กลับมาอีกครั้งกับนโยบาย ‘ปิดผับตี 4’ หลังจาก ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี สั่งให้ศึกษาเรื่องการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจนถึง 04.00 น. แม้รัฐบาลชุดก่อนพยายามผลักดัน กลับต้องเผชิญกับเสียงคัดค้านมาโดยตลอด แต่ครั้งนี้ กลับมาสร้างความน่าตื่นเต้นให้กับ ‘ขาเที่ยว’ แบบจริงจัง เมื่อผู้ว่าฯ กทม. ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ ออกมาขานรับนโยบายนี้ เพราะเชื่อว่า สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ ผู้ค้าขาย และผู้ขับรถบริการสาธารณะ เพียงแต่เห็นว่า ควรมีมาตรการป้องกันเยาวชน การกำหนดพื้นที่เป็น ‘โซนนิ่ง’ ไม่เดือดร้อนผู้อาศัยข้างเคียง กำกับดูแลเรื่องยาเสพติดอย่างเข้มงวด ซึ่ง ‘ผู้ว่าชัชชาติ’ มองว่า ช่วงทดลองที่เหมาะสมที่สุดคือ ช่วงเทศกาลปีใหม่ หรือเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้เอง
เช่นเดียวกับ เจ้ากระทรวงคลองหลอด ‘อนุทิน ชาญวีรกูล’ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยที่ยอมรับว่า กรมการปกครองจังหวัดต่างๆ กำลังศึกษานโยบายรัฐบาลดังกล่าว แต่จะต้องพิจารณาพื้นที่เป็นโซนและไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชน
แต่นโยบาย ‘ปิดผับตี 4’ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะที่ผ่านมามีเสียงคัดค้านมาตลอด โดยเฉพาะข้อกังวลเรื่องความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากการ ‘เมาแล้วขับ’ เพราะช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงอยู่ระหว่าง 21.00-03.00 น. ซึ่งสัมพันธ์กับช่วงเวลาที่จำหน่ายแอลกอฮอล์ ดังนั้น การขยายเวลาเปิดผับ อาจเท่ากับการขยายเวลา ‘เมา’ อีกทั้งการขยายเวลา ‘เมา’ ยังเสี่ยงต่อการเกิดเหตุทะเลาะวิวาทมากขึ้นด้วย
‘ปิดผับตี 4’ ควรมีมาตรการที่ดีอย่างไร?
‘สง่า เรืองวัฒนกุล’ นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร สนับสนุนนโยบาย ‘ปิดผับตี 4’ มาตลอด เพราะเชื่อว่า เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ เพียงแต่เห็นว่า ต้องมีมาตรการที่ชัดเจน ตั้งแต่การเปิดสถานบันเทิงหรือสถานบริการแบบเป็นพื้นที่ ‘โซนนิ่ง’ อาทิ ใน กทม. หากต้องการกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ สามารถจัดโซนนิ่งในย่านข้าวสาร สุขุมวิท ทองหล่อ ส่วนย่านเลียบด่วน ที่ส่วนใหญ่เป็น ‘ขาเที่ยวชาวไทย’ ก็ต้องพิจารณาตามความเหมาะสมว่า จะกำหนดเวลาปิดที่ไม่ใช่ตี 4 หรือไม่ เพราะถือว่า ‘นอกโซนนิ่ง’
ขณะเดียวกัน สถานประกอบการจะต้องมี ‘ใบอนุญาต’ อย่างถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ใบอนุญาตเป็นปัญหาของผู้ประกอบการ เพราะไม่มีการออกใบอนุญาตให้สถานบริการมานานแล้ว และกว่าจะมาเป็น ‘สถานบันเทิงผับบาร์’ ผู้ประกอบการจะต้องขอใบอนุญาตมากมาย อาทิ ใบอนุญาตสถานบริการ ใบอนุญาตแสดงดนตรีสด ใบอนุญาตสะสมอาหาร ใบอนุญาตขายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ ใบอนุญาตขายบุหรี่ยาสูบ ฯลฯ แต่ใบอนุญาตแต่ละฉบับต้องแยกไปขอคนละหน่วยงาน เมื่อมีความยุ่งยาก ก็ทำให้เกิดการ ‘แอบ’ เปิดสถานบันเทิง ที่ไม่ต้องเสียภาษีและทำให้รัฐขาดรายได้ ดังนั้น รัฐควรปรับระบบการขอใบอนุญาตเป็นแบบ ‘One Stop Service’ ไปที่หน่วยงานเดียว แต่ขอได้ทุกใบอนุญาต เพื่อให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมายและมีภาษีเข้าภาครัฐ
“ต้องพิจารณาว่า ควรปรับแก้กฎหมายหรือไม่ หรือใครก็เปิดได้หรืออย่างไร เป็นรายละเอียดที่ต้องไปหารือ นอกจากนี้ ยังต้องกำหนดว่า เฉพาะผู้ที่อยู่ในอาคาร เพราะจะได้ไม่ส่งเสียงรบกวนคนอื่น การจอดรถก็ต้องพิจารณาว่า จะให้จอดรถอย่างไร นักเที่ยวชาวไทยจะจอดรถรบกวนชาวบ้านหรือไม่ ตี 4-5 รถออกมาทำงานตอนเช้า จะไปกีดขวางการจราจรผู้อื่นหรือไม่ นี่เป็นรายละเอียดปลีกย่อยที่ภายในโซนนิ่งนั้นๆ ต้องหารือ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่เขต เพื่อให้ทุกอย่างไปด้วยกันได้ดี” นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร กล่าว

‘ปิดผับตี 4’ จะป้องกันอุบัติเหตุ ‘เมาแล้วขับ’ ได้อย่างไร?
นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร เห็นว่า เมื่อจัดพื้นที่เป็นโซนนิ่ง ก็จะกลายเป็นพื้นที่ควบคุมที่ทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจวัดแอลกฮอล์แบบกระจายทั่วทุกตำแหน่ง แต่หากจัดเป็นโซนนิ่ง ก็จะปรับให้พื้นที่อื่นไปเข้มงวดเรื่องการเปิดสถานบริการ เพราะจะไม่สามารถเปิดนอกโซนนิ่งได้ แต่สถานบริการในโซนนิ่ง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะตั้งด่านตรวจได้ง่ายขึ้น โดยอิงจากพื้นที่โซนนิ่ง และนี่เองที่จะทำให้ ‘ขาเที่ยว’ เกิดความ ‘กลัว’ จนไม่กล้าขับขี่รถมาเอง ย่อมทำให้การเกิดอุบัติเหตุจากการ ‘เมาแล้วขับ’ ลดลงอย่างแน่นอน
‘ปิดผับตี 4’ จะป้องกัน ‘เมาแล้วตี’ ได้อย่างไร?
นายกสมาคมผู้ประกอบธุรกิจถนนข้าวสาร ยอมรับว่า ‘เมาแล้วตีกัน’ อาจจะเกิดขึ้นได้บ้าง ดังนั้น ตัวผู้ประกอบการเองต้องมีมาตรการกับนักดื่ม เช่น หากพบว่า ‘นักดื่ม’ เมามากแล้ว ก็ยุติการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกฮอล์ให้กับบุคคลนั้น เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องตรวจการพกพา ‘อาวุธ’ อย่างเข้มงวด เพื่อลดความรุนแรงในการทะเลาะวิวาท เท่ากับว่า การจัดโซนนิ่งก็จะช่วยปัญหาสังคมได้อีกด้วย
ไม่ต่างจาก ‘ชาดา ไทยเศรษฐ์’ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ที่ย้ำว่า การเปิดสถานบันเทิงจนถึงตี 4 ไม่ใช่เรื่องอาชญากรรม แต่เป็นเรื่อง ‘การท่องเที่ยว’ เพราะหลายหลายประเทศก็เปิดเช่นนี้ จึงเป็นคนละเรื่องกับความมั่นคง ซึ่งมาตรการความปลอดภัย ก็เชื่อว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมดูแลตลอดเวลาอยู่แล้ว
คงต้องลุ้นกันว่า ปีใหม่นี้ บ้านเรายังสามารถเปิดผับได้จนถึงตี 4 หรือไม่ เพราะแม้ว่า ภาครัฐจะออกมาขานรับกันแล้ว แต่สิ่งที่ยังไม่เห็นชัดเจน คือ มาตรการต่างๆ ทั้งการป้องกันอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาทและความปลอดภัย เพราะเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างรัดกุม