ไม่ต้องเก็งข้อสอบ รับศึกซักฟอกของ สว.

19 มี.ค. 2567 - 03:57

  • ‘ชลน่าน’ ลั่น ไม่ต้องเก็งข้อสอบ รับศึกซักฟอก สว. มั่นใจ ใช้โอกาสชี้แจง ดึงคะแนนรัฐบา

  • ยัน สธ.ไม่เกี่ยว ปมข้อมูล ปชช.หลุด ถูกปล่อยขาย ชี้ ระบบมีความปลอดภัย ขอให้วางใจ

cholnan-battle-of-no-confidence-19mar24-SPACEBAR-Hero.jpg

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ของ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะมีการเก็งข้อสอบอย่างไรว่า คงไม่ต้องเก็งอะไร เพราะเขาเปิดข้อสอบแล้ว ซึ่งมี 7 ประเด็นที่เขาเปิดเผยออกมา ที่ซักถามและเสนอแนะปัญหากับรัฐบาล เราก็จะดูตามนั้นว่า รัฐบาลจะต้องเตรียมตอบและชี้แจงข้อเท็จจริงอะไร หรือปัญหาที่เค้าเสนอแนะมา เรามีวิธีการแก้ปัญหาอย่างไร แต่หลักกระทรวง และคนที่เกี่ยวข้อง ก็จะเตรียมการเรื่องเหล่านี้ 

เมื่อถามว่า ไม่ห่วงว่าจะกระทบความน่าเชื่อถือของรัฐบาลใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรามอง 2 มุม การตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เป็นการทำหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ หากใช้ตรงนี้ให้เป็นประโยชน์ เชื่อว่ารัฐบาลจะได้คะแนนจากตรงนี้ ถ้าเรามีความมั่นใจเชื่อมั่น กระบวนการ วิธีการ และหน้าที่ในการทำงาน ที่สุดแล้ว ก็เอาผลงานที่ได้ทำกับประชาชน มาชี้แจงในสภา เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังให้สัมภาษณ์ก่อนถึงกรณีชมรมแพทย์ชนบท โพสต์ภาพหน้าเว็บไซต์ที่มีการประกาศขายข้อมูลกว่า 2.2 ล้านชื่อ อ้างว่า เป็นข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ถูกขายในราคาราว 360,000 บาทว่า จากที่ตรวจสอบ ไม่มีหลักฐานหรือข้อบ่งชี้ใดๆ ว่าเป็นข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข โดยหน่วยงานที่เข้ามาช่วยดูแลเรื่องไซเบอร์และหน่วยงานที่เฝ้าระวังของเรา ตรวจสอบแล้วพบว่าไม่มี จริงอยู่ว่าข้อมูลเป็นเลขบัตรประชาชน 13 หลัก แต่ยืนยันว่าไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงกับกระทรวงสาธารณสุข โดยในวันที่ 20 มี.ค. ตนจะแถลงข่าวเรื่องนี้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกรรม รักษาความมั่นคง ปลอดภัย ไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) 

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ทั้งนี้ เมื่อเราเจาะลึกลงไป พบว่า ข้อมูลที่ปรากฏออกมา อยู่ที่ จ.ปัตตานีประมาณ 100 ชุด โดยข้อมูลที่เป็นข่าว ซึ่งบอกว่า หลุดออกจากกระทรวงสาธารณสุข ทำให้เราเสียหายมาก และเป็นเรื่องที่เกิดก่อนจะเข้ามารับตำแหน่ง ส่วนตัวจึงให้มีการตรวจสอบ และมีหนังสือยืนยันแล้วว่า ไม่ได้เกี่ยวข้อง

เมื่อถามว่า ประชาชนมั่นใจว่า กระทรวงสาธารณสุขจะดูแลข้อมูลผู้ป่วยได้หรือไม่ กล่าวว่า ขอให้มั่นใจ เพราะระบบที่วางไว้ เราให้ความปลอดภัยของข้อมูลเป็นอันดับหนึ่ง อย่างก่อนหน้านี้ เราก็โดนโจมตีที่ จ.ร้อยเอ็ด แต่เราก็ตรวจเจอและป้องกันได้ก่อน เป็นระบบที่เราวางไว้ทั้งหมด

เมื่อถามว่า โรงพยาบาลในต่างจังหวัดอาจไม่มีผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีมาดูแล จะจัดการอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องแยกเป็นสองส่วน คือ โรงพยาบาลที่เข้าสู่ระบบที่มีการเชื่อมโยงกัน นำร่องเป็นข้อมูลระบบเดียวกัน แบบใน 4 จังหวัดนำร่อง จะมีการดูแลระบบอย่างเข้มข้น ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลจะมีวอร์รูมเฝ้าระวังอยู่ตลอด และในส่วนของโรงพยาบาลที่ยังไม่ได้เชื่อมระบบ จะเป็นการพัฒนาบุคลากร ให้ดูแลเฉพาะที่ เมื่อเขาพร้อมเข้าสู่ระบบ ซึ่งเราจะมีการเปิดระบบในโรงพยาบาล 20 แห่ง ช่วงเดือนพฤศจิกายน

เมื่อถามว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ถอดบทเรียนจากแฮ็กเกอร์แล้วใช่หรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เราไม่ได้ท้าทาย เรามีหน้าที่เฝ้าระวังและป้องกัน ผู้ที่เป็นแฮ็กเกอร์ เขาคงมีความชํ่าชอง และมีประสบการณ์เยอะ การที่จะรู้เขาและเราว่าระบบจะมีมาตราการอย่างไร ทำงานแบบนี้ต้องมีความมั่นใจ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์