ที่รัฐสภา ชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ฝ่ายกฎหมาย เปิดเผยความคืบหน้ากรณีพรรคเพื่อไทยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราว่า ช่วงบ่ายวันที่ 1 ต.ค.นี้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะผู้ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล จะนัดพรรคร่วมรัฐบาลหารือเรื่องนี้ โดยจะหารือใน 2 ประเด็น
- พรรคร่วมรัฐบาล คิดเห็นอย่างไร เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราที่พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนเสนอ
- ความคืบหน้าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เช่น การทำเรื่องประชามติไปถึงไหนแล้ว
ส่วนข้อครหาการแก้รัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เป็นการเอื้อนักการเมืองจะผ่านวาระหนึ่งได้หรือไม่ ชูศักดิ์ ตอบว่า เข้าใจความรู้สึกของคนในสังคมเรื่องความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ ปี 60 เป็นอย่างไร เรื่องที่เราแก้ไขคือการแก้ให้เป็นธรรม ชัดเจนขึ้น มีระเบียบปฏิบัติ หรือแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ย้ำว่าเราไม่ได้ยกเลิกเรื่องที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญปราบโกง เช่นกำหนดกรอบเวลาการกระทำให้ชัดเจนขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่มีปัญหาในแง่การทำหน้าที่
“ทุกคนคงทราบดีว่า เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องที่เป็นปัญหาสำหรับการบริหารราชการแผ่นดิน ว่าถ้าจะทำอย่างโน้นอย่างนี้ต้องไปถามกับตรงนั้นตรงนี้ วุ่นวายไปหมดกว่าจะตั้งรัฐบาลได้ ขอย้ำว่า เราไม่ได้อยากยกเลิกอะไร เพียงแต่ทำกฏหมายให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติ มาตรฐาน ว่าจะชี้จะวัดอย่างไร”
— ชูศักดิ์ กล่าว
ส่วนการแก้ครั้งนี้เป็นการแก้เพื่อปลดล็อกปัญหาอุปสรรคทางการเมืองหรือไม่ ชูศักดิ์ ระบุ เราเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และไหนๆ คงต้องมีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เราจึงเลือกเฉพาะประเด็นที่คิดว่ามีความสำคัญที่สุด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการแผ่นดิน ไม่ได้เก็บมา 10 หรือ 20 ประเด็น ถ้าอย่างนั้นค่อยแก้ทั้งฉบับ พร้อมยอมรับว่ามีการพูดคุยกับ สว. ในเรื่องนี้บ้างแล้ว
นอกจากนี้ ชูศักดิ์ ยังเปิดเผยความคืบหน้า การเตรียมเสนอรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ต่อที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ว่า ในวันที่ 26 ก.ย.นี้ เป็นการเสนอรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ซึ่งผมเป็นประธาน ย้ำว่ายังไม่ใช่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เพราะต้องรอฟังมติของที่ประชุมว่าจะให้รัฐบาลหรือพรรคการเมืองต่างๆ รับรายงานไปพิจารณาว่าสมควรจะยกร่าง พ.ร.บ. อย่างไร กรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่มีอำนาจไปบังคับ
เมื่อถามว่ามีการนิรโทษกรรมในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ชูศักดิ์ ตอบว่า ในรายงานไม่ได้บอกว่าจะให้รวมคดีมาตรา 112 หรือไม่รวม เพียงแต่นำทุกข้อเสนอทั้งหมดให้สภาและรัฐสภาพิจารณา ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของสมาชิกว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ ส่วนรัฐบาลจะเดินหน้าสานต่อกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่การันตีไม่ได้ เพราะเป็นคนละส่วนกัน
“แม้รัฐบาลจะยังไม่ตอบสนองต่อการเสนอรายงาน รายงานฉบับนี้ก็ยังไม่ถือว่าสูญเปล่า เพราะรัฐบาลก็อาจมีมติส่งให้พรรคการเมืองพิจารณาไปเสนอเป็นร่างกฎหมายเข้ามาก็ได้ ขณะที่ในส่วนของพรรคเพื่อไทยเอง ก็ยังไม่ได้มีการหารือว่าจะเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคหรือไม่ เพียงแต่ตั้งเรื่องศึกษาให้มีองค์ความรู้ว่าควรดำเนินการด้านกฎหมายอย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น”
— ชูศักดิ์ กล่าว