อ่านการเมือง 'เชียงใหม่' หลังปรากฏการณ์ 'ทักษิณ' เหยียบนคร

18 มีนาคม 2567 - 09:39

Chiang-Mai-politics-after-Thaksin-comeback-SPACEBAR-Hero.jpg
  • อ่านนัยการเมืองจากปรากฏการณ์ 'ทักษิณ' เหยียบ 'เชียงใหม่' และการปรากฏตัวของ 'คนการเมือง' ที่จะส่งผลต่อสนามการเลือกตั้ง 'อบจ.' และ 'รัฐบาล' ในสมัยหน้า ผ่านมุมวิเคราะห์จาก 'ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์' อาจารย์ประจำคณะ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นับว่าการกลับเมืองเหนือครั้งแรกในรอบ 17 ปีของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ทำเอาคอการการเมืองต่างจับจ้องวิเคราะห์สถานการณ์ รวมถึงอ่านนัยที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ และการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า 

โดยอ่านเกมและคาดการณ์ ผ่านสมมุติฐานที่ได้จากความเคลื่อนไหว ‘ทัวร์เช้งเม้ง’ ของอดีตนายกฯ ทักษิณ รวมถึงการขยับของภาคการเมืองทั้งในระดับรัฐบาล อย่างการพบปะที่ร้านอาหารอย่างชื่นมื่นของ ‘เศรษฐา ทวีสิน' นายกรัฐมนตรีกับ ‘นายใหญ่’ และการลุยดับไฟป่าของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ จากพรรคก้าวไกล ที่ก่อนหน้านี้เป็นได้แต่เพียง ‘ว่าที่นายกฯ' ตกเก้าอี้ไปจากน้ำมือของ สว.

สมรภูมิเดือด ‘เชียงใหม่’ กลายเป็น ‘พื้นที่วัดขุมพลัง’ 

'ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์' อาจารย์ประจำคณะ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ่านมิติทางการเมืองในห้วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ตอนแรกทุกคนต่างเข้าใจ เรื่องการเดินทางกลับบ้านของทักษิณ มีสาเหตุมาจากความผูกพัน ที่ไม่ได้กลับภูมิลำเนากว่า 17 ปี แต่เมื่อมีการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่งจากภาคการเมือง ทั้งระดับรัฐมนตรี ข้าราชการท้องถิ่น รวมถึงแฟนคลับเป็นคนเสื้อแดงบางส่วน จึงทำให้เห็นว่า ทุกสิ่งล้วนมีนัยยะทางการเมืองแฝงอยู่ แน่นอน

โดยเฉพาะการเลือก 'สถานที่' ในการเยือน ส่วนใหญ่ก็เป็นโครงการที่เคยเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ไม่ว่าจะเป็น อุทยานหลวงราชพฤกษ์ ซึ่งเคยจัดงานพืชสวนโลกเมื่อหลายปีก่อน สวนสัตว์ไนซ์ซาฟารี หรือแม้แต่โครงการลองแม่ข่า ที่หลายคนคิดว่าเพิ่งเกิดขึ้นไม่นานนี้

"ที่สำคัญกว่านั้นคือช่วงจังหวะเวลาคาบเกี่ยว ในตอนที่อดีตนายกฯ ทักษิณ เจอกับนายกฯ ปัจจุบัน (เศรษฐา ทวีสิน)  รวมถึงความเคลื่อนไหวของว่าที่นายกฯ อย่างคุณพิธา (ลิ้มเจริญรัตน์) จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าต่อจากนี้เชียงใหม่จะถูกจับตามอง ในฐานะของพื้นที่ที่ไม่ว่าจะรัฐบาลปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งฝ่ายค้านกำลังช่วงชิงอย่างดุเดือด"

ณัฐกร กล่าวต่อว่า แม้ในช่วงการเลือกตั้งใหญ่เดือนพฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลจะสามารถสร้างปรากฏการณ์ 'ยึดเชียงใหม่' ได้ถึง 7 เขต แต่ในอีกไม่ถึงปีข้างหน้า ก็จะมีการลงสมัครรับเลือกตั้งนายกฯ อบจ. หากมองในบริบทการเมืองแล้ว อาจเป็นสนามใหญ่กว่าการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาเขตรับผิดชอบของผู้สมัคร ที่กว้างกว่าเขตเลือกตั้ง สส. ทั่วไป 

ดังนั้น จึงมีภาพการปรากฎตัวของ ทักษิณ เศรษฐา และ 'พิชัย เลิศพงศ์อดิศร' นายกฯ อบจ.เชียงใหม่คนปัจจุบัน พร้อมๆ กับการที่พรรคก้าวไกล ถือโอกาสเปิดตัว 'พันธ์อาจ ชัยรัตน์' เป็นว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายกฯ อบจ. ในวันนี้ (18 มีนาคม 2567) เป็นการตอกย้ำว่า ศึกเลือกตั้งนายกฯ เล็ก ที่จะเกิดขึ้นในรอบถัดไป จะเป็นการพิสูจน์ฝีมือของพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ในแง่ของการช่วงชิงและรักษาฐานเสียง ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปี 2570 

เฉดสี ‘เสื้อแดง’ ที่ไม่เหมือนเดิม  

เมื่อถามถึงสถานการณ์ในฝากฝั่งมวลชนที่มีทั้งต้อนรับ และขับไสไล่ส่งอดีตนายกฯ  ณัฐกร มองว่า เป็นปรากฏการณ์ทางการเมือง ที่สะท้อน4krผ่านเจเนอเรชันอย่างชัดเจน เห็นได้จาก 'คนรุ่นใหม่' หรืออีกนัยคือประชาชน ที่เกิดไม่ทันยุครุ่งโรจน์ของพรรคไทยรักไทย ไม่เห็นภาพการจัดทำนโยบายแก้ปัญหาต่างๆ ที่เป็นรูปธรรม ในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายโครงการ 

ดังนั้น การที่ทักษิณไปเชียงใหม่รอบนี้ จึงไม่สร้างความคึกคักให้กับคนรุ่นนี้ แต่กลับสร้างแรงกระเพื่อมให้กับ 'แฟนคลับ' ที่เคยเห็นภาพการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ ในยุครัฐบาบทักษิณอย่างเดียว ซึ่งปรากฏการณ์นี้สามารถจำแนกกลุ่มโหวตเตอร์ ได้ชัดเจนว่าคนรุ่นไหน มีแนวคิดทางการเมืองและสนับสนุนพรรคใดอยู่ ณ ขณะนี้ 

ทว่า ทุกสิ่งยังยากที่จะฟันธง ได้ถึงแนวโน้ม 'การรักษาแชมป์' และ 'การทวงคืนที่มั่น' ของทั้งสองพรรค เนื่องจากการบริหารงานภายใต้รัฐบาลเพื่อไทย ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

"ยากที่จะด่วนสรุป 1 ในสมมติฐานของผม ถ้าเพื่อไทยจะฟื้นความนิยมในเชียงใหม่กลับคืนมาได้ มันจะต้องทำเป็นระดับใกล้เคียงกับที่คุณทักษิณเคยทำ หมายความว่าต้องมีรูปธรรมของการพัฒนาการแก้ปัญหา ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขายังผูกพันยังเชื่อมั่น รัฐบาล แต่เราก็ต้องให้โอกาสเขา เพราะเวลาที่เขาเข้ามาพึ่งแค่ 6 เดือน งั้นจะบอกว่าจะกลับมาทวงแชมป์คืนมันก็ยังพูดยาก แต่ผลงานจะเป็นตัวที่จะสามารถเปลี่ยนความนิยมขอก้าวไกลกลับมาได้ กลุ่มกลางๆ ที่ผมเคยบอกที่เขาเคยเลือกพรรคเพื่อไทย เป็นไปได้ แต่อย่างกลุ่ม new gen อย่างที่เราทราบก็ชัดมากว่าไปทางก้าวไกล"

ณัฐกร วิทิตานนท์ กล่าว

เมื่อถามถึงจุดหักเหของคนเชียงใหม่ ที่มีผลต่อการเลือกตั้งระดับประเทศ ในศึกปี 2566 ที่ผ่านมา ณัฐกร มีกลุ่มเสื้อแดงไม่น้อย ที่ก็หวังไกลกว่าการที่ทักษิณได้กลับบ้าน คือการเปลี่ยนผ่านในระดับโครงสร้างทางการเมือง จึงทำให้ 'สีแดง' ในเชียงใหม่แบ่งออกเป็น 'หลายเฉด' รวมถึงบริบทความเป็นเมืองที่เพิ่มขึ้นของจังหวัด ที่ธรรมชาติของคนเมือง หรือชนชั้นกลาง ไม่ได้ตัดสินใจจากเหตุผลแบบผูกขาด หรือการเลือกเพราะความเป็น 'บ้านใหญ่' แต่เลือกเพราะนโยบายที่เป็นคุณต่อการพัฒนาเป็นหลัก 

สำหรับการเปรียบเทียบในมิติของท้องถิ่นกับการเมืองภาพใหญ่ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่า กรณีทั้ง มีใช้หลักเกณฑ์คนละแบบ ตามสมมุติฐานส่วนตัว เชื่อว่า พรรคเพื่อไทยยังจะสามารถปักธงและรักษาฐานไว้ได้อยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ อบจ. ของพรรคก้าวไกลยิ่งทำให้มั่นใจ

"ผมไปดูเลือกตั้งซ่อมหลังเลือกตั้งใหญ่ที่ก้าวไกลชนะ 7 เขต ก็พบว่าพรรคก้าวไกลแพ้ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยทั้งนั้น ดังนั้นการเลือกนายกฯ อบจ. จึงแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการเลือกตั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขด้านการใช้สิทธิ์ ฐานเสียงที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลอาจต่ำกว่าพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ไม่ใช่คนเชียงใหม่ที่เป็นประชากรแฝง ซึ่งใช้ชีวิตในการทำงานต่างถิ่น ฐานเสียงที่พรรคเพื่อไทยทำมาอย่างเหนียวแน่น จะเป็นตัวชี้วัดให้เห็นในการเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ครั้งหน้าครับ"

ณัฐกร วิทิตานนท์ กล่าว

ท้ายที่สุด เมื่อถามว่า การปรากฏตัวของทักษิณ ที่เชียงใหม่รอบนี้ คือการแสดงภาพความเป็น 'ขุนพลฝ่ายอนุรักษ์'  อย่างชัดเจนหรือไม่ ณัฐกร กล่าวว่า นัยที่เห็นขณะนี้ 'ยังไม่ชัดเจน' แต่อย่างใด 

ก็ต้องติดตามกันต่อไป ว่า 'เชียงใหม่' ซึ่งจะกลายเป็นสมรภูมิเลือกตั้งที่ดุเดือดทั้งท้องถิ่นและระดับชาติ จะมีผลสัมฤทธิ์ออกมาในทิศทางไหน 

แต่ที่แน่ๆ 'เลือกตั้ง อบจ.' คือการ 'วัดพลัง' ส่วน 'เลือกตั้งใหญ่ปี 2567' คือ 'บทสรุป' การเมืองในเมืองเหนือต่อจากนี้ จะเดินยังไงก็ต้องระวัง เพราะทุกอย่างสามารถชี้เป็นชี้ตายได้ทีเดียว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์