูมิพล’ ยังอยู่ปริมาณเหมาะสม ‘เขื่อนเจ้าพระยา’ การระบายน้ำไม่มีปัญหา
ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนภูมิพล น้ำที่มาจาก จ.เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และตาก เขื่อนยังสามารถรับน้ำได้ ซึ่งปริมาณน้ำในเขื่อนยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม โดยประชาชนท้ายเขื่อน และ กทม. สามารถติดตามข่าวสารได้อย่างใกล้ชิด
ยืนยันว่า น้ำจะไม่ท่วมเหมือนปี 54 แน่นอน เพราะการระบายน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท ยังระบายน้ำได้ 2,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ นอกจากนี้ ยังมีการสั่งการเรื่องการบริหารจัดการน้ำท้ายเขื่อนทั่วทุกภูมิภาค ให้คำนวณด้านการปล่อยน้ำให้เหมาะสม แม้จะใกล้เข้าสู่ปลายฝนต้นหนาวแล้ว แต่ยังให้มีการติดตามอย่างต่อเนื่องถึงวันที่ 1 พ.ย. เพื่อประเมินอีกครั้ง
จิรายุ ห่วงทรัพย์

เงินเยียวยา 9,000 บาท จ่ายได้เลยทันที
ทางด้าน ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี กรณีอนุมัติเงินเยียวยาเป็นจำนวนเงิน 9,000 บาท โดยไม่มีหลักเกณฑ์ สำหรับผู้ประสบอุทกภัย ว่า สามารถจ่ายได้เลยทันที เพราะมีการอนุมัติแล้ว เนื่องจากข้อมูลทั้งหมดของประชาชน ทั้งส่วนที่ได้รับไปแล้ว 5,000 บาท ก็จะได้รับเพิ่มเติมให้ครบเป็น 9,000 บาท
ทั้งนี้ คาดว่าจะมีจำนวนครอบครัวเพิ่มเติมอีกพอสมควร แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจ จึงไม่สามารถบอกตัวเลขที่ชัดเจนได้ พร้อมยืนยันว่า อยู่ในวงเงิน 3,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่พอ อาจจะมีการขอเพิ่มเติม
ขอให้ประชาชนไม่ต้องกลัว ว่าจะได้ช้า ได้หลัง เราจะพยายามทำให้ครอบคลุมทุกบ้าน
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์
สยบดราม่าช่วย ‘ช้าง’ ในพื้นที่น้ำท่วม วอนมองอนาคตเป็นหลัก-หาทางสายกลางร่วมกัน
ส่วนกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์การช่วยเหลือช้าง ในพื้นที่น้ำท่วม ธีรรัตน์ ชี้แจงว่า เท่าที่ได้สัมผัสในพื้นที่ มีการช่วยเหลือกันได้ดีในที่เกิดเหตุ ทั้งปางช้าง และรีสอร์ทที่มีช้างไปติดอยู่ ก็มีการพูดคุยกับเจ้าของปางช้าง ทุกอย่างเป็นไปด้วยความราบรื่น ทุกคนช่วยเหลือกันหมด
ซึ่งประเด็นดังกล่าว อาจจะเป็นกระแสจากภายนอกเอง ที่ไม่เห็นในวันเกิดเหตุ มองแต่ภาพชุลมุนวุ่นวาย จึงอยากให้ทุกฝ่ายมองเรื่องอนาคตเป็นหลัก ในการอยู่ร่วมกันกับทุกปางในพื้นที่และพี่น้องที่อยู่ในชุมชน เพื่อฟื้นฟูเขาให้กลับมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญดังเดิม ซึ่งต้องใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่าย
เข้าใจว่าคนที่ออกความเห็น มีความกังวลเรื่องช้างที่ได้รับการเลี้ยงดูที่แตกต่างกัน แต่เรารู้ว่าทุกคนรักช้าง ทุกคนมีความหวังดีกับช้าง หากในอนาคตตกลงกันได้ หรือมีทางสายกลาง ที่ทำให้เกิดความปลอดภัยของสัตว์เลี้ยงทุกประเภท เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้ประกอบการและประชาชนได้ ก็เป็นหลักใหญ่ที่เราควรเดินไปมากกว่า
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์
จับตาสถานการณ์ ‘ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา’ อย่างใกล้ชิด
ส่วนสถานการณ์น้ำ ที่แม่น้ำเจ้าพระยา ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งเริ่มมีปริมาณน้ำล้นตลิ่งแล้วนั้น รมช.มหาดไทย ระบุว่า ได้สั่งการให้ดูแลเครื่องสูบน้ำ พร้อมใช้งานทุกจุด
ทั้งนี้ จากการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน เราได้ติดตามสถานการณ์ในบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างใกล้ชิด ในส่วนเขื่อนบริเวณต่างๆ ได้มีการตรวจเช็ก เพื่อทำการส่งสัญญาณเตือนให้ประชาชนได้รับทราบ ซึ่งประชาชนที่อยู่ในบริเวณริมแม่น้ำ จะทราบกันดีว่าจะมีปริมาณน้ำสูงเพิ่มขึ้นเท่าไหร่
เพื่อความไม่ประมาท ก็ขอให้ประชาชนเตรียมการเอาไว้ ทั้งการซ้อมอพยพและการขนของหนี ซึ่งทางภาครัฐจะมีการแจ้งเตือนอยู่แล้ว แต่บางทีเกิดเหตุการณ์ฝนตกโดยที่ไม่ได้คาดการณ์ไว้ แต่การเตรียมความพร้อมเพื่อความปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี
ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์
เมื่อถามว่า ยืนยันใช่หรือไม่ว่าถ้าหากเกิดน้ำท่วม ระบบจะสามารถแจ้งเตือนได้ดี ธีรรัตน์ ยืนยันว่า แจ้งเตือนได้ทันที เพราะมีทุกช่องทางทาง SMS รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ก็จะได้รับสัญญาณเตือน