ชยพล สท้อนดี สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน อภิปรายไม่ไว้วางใจ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โดยอ้างถึงประเด็นปฏิบัติการไอโอของกองทัพ ว่า ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เติบโต เลวร้ายยิ่งกว่าเดิมในยุครัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร
โดยก่อนการเลือกตั้ง 2566 ไม่นาน มีการจัดโครงสร้างปฏิบัติการไอโอขึ้นมาใหม่ให้มีเอกภาพ ตั้งแต่ระดับนโยบาย ไล่ไปจนถึงระดับปฏิบัติการกระชับการบังคับบัญชา ให้ทุกเหล่าทัพ รวมศูนย์ไปอยู่ภายใต้ ศปก.ร่วม โดยมี ‘ไซเบอร์ทีม’ ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ คอยรับผิดชอบปฏิบัติการไอโอโดยเฉพาะ
ขบวนการไอโอนี้ กลับสุขสบายดี แถมเติบโตจนน่ากลัวภายใต้นายกฯ ที่ชื่อว่า แพทองธาร จากที่ผมติดตาม ไซเบอร์ทีมนี้ประชุมกันทุกวันพุทธหรือพฤหัสฯ สถานที่ประชุมอยู่ใกล้กับรัฐสภา แถวสะพานเกษะโกมล ห่างจากสภาฯ ของเราเพียงแค่ 2 กิโลฯ นิดๆ
ชยพล สท้อนดี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชยพล ได้นำสไลด์มาเป็นข้อมูลประกอบการอภิปราย เกี่ยวกับผังโครงสร้างทีมไซเบอร์ของกองทัพ จากเอกสารความมั่นคงพิเศษ กองทัพบก ซึ่งคนที่นั่งอยู่หัวโต๊ะ ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง 2566 คอยบัญชาการไซเบอร์ทีมนี้ก็คือ พล.อ.ธรรมนูญ วิถี อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นรอง ผอ.ศปก.ร่วม
ชลพล ได้ยกตัวอย่างปฏิบัติการไอโอของกองทัพ ช่วงวันที่ 19-25 ต.ค.2567 ยุครัฐบาลแพทองธาร ที่มีการโพสต์ข้อความ ‘สร้างภาพลักษณ์เชิงบวก’ ของกองทัพ กับสถาบัน แต่มีการแอบแฝงเพื่อสร้างภาพจำว่า กองทัพผูกติดอยู่กับสถาบันจนแยกไม่ออก
กระทั่งถูก สส.ฝ่ายรัฐบาล ประท้วงอย่างหนัก จน พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่ทำหน้าที่ประธานการประชุม ต้องกล่าวตักเตือนที่พูดถึงสถาบันมาบ่อยครั้ง และปรามว่า หากยังพูดถึงสถาบันอีกจะไม่ให้อภิปราย ทำให้เกิดการตอบโต้ไปมากับ สส.พรรคประชาชน ที่ยืนยันว่าเป็นการพูดปกป้องสถาบัน
ขณะที่ ชลพล ถามว่า หากไม่ให้ใช้คำว่า ‘สถาบัน’ จะให้ใช้คำว่าอะไร? พิเชษฐ์ จึงพูดในทำนองว่า “หากใช้คำอื่นไม่เป็น ก็ไม่ต้องใช้”
จากนั้น ชยพล ได้เปลี่ยนหัวข้อไปพูดถึงปฏิบัติการไอโอของกองทัพ ที่มีเป้าหมายโจมตีนักการเมืองและคนที่อยู่ตรงข้ามกับกองทัพ อาทิ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล ตลอดจนนักเคลื่อนไหวทางการเมือง อาทิ สมยศ พฤกษาเกษมสุข, สมบัติ บุญงามอนงค์, พริษฐ์ ชิวารักษ์ ที่ตกเป็นเป้าหมายปฏิบัติการไอโอกองทัพ
ทำให้ พิเชษฐ์ ต้องเตือน ชยพลอีกครั้งว่า การพูดพาดพิงถึงบุคคลภายนอกที่ไม่มีสิทธิเข้ามาชี้แจง ควรหยุดอภิปรายดีกว่าหรือไม่? แต่ชยพลยืนยันว่า ได้มีการขออนุญาติเอ่ยชื่อ บุคคลเหล่านี้แล้ว อย่างไรก็ตาม ชยพลยังคงอภิปรายพูดถึงชื่อบุคคลภายนอก และลงลึกวิธีการทำงานของกองทัพอย่างต่อเนื่อง ทำให้ สส.ฝ่านรัฐบาล ลุกขึ้นประท้วงบ่อยครั้ง
ในที่สุด พิเชษฐ์ วินิจฉัยให้ ชยพล หยุดพูด โดยให้เหตุผลว่า ถ้าให้อภิปรายต่อไป แล้วเกิดความเสียหาย สภาฯ ก็รับไม่ไหว ทำให้ สส.พรรคประชาชน ลุกขึ้นประท้วงหลายคน และขอร้องให้ ชยพล ได้อภิปรายต่อ อย่างไรก็ตาม พิเชษฐ์ ได้อนุญาตให้พูดต่อไป โดยไม่ให้ฉายสไลด์