เกมลึก ‘อนุรักษ์นิยม’ ศึกสามก๊ก ‘ก้าวไกล-เพื่อไทย’ หนังหน้าไฟ ‘กองทัพ’

27 ม.ค. 2567 - 09:33

  • เรียกว่าเป็น ‘เกมลึก’ ของ ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ ที่ใช้ ‘เพื่อไทย’ เป็น ‘หนังหน้าไฟ-ตัวประกัน’ ในทางการเมือง อีกทั้งยืมมือ ‘ก้าวไกล’ มาถ่วงดุลอำนาจ ไม่ให้ ‘เพื่อไทย’ ผยองเกินไป

  • กลายเป็น ‘ศึกสามก๊ก’ ที่มี ‘กองทัพ’ เป็นพื้นที่ ‘สงครามตัวแทน’ ที่เปรียบเป็น ‘ตัวแทน-หัวใจ’ ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม

  • ผ่าน 2 ปรากฏการณ์ ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ รีเทิร์นสภาฯ นั่ง กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพ ‘สุทิน’ ดึง ‘ก้าวไกล’ นั่ง ‘บอร์ดเรือดำน้ำ’ ที่เริ่มมีแรงต้าน

Conservative-Military-Move-Forward-Pheuthai-Party-Checks-Balances-SPACEBAR-Hero.jpg

เกมลึกเหนือชั้น ‘ฝ่ายอนุรักษ์นิยม’ ที่ให้ ‘ขั้วตรงข้าม’ ฟาดฟันและ ‘ถ่วงดุล’ กันเอง ระหว่าง ‘เพื่อไทย-ก้าวไกล’ แม้ว่าจะเป็น ‘รบ.ข้ามขั้ว’ ก็ตาม เพื่อสกัด ‘ก้าวไกล’ ไม่ให้เป็น ‘นายกฯ-รัฐบาล’ แต่ในขั้ว ‘เพื่อไทย-อนุรักษ์นิยม’ ก็อยู่กันเอง ‘ไว้เชิง-ตั้งท่า’ ไม่ได้ไว้ใจกันเสียหมด สถานะของ ‘เพื่อไทย-ตระกูลชินวัตร’ จึงยังเป็น ‘ตัวประกัน’ ของฝ่ายอนุรักษ์นิยม 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเห็นได้ชัด ผ่านการที่ ‘ขั้วก้าวไกล’ กระทุ้ง ‘กองทัพ’ หนักขึ้นเรื่อยๆ เพราะมองว่าเป็น ‘ตัวแทน-หัวใจ’ ของขั้วอนุรักษ์นิยม ในซีก ‘เพื่อไทย’ ก็ต้องเป็น ‘กันชน-วางสมดุล’ เพราะเป็น ‘รัฐบาล’ ที่ต้องทำงานร่วมกับ ‘กองทัพ’ และเคยมี ‘บทเรียน’ ในอดีตมาแล้ว 

เริ่มจากที่สภาฯ มีการตั้ง ‘กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจกองทัพไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานอื่นหรือย้ายไปอยู่หน่วยงานอื่น’ หรือที่เรียกว่า ‘กมธ.ถ่ายโอนธุรกิจกองทัพ’ ที่ซีกก้าวไกลแม้จะได้โควต้า 6 ที่นั่ง แต่ได้ส่ง ‘ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ’ เข้ามา ถือเป็นการกลับเข้าสภาฯ อีกครั้งของ ‘ธนาธร’ หลังเคยนั่ง กมธ.พิจารณางบปี 63 มาแล้ว 

สำหรับ กมธ. ทั้ง 25 คน เสียงส่วนใหญ่เกินครึ่งมาจาก ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ดังนั้นเสียงของ ‘พรรคก้าวไกล’ จึงไม่สามารถจะโหวตชนะได้ง่ายๆ แต่งานนี้ ‘บิ๊กกลาโหม’ ก็มองว่า “การส่งธนาธรมา เหมือนจะเอาให้ตาย” แต่ในซีกของ ‘กลาโหม’ ก็เตรียมพร้อม เพราะรู้ว่า ‘ก้าวไกล’ จะเดินเกมแบบใด หนึ่งในนั้นคือ ‘ก้าวไกล’ จะนำเรื่องในที่ประชุม กมธ. มา ‘ขยายผล’ ภายนอก 

ส่วนอีก 5 รายชื่อ โควต้า ‘ก้าวไกล’ ได้แก่ 3 สส.ก้าวไกล เบญจา แสงจันทร์ , เชตวัน เตือประโคน , จิรัฐฏ์ ทองสุวรรณ์ สายวิชาการ ได้แก่ ดร.กิตติพงษ์ ปิยะวรรณ จากภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี , รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ  

โดยการอภิปรายของ ‘ก้าวไกล’ ได้ตั้งแคมเปญว่า ‘เสนาพาณิชย์’ โดย ‘เบญจา’ ได้ชำแหละ ‘หม้อข้าวกองทัพ’ 5 แหล่งขุมทรัพย์  

1)ที่ดินราชพัสดุ สวัสดิการเชิงพาณิชย์ เช่น สนามกอล์ฟ 74 แห่ง , โรงแรม 50 แห่ง , ปั้มน้ำมัน 150 แห่ง 

2)บอร์ดรัฐวิสาหกิจ โดยปี 62 พบว่าทหารนั่งบอร์ดฯ 51 คน 27 รัฐวิสาหกิจ 

3)งบประมาณกลาโหม ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ช่วง 1.8 แสนล้าน ถึง 2.3 แสนล้าน 

4)คลื่นวิทยุและโทรทัศน์ของกองทัพ มีคลื่นวิทยุ 205 คลื่นความถี่ ที่มีรายได้จากค่าเช่าคลื่น , คลื่นโทรทัศน์ 14 ช่อง รายได้จากค่าบริการโครงข่าย (MUX) 

5)ธุรกิจพลังงาน 3 แหล่ง ได้แก่ กรมการพลังงานทหาร ที่ทำการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม , กองทัพเรือที่ขายไฟฟ้าให้ประชาชน อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี , กองทัพบกทำโซล่าฟาร์มบนที่ดินราชพัสดุ ที่ ทบ. ดูแลพื้นที่ 

ที่ผ่านมาพบปัญหาของ ‘เงินนอกงบประมาณ’ หรือ ‘ธุรกิจกองทัพ’ ที่แม้ ‘กองทัพ’ จะระบุว่ามี ‘สำนักงานตรวจสอบภายในทหาร’ ของแต่ละเหล่าทัพ แต่ก็ถูกมองว่า ‘ลูบหน้าปะจมูก’ เพราะเป็นการ ‘ตรวจสอบกันเอง’ ทำให้ไม่เกิด ‘ความน่าเชื่อถือ’ และเกิด ‘ข้อกังขา’ ต่างๆ 

จึงต้องจับตา กมธ. ชุดดังกล่าวที่ ‘ตีกรอบเวลา’ ทำงาน 90 วัน โดยในซีกโควต้า ‘ครม.-เพื่อไทย’ ได้ส่งอดีต ‘ดาวสภาฯ-มืออภิปราย’ มาคือ ‘จิรายุ ห่วงทรัพย์’ ที่เป็น ‘โฆษกกลาโหม’ ฝ่ายการเมือง ให้กับ ‘สุทิน คลังแสง’รมว.กลาโหม เพราะ ‘ทหาร’ เป็น ขรก.ประจำ มีระเบียบ ‘วินัยทหาร’ ทำให้จะตอบโต้ ‘ฝ่ายการเมือง’ ได้ยาก ‘สุทิน’ จึงดึง ‘จิรายุ’ มาใช้งาน 

นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของ ‘โครงการเรือดำน้ำ’ ภายหลัง ‘สุทิน’ เตรียมตั้ง ‘คณะกรรมการศึกษาเรือดำน้ำ’ หรือ ‘บอร์ดเรือดำน้ำ’ เพื่อทำข้อมูลสุดท้าย ก่อนส่งให้ ครม. มีมติ หลัง ‘อัยการสูงสุด’ ระบุว่าอำนาจในการ ‘แก้สัญญา-ต่อสัญญา’ อยู่ที่ ครม.  

ที่ฮือฮาคือ ‘สุทิน’ ได้ทาบทาม ‘ขั้วก้าวไกล’ มาร่วม ได้แก่ ‘พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์’ ที่ติดตามโครงการเรือดำน้ำมาตั้งแต่ต้น ในยุค ‘บิ๊กลือ’พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร. ที่เริ่มโครงการ เคยไปร่วมฟัง ทร. แถลงข่าวหลายครั้ง  

และ ‘เสธ.โหน่ง’พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตรองเลขาธิการ สมช. ที่ทำหน้าที่เชื่อมประสานกองทัพ ในอดีต ‘เสธ.โหน่ง’ คือผู้ประสานให้ ‘ธนาธร’ กับ ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ได้ ว.5 พบปะพูดคุยกับ ‘บิ๊กแดง’พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทบ.  

นอกจากนี้ ‘สุทิน’ ยังได้ทายทาม ‘โจ้-ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร’ อดีต สส.เพื่อไทย ที่เคยอภิปราย ‘เรือดำน้ำ’ ชนิดรายสัปดาห์ทั้งในและนอกสภาฯ ในยุคที่ ‘เพื่อไทย’ เป็นฝ่ายค้าน มาอยู่ในบอร์ดเรือดำน้ำด้วย 

ทว่ากลับมี ‘เสียงแย้ง’ ขึ้นมา ที่ไม่เห็นด้วยกับการนำ ‘สส.-นักการเมือง’ มานั่งใน ‘บอร์ดเรือดำน้ำ’ เพราะ ‘นักการเมือง’ เข้ามาแล้วก็ออกไป ไม่ต้อง ‘รับผิดชอบ’ เหมือนกับ ‘ข้าราชการประจำ’ ที่ต้องขับเคลื่อนโครงการ จึงมีการย้ำว่าควรมีแต่ ‘หน่วยงาน’ ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เช่น อัยการสูงสุด , กฤษฎีกา ‘ กองทัพเรือ , สำนักงบประมาณ เป็นต้น ในแง่หนึ่งก็เป็นเหมือนกันสกัดกั้นไม่ให้ ‘ฝ่ายการเมือง’ เข้ามายุ่ง 

ที่สำคัญในขณะนี้เริ่มมี ‘ความเคลื่อนไหว’ ของ ‘บริษัทขายอาวุธต่างชาติ’ มากขึ้น ปัญหาที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเกี่ยวกับการ ‘จัดหายุทโธปกรณ์’ คือ ‘ฝ่ายการเมือง’ แทรกแซง ‘กองทัพ’ ในการจัดหา 

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ต้องปรับกระบวนการที่ถูกมองว่า ‘แทรกแซง’ เป็นการ ‘ตรวจสอบ’ แทน ในฐานะตัวแทนประชาชน เพื่อให้ ‘กองทัพ’ ได้ยุทโธปกรณ์ที่มี ‘ประสิทธิภาพ’ และคุ้มค่างบประมาณ อีกทั้งตอบโจทย์การ ‘วางสมดุล’ กับ ‘ประเทศมหาอำนาจ’ ด้วย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์