‘ชูศักดิ์ ศิรินิล’ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต. ) ส่งหนังสือเชิญนายกรัฐมนตรี ให้ไปชี้แจงกรณี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ครอบงำพรรคว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเดินทางไปชี้แจงด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำเช่นนี้มาตลอด โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายตนเองไปชี้แจง และก็ต้องไปยกร่างคำชี้แจงแค่นั้น
เมื่อถามย้ำว่าครั้งนี้ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการแทนใช่หรือไม่ ชูศักดิ์ ระบุว่า ก็แน่นอน ก็ต้องมอบหมาย และท้ายที่สุดก็คงไม่ต้องไป ทำหนังสือชี้แจงไปก็ได้ ซึ่งทำแบบนี้มาตลอด
เมื่อถามว่าหากนายกรัฐมนตรีเดินทางไปด้วยตนเอง ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจะดีกว่าหรือไม่ ชูศักดิ์ มองว่า ไม่ใช่ดีกว่า หรือไม่ดีกว่าอะไร ซึ่งประเด็นอยู่ที่ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร และข้อกฎหมายเป็นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่กรณีเช่นนี้จะมอบหมายตนเอง และทำคำชี้แจงไปว่า ความจริงเป็นเช่นนี้ ที่ไม่ใช่การครอบงำ พร้อมกับนำพยานหลักฐานแนบไปด้วย
ส่วนเห็นหนังสือจาก กกต. แล้วหรือไม่ ชูศักดิ์ ระบุว่า เห็นแล้วเมื่อวานนี้ (18 ธ.ค.67) ซึ่งเป็นเรื่องเก่า ๆ ทั้งนั้น และท้ายที่สุด กกต. ก็ใช้วิธีรวบรวมมา ซึ่งมี 4-5 เรื่อง เพื่อที่จะได้ตอบชี้แจงไปทีเดียว
ขณะที่คำร้องต่าง ๆ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตีตกไป ซึ่งก่อนหน้านี้ เคยระบุว่าจะมีการฟ้องร้องกลับเหล่าบรรดานักร้อง ขณะนี้ดำเนินการอย่างไรแล้ว ชูศักดิ์ กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่ เดี๋ยวก็คงได้ยินข่าว พร้อมกับหัวเราะ
เมื่อถามว่า อยู่ในขั้นตอนรวบรวมพยานหลักฐานใช่หรือไม่ หลังทักษิณ ออกมาพูดในงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยว่าจะมีการไล่เช็คบิล พวกนักร้อง ชูศักดิ์ ระบุว่า ที่ฝ่ายกฎหมายกำลังดำเนินการอยู่ ก็เป็นคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง
ผู้สื่อข่าวจึงถามย้ำว่าหลังปีใหม่จะเริ่มเช็คบิลเลยหรือไม่ ชูศักดิ์ กล่าวว่า เดี๋ยวคงได้ได้ยินข่าว ส่วนจะกี่คนยังตอบไม่ได้ เดี๋ยวเวลานั้นก็รู้เอง พร้อมกับหัวเราะอีกครั้ง
พร้อมกล่าวถึงกรณีที่ประชุมสภา มีมติเสียงข้างมากยืนยันการประชามติแบบชั้นเดียว โดยตีตกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่กรรมาธิกา (กมธ.) ร่วมกันพิจารณาเสนอให้ทำ 2 ชั้น ว่า โดยหลังเมื่อกฎหมายถูกยับยั้งไว้ ต้องรอ 180 วันและเมื่อครบ สภาผู้แทนราษฎรจะยกนำกฎหมายฉบับนี้ที่มีมติไป มายืนยันอีกครั้งด้วยเสียงข้างมาก และถ้าเสียงข้างมากยืนยันตามนั้น ก็แปลว่าสามารถนำกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯได้เลย ทำให้สามารถแก้กฎหมายประชามติเป็นชั้นเดียวได้ โดยสภาผู้แทนราษฎรซึ่งรัฐธรรมนูญเขาถือว่าใหญ่กว่า
เมื่อถามว่า การทำประชามติชั้นเดียวถือเป็นสัญญาณที่ดี ชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นประโยชน์เพราะจะทำให้การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ต้องไปวิตกกังวลเรื่องต่างๆได้ และทำให้มันไปได้
ส่วนโอกาสทำให้การร่างรัฐธรรมนูญเสร็จทันรัฐบาลชุดนี้มีมากขึ้นหรือไม่นั้น ชูศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเราตัดสินใจทำประชามติ 3 ครั้งคงไม่ทัน เว้นแต่ขณะนี้มีความพยายามที่จะขอพบ ‘วันมูหะมัด นอร์มะทา’ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ประธานสภานั้นบรรจุวาระเรื่องการแก้ไขรัฐธรรสนูญมาตรา 256 และทำประชามติเพียงสองครั้ง ซึ่ง ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ สส.พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ก็มาขอความร่วมมือกับตน ซึ่งไม่ได้ขัดข้องและยินดีเข้าไปพูดคุยกับประธานสภาผู้แทนราษฎร
เมื่อถามว่า กรณีการลงมติของพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องการทำประชามติ ที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกันจะทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมหรือไม่ ชูศักดิ์ กล่าวว่า พูดได้เพียงว่าเป็นสิทธิของเขาเพราะเรื่องพวกนี้เป็นความเห็นและเรื่องความเชื่อ ซึ่งเป็นของเขา ไม่อยากไปวิจารณ์เพราะความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกันได้
เมื่อถามย้ำว่า จากกรณีดังกล่าวจะทำให้เกิดรอยร้าวในพรรครัฐบาล ในการทำงานเรื่องอื่นๆหรือไม่ ชูศักดิ์ กล่าวว่า มันคงไม่ถึงขั้นจะทำให้ทางเดินตีบตันลง แต่ก็ว่ากันไป แต่ก็อาจจะทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นโดยราบรื่นได้ ขอย้ำว่าตนยึดนโยบายของรัฐบาลนี้ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเขียนไว้ในนโยบายชัดเจน โดยจะเร่งรัดการทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนให้เร็วที่สุด ซึ่งเราก็มาเดินอย่างนี้ ฉะนั้นถ้ารัฐบาลเดินตามนี้ก็จะนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว