ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายก และฝ่ายกฎหมายของรัฐบาล กล่าวถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย การตีความเรื่องมาตรฐานจริยธรรม และความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ว่า ศาลรัฐธรรมนูญตอบมาค่อนข้างชัดเจน ซึ่งจริงๆ เราก็ทราบแนวทางของศาลพอสมควร แต่เรื่องนี้ถือเป็นปัญหาจริงๆ ในแง่ของการตีความหลักสำคัญจะแต่งตั้งบุคคลใด ต้องเอาประวัติมาดู ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนถูกปรับในข้อหาจอดรถในที่ห้ามจอด ต้องถามสื่อมวลชนว่าถือว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตหรือไม่ เพราะฉะนั้นดุลพินิจกว้าง ซึ่งตามหลักนิติรัฐและนิติธรรม กฎหมายต้องมีความแน่นอนเราถึงพยายามทำเรื่องนี้ให้ชัด แต่ในเมื่อศาลไม่ตอบก็ไม่รู้จะทำอย่างไร และหลังจากนี้จะแต่งตั้งใครต้องใช้ดุลพินิจกันเอง
ผู้สื่อข่าวถามว่า หลังจากนี้จะตั้งใครต้องสุ่มเสี่ยงเองเลยใช่หรือไม่ ชูศักดิ์ กล่าวว่า จะว่าสุ่มเสี่ยงก็ได้ แต่ต้องใช่ความระวัดระวังเต็มที่ ผู้สื่อข่าวถามว่าแสดงว่าต้องสแกนคุณสมบัติถี่ยิบเหมือนตั้งครม.แพทองธาร 1 ใช่หรือไม่ ชูศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาให้สำนักเลขาธิการครม. (สลน.)ตรวจสอบ สอบถามไปคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมันไม่จบเพราะเมื่อเป็นดุลยพินิจก็จะเป็นปัญหาตามมา ต้องชั่งน้ำหนักดู เมื่อถามว่า หากในอนาคตปรับครม. และเสนอชื่อใครแล้วสังคมตั้งคำถามจะทำอย่างไร ชูศักดิ์ กล่าวว่า ทั้งหมดต้องเอามาประมวลกันว่าใครคิดเห็นอย่างไรมาชั่งน้ำหนักเอาเพราะท้ายที่สุดคนที่ตั้งต้องรับผิดชอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่าต่อไปจะตั้งใครต้องมีประวัติใสกิ๊งเลยใช่หรือไม่ ชูศักดิ์ กล่าวว่า หากพูดตรงไปตรงมา การเมืองบ้านเรามาแบบนี้ นักการเมืองก็ไม่ใช่นักบวช ขนาดพระยังมีข้อครหา ก็ต้องดูจนกว่าจะทำการเมืองให้ใสสะอาด เราก็เห็นกันอยู่ว่า เมื่อมาถึงจุดนี้เป็นอย่างไร เขาถึงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่า รัฐธรรมนูญปราบโกง แต่หลักสำคัญ ควรจะมีการกำหนดมาตรฐานชัดเจน ไม่เปิดโอกาสให้ตีความได้หลายทาง
เมื่อถามว่า ต้องไปหวังในการแก้รัฐธรรมนูญใช่หรือไม่ ชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องไปพูดคุยกัน หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะให้ลดมาตรฐานจริยธรรม แต่อยากให้ชัดเจน
ส่วนการที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งสัญญาณมาเช่นนี้ จะกระทบเหตุการณ์ในวันจันทร์ที่ 17 มีนาคม ที่รัฐสภาจะขอมติให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าต้องทำประชามติก่อนการแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่แตกต่างกัน เนื่องจากประธานรัฐสภาบรรจุวาระ และเกิดความขัดแย้ง เนื่องจากสส.ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย โดยมองว่า ประธานสภาฯ ไม่มีอำนาจบรรจุ และถือเป็นคนละกรณีกับกรณียื่นถามเรื่องมาตรฐานจริยธรรม พร้อมกับมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะรับวินิจฉัยเรื่องการทำประชามติ