ยกเลิก ‘เกณฑ์ทหาร’ สะเทือน นศท. ห่วงโซ่ ‘กำลังพลสำรอง’

15 ม.ค. 2567 - 07:15

  • นโยบายยกเลิก ‘เกณฑ์ทหาร’ สะเทือนถึง ‘นักศึกษาวิชาทหาร’ ภายใต้ห่วงโซ่ ‘ระบบกำลังพลสำรอง’ หากเป็นระบบ ‘สมัครใจเกณฑ์ทหาร’ ทั้งหมด จะส่งผลต่อ นศท. อย่างไร?

  • เปิดตัวเลข นศท. มากกว่า 3.1 แสนนาย กับ ‘ฐานเสียงใหม่’ ทางการเมือง เพื่อลดภาพทหาร 'กองทัพ' ปรับเข้าหา ‘คนรุ่นใหม่' กองทัพปรับตัวอย่างไร?

Conscript-Reserve-Officer-Training-Cops-Student-SPACEBAR-Hero.jpg

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา หลักสูตร ‘นักศึกษาวิชาทหาร - นศท.’ หรือเดิมคือ ‘รักษาดินแดน - รด.’ ถูกยกเครื่องใหญ่ นับตั้งแต่การเกิดขึ้นของ ‘ขั้วอนาคตใหม่’ ที่มาควบคู่กระแสธารของ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่ตื่นตัวทางการเมืองในมิติต่างๆ 

หนึ่งในนั้นคือแนวคิดการ ‘ปฏิรูปกองทัพ’ ที่ถูกปลุกขึ้นมา สำหรับสิ่งที่ใกล้ตัว ‘คนรุ่นใหม่’ ที่สุดคือการ ‘เกณฑ์ทหาร’ นั่นเอง กลายเป็นช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การหาเสียงของ ‘พรรคการเมือง’ ต้องมาพูดถึงการ ‘เกณฑ์ทหาร’ มากขึ้น โดยเฉพาะกับ ‘ขั้วพรรคอนาคตใหม่-ก้าวไกล’ ที่มี ‘ฐานเสียง’ เป็นคนรุ่นใหม่

แต่นโยบายดังกล่าวก็ขยายมายัง ‘ขั้วเพื่อไทย’ ที่ก็ต้องสู้กับ ‘พรรคก้าวไกล’ อีกทั้ง ‘เพื่อไทย’ ก็ต้องแสดงแสนยานุภาพว่า ไม่ได้ยอม ‘กองทัพ’ ไปเสียทุกเรื่อง เพราะมี ‘ประวัติศาสตร์บาดแผล’ กับกองทัพมาตั้งแต่ในอดีต แม้จะตั้ง ‘รัฐบาลข้ามขั้ว’ กับพรรคฝั่ง ‘อนุรักษ์นิยม’

แต่ ‘เพื่อไทย’ ก็พยายามจะ ‘ปรับเปลี่ยนกองทัพ’ เท่าที่จะทำได้ หนึ่งในนั้นคือเรื่องการ ‘เกณฑ์ทหาร’ เพราะก็เป็น ‘ฐานเสียง’ ของ ‘เพื่อไทย’ เช่นกัน

แม้ไม่ใช่มิติ ‘คนรุ่นใหม่’ เหมือนกับพรรคก้าวไกล แต่เป็นใน ‘มิติลูกหลานชาวบ้าน’ ที่เข้าสู่รั้วทหารเกณฑ์ จะได้รับสิทธิอย่างไรบ้าง เช่น เงินเดือนที่ห้ามมีการหัก , ได้รับวุฒิวิชาชีพ , ความเป็นอยู่ที่ดี , ไม่ให้มีการทำร้ายร่างกาย ได้โควต้าเรียน ร.ร.นายสิบ เพื่อสมัครเป็นข้าราชการ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเป็นลักษณะ ‘ปากต่อปาก’ ในการบอกต่อ อีกทั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร ของกลาโหม ก็มีข้อเสนอให้ ‘ทหารเกณฑ์’ มีสิทธิได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ด้วย

ซึ่ง ‘สุทิน คลังแสง’รมว.กลาโหม ก็มีแนวทางเดียวกับ ‘กองทัพ’ ในการเปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารมาเป็น ‘สมัครใจ’ ทั้งหมด โดยตั้งเป้าปี 2570 ทำให้ ‘กลาโหม-เหล่าทัพ’ ยุค ‘สุทิน’ โหมโรงหนักในการรับสมัครทหารเกณฑ์ แต่มีการประเมินว่าโอกาสที่จะเข้าเป้า 100% ยังเป็นไปได้ยาก

จึงเกิดคำถามว่า ‘เกณฑ์ทหาร’ ลดลง จะทำให้คนมาเรียน นศท. มากขึ้นหรือลดลง โดยฝ่ายความมั่นคงประเมินว่า หากระบบสมัครใจมีอัตราที่เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้คนมาเรียน นศท. น้อยลง เพราะต้องยอมรับว่า ‘เหตุผล’ หลักที่ ‘ชายไทย’ ช่วง ม.ปลาย มาเรียน นศท. เพราะไม่ต้องการ ‘เกณฑ์ทหาร’ แต่ชายไทยทุกคนต้องอยู่ใน ‘ระบบกำลังพลสำรอง’ ตาม พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง ปี 2558 ทำให้เกิดข้อกังวลในอนาคตว่าจะส่งผลต่อ ‘ห่วงโซ่กำลังพลสำรอง’ หรือไม่

ฝ่ายความมั่นคงมองว่า นศท. คือพื้นฐานของ ‘ระบบกำลังสำรอง’ หากไม่มี นศท. จะทำให้ไม่มีพื้นฐานหากเกิดสถานการณ์ต่างๆในอนาคต โดย ‘กำลังพลสำรอง’ หลักๆ คือ ผู้สำเร็จการ นศท. ชั้นปี 3 และ 5 และพลทหารกองประจำการที่รับราชการครบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมีอายุ 18-35 ปี

ทั้งนี้ฝ่ายความมั่นคง ประเมินว่าการใช้ระบบสมัครใจในขณะนี้ยังน้อย เพราะได้เพียง 40 % จากยอดความต้องการทั้งหมด ถ้าไม่เพิ่มสวัสดิการหรือสิทธิต่างๆ ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณในการอุดหนุนเพิ่มอีก ดังนั้นการ ‘ยกเลิกเกณฑ์ทหาร’ จึงเป็นเรื่องที่พูดง่าย แต่เมื่อจะทำจริงกลับไม่ง่าย

สำหรับ ทบ. หน่วยกำลังรบใหญ่ที่สุด รู้ถึงชะตากรรมนี้ดี จึงต้องเดิน 2 สาย ระหว่างสาย ‘เกณฑ์ทหาร’ กับ นศท. ในส่วนของ นศท. เรียกว่าขยับใหญ่ในยุคที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เป็น ผบ.ทบ. ที่เกิดขึ้นหลังขั้วพรรคอนาคตใหม่ชนะการเลือกตั้งปี 62 เริ่มจากการที่ พล.อ.อภิรัชต์ สั่งปรับระเบียบ-ภาพลักษณ์ นศท. ใหม่ เพื่อลดภาพความเป็นทหารลง เช่น การให้ นศท. ไว้ผมรองทรงได้ ไม่ต้องขาวสามด้าน , การปรับหลักสูตรใหม่ โดยกาปรับลด ‘วิชาทหาร’ และเพิ่ม ‘วิชาทั่วไป’ เข้ามา เนื้อหาทางด้านประวัติศาสตร์ สถาบันพระมหากษัตริย์ บทบาททหารกับความมั่นคง ที่สำคัญคือการฝึกทำกิจกรรมช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการปฐมพยาบาล บรรเทาสาธารณภัย ที่เน้นหนักมากขึ้น เพราะเกิดกรณีที่ นศท. ช่วยเหลือประชาชนตามสื่อต่างๆ มากขึ้น 

จากยุค พล.อ.อภิรัชต์ เรื่อยมาถึงยุค พล.อ.ณรงค์พันธุ์ จิตต์แก้วแท้ ขณะเป็น ผบ.ทบ. อยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด ทำให้การฝึกต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยน โดยการฝึกภาคสนามจะเป็นฝึกแบบแบบไป-กลับ เป็นต้น มาถึงยุค พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ผบ.ทบ. คนปัจจุบัน ในสถานการณ์ยุคหลังโควิด ได้ให้นโยบายการเรียน นศท. จะต้องสนุก เพื่อสร้างแรงจูงใจ และหวังให้ นศท. ได้รับประโยชน์จากการเรียน ไม่ใช่เพียงเหตุผลไม่ต้องการเกณฑ์ทหารเท่านั้น

สำหรับ นศท. ชั้นปี 1-5 ปี ทั่วประเทศ มีจำนวน 316,000 นาย สำหรับช่วงอายุ 16-18 ชั้นปี 1-3 ‘คนรุ่นใหม่’ ยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ส่วนชั้นปี 4-5 อายุ 18-20 ปี มีสิทธิเลือกตั้งแล้ว ทั้งหมดนี้เป็น ‘ฐานเสียงใหม่’ ของแต่ละพรรคการเมืองในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งในปัจจุบันแต่พรรคยังพุ่งเป้าไปที่ ‘ทหารเกณฑ์’ เป็นหลัก เพราะเป็น ‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ แล้ว

ส่วน นศท. ยังไม่มีพรรคใดเจาะลงมาถึงมากนัก ทั้งที่มีกำลังกว่า 316,000 นาย จึงต้องจับตาดูว่า ‘พรรคการเมือง’ ใด จะเล็งเห็น ‘โอกาส’ นี้ ในการช่วงชิง ‘ฐานเสียงใหม่’ ดังกล่าว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์