ใน EP แรก ผมมองถึงทางสองแพร่งของพรรคประชาธิปัตย์ ในแง่มุมของการเปิดกว้างยอมรับผู้สมัครที่เป็นผู้หญิง ว่าประชาธิปัตย์จะยอมเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ เพื่อบันทึกไว้ถึงก้าวย่างแรกของพรรคในประเด็นนี้หรือไม่
ซึ่งหากด่านแรก “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค ฝ่าด่านคุณสมบัติเข้ามาได้สำเร็จ และเข้ามาเป็นคู่ชิงกับ ตุ้ม-นราพัฒน์ แก้วทอง ทายาททางการเมืองของ ไพฑูรย์ แก้วทอง อดีต สส.จังหวัดพิจิตรและรัฐมนตรีหลายสมัย
ทำไมประชาธิปัตย์ยังต้องอยู่บนทางสองแพร่งอีก


ในเมื่อทั้งนราพัฒน์และมาดามเดียร์ต่างก็เป็นคนรุ่นใหม่ ต่างก็เป็นสมาชิกพรรค
นราพัฒน์ได้เปรียบมาดามเดียร์ด้วยซ้ำ ในแง่ของประสบการณ์ทางการเมือง ในแง่ของชื่อชั้น เพราะนราพัฒน์เพาะบ่มงานทางการเมืองมาตั้งแต่ยังเด็ก ด้วยความเป็นคนในตระกูลการเมือง การสนใจติดตามการทำงานของพ่อ และเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค เพื่อทำงานในทุกระดับ
ล่าสุด ก็ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ร่วมลุยงานของกระทรวงร่วมกับ “เลขาต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน มาตลอด 4 ปีเต็ม

ตำแหน่งล่าสุดในพรรคก็เป็นถึงรองหัวหน้าพรรคที่ดูแลพื้นที่ภาคเหนือ
งานการเมืองในพื้นที่ก็ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง สส.จังหวัดพิจิตรถึง 3 สมัย มีเพียงการเลือกตั้งในปี 2562 ที่นราพัฒน์ไม่ได้รับเลือกตั้ง เพราะลงสมัครแบบบัญชีรายชื่อ อยู่ในลำดับที่ 27 ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ สส.บัญชีรายชื่อเพียง 19 คน แต่ปี 2565 นราพัฒน์ก็มาได้เป็น สส.บัญชีรายชื่อแทน อภิชัย เตชะอุบล ที่ลาออก
การเลือกตั้งปี 2566 แม้นราพัฒน์จะมีรายชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับที่ 7 แต่ก็ไม่ได้เป็น สส. เนื่องจากประชาธิปัตย์ได้ สส.บัญชีรายชื่อเพียง 3 คนเท่านั้น คือ
- จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์
- ชวน หลีกภัย
- บัญญัติ บรรทัดฐาน
ขณะที่ข้อมูลส่วนตัว นราพัฒน์จบการศึกษาระดับปริญญาโท การบริหารธุรกิจจาก National University ประเทศสหรัฐอเมริกา
ประวัติส่วนตัว เส้นทางการเมือง ประสบการณ์ที่ล้วนเหนือกว่ามาดามเดียร์ แล้วทำไมเมื่อหยิบมาเทียบเคียงกับมาดามเดียร์ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ถึงยังต้องยืนอยู่บนทางสองแพร่ง
ทำไมเลือกคนใดคนหนึ่งไม่ได้
เลือกนราพัฒน์แล้วทำไม เลือกมาดามเดียร์แล้วทำไม
แน่ล่ะ ในทางการเมือง ด้วยฐานของนราพัฒน์ ด้วยการสนับสนุนเต็มตัวของเลขาต่อ ด้วยความเป็นลูกผู้ชายที่พูดคำไหนคำนั้น สัญญาอย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น และด้วยประสบการณ์ของนราพัฒน์
ด้วยเหตุทางการเมือง ไม่มีปัจจัยไหนเป็นด้านลบ ไม่มีปัจจัยไหนบอกว่า นราพัฒน์จะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้

ยิ่งเทียบเคียงกับรายชื่อว่าที่เลขาธิการพรรค ที่ระบุว่าน่าจะเป็น “นายกฯ ชาย” เดชอิศม์ ขาวทอง ที่มากด้วยบารมี มากด้วยสายสัมพันธ์ทางการเมือง และพร้อมเป็นฐานการเงินให้กับพรรคในการทำงานการเมือง
เมื่อเชื่อมต่อระหว่าง เฉลิมชัย ศรีอ่อน เดชอิศม์ ขาวทอง และนราพัฒน์ แก้วทอง แล้วเป็นจิ๊กซอว์ที่เรียกว่าสมบูรณ์แบบทางการเมืองที่สุด

แต่การเมืองในปี 2566 และกำลังจะเข้าสู่ปี 2567 ไม่ใช่การเมืองในรูปแบบที่เคยเป็นมาตลอด 77 ปีของพรรคประชาธิปัตย์
ผลการเลือกตั้งในปี 2562 และปี 2566 บอกว่าการเมืองในรูปแบบที่ประชาธิปัตย์เคยเผชิญมันเปลี่ยนไปแล้ว
พรรคประชาธิปัตย์อาจจะเคยยิ่งใหญ่ มีหัวหน้าพรรค 8 คน ใน 8 คนได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 คน คือ
- ควง อภัยวงศ์
- ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
- ชวน หลีกภัย
- อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
พรรคประชาธิปัตย์ อาจจะชนะการเลือกตั้งและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลมาแล้วถึง 3 ครั้ง ในปี 2491 ปี 2519 และปี 2539 รวมถึงเป็นพรรคการเมืองที่เคยได้รับเลือกตั้งมี สส.เกินร้อยมาถึง 6 ครั้ง คือ
- ปี 2519 จำนวน 114 ที่นั่ง
- ปี 2529 จำนวน 100 ที่นั่ง
- ปี 2539 จำนวน 123 ที่นั่ง
- ปี 2544 จำนวน 128 ที่นั่ง
- ปี 2550 จำนวน 165 ที่นั่ง
- ปี 2554 จำนวน 159 ที่นั่ง
พรรคประชาธิปัตย์ผ่านร้อนผ่านหนาว ด้วยการผ่านเหตุการณ์รัฐประหารมาแล้วถึง 11 ครั้ง เคยเป็นพรรคที่ยืนหยัดต่อสู้กับการรัฐประหาร ต่อสู้กับรัฐบาลเผด็จการทหารมาในหลายยุค
สมาชิกคนสำคัญหลายคนต้องหลบหนีออกนอกประเทศ หลังเหตุการณ์ปี 2519 เพราะถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่พรรคคอมมิวนิสต์
ชวน หลีกภัย เคยเขียนหนังสือ “เย็นลมป่า” บอกเล่าถึงประสบการณ์ในช่วงเวลานี้ได้อย่างชัดเจน

ทั้งหมดเป็นประวัติศาสตร์การต่อสู้ และชัยชนะของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีต
แต่นับจากการต่อสู้ทางการเมืองที่ดุเดือดตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา สงครามสีเสื้อที่ต่างฝ่ายต้องเลือกข้างและดำรงความขัดแย้งยาวนานเกือบ 20 ปี จนเกิดการรัฐประหารถึง 2 ครั้งในปี 2549 และปี 2557 พรรคประชาธิปัตย์แม้ในระยะต้นจะได้รับการเลือกตั้งสูงสุดในปี 2550 ถึง 165 ที่นั่ง และปี 2554 ถึง 159 ที่นั่ง
แต่เมื่อเกิดรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา การเลือกตั้ง 2 ครั้งหลังจากนั้น ทั้งปี 2562 ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับเลือกตั้งมาเพียง 53 ที่นั่ง และปี 2566 ที่ได้รับเลือกตั้งเพียง 25 ที่นั่ง และล่าสุดตกอยู่ในสภาพที่ขาดหัวหน้าพรรคมานับตั้งแต่จบการเลือกตั้ง บ่งบอกว่าอะไร
บ่งบอกว่า ศรัทธาของมวลชนที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์เดินมาถึงจุดเสื่อมถอยอย่างรุนแรง
บ่งบอกว่า ถึงเวลาที่ประชาธิปัตย์ต้อง คิดใหม่ ทำใหม่ แบบสิ้นเชิง
ทำไมชื่อของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ถึงขายไม่ได้
ทำไมชื่อของ ชวน หลีกภัย ถึงเริ่มไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือนเคย
แล้วทำไม นราพัฒน์ แก้วทอง ถึงยังไม่ใช่จุดเปลี่ยนของประชาธิปัตย์
นราพัฒน์ อาจประกาศนโยบายใหม่ที่น่าสนใจ
นราพัฒน์ อาจประกาศแนวคิดปฏิรูปประชาธิปัตย์ที่เป็นไปได้
นราพัฒน์ อาจชูธงการนำและสร้างคนรุ่นใหม่ให้กับพรรคประชาธิปัตย์ได้
แต่ถามว่า นราพัฒน์ ต่างจาก อภิสิทธิ์ ตรงไหน
นราพัฒน์ต่างสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ตรงไหน
แม้แต่ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ ถ้าวันนี้ไม่โดนกระแสเรื่องส่วนตัวโหมกระหน่ำ
ถึงปริญญ์ประกาศตัวลงสมัครหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
แต่ปริญญ์ก็ยังไม่ใช่ความใหม่ หากเทียบหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ทุกยุคที่ผ่านมา
ประชาธิปัตย์ในปีที่ 78 เป็นประชาธิปัตย์ที่ต้องการความใหม่ เป็นประชาธิปัตย์ที่ต้องกระตุกกระแสสังคมให้หันกลับมามอง
เป็นประชาธิปัตย์ที่ต้องเป็นสินค้าใหม่ วางบนชั้นวางสินค้าแล้วคนเดินผ่านต้องหันกลับมาให้ความสนใจ
เป็นประชาธิปัตย์ที่ต้องจุดกระแสสังคม เพื่อดึงประชาธิปัตย์ให้กลับมาอยู่ในสปอตไลท์อีกครั้ง
ทั้งหมด เป็นเหตุผลว่า ทำไมเมื่อเทียบเคียงระหว่างนราพัฒน์ และมาดามเดียร์แล้ว ประชาธิปัตย์ถึงต้องอยู่บนทางสองแพร่ง

แพร่งหนึ่งคือ เลือกที่จะใช้วิธีการต่อสู้แบบเก่าๆ มีหัวหน้าพรรคก่อน มีเลขาธิการพรรค เลือกเส้นทางการสร้างพรรค เลือกสายสัมพันธ์ยึดโยงโครงสร้างแบบคอนเซอร์เวทีฟ รอเวลาร่วมรัฐบาล แล้วสร้างพรรคด้วยฐานทางการเงิน และอำนาจ
หรือเลือกอีกแพร่งหนึ่ง
แพร่งที่ฉีกขนบความเป็นประชาธิปัตย์ เปิดโอกาสการสร้างพรรคใหม่แบบคนรุ่นใหม่ที่มีผู้อาวุโสคอยเป็นกำลังสนับสนุนในแง่ประสบการณ์ และฐานความคิดในบางเรื่อง เดินหน้าสร้างพรรคแบบหัวก้าวหน้า แต่คงไว้สำหรับประเด็นสำคัญที่ต้องอนุรักษ์
ระหว่างนราพัฒน์ และมาดามเดียร์ ถ้าเป็นแบรนด์สินค้า
เห็นชัดว่า เป็นสินค้าที่ต่างประเภท ขึ้นอยู่กับประชาธิปัตย์ต้องการแบบไหน
9 ธันวาคม รอชมทางสองแพร่งของประชาธิปัตย์ว่า ปีที่ 78 ประชาธิปัตย์จะเลือกเดินไปในทิศทางไหน