แนะ ยึดเงินคดีทุจริต หาเงินทำ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

23 พ.ย. 2566 - 06:16

  • ‘ชาญชัย’ แนะ ‘เศรษฐา’ หาเงินทำ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ โดยไม่ต้องกู้ 5 แสนล้าน สร้างหนี้ให้ชาติ

  • ชี้ ใช้กฎหมาย ปปง.ม.3(5) ยึดเงินคดีทุจริต คืนแผ่นดิน

  • ถ้ากล้าทำจริง ได้มากกว่า 1 ล้านล้าน

Chanchai-introduce-PM-seize-corruption-money-SPACEBAR-Hero.jpg

ชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตสส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน จะออกพ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเพื่อแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คนละ 1 หมื่นบาทว่า  การกู้เงินมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะทำได้หรือไม่ ผิดรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง รวมถึงพ.ร.บ.หนี้สาธารณะและกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องนั้น ยังไม่ทราบ เพราะต้องรอผู้ชี้ขาดคือ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลคดีอาญา ส่วนตัวมีข้อเสนอแนะเศรษฐา นายกฯและรมว.คลังว่า ถ้าต้องการหาเงิน 5 แสนล้านบาทมาทำโครงการนี้ ยังมีเงินอยู่ 2 ก้อนคือ 1.ให้นายกฯ และรมว.คลังตรวจสอบหรือสอบถามไปยัง ป.ป.ช. และ ปปง. รวมถึงคณะกรรมการธุรกรรมของปปง.ว่า มีคดีทุจริตและการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบใดบ้างที่ศาลได้ตัดสินคดีถือเป็นที่สิ้นสุดแล้วในรอบ 20 ปีว่า  มีทั้งหมดกี่คดี ซึ่งความผิดดังกล่าวเข้ามูลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ปปง.ปี 2542 มาตรา 3(5) ที่ระบุว่า ‘ความผิดมูลฐานคือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การ หรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น’ 

ชาญชัย กล่าวว่า ส่วนตัวเคยศึกษาและทำคดีตัวอย่างให้รัฐบาลอายัดยึดทรัพย์ในคดีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการที่มีมูลค่า 9,058 ล้านบาทว่า เข้าข่ายความผิดฐานทุจริตในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ และมีพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นรมว.ยุติธรรม ขณะนั้นที่คุมหน่วยงาน ปปง. โดยคณะอนุกรรมาธิการการปฏิรูปกฎหมายเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีพล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เป็นประธาน ได้ศึกษาคดีที่ศาลฎีกาตัดสินแล้วว่า มีความผิด ก่อให้เกิดความเสียหาย แต่กลับไม่มีการบังคับคดีตามกฎหมายให้เกิดการอายัดยึดทรัพย์ตามมูลฐานความผิด ม.3(5) ของพ.ร.บ.ปปง. จึงนำคดีนี้เข้าสู่กฎหมายปปง. ตามมูลฐานความผิดการฟอกเงินโดยคณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง. ส่งเรื่องฟ้องศาล  ต่อมาศาลฏีกา(แพ่ง) ได้มีคำพิพากษาให้อายัดยึดทรัพย์ผู้ทำความผิด แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาให้ชำระเงิน 9,058 ล้านบาทให้ก็ตาม

“โดยคำพิพากษาของศาลฎีกา(แพ่ง) (คำพิพากษาย่อ)เมื่อวันที่10 ส.ค. 2564  หน้าที่ 12 ระบุชัดว่า   ‘แสดงว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่เกี่ยวกับคดีนี้ว่า ได้กระทำความผิดมูลฐานที่จะริบเงินได้ตามพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน’ ศาลฎีกา(แพ่ง)จึงมีคำพิพากษาให้อายัดยึดทรัพย์ในคดีดังกล่าว และถือเป็นบรรทัดฐานที่จะใช้การยึดอายัดทรัพย์ตามมูลฐานความผิด ม.3(5) ที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต หรือการทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ” ชาญชัย  กล่าว

ชาญชัย กล่าวว่า ถ้านำคดีการทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอาญาและกฎหมายอื่นๆในรอบ 20 ปี นับแต่ปี 2540 ตั้งแต่มีกฎหมายป.ป.ช.บังคับใช้ มีเงินทุจริตจากมูลฐานความผิดสามารถอายัดยึดทรัพย์เข้ารัฐได้ มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท หากรวมทุกคดี ถ้านายกฯอยากได้เงินมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตตามที่ได้หาเสียงเป็นสัญญาประชาคม โดยไม่ต้องกู้เงิน ก็ให้นายกฯและรมว.คลังบังคับใช้กฎหมายป้องกันการฟอกเงินสั่งอายัดยึดทรัพย์โดยเฉพาะคดีทุจริตที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หรือที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว รวมทั้งมูลฐานความผิดอื่นตามกฎหมาย ปปง. ส่วนตัวจะรวบรวมตัวเลขการทุจริตของคดีต่างๆ ส่งให้นานกฯและรมว.คลังไปดำเนินการสั่งอายัดและยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีแผ่นดินให้กลับคืนมาใช้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติได้

“ผมเคยให้สัมภาษณ์สื่อไว้ว่า มีการทุจริตที่เคยตรวจสอบในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมาว่า คดีทุจริตต่างๆสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติมีมูลค่าเสียหายมากกว่า 4.5 แสนล้านบาท จึงอยากให้นายกฯ ไปเอาเงินที่โจรปล้นเงินแผ่นดินมาตลอด 20 ปี ให้นายกฯ ไปตามเอาเงินส่วนนี้ ท่านจะไม่ถูกครหาว่า เข้ามาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้เพื่ออะไร อีกทั้งการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน ต้นเหตุมาจากการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองทุกระดับเป็นผู้กระทำทั้งสิ้น” ชาญชัย  กล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์