จะได้กระจ่าง! ‘ชูศักดิ์’ มองแง่ดีศาลฯ เรียกไต่สวนเองปม ‘ทักษิณ-ชั้น 14’

2 พ.ค. 2568 - 05:35

  • ‘ชูศักดิ์’ มองแง่ดี! ศาลฯ เรียกไต่สวนเองปม ‘ชั้น 14’ จะได้กระจ่าง

  • ชี้ส่งตัว ‘ทักษิณ’ รักษา รพ.ตำรวจ เป็นอำนาจ ‘กรมราชทัณฑ์’ พ้นหน้าที่ศาลแล้ว

  • ยันถ้าผลเป็นลบ ก็ไม่กระทบรัฐบาล

Chusak-Sirinill-optimistic-about-court-calling-for-investigation-on-Thaksin-14-th-floor-case-SPACEBAR-Hero.jpg

ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดไต่สวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งตัว ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ ในวันที่ 13 มิ.ย. ว่า ในความเห็นส่วนตัวมองว่า “ไม่เคยมีกรณีเช่นนี้มาก่อน” เพราะปกติคดีความจะมีโจทก์กับจำเลย ซึ่งศาลได้ยกคำร้องของผู้ร้อง แต่ว่าศาลได้ใช้อำนาจในการไต่สวนเอง

ส่วนตัวมองว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีเหมือนกันที่จะทำให้กระจ่างชัดว่า ท้ายที่สุดจะเป็นอย่างไร ประเด็นมีแค่เพียงว่า ฝ่ายที่คัดค้านมีความเห็นในทำนองว่า ทักษิณ ไม่ได้ป่วยจริง ขณะที่กรมราชทัณฑ์ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ต่างก็มีหลักฐาน เอกสาร มีการรับรอง ถือว่าเป็นไปตามระเบียบและกฎเกณฑ์ แต่อีกฝ่ายที่ค้านไม่ได้เชื่อตรงนี้ จนเกิดการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร การที่ศาลไต่สวนเองจึงเป็นเรื่องดี จะได้ชัดเจน

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ผู้สื่อข่าวถามว่า เอกสารต่าง ๆ เช่น เวชระเบียน จะต้องถูกนำมาเปิดเผยในศาลใช่หรือไม่? ชูศักดิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับศาลที่จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้อง เท่าที่ได้อ่านดู มีทั้งโจทก์และจำเลย เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรมราชทัณฑ์ แพทย์โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งต้องให้เอกสารหลักฐานกับศาล แต่ว่าความเข้าใจของประชาชนมีความรู้สึกว่า การมารักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่ใช่การถูกควบคุมตัว

ซึ่งทราบกันดีว่า ระเบียบกรมราชทัณฑ์ การคุมตัวหรือการคุมขังเป็นคนละส่วนกับศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมมีหน้าที่ในการพิพากษา แต่การบริหารโทษหรือการจัดการ หรือการอภัยโทษมีระเบียบและกฎหมายอยู่ แต่มีการไปสื่อสารทำนองว่า เรื่องดังกล่าวไม่ใช่การถูกควบคุม ซึ่งการอยู่ในโรงพยาบาลถือเป็นการถูกควบคุมหรือถูกคุมขังเช่นเดียวกัน

เมื่อถามว่า หากเอกสารที่ส่งให้ศาลมีความชัดเจน ในส่วนของทักษิณ ถือว่า น่าเป็นห่วงหรือไม่? ชูศักดิ์ มองว่าความน่าเชื่อถือของแพทย์ กรมราชทัณฑ์ ที่ได้ดำเนินการเป็นไปตามความเห็นของผู้มีวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง

เมื่อถามย้ำว่า มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายว่า เรื่องดังกล่าวต้องใช้กฎหมายราชทัณฑ์ หรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ว่าการส่งตัวไปโรงพยาบาลจะต้องขออนุญาตศาลก่อนหรือไม่? ชูศักดิ์ ยืนยันว่า “ไม่ต้องขออนุญาตศาล เพราะเป็นกฎระเบียบและอำนาจหน้าที่ของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งพ้นหน้าที่ของศาลแล้ว”

เมื่อถามว่า หากมองในแง่ไม่ดีเกี่ยวกับการที่ศาลเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงครั้งนี้ จะกระทบกับรัฐบาลหรือไม่ เพราะทักษิณ มีอำนาจเหนือรัฐบาล? ชูศักดิ์ กล่าวว่า “แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ก็เป็นผู้ที่มีอำนาจเต็ม สั่งแถลงอะไรก็เต็มที่ ก็ไม่ได้กระทบอะไรกับรัฐบาล”

โยนถาม ‘พีระพันธุ์’ ปมถูกร้องคุณสมบัติเคส ‘ถือหุ้นบริษัท’

ส่วนกรณีที่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ถูกยื่นตรวจสอบคุณสมบัติการดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีถือครองหุ้นในบริษัทเอกชน

เรื่องนี้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นว่า โดยมารยาทตนเองไม่ควรพูดเรื่องนี้ เป็นเรื่องของ พีระพันธุ์ และเราก็ยังไม่ทราบข้อเท็จจริงชัดเจนว่าเป็นเรื่องอะไร เพราะดูจากคำร้อง เป็นกรณีการถือหุ้น แต่ พีระพันธุ์ บอกว่าไม่ได้ถือ แต่เป็นเรื่องของภรรยาและลูก หรือบางข่าวบอกว่าเป็นกรรมการ ก็มั่วกันไปหมด

ผมไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะคนที่รู้ดีที่สุดคือผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผมไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง จึงไม่อยากพูดอะไร ที่สำคัญยังไม่รู้ว่าองค์กรอิสระที่เขาไปร้องจะรับเรื่องหรือไม่

ชูศักดิ์ ศิรินิล

เมื่อถามต่อไปว่า ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงว่า “ถือหุ้นเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด”  ใช่หรือไม่? ชูศักดิ์ กล่าวว่า “ก็ถูกต้อง, ผมไม่สามารถจะพูดอะไรได้ และใครก็ไม่สามารถจะพูดได้ เพราะเรายังไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร เพียงแค่รู้ว่าคนที่จะมาเป็นรัฐมนตรีจะต้องผ่านการตรวจสอบมาโดยละเอียด อย่างผมก็ต้องรับรองว่าส่วนตัวไม่ได้ขาดคุณสมบัติ ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการตรวจสอบ”

ผ่านการตรวจสอบจาก ‘สลค.’ เต็มที่แล้ว

ส่วนกรณีที่มีนักวิชาการระบุว่าหากกรณีของ พีระพันธุ์ ขัดรัฐธรรมนูญ ก็อาจเป็นลักษณะการขัดจริยธรรม และส่งผลถึงนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งด้วย? ชูศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเทียบเคียงกับกรณีอื่น ๆ ที่ผ่านมา, มองว่าเป็นคนละเรื่องกัน เพราะนี่เป็นเรื่องตัวบุคคลว่ามีคุณสมบัติหรือไม่ แต่ถ้าถามว่าได้มีการตรวจสอบแล้วหรือไม่ ก็ต้องยืนยันว่า มีการตรวจสอบแล้วจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)

ขอย้ำว่าต้องดูข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร ซึ่งยังไม่มีใครรู้ จึงไม่อยากไปฟันธงว่าผิดหรือไม่ผิด

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ผู้สื่อข่าวถามว่า พีระพันธุ์ ถือเป็นนักกฎหมายด้วย มั่นใจหรือไม่ว่าไม่น่าจะตกม้าตายด้วยเรื่องนี้? ชูศักดิ์ กล่าวว่า การแต่งตั้งบุคคลใด ๆ นายกรัฐมนตรีได้ใช้ดุลยพินิจในการตรวจสอบ รวมถึงมีการตรวจสอบโดย สลค. อย่างละเอียดทุกคน ดังนั้น มองว่าได้มีการใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่แล้ว

รัฐบาลยังไม่สรุปใช้ ‘พ.ร.ก.’ หรือ ‘พ.ร.บ.’ กู้เงิน 5 แสนล้าน

เมื่อถามไปถึงกรณีที่รัฐบาลมีแผนที่จะออกกฎหมายกู้เงิน วงเงินรวมประมาณ 5 แสนล้านบาท นั้นรัฐบาลควรจะออกเป็น ‘พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน’ หรือ ‘พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน’ จะเหมาะสมมากกว่า?

ชูศักดิ์ ชี้แจงว่า “เรื่องนี้ยังไม่ได้คุยกันในรายละเอียดเลย”

ส่วนเมื่อถามย้ำว่า แนวโน้มในการดำเนินการเรื่องนี้ควรจะออกเป็น พ.ร.ก. หรือ พ.ร.บ. ถึงจะเหมาะสม? ชูศักดิ์ กล่าวว่า ต้องไปดูเหตุผลว่ามีความจำเป็นอะไร โดยเฉพาะถ้าจะออกเป็น พ.ร.ก.

ซึ่งเงื่อนไขสำคัญคือ การออก พ.ร.ก. ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะออกได้ เพราะจริง ๆ แล้วการตรากฎหมายไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล เขายกเว้นไว้กรณีจำเป็น กรณีฉุกเฉิน กรณีเร่งด่วน หรือจำเป็นเท่านั้น ก็ต้องดูว่าท้ายที่สุดแล้วมีความจำเป็นหรือไม่

ปกติการตรากฎหมาย เราต้องเสนอเรื่องผ่านสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีอำนาจโดยตรง และที่ผ่านมา ก็ยกเว้นเฉพาะกรณีที่จำเป็น ซึ่งเรียกว่า พ.ร.ก. แต่อย่างที่บอกว่า พ.ร.ก. มีเงื่อนไข เพราะถ้าไม่เข้าเงื่อนไข ก็อาจจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญได้อีก ซึ่งตอนนี้นายกรัฐมนตรี ยังไม่ได้มีการหารือในเรื่องนี้เลย

ชูศักดิ์ ศิรินิล

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์