‘ชทพ.’ โดนแฮกเพจ! โพสต์โปรโมทปั่นสล็อต ขณะที่พรรคเปิดเพจใหม่แล้วหลังถูกป่วน

9 พ.ค. 2567 - 02:58

  • ป่วนหนัก! เพจพรรคชาติไทยพัฒนา ถูกมิจฉาชีพเแฮกเพจโพสต์โปรโมทปั่นสล็อต ขณะที่พรรคเปิดเพจใหม่หลังถูกป่วน

  • ย้อนสถิติภัยคุกคามไซเบอร์ ปี 66 พบภัยคุกคามส่วนใหญ่เกี่ยวกับเว็บพนัน

chartthai-pattana-party-facebook-page-hacked-SPACEBAR-Hero.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจเฟซบุ๊ก ‘พรรคชาติไทยพัฒนา Chartthaipattana Party’ ที่มีการสร้างเพจตั้งแต่วันที่ 17  กุมภาพันธ์ 2554 และมียอดผู้ติดตามกว่า 200,000 แสน ถูกผู้ไม่หวังดีแฮกเพจและทำลายข้อมูลบางส่วนของพรรค โดยมีการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์และภาพปกของเพจ เมื่อช่วงคืนวานที่ผ่านมา (8 พ.ค. 67) พร้อมกับมีการโพสต์ข้อความโปรโมทเกมปั่นสล็อต

chartthai-pattana-party-facebook-page-hacked-SPACEBAR-Photo01.jpg
Photo: หน้าเพจ 'พรรคชาติไทยพัฒนา' หลังถูกแฮก

โดยข้อมูลที่ปรากฏในรายละเอียดของเพจ พบว่ามีการใส่คำอธิบายว่าเป็น ‘ครีเอเตอร์วิดีโอการเล่นเกม’ และผู้ที่จัดการเพจอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย 

นอกจากนี้ เนื้อหาของเพจที่ทางพรรคเคยใช้ประชาสัมพันธ์กิจกรรมต่างๆ ของพรรค พบว่าถูกลบข้อมูลไปเป็นจำนวนมาก 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2567 ‘นิกร จำนง’ ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้ข้อมูลกับสื่อว่า เพจพรรคชาติไทยพัฒนา ถูกผู้ไม่ระบุตัวตนลักลอบเข้ามาก่อกวนและทำลายข้อมูลในเพจเฟซบุ๊กของพรรคชาติไทยพัฒนาเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา 

ดังนั้น พรรคชาติไทยพัฒนา จึงจำเป็นต้องสร้างบัญชีใหม่สำหรับแฟนเพจของพรรคขึ้น โดยจะใช้เพจใหม่เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ พูดคุย ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ของพี่น้องประชาชน ดังเช่นที่เคยปฏิบัติมา

สำหรับเพจล่าสุดของพรรค มีชื่อว่า ‘พรรคชาติไทยพัฒนา Chartthaipattana Party’ สร้างขึ้นใหม่เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567

หากย้อนดูสถิติภัยคุกคามทางไซเบอร์ ของ สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ประจำปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2566 พบว่า หน่วยงานที่ถูกโจมตีมากที่สุด คือหน่วยงานด้านการศึกษา ถูกโจมตี 632 ครั้ง รองลงมาเป็นหน่วยงานรัฐอื่นๆ ถูกโจมตี  145 ครั้ง และผู้ประกอบการพาณิชย์ที่เป็นบริษัทเอกชน สัญชาติไทย ถูกโจมตี 148 ครั้ง

โดยรูปแบบการโจมตีหรือภัยคุกคามที่พบบ่อยที่สุดในปี 2566 อันดับหนึ่งเป็นการโจมตีเกี่ยวกับเว็บพนันออนไลน์ 515 ครั้ง รองลงมาเป็นการลอบเจาะระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงหน้าเว็บไซต์ 336 ครั้ง และการสร้างเว็บไซต์ปลอม เพื่อดักล้วงข้อมูล กว่า 301 ครั้ง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์