จับตาตุลาอาถรรพ์ (EP.2) 17 ตุลา วันราหูย้าย 3 ภารกิจหลัก ผบ.ทบ. “บิ๊กต่อ” เจริญชัย หินเธาว์

5 ต.ค. 2566 - 00:16

  • 3 ภารกิจหลัก “บิ๊กต่อ” พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ วางทายาท จัดทัพ ขยับกำลัง

บิ๊กต่อ, พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์

ร้อนแรงและหนักหน่วงจริงๆ สำหรับอาถรรพ์เดือนตุลาคม เพราะแค่เริ่มต้นได้เพียง 3 วัน ก็ประเดิมด้วยเหตุใหญ่เขย่าขวัญสังคมไทย เมื่อเกิดเหตุมือปืนวัยรุ่นอายุเพียง 14 ปี พกปืนเข้ามาไล่ยิงนักท่องเที่ยวกลางห้างหรู เสียชีวิตไป 2 ราย บาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง

ต้นเหตุล่าสุดยังสรุปไม่ได้ เพราะเด็กยังไม่พร้อมให้ปากคำ และกฏหมายก็คุ้มครองเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี

กราดยิง, พารากอน, กราดยิงพารากอน, Paragon, Siam Paragon, Shooting, เยาวชน, 14 ปี, 3 ตุลาคม, 2566
Photo: บริเวณทางเข้าห้างสยามพารากอน วันเกิดเหตุ 3 ตุลาคม 2566

เรื่องนี้ต้องแยกแยะระหว่าง ‘อารมณ์’ กับ ‘กฎหมาย’

สังคมอาจเรียกร้องให้ใช้มาตรการตามกฎหมายปกติกับเด็กที่ก่อเหตุ บางกลุ่มพุ่งเป้าไปที่ครอบครัวของเด็ก

แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย

กฎหมายเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อปกป้องและคุ้มครองคนส่วนใหญ่

กฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน วัตถุประสงค์เพื่อปกป้องคุ้มครองเด็กทั้งหมดของประเทศ

เมื่ออารมณ์เย็นลง ก็ปล่อยให้มาตรการทางกฎหมาย และมาตรการที่ถูกออกแบบมาเพื่อดำเนินการกับเด็กและเยาวชน ดำเนินการไปตามรูปแบบและขั้นตอนที่ควรจะเป็นเถอะ

อย่ากดดันตำรวจ หรือใช้มาตรการทางสังคมกดดันครอบครัวของเด็กเลยครับ

เหตุที่เกิดขึ้นกลางเมืองหลวง ในห้างหรูของประเทศ นับจากนี้คงมีการพูดคุย เตรียมออกมาตการป้องกันเฉพาะหน้ากันออกมาอีก

ส่วนมาตรการระยะยาวที่จะไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทั้งการครอบครองอาวุธปืน เครื่องกระสุน และมาตรการทางสังคมที่จะดูแลเด็กและครอบครัว

มาตรการที่จะเข้าไปดูแลสังคมออนไลน์ที่เต็มไปด้วยประโยชน์และโทษ โดยขาดการควบคุมและจำกัดความพอดีของการเข้าถึงข้อมูล คงยากที่จะคาดหวังว่า จะมีมาตรการที่ชัดเจนออกมาอย่างไร

รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ทั้งรัฐมนตรีมหาดไทย รัฐมนตรีไอซีที รัฐมนตรีศึกษาฯ หรือแม้กระทั่งรัฐมนตรีพัฒนาการสังคมฯ ทั้งหลาย ทั้งปวง ท่านก็ยังเอาตัวไม่รอดจากคลื่นสังคมออนไลน์ ที่โหมกระหน่ำเข้าใส่ทุกวัน

กราดยิง, พารากอน, กราดยิงพารากอน, Paragon, Siam Paragon, Shooting, เยาวชน, 14 ปี, 3 ตุลาคม, 2566, ชาดา ไทยเศรษฐ์
Photo: ชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ถูกวิพากษ์วิจารณ์หลังมาที่เกิดเหตุและร่วมกับตำรวจสอบปากคำผู้ร้าย

วันนี้ทำได้ก็แค่คาดหวังว่า เราจะเพิ่มพื้นที่การให้ความรู้ การสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ และโทษของคลื่นข้อมูล คลื่นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ที่ถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรงในสังคมไทยได้อย่างไร

ข้อมูลเมื่อปี 2564 ประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 69.5% เมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ

เป็นสัดส่วนที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต 59.5% จากการสำรวจของ We Are Social ผ่านรายงาน Digital 2021 Global Overview Report

นอกจากนี้ คนไทยใช้เวลาบนโลกอินเทอร์เน็ตวันละมากถึง 8.44 ชั่วโมง ถือว่าสูงติดอันดับ Top10 ของโลก ขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ 6.54 ชั่วโมงต่อวัน

เวลาบนอินเทอร์เน็ตของคนไทย แบ่งเป็นใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือ 5.07 ชั่วโมง/วัน และใช้งานบนคอมพิวเตอร์ 3.38 ชั่วโมง/วัน

ข้อมูลนี้ด้านหนึ่งสำคัญอย่างยิ่ง…

สำคัญต่อการเติบโตทางธุรกิจ สำคัญต่อการเติบโตทางการศึกษา สำคัญต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวเลขการเติบโตเช่นนี้ เรามีมาตรการทางสังคม และมาตรการภาครัฐที่เข้มงวดและแข็งแรงแค่ไหน เมื่อเทียบการเติบโตของการใช้งานที่มีอัตราการขยายตัวสูงขึ้นทุกวัน

ด้านหนึ่ง อาชญากรรมไซเบอร์ที่นับวันจะยิ่งขยายตัวมากขึ้น เรามีมาตรการเพียงพอหรือยังที่จะรับมือ มากกว่าการวิ่งไล่ตามอาชญากรที่พัฒนาล้ำหน้าเจ้าหน้าที่รัฐออกไปทุกวัน

ภัยไซเบอร์ที่ขยายตัวมาพร้อมกับนวัตกรรม และความล้ำหน้าหน้าด้านเทคโนโลยี ที่กำลังรุกล้ำและโจมตีสังคมไทยมากขึ้น

ทั้งหมดเป็นการบ้านข้อใหญ่ของผู้ที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งหาแนวทางและมาตรการทางสังคมที่ควบคู่กับการเติบโตบนโลกดิจิทัล ก่อนจะสายเกินกว่าจะกู้กลับ

นี่คือเหตุร้อนแรงแรกรับอาถรรพ์เดือนตุลาฯ ที่ทางโหราศาสตร์บอกว่า 17 ตุลาคม จะเป็นวันราหูย้ายครั้งใหญ่

กว่าจะถึงวันที่ 17 ตุลาคม ยังไม่รู้ว่าจะยังมีเหตุใหญ่มากกว่านี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่

แต่ความเคลื่อนไหวหลายอย่างที่เกิดขึ้นต่อเนื่องก่อนหน้านี้ ยังเป็นคลื่นใต้น้ำลูกใหญ่ที่ต้องจับตามองอย่างยิ่ง

วันที่ 14 ตุลาคม ที่จะถึงอีกครั้งในปีนี้ จะเป็นงาน ครบรอบ 50 ปี 14 ตุลา 2516 งานกึ่งทศวรรษ 14 ตุลาฯ ปีนี้อาจมีการจัดงานใหญ่ เพราะเริ่มมีการสื่อสารกันในแวดวงคนเดือนตุลาฯ ว่า ถึงเวลาที่จะทบทวนแนวคิดของคนเดือนตุลาฯ ที่เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อนหรือไม่

ถึงเวลาสังคายนาบทเรียนของเดือนตุลา 16 หรือยังว่า เมื่อเดินทางมาถึง 50 ปี ความเคลื่อนไหวเมื่อ 50 ปีก่อน ท้ายที่สุด ล้มเหลว สำเร็จ หรือควรเดินหน้าต่ออย่างไร

ความเคลื่อนไหวรอบนี้คนเดือนตุลาฯ ตัวจริงที่เคยเคลื่อนไหวอยู่เบื้องหลัง คนเดือนตุลาฯ ตัวจริงที่มีความเชี่ยวชาญยิ่งด้านงานมวลชน และปัจจุบันยังเคลื่อนไหวในแวดวงนักกิจกรรมอาจออกมาปรากฏตัว และเป็นแกนนำหลักในการจัดงานครั้งนี้

การเคลื่อนตัวของนักกิจกรรมที่กำลังจะผนึกกำลังครั้งใหญ่รอบนี้ จึงน่าจับตามองยิ่ง จับตาว่า จะเคลื่อนตัวไปหลอมรวมกันในทิศทางไหน

การสังคายนา 50 ปี 14 ตุลา จะมีบทสรุปออกมาอย่างไร ล้วนแต่น่าจับตามองอย่างใจจดจ่อเช่นกัน

แต่ก่อนจะถึงวันนั้น อีกความเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองเช่นกัน เป็นความเคลื่อนไหวของอีก “บิ๊กต่อ” พลเอกเจริญชัย หินเธาว์ ที่วันนี้เป็นผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่เต็มตัว

พลเอกเจริญชัย หรือ “บิ๊กต่อ” เป็นผบ.ทบ.ที่นิ่ง สุขุม แต่เด็ดขาด

เวลาที่มีเพียงปีเดียวบนตำแหน่ง กับภารกิจที่ใหญ่หลวง ในห้วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนผ่านทางการเมือง ทำให้พลเอกเจริญชัยจำต้องเร่งรีบในการปรับโครงสร้างกองทัพ และเร่งรีบในการจัดการปัญหาภายใน และเร่งรีบในการจัดการปัญหาเฉพาะหน้าให้แล้วเสร็จในเวลาที่มีอยู่

บิ๊กต่อ, พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์
Photo: “บิ๊กต่อ” พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์

ที่สำคัญคือ จะต้องจัดวางกำลัง จัดทัพ และเริ่มวางตัวผู้สืบต่อตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนใหม่ที่เหมาะสม เพื่อสานต่อภารกิจ และเสริมสร้างความมั่นใจในสถานการณ์แหลมคมยิ่งในเวลานี้

การแบ่งงาน และมอบหมายงานให้กับผู้ช่วย ผบ.ทบ. เสนาธิการทหารบก และรองเสนาธิการทหารบกเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการจัดวาง และการใช้คนให้เหมาะกับงาน และเริ่มมองเห็นเค้าลางของว่าที่ผบ.ทบ.คนต่อไป

พลเอกเจริญชัยลงนามในฐานะ ผบ.ทบ. ฉบับแรก เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 เรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของ ผช.ผบ.ทบ.,เสธ ทบ. และรองเสธ ทบ.

โดยมอบให้...

  • “บิ๊กหยอย” พลเอกอุกฤษฏ์ บุญตานนท์ ตท.24 ผช.ผบ.ทบ. (1) รับผิดชอบงานในสายงานกำลังพล
  • “บิ๊กหนุ่ย” พลเอกธราพงษ์ มาละคำ ตท.24 ผช.ผบ.ทบ. (2) รับผิดชอบงานสายงานส่งกำลังบำรุง
  • “บิ๊กปู” พลเอกพนา แคล้วปลอดทุกข์ ตท.26 เสธ ทบ. รับผิดชอบสายงานข่าวและกิจการต่างประเทศ สายงานยุทธการ การฝึกและศึกษาทางทหาร สายงานกิจการพลเรือน และสายงานปลัดบัญชี
บิ๊กหยอย, พลเอกอุกฤษฏ์ บุญตานนท์
Photo: “บิ๊กหยอย” พลเอกอุกฤษฏ์ บุญตานนท์
บิ๊กหนุ่ย, พลเอกธราพงษ์ มาละคำ
Photo: “บิ๊กหนุ่ย” พลเอกธราพงษ์ มาละคำ
บิ๊กปู, พลเอกพนา แคล้วปลอดทุกข์
Photo: “บิ๊กปู” พลเอกพนา แคล้วปลอดทุกข์

ส่วนรองเสธ ทบ. มอบพลโทธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ตท.7 รองเสธ ทบ.(1) รับผิดชอบสายงานกำลังพล

  • พลโทดิเรก บงการ ตท.26 รองเสธ ทบ. (2) รับผิดชอบสายงานข่าวและกิจการต่างประเทศ
  • พลโทธงชัย รอดย้อย ตท.25 รองเสธ ทบ. (3) รับผิดชอบสายงานยุทธการ
  • พลโทบรรยง ทองนวม ตท.27 รองเสธ ทบ.(4) รับผิดชอบงานสายส่งกำลังบำรุง
  • พลโทนุกูล โล่ห์ประเสริฐ ตท.25 รองเสธ ทบ. (5) รับผิดชอบสายงานกิจการพลเรือน

การจัด ผช.ผบ.ทบ., เสธ ทบ. และรองเสธ ทบ. ครั้งนี้ ทำให้ต้องจับตาว่า พลเอกเจริญชัยให้น้ำหนักลงไปที่ใคร สำหรับสายงานสำคัญที่มอบหมายให้ โดยเฉพาะเมื่อทั้ง 3 คนเป็นแคนดิเดตที่พร้อมจะขึ้นเป็น ผบ.ทบ. คนต่อไปด้วยกันทั้งสิ้น

อาจารย์ใหญ่จากอดีตเจ้ากรมยุทธการทหารบก พลเอกอุกฤษฏ์ ตท.24 ผช.ผบ.ทบ. (1) ที่มีอายุราชการถึงปี 2570 ได้รับมอบหมายให้ดูงานกำลังพล งานที่ต้องเกี่ยวข้องกับการจัดโครงสร้างและอัตรากำลังกองทัพ

งานที่ต้องรับผิดชอบด้านกำลังสำรองหรือการจัดหลักเกณฑ์ในการเกณฑ์ทหาร ที่ปีนี้จะต้องละเอียดรอบคอบ และมีแนวทางในการลดกำลังพล ผลการเกณฑ์ และการปรับเพิ่มปริมาณกำลังพลแบบสมัครใจเข้ารับราชการ ซึ่งต้องทำงานร่วมกับภาคการเมือง โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมที่มาจากพลเรือน

“บิ๊กหยอย” ได้รองเสธ ทบ. (1) พลโทธวัชชัย ตท. 27 ที่จะเกษียณอายุในปี 2572 มาเป็นทีมงาน ในการวางแผนปรับอัตรากำลังพลของทบ.ในรอบนี้

ส่วน “บิ๊กหนุ่ย” ผช.ผบ.ทบ. (2) ตท. 24 อีกคนหนึ่ง จะเกษียณอายุปี 2569 รอบนี้ได้รับมอบหมายสายงานส่งกำลังบำรุง สายงานสำคัญของกองทัพ ที่ครั้งหนึ่งพลเอกอภิรัชต์ คงสมพงศ์ ครั้งที่ดำรงตำแหน่งผช.ผบ.ทบ. ก็ได้รับมอบหมายจากพลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ในเวลานั้นให้รับผิดชอบสายงานนี้เช่นกัน

ขณะที่ “บิ๊กปู” เสธ ทบ. ตท.26 ที่จะเกษียณอายุปี 2570 ได้รับมอบหมายหลายสายงานหลัก ในฐานะเสธ ทบ. รวมถึงการดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กอ.รมน.ด้วย

ภารกิจของทั้ง 3 เสือทบ. ที่ล้วนแต่มีอายุราชการเหลือเพียงพอที่จะเป็นแคนดิเดตช่วงชิงตำแหน่ง ผบ.ทบ.คนต่อไป ทำให้ทุกสายตาจับจ้องไปยังการแบ่งงาน และการให้ความสำคัญว่า นับจากนี้ พลเอกเจริญชัย จะให้น้ำหนักและมอบหมายงานใครเป็นกรณีพิเศษหรือไม่

เพราะอาจเป็นการส่งสัญญาณการ “ส่งไม้ต่อ” เพื่อสานต่อภารกิจหลักๆ ของกองทัพ โดยเฉพาะพลเอกธราพงษ์ และพลเอกพนา ที่ดูมีโอกาสที่จะเป็นแคนดิเดตหลักมากกว่าพลเอกอุกฤษฏ์ ที่มีแนวโน้มจะเติบโตต่อเนื่องที่กระทรวงกลาโหมต่อจากพลเอกสนิธชนก สังขจันทร์ เพื่อนร่วมรุ่น ตท.24 ที่จะเกษียณอายุในปี 2568

หนึ่งปีนับจากนี้จึงเป็นปีที่จะต้องแข่งขัน และขับเคี่ยวกันระหว่างพลเอกธราพงษ์ และพลเอกพนา ว่าใครจะทำผลงานได้เข้าตา และมีคุณสมบัติเพียงพอต่อการขยับขึ้นดำรงตำแหน่งเบอร์หนึ่งของกองทัพบก

พลเอกธราพงษ์นั้นอาจได้เปรียบในตำแหน่ง ผช.ผบ.ทบ.ที่สามารถขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ได้เลย ขณะที่พลเอกพนา อาจต้องฝ่าอาถรรพ์ความเป็นเสธ ทบ.ที่ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.เลยทันที

เพราะที่ผ่านมามีเพียง “บิ๊กจิ๋ว” พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ อดีตผู้บัญชาการทหารบกเท่านั้น ที่ขยับจากตำแหน่งเสนาธิการทหารบกขึ้นเป็นผู้บัญชาการบกเลย

บิ๊กจิ๋ว, พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ
Photo: “บิ๊กจิ๋ว” พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ (Wikimedia Commons)

ขณะที่เสนาธิการทหารบกคนอื่น ล้วนไม่เคยได้รับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการทหารบกเลย

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังต้องขยับจากเสนาธิการทหารบก ขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการทหารบกก่อน ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ทำให้ต้องดูว่า หนึ่งปีนับจากนี้พลเอกพนา จะทำผลงานและสร้างความเชื่อมั่นให้ได้รับการยอมรับที่จะฝ่าอาถรรพ์ขยับขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ได้หรือไม่

ทั้งนี้ก็ต้องดูว่า พลเอกเจริญชัยจะมั่นใจในตัวพลเอกธราพงษ์ หรือพลเอกพนา

บิ๊กต่อ, พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์
Photo: “บิ๊กต่อ” พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ นำ 211 นายพลถวายสัตย์ฯ ปกป้องสถาบัน 2 ตุลาคม 2566

โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่กำลังจัดวางกำลัง ขยับตำแหน่งหลักในกองทัพ ที่มีการปรับย้ายนายทหารระดับผู้บังคับการกรมที่ผ่านมา แม้จะขยับกรมสำคัญไม่มากนัก แต่การปรับย้ายในรอบเมษาและตุลาหน้า เชื่อว่าจะเริ่มเห็นเด่นชัดว่า พลเอกเจริญชัยจะวางทายาท จัดทัพ และขยับกำลัง กองทัพบกไปในทิศทางไหน 
 
ตุลาฯ จะอาถรรพ์ยังไง กองทัพจะขยับไปทางไหน จะขยายผลมาให้เป็นระยะๆ ครับ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์