สอน ‘รัฐบาลนายกฯ อิ๊งค์’ แก้ไฟใต้ ต้องยึดหลักนิติธรรม

13 ก.ย. 2567 - 08:47

  • ‘ชวน’ สอน ‘รัฐบาลนายกฯ อิ๊งค์’ ย้ำไม่เลือกปฏิบัติ-ซื่อสัตย์สุจริต-ยึดหลักนิติธรรม

  • ยกปม ‘วิกฤตไฟใต้’ ต้นตอเกิดจากใช้อำนาจผิดหลักการ เตือนอย่าผิดซ้ำรอยอดีต

Chuan-Leekpai-discuss-government-policy-about-southern-problems-SPACEBAR-Hero.jpg

ชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายนโยบายรัฐบาล ว่า เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ปีที่แล้ว ได้อภิปรายนโยบายของรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน ในปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งตอนนั้นพูดในฐานะฝ่ายค้าน วันนี้พูดในฐานะรัฐบาล แต่ไม่ว่าจะพูดในสถานะใด ความจริงก็คือความจริงที่ไม่อาจจะเปลี่ยนแปลง  

ครั้งนั้น ต้องการให้รัฐบาลบรรจุปัญหาชายแดนภาคใต้ ในนโยบายรัฐบาล เพราะนโยบาย 14 หน้าของรัฐบาล ไม่มีเรื่องนี้เลย ครั้งนี้ได้บรรจุเรื่องนี้ไว้ในหน้า 12 แม้จะเป็นหนึ่งบรรทัด ก็แสดงให้เห็นว่าเรายอมรับว่า เป็นเรื่องที่สำคัญ เมื่อบรรจุไว้แล้ว ก็มีโอกาสติดตามปัญหาชายแดนภาคใต้

ที่ยกเรื่องนี้มาพูด เพราะถือหลักว่า ชีวิตมีค่ามากกว่าเงิน เราจะผิดพลาดจากนโยบายเศรษฐกิจขาดทุนไปกี่หมื่น กี่แสนล้านบาท ไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคน 7,500 คน ที่เสียไปจากความผิดพลาดนโยบายด้านความมั่นคง จึงเป็นเรื่องพิเศษเมื่อยอมรับเป็นนโยบายส่วนหนึ่งแล้ว เราก็ต้องปฏิบัติเพื่อให้สำเร็จ

ชวน หลีกภัย

ขอย้ำว่า การจะแก้ปัญหาให้สำเร็จ เราต้องยอมรับความจริงก่อนว่า ต้นเหตุทั้งหมดเกิดจากอะไร เช่น เหตุการณ์เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2544 ซึ่งโชคดีที่มี สว.ที่เป็นอดีตแม่ทัพภาค 4 อยู่ในที่นี้ด้วย จะเป็นประโยชน์ในการให้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทำรายได้สนับสนุนให้ประเทศชาติบ้านเมืองเราให้เจริญรุ่งเรืองได้ จึงต้องทำให้เกิดความสงบให้ได้

การที่นายกรัฐมนตรีแถลงไว้ว่า ต้องการสร้างความสามัคคีปรองดอง ต้องเรียนว่า ไม่มีใครไม่เห็นด้วย แต่การจะเกิดความสามัคคีปรองดองได้ สำคัญคือจะต้องปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอภาค ไม่เลือกปฏิบัติ

ขอย้ำว่า กรุณาชดเชยกรณีที่เราเลือกปฏิบัติ ที่ก่อให้เกิดความเสียโอกาส ขอให้รัฐบาลทบทวนดูว่า มีอะไรที่ทำให้เกิดความขัดข้องใจ และทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ปรองดองอันเกิดขึ้นจากการมีความรู้สึกว่า ไม่ได้รับการปฏิบัติเสมอภาค

ชวน หลีกภัย

ที่สำคัญ นโยบายทั้งหมด 14 หน้า ไม่มีโอกาสที่จะพูดรายละเอียด แต่ปัญหาว่านโยบายเหล่านี้จะเกิดผลสำเร็จได้อย่างไร ขอใช้คำที่นายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อได้ถวายสัตย์ปฏิญาณแล้วว่า “นับเป็นเกียรติยศและความภูมิใจสูงสุดของดิฉันและคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมนำพระราชดำรัสมาปรับใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน”

พระราชดำรัสที่ทรงพระราชทานนั้นคืออะไร คือขอให้พรด้วยความยินดี ให้ ครม.มีกำลังใจ มีความมุ่งมั่นในการปฎิบัติหน้าที่ ตามที่ได้ถวายสัตย์ไปแล้ว เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน ซึ่งข้อนี้ คำถวายสัตย์ “ข้าพเจ้าจะจงรักคนดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ”

ประเด็นที่ต้องปฏิบัติตามคือ 1. ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต 2. ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน 3. รักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ

ความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ต้องอธิบายมาก แต่ความหมายไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องฉ้อราษฎรบังหลวง ไม่ทุจริต เมื่อ ครม.เข้าบริหารประเทศนั้น เรามีข้าราชการที่รองรับอยู่ในแต่ละหน่วยงาน คนเหล่านั้น ไม่ใช่มาแบบพวกเรา เขาเป็นข้าราชการที่ไต่เต้าจากระดับเล็กขึ้นมา ในฐานะนักการเมืองฝ่ายบริหาร เราจะต้องปฏิบัติโดยหลักธรรมาภิบาล คือหลักคุณธรรม จริยธรรม ที่ให้โอกาสคนเหล่านั้นขึ้นมาตามความสามารถ ไม่ใช่ด้วยราคา ไม่เช่นนั้น เราไม่สามารถรักษาความซื่อสัตย์สุจริตได้ เราก็จะได้คนไม่ดีเข้ามาทำงานกับเรา เราจะสำเร็จก็ต่อเมื่อ มีคนดีเข้ามาช่วยเราทำงาน

ชวน หลีกภัย

การปฏิบัติหน้าที่ ถ้าเราทำได้ จะเป็นประโยชน์ต่อระบบการปกครองในระบบรัฐสภาอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะนี้ มีข้อหย่อนยานทำให้รู้สึกว่า ระบบของเราไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนส่วนใหญ่ กลายเป็นระบบที่เหมือนมือใครยาว สาวได้สาวเอา เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

ขอให้ ครม.แปลความนี้ให้ชัดเจนว่า การบริหารนั้น ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพรรคการเมืองของท่าน แต่ต้องคิดถึงประโยชน์ของประชาชน องค์กรใดก็ตามที่เป็นเครื่องมือของการบริหารประเทศ จะไม่ต้องรับใช้พรรคการเมือง หรือรับใช้นักการเมือง ต้องรับใช้ประโยชน์ของประเทศชาติ

ชวน หลีกภัย

ถ้าเป็นเช่นนี้ ความเชื่อมั่นต่อระบบการปกครองนี้ก็จะมั่นคง และทำให้เห็นว่าระบบการปกครองนี้มีประสิทธิภาพ ใครที่คิดว่าระบบนี้อ่อนประสิทธิภาพ ไม่มีประสิทธิผล เกิดความรู้สึกตลอดมาว่า ทำไมระบบเราเป็นอย่างนี้ ก็มาโทษระบบการปกครอง แต่แท้จริงแล้ว มันอยู่ที่ภาคปฏิบัติ การรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ ต้องยอมรับความเป็นจริงว่าหลักนิติธรรมนี้ เป็นหัวใจของการปกครอง

ปัญหาในภาคใต้ ถ้าเรายึดหลักนิติธรรมตั้งแต่ต้น คือฝ่ายนิติบัญญัติออกกฏหมาย ฝ่ายบริหารทำตามกฎหมาย ฝ่ายตุลาการตัดสินปัญหา เราจะไม่เกิดอย่างนี้ แต่บังเอิญช่วงหนึ่ง เราไปใช้ฝ่ายบริหารเป็นศาล คือ ตัดสินว่าควรตายเดือนละกี่คน จึงเป็นที่มาของทุกวันนี้ เมื่อเรายึดมั่นในหลักนิติธรรมแล้ว ผมเชื่อว่า จะไม่มีสถานการณ์ใดที่เป็นพิษเป็นภัยต่อประเทศชาติ

ชวน หลีกภัย

คำถามคือ การปฏิญาณตนตามที่กล่าวมานี้ รัฐบาลก่อนๆ ไม่ปฏิญาณหรือ รัฐบาลก่อนๆ ก็ปฏิญาณ รัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 ปี 2560 ข้อความการถวายสัตย์ปฏิญาณตนเหมือนกัน รัฐบาลทุกชุดก็ต้องปฏิญาณ

แล้วทำไมปฏิญาณแล้วถึงมีปัญหา มีอันเป็นไป ถูกดำเนินคดี ต้องจำคุก คำตอบก็คือ แม้ปฏิญาณไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติ สุดท้ายจึงอยู่ที่ภาคปฏิบัติที่จะทำให้นโยบายของรัฐบาลประสบความสำเร็จ เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่ใช่ประโยชน์ของพรรคการเมือง เมื่อเราต้องปฏิบัติโดยยึดหลักว่า ซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเคารพในหลักนิติธรรม อันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตย

ชวน หลีกภัย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์