แฉ ‘พรรครัฐบาล’ กำลังดีลดึงตัว ‘งูเห่าก้าวไกล’ กันเพียบ

3 ส.ค. 2567 - 04:54

  • ‘ชัยธวัช’ อ้าง ‘พรรครัฐบาล’ กำลังดีลช้อนซื้อ ‘งูเห่าก้าวไกล’ กันเพียบ

  • แต่มั่นใจ สส.ของพรรค เคารพความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้ บอกทุกคนมีกำลังใจดี

  • เชื่อ7 สิงหาฯ รอดยุบพรรค ขออย่าเพิ่งโฟกัส ‘พรรคใหม่’ รอดูเนื้อหาที่ศาลฯ ตัดสินก่อน

Chaithawat_said_there_were_attempts_from_many_government_parties_to_contact_mfp_mp_SPACEBAR_Hero_33baf1f14c.jpg

ในจังหวะที่วันชี้ชะตา ‘คดียุบพรรคก้าวไกล’ ใกล้เข้ามาทุกขณะ (7 ส.ค.) ก็เกิดกระแสข่าว สส.พรรคก้าวไกล เตรียมย้ายสังกัดไปอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หากพรรคก้าวไกลถูกยุบ

ทางด้าน ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็ยอมรับว่า มีความพยายามจากหลายพรรคการเมืองฝั่งรัฐบาลที่จะติดต่อกับสมาชิกของพรรคก้าวไกล เยอะมาก เพื่อหวังดึง สส.พรรคก้าวไกล หรือที่เรียกว่า ‘ซื้องูเห่า’ แต่จนถึงวันนี้ ก็ยังมั่นใจใน สส.ของพรรคก้าวไกล ว่าจะเคารพกับความไว้วางใจที่ประชาชนมอบให้ อย่างไรก็ตาม เป็นการพูดในสิ่งที่ยังไม่เกิด และในวันที่ 7 ส.ค. ยังมั่นใจว่าพรรคก้าวไกล จะชนะคดี พร้อมยืนยันไม่ต้องมีการกำชับ สส.ว่าอย่าให้มี ‘งูเห่า’

ผมสื่อสารในพรรคว่า เราต้องให้เกียรติเพื่อนร่วมงานทุกคน อย่าไปทำให้เกิดบรรยากาศจับจ้อง จับผิดว่าใครจะเป็นงูเห่า หรือจะย้ายพรรค ซึ่งเป็นบรรยากาศไม่ดีในการทำงาน และไม่เคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน จึงไม่มีการไปกำชับ ทั้งนี้ สส.ในพรรคไม่มีการอ่อนไหว เพราะกำลังใจดี และยังเดินหน้าทำงานตามแผนงานเป้าหมายที่วางไว้

ชัยธวัช ตุลาธน

ส่วนกระแสข่าวที่คนของพรรคก้าวไกล ไปคุยกับพรรคถิ่นกาขาวชาววิไล เพื่อเทคโอเวอร์ (Takeover: การเข้าครอบครองกิจการ) เรื่องนี้ไม่มีความชัดเจนว่าใครเป็นคนไปคุย แต่คิดว่าตอนนี้ คนพยายามไปโฟกัสว่า หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 7 ส.ค. ไม่เป็นผลดีต่อพรรคก้าวไกล โดยกฎหมาย สส.ก็ต้องไปหาพรรคสังกัดใหม่ บางคนก็คิดข้ามไปล่วงหน้า ทั้งแกนนำพรรครุ่นใหม่-พรรคใหม่จะเป็นอย่างไร

ผมย้ำว่า สิ่งที่อยากให้โฟกัสคือ เนื้อหาในคำวินิจฉัยในวันดังกล่าวจะเป็นอย่างไร และไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร ผมคิดว่าอยากให้ติดตามว่า เหตุและผล หลักกฎหมายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น สมเหตุสมผลหรือไม่ และจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเฉพาะพรรคก้าวไกลเท่านั้น แต่จะส่งผลต่อการเมืองไทยโดยรวมในอนาคตด้วย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าพรรคก้าวไกล

ชัยธวัช ตุลาธน

เมื่อถามว่าหากพรรคก้าวไกล ถูกยุบหายไป 1 พรรค จะส่งผลกระทบต่อภาพทางการเมืองหรือไม่ ชัยธวัช ก็ชี้ให้เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องอนาคตของพรรคก้าวไกลอย่างเดียว แต่จะเกี่ยวพันกับการใช้ หรือตีความกฎหมาย รวมถึงการให้ความหมายกับระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าเรื่องพรรคก้าวไกลหรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง

นัยยะความสำคัญของคำวินิจฉัยเป็นเรื่องใหญ่มาก จึงไม่อยากให้มองไปเฉพาะแค่เรื่องพรรคก้าวไกล หรือมองข้ามช็อตไปแล้วว่า ในอนาคตพรรคใหม่จะเป็นอย่างไร และผมเชื่อว่า ในข้อต่อสู้ทางข้อเท็จจริงและทางกฎหมายของพรรคก้าวไกล มีน้ำหนักพอที่ศาลฯ จะรับฟัง

ชัยธวัช ตุลาธน

Chaithawat_said_there_were_attempts_from_many_government_parties_to_contact_mfp_mp_SPACEBAR_Photo01_17608bfabe.jpg

ชู ‘5 มิติ’ ยกเครื่องปฏิรูประบบงบประมาณไทย ชี้ ‘ทำแบบเดิม ๆ’ ไม่ตอบโจทย์ชาติ


ขณะที่วันนี้ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้นำฝ้ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ยังได้กล่าวปาฐกถาในโครงการผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ พบประชาชน ประจำปีงบประมาณ 2567 หัวข้อ “ปลดล็อควิกฤตงบประมาณ”

โดยบางช่วงบางตอน ระบุว่า เราอยากเชิญชวนหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงประชาชน คิดถึงการ ‘ปลดล็อก’ ระบบงบประมาณของประเทศ ยกเครื่องปฏิรูปครั้งใหญ่ให้เร็วที่สุดในอนาคต โดยเราจะใช้โอกาสนี้ในการนำเสนอ การปฏิรูประบบงบประมาณ และการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้ตอบโจทย์ในแต่ละเรื่อง

ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายสาธารณะ ต้องทำอย่างน้อย 3 เรื่อง คือ

  1. คน คือบุคคลและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลักดันนโยบาย
  2. กฎ คือระเบียบ ซึ่งเป็นบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง ทั้งการออกและแก้กฏหมาย แม้ว่างบประมาณจะนำเสนอจากฝ่ายบริหาร แต่ผู้อนุมัติคือรัฐสภา ในฐานะสถาบันการเมืองที่ประชาชนเลือกมา
  3. งบฯ ซึ่งก็คืองบประมาณ

ชัยธวัช ระบุว่า เวลาพูดถึงงบประมาณของรัฐบาล หลายคนนึกถึงค่าใช้จ่ายภาครัฐ ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญของเครื่องจักรในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนคิดถึงการจัดสรรงบประมาณในอย่างน้อย 5 มิติ ได้แก่

  1. มิติความคุ้มค่า เพราะงบประมาณมาจากภาษีของประชาชน ดังนั้น การใช้งบต้องตอบโจทย์ความคุ้มค่า ซึ่งที่ผ่านมา เราเห็นว่ามีการจัดสรรที่ไม่คุ้มค่า เพราะมีการตั้งธง และประมาณการต้นทุนโครงต่ำกว่าความจริง ซึ่งเห็นได้ในการจัดทําโครงสร้างพื้นฐานหลายเรื่อง ที่ไม่คุ้มค่าจนถูกปล่อยร้าง ไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์ ตามที่คาดการณ์ไว้แต่ต้น
  2. มิติที่ทำให้ประเทศพร้อมรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ไม่ใช่การจัดสรรงบแบบเดิม ๆ ตามความเคยชิน ปีที่แล้วเสนอยังไง ปีนี้ก็เสนออย่างนั้น โดยไม่มียุทธศาสตร์ เพราะฉะนั้น ระบบงบประมาณที่ดี ควรตอบโจทย์ความท้าทายในแต่ละด้าน ทั้งการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรม การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือความผันผวนของภูมิอากาศ
  3. มิติเสริมพลังให้กับสังคม เพราะในสภาพที่มีความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในแง่โอกาสทางเศรษฐกิจ ต้องเสริมพลังให้กับภาคส่วน ที่ยังขาดโอกาสยกระดับตัวเอง ซึ่งต้องทำให้เป็นระบบต่อเนื่อง ไม่คิดแทนประชาชนทุกเรื่อง เพราะสิ่งที่เราเห็นในงบฯ ปี 67 และปี 68 ไม่มีความเป็นระบบแต่อย่างใด
  4. มิติเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ด้วยการบริหารให้เรามีพื้นที่การคลังเพียงพอ ที่จะรองรับสถานการณ์ที่โลกปัจจุบันมีความไม่แน่นอนสูง เพราะเราไม่ทราบว่าจะเกิดวิกฤติอะไรในอนาคตแบบฉับพลัน ดังนั้น เราต้องมีสมดุลและความพร้อมในการเผชิญความไม่แน่นอนของโลก
  5. มิติสร้างความเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่ระบบอุปถัมภ์ เพราะที่ผ่านมาปฏิเสธไม่ได้ว่า ระบบงบประมาณส่วนหนึ่ง ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างระบบอุปถัมภ์ทางการเมือง ทั้งระหว่างรัฐมนตรีกับ สส.หรือฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำ เพื่อสร้างฐานการเมืองในพื้นที่ สร้างระบบที่เราเรียกว่าบ้านใหญ่

เวทีวันนี้ ไม่ใช่การวิจารณ์รัฐบาล แต่ชวนคิดถึงอนาคต ยกเครื่องว่าเราจำเป็นต้องยกเครื่องระบบงบประมาณ ด้วยความเชื่อว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน และการทำหน้าที่ของ สส. รวมถึงการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประชาธิปไตยของเรา ตอบโจทย์สังคมและประชาชนมากขึ้น

ชัยธวัช ตุลาธน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์