ปรากฏการณ์ “มาดามเดียร์” วทันยา บุนนาค ที่กระหึ่มโซเชียลในช่วงสัปดาห์สุดท้าย ก่อนถึงวันประชุมใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ ทั้งกระแสข่าวบนพื้นที่โซเชียลทุกแพลตฟอร์ม ทั้งผลการสำรวจของนิด้าโพลต่อความนิยมของคนไทยที่มีต่อพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งผลการค้นหาเมื่อลองกดเข้าไปในน Google Trends
แม้จะมีกระแสความนิยมมากกว่าว่าที่คู่แข่ง “พี่ตุ้ม” นราพัฒน์ แก้วทอง แบบทิ้งห่าง
นิด้าโพล ระบุถึงผลสำรวจบุคคลที่เหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนต่อไปพบว่า “มาดามเดียร์” ได้รับคะแนนนิยมถึงร้อยละ 27.10 ทิ้งห่างนราพัฒน์ที่ได้รับคะแนนนิยมเพียงร้อยละ 7.94 เท่านั้น

แม้ผลการสำรวจร้อยละ 28.32 ระบุว่า ไม่ทราบ ไม่ตอบ และไม่สนใจ
แต่ร้อยละ 27.10 ที่ระบุว่าเป็นมาดามเดียร์ก็นับว่าสูงมาก หากเป็นการสำรวจด้วยหลักวิชาการอย่างแท้จริง (อย่างแท้จริงนะครับ)
คนที่ได้รับความนิยมรองลงมาเป็น “เลขาฯ ต่อ” เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่ไม่ได้เปิดตัวว่าจะลงสมัครในครั้งนี้ มีคะแนนนิยมถึงร้อยละ 20.46
ส่วน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดูจะเป็นสินค้าที่ผ่านช่วงเวลาแห่งความรุ่งโรจน์ไปแล้วจริงๆ เมื่อได้คะแนนนิยมมาเพียงร้อยละ 9.39 เท่านั้น
ไม่พักต้องเอ่ยถึงคะแนนของ “ดร.เอ้” สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อีกหนึ่งดาวรุ่งของประชาธิปัตย์ที่มีคะแนนนิยมเพียงร้อยละ 0.76
ใน Google Trends เมื่อกดเข้าไปตรวจสอบการคำค้นที่เกี่ยวกับมาดามเดียร์ เปรียบเทียบกับคำค้นข้อมูลของนราพัฒน์ แก้วทอง, อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ, สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ และเฉลิมชัย ศรีอ่อน โดยค้นหาย้อนหลัง 7 วัน ยอดการค้นหามาดามเดียร์ใน Google Trends ก็ยังมีคำค้นสูงสุดเช่นกัน

ส่วนบนพื้นที่สื่อหลัก รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มาดามเดียร์ก็ยังยึดครองพื้นที่สื่อหลักมากกว่า และหลากหลายกว่านราพัฒน์ที่ยึดครองพื้นที่สื่อได้ไม่กี่สำนัก จากการเลือกให้สัมภาษณ์พิเศษสื่อบางสำนักเท่านั้น
หากพิเคราะห์เพียงข้อมูลแค่นี้ แน่นอนว่า มาดามเดียร์ควรจะครองความนิยมเหนือนราพัฒน์หลายช่วงตัว
หากเป็นการแข่งขันในสนามการเลือกตั้งทั่วไป ค่าความนิยมในตัวมาดามเดียร์คงเป็นลมส่งท้ายให้มาดามเดียร์เข้าเส้นชัยแบบทิ้งขาด
แต่การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ อาศัยอ้างอิงข้อมูลความนิยมบนโซเชียลมีเดีย หรือบนพื้นที่สื่อคงไม่พอที่จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

เพราะกติกาการโหวตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ต่างจากพรรคอื่นๆ เนื่องจากในข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อที่ 81 ระบุว่า
ผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคจะต้องมาจากตัวแทนของสมาชิกพรรค 19 กลุ่ม ที่ล่าสุดมีจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงทั้งสิ้น 351 คน
โดยเป็นตัวแทนจากสมาชิกพรรคที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรชุดปัจจุบัน 25 คน และตัวแทนจากสมาชิกพรรคกลุ่มที่ประกอบด้วย
- คณะกรรมการบริหารชุดรักษาการ
- อดีตหัวหน้าพรรค
- อดีตเลขาธิการพรรค
- รัฐมนตรี
- อดีตรัฐมนตรี
- อดีต สส.
- นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.)
- สมาชิก อบจ. (ส.อบจ.)
- สมาชิกพรรคจากต่างจังหวัดมีสาขาพรรค
- ตัวแทนประจำจังหวัด และอื่นๆ
แต่ในจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 351 คน เสียงข้างมากที่มีผลต่อการชนะเลือกตั้ง ไม่ใช่เป็นเสียงข้างมากของ 351 คน แต่ข้อบังคับพรรคประชาธิปัตย์ ข้อที่ 87 ระบุว่า คะแนนเสียงเลือกตั้งหัวหน้าพรรคให้สมาชิกพรรคที่เป็น สส. มีน้ำหนักในการโหวตถึงร้อยละ 70 ส่วนสมาชิกที่เป็นตัวแทนจากกลุ่มที่เหลืออีก 326 คน จะมีน้ำหนักเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น
นั่นหมายถึง 1 เสียงของ สส.ประชาธิปัตย์แต่ละคน จะมีค่าเท่ากับคนละร้อยละ 2.8 ขณะที่สมาชิกพรรคอีก 326 คน จะมีค่าเท่ากับคนละร้อยละ 0.092 เท่านั้น
นั่นหมายถึงใครควบคุมเสียงส่วนใหญ่ในจำนวน สส.ทั้ง 25 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ได้ ก็น่าจะมีโอกาสคว้าชัยชนะเหนือคู่แข่งได้ทันที
ที่ผ่านมามีการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งล่าสุดว่า ในจำนวน 25 สส.ประชาธิปัตย์นั้น มีสส.ถึง 21 คนที่อยู่ภายใต้การสนับสนุน หรือการผลักดันของเลขาฯต่อ ในนามกลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย
ส่วนที่เหลือ 4 คน คือ ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน, จุรินทร์ ลักษณ์วิศิษฏ์ และสรรเพชญ บุญญามณี สส. เขต 1 จังหวัดสงขลา บุตรชายของนายนิพนธ์ บุญญามณีเท่านั้นที่แยกออกมาอีกกลุ่ม

ซึ่งหมายถึงในจำนวน สส. 25 คน ที่มีน้ำหนักคะแนนร้อยละ 70 ทีมเลขาฯ ต่อมีคะแนนในมือในสัดส่วนเท่ากับ 2.8 X 21 หรือเท่ากับร้อยละ 58.8 ของสัดส่วนการคำนวณคะแนนทั้งหมด
ขณะที่กลุ่มของผู้อาวุโสกลุ่มคุณชวน มีน้ำหนักคะแนนที่ 2.8 X 4 หรือเท่ากับร้อยละ 11.2 เท่านั้น ทำให้แม้จะได้คะแนนร้อยละ 30 จากสมาชิกที่สิทธิ์ออกเสียงที่เหลือ ก็จะมีคะแนนรวมในสัดส่วนร้อยละ 41.2 เท่านั้น ไม่เพียงพอที่จะเอาชนะกลุ่มเพื่อนเฉลิมชัยได้
กระนั้นสูตรการวิเคราะห์ที่เอาคณะเพื่อนเฉลิมชัยจำนวน 21 เสียง และกลุ่มผู้อาวุโสในพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 4 เสียงเป็นตัวตั้ง เป็นสูตรกรณีที่มีการแข่งขันระหว่างตัวแทนกลุ่มเพื่อนต่อกับกลุ่มผู้อาวุโสพรรค
ซี่งครั้งนั้นคือ การแข่งขันระหว่างนราพัฒน์ แก้วทอง และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จนทำให้การประชุมใหญ่ประชาธิปัตย์ล่มมาแล้วถึง 2 ครั้ง เพราะคำนวณแล้วยังไงกลุ่มผู้อาวุโสพรรค ก็สู้กลุ่มเพื่อนต่อไม่ได้
แต่ครั้งนี้ เมื่อต้องต่อสู้กันเอง ระหว่าง นราพัฒน์ และ มาดามเดียร์ ซึ่งต่างใกล้ชิดกับเลขาฯ ต่อทั้งคู่ สูตรเดิมคงนำมาใช้วิเคราะห์ไม่ได้
เพราะวันนี้ หากแบ่งเป็นคู่ นราพัฒน์ แก้วทอง ลงสมัครเป็นหัวหน้าพรรค และมีรายชื่อ เดชอิศม์ ขาวทอง เป็นเลขาธิการพรรค และอีกคู่คือ วทันยา บุนนาค เป็นหัวหน้าพรรค และชัยชนะ เดชเดโช เป็นเลขาธิการพรรค

โมเมนตัมของสัดส่วนจากคะแนน 25 เสียงในสัดส่วน สส.พรรคอาจเปลี่ยน
เปลี่ยนเพราะอย่าลืมว่าแม้ นราพัฒน์ และ เดชดิศม์ จะมีเพื่อน สส.สนับสนุนจำนวนหนึ่ง แต่ มาดามเดียร์ และชัยชนะ จากนครศรีธรรมราชก็มีฐานคะแนนจากเพื่อน สส.ภายในพรรคเช่นกัน
เพราะอย่างน้อย 4 ใน 6 สส.ประชาธิปัตย์นครศรีธรรมราช คือ
- ชัยชนะ เดชเดโช
- พิทักษ์เดช เดชเดโช (น้องชาย)
- ทรงศักดิ์ มุสิกอง
- อวยพรศรี ชวลิต
ก็เป็นคะแนนของชัยชนะ เดชเดโช
ขณะที่ สส.สงขลา สรรเพชญ บุญญามณี บุตรชายของนิพนธ์ บุญญามณี ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพ่อมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมาดามเดียร์ค่อนข้างมาก
ยังไม่นับ ร่มธรรม ขำนุรักษ์ บุตรชาย นริศ ขำนุรักษ์ อดีตรมช.มหาดไทย ที่วันนี้ชัดเจนว่า ขอรอฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัครแต่ละคนก่อน
ไม่นับท่าทีของพล.ต.ต.สุรินทร์ ปาลาเร่ สส.เขต 8 จังหวัดสงขลา ที่ยังไม่แสดงออกชัด
ไม่นับ สส.คนรุ่นใหม่ คู่หูดูโอ้จากจังหวัดตรังทั้ง สุณัฐชา โล่สถาพรพิพิธ สส.เขต 3, กาญจน์ ตั้งใจปอง สส.เขต 4 ที่ยังไม่แสดงท่าทีเช่นกัน
ส่วนผู้อาวุโสในบัญชีรายชื่อทั้ง 3 คน ชวน, บัญญัติ, จุรินทร์ แน่นอนว่า ไม่หนุนสายเลขาฯ ต่อโดยตรงแน่ๆ
ซึ่งนั่นหมายถึง วันนี้หากเป็นการแข่งขันระหว่างนราพัฒน์และมาดามเดียร์ (ซึ่งทั้งคู่ดูคล้าย ทางสองแพร่งที่คนประชาธิปัตย์ต้องเลือก)
21 สส.กลุ่มเพื่อนเฉลิมชัย คะแนนแตกแน่นอน
และนั่นจะทำให้ 3 คะแนนของกลุ่มผู้อาวุโส หรือบวก 1 คือ สรรเพชญ เป็น 4 เหมือนเดิม จะมีฤทธิ์ขึ้นมาทันที และจะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ทั้งนราพัฒน์และมาดามเดียร์ จะต้องช่วงชิง 4 เสียงสายผู้อาวุโสมาเป็นเสียงสนับสนุนให้ได้ เพราะมีค่าถึงร้อยละ 11.2
นอกจากนั้นร้อยละ 11.2 ยังมีฤทธิ์พอที่จะสนับสนุนผู้สมัครจากซีกผู้อาวุโสลงสมัครแข่งกับมาดามเดียร์ และนราพัฒน์ได้ทันทีเช่นกัน
ซึ่งปัจจัยนี้ แน่นอนว่า เลขาฯต่อย่อมมองออกเช่นกัน
มองออกถึงโอกาสพ่ายแพ้ หากฐานคะแนนเสียงแตก
มีโอกาสพ่ายแพ้หากทีมผู้อาวุโสรวมคะแนนกลับมาได้
มีโอกาสพ่ายแพ้ หากสมาชิกอีกร้อยละ 30 ตัดสินใจกลับมาหนุนสายเก่า
และแน่นอนว่า เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่คร่ำหวอดอยู่บนเส้นทางการเมืองมายาวนาน ย่อมไม่ปล่อยให้สถานการณ์นี้เกิดขึ้น
เวลาที่เหลือไม่กี่วัน ต้องรอดูว่า เลขาฯ ต่อจะตัดสินใจเช่นไร
ระหว่างการเคลียร์ให้เหลือผู้สมัครเพียงคนเดียว
หรือปล่อยฟรีโหวตให้มาดามเดียร์ และนราพัฒน์แข่งกันเอง

9 ธันวาคม จากที่หงายไพ่เล่นว่า ยังไงหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็มาจากสายเลขาฯ ต่อ กลายเป็นวันที่เลขาฯ ต่อต้องตัดสินใจว่า บนทางสองแพร่งที่ต้องเลือก
เลขาฯ ต่อจะเลือกทางไหน ระหว่าง...
ฉีกขนบสร้างมิติใหม่ให้ประชาธิปัตย์
หรือเดินหน้าสานต่ออำนาจ ยึดพรรคโดยไม่พักคำนึงถึงผลระยะยาว
แต่ก็อย่าลืมว่า นักการเมืองที่ได้ฉายาว่า “นักฆ่าจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา” หรือเจ้าของฉายา “มีดโกนอาบน้ำผึ้ง” นั้น ฉายาที่ได้ ไม่ใช่เพราะโชคช่วย แต่มาจากคมเขี้ยวทางการเมืองแทบทั้งสิ้น
อายุอาจจะเยอะ แต่เหลี่ยมคูการเมืองไม่ได้ลดลง เพราะอายุ
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า อย่าประมาท เพราะแค่กระพริบตา ก็อาจพลาดให้ทีมผู้อาวุโสได้…