เกมโหวตซ่อนเงื่อน ม้วนเดียวจบ... แต่ลุงจุก...

23 ส.ค. 2566 - 03:29

  • เบื้องหลังการโหวต ‘เศรษฐา’ เป็นนายกฯ ชนะท่วมท้นถึง 482 เสียง มีที่มาจากอะไร

  • สว. 152 เสียงที่โหวตให้เศรษฐา ล้วนเป็นคนใกล้ชิด ‘ลุงตู่’ พลเอกประยุทธ์

  • ขณะที่ สว. โหวตไม่เห็นชอบเศรษฐา เป็นคนสาย ‘ลุงป้อม’

  • เกมโหวตม้วนเดียวจบ ชนิดหักปากกาเซียนของจตุพรและชูวิทย์ ใครอยู่เบื้องหลัง?

contributor-bamboo-leaves-behind-vote-pm-srettha-SPACEBAR-Hero
มติที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 22 สิงหาคม 2566 เป็นไปตามที่แกนนำพรรคเพื่อไทยบอก คือ ‘โหวตม้วนเดียวจบ’ 

เมื่อที่ประชุมมีมติ... 
  • เห็นชอบ 482 เสียง 
  • ไม่เห็นชอบ 165 เสียง 
  • งดออกเสียง 81 เสียง 
ส่งผลให้ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตจากพรรคเพื่อไทยได้รับการรับรองจากที่ประชุมรัฐสภาให้เป็นบุคคลที่เหมาะสมในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย 
 
ขั้นตอนต่อไป ก็เหลือแค่รอประธานรัฐสภานำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการเท่านั้น 
 
แต่เบื้องหลังการโหวตครั้งนี้ ที่ชนะท่วมท้นถึง 482 เสียง มากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 374 เสียงถึง 108 เสียงต่างหากที่น่าสนใจ 
 
น่าสนใจว่า ทั้ง 482 เสียง ที่เป็นเสียงจาก สส. 330 เสียง และ สว. 152 เสียง มีที่มาเช่นใด 

สส. 330 เสียงนั้น ชัดว่า 16 เสียงที่เพิ่มขึ้นมาจากสารตั้งต้น 314 เสียงของ 11 พรรค เป็น 16 เสียง จาก สส.พรรคประชาธิปัตย์ สายของเฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค ทั้ง 16 เสียง ที่เลือกนายเศรษฐา

นอกจากจะสวนมติพรรคแล้ว ยังเป็นการเข้ามาโหวตในช่วงท้าย เมื่อมีการขานชื่อครบ 750 รายชื่อไปแล้ว 

เพราะการขานรายชื่อรอบแรก ทั้ง 16 คนไม่ได้อยู่ในห้องประชุม

ส่วน สว. 152 เสียงที่โหวตเห็นชอบให้เศรษฐานั้น เมื่อไล่เรียงรายชื่อกันอย่างละเอียด จะน่าสนใจยิ่ง

น่าสนใจ เพราะรายชื่อเหล่านั้น ล้วนแล้วแต่เป็น สว.ที่ใกล้ชิดกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

การผนวกกันระหว่าง 330 สส. จาก 12 พรรค (รวม ปชป.สายเลขาต่อ) และ 152 สว. สายลุงตู่ จึงยิ่งน่าสนใจ

และที่ยิ่งน่าสนใจยิ่งขึ้น ก็คือ ระหว่างการโหวต ‘ลุงป้อม’ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หายไปไหน

แล้วยิ่งเมื่อ X-RAY รายชื่อ สว. ที่โหวต ‘ไม่เห็นชอบ’ ให้เศรษฐา รวมทั้งงดออกเสียง (ไม่รวม 6 เสียงของ ผบ.เหล่าทัพ) ก็ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจเข้าไปอีก

เพราะเกือบทั้งหมดเป็น สว.ที่มีความแนบแน่นกับลุงป้อมแทบทั้งสิ้น 

อะไรทำให้แสนยานุภาพของ 250 สว. ที่เคยแนบแน่น แตกออกเป็น 2 กลุ่ม

อะไรทำให้เสียง สส.เพิ่มเป็น 330 เสียงแบบไม่มีแตกแถว ทั้งที่ใน 330 เสียงนั้น มี 39 เสียงของ พปชร.รวมอยู่ด้วย

ทั้งหมดเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง

น่าสนใจว่า ใครเป็นผู้เดินเกมอยู่เบื้องหลัง

น่าสนใจว่า ใครเปิดเกมโหวตแบบม้วนเดียวจบ จนทำเอาลุงจุกกลางสภาฯ

เพราะปรากฏการณ์ครั้งนี้ ไม่เพียงการปรากฏถึงร่องรอยของเกมการโหวตแบบซ่อนเงื่อน แก้เกมกันปมต่อปม ชั่วโมงต่อชั่วโมง

ยังสะท้อนให้เห็นเกมการต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรี ที่จบลงตรง พปชร.อาจไม่ได้เก้าอี้กระทรวงอำนาจตามที่ต้องการ และคงไม่ได้รับการจัดสรรโควต้าเพิ่ม

แม้จะแสดงอาการงอนที่ได้รับการจัดสรรโควต้ารัฐมนตรี 4 ตำแหน่ง เท่า รทสช. ทั้งที่มี สส. มากกว่า 4 เสียง

รวมทั้งยังหักปากกาเซียนทั้ง ตู่-จตุพร พรหมพันธุ์ ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ และอีกหลายกูรู ที่วิเคราะห์ว่า เศรษฐา ทวีสิน จะไม่ผ่านด่าน สว. เพื่อเปิดทางให้การโหวตเดินไปถึงการเสนอชื่อพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นนายกรัฐมนตรีในที่สุด

คนที่เดินเกมเช่นนี้ได้ ว่ากันว่า นอกจากพาวเวอร์ไม่ธรรมดา ยังต้องเป็นผู้ที่มีซูเปอร์คอนเน็กชัน ที่สามารถประสานสิบทิศได้อีกด้วย

หรือเบื้องหลังการโหวตแบบม้วนเดียวจบ ที่ทำเอาลุงจุกกลางสภาฯ ครั้งนี้ จะมาจากการผนึกกำลังกันของ 3 พลังเงียบ ที่ซุ่มจับมือกันพลิกสูตรนี้ขึ้นมาดัดหลัง เพื่อล้มเกมอำนาจที่ใครบางคนอยากเดินหมากแบบกิน 3 ต่อ เข้าฮอร์ส นั่งกุมบังเหียนเก้าอี้หลักที่คุมทั้งตำรวจ ทหาร และข้าราชการฝ่ายปกครอง

ส่วน 3 พลังเงียบ จะเป็นใคร...ก็เดากันเองนะครับ

หรืออาจจะอยู่บนเครื่องไพรเวทเจ็ตลำใดลำหนึ่งที่บินกลับจากสิงคโปร์ก็ได้ ใครจะไปรู้...

แต่ทั้งหมดก็เป็นเรื่องน่าสนใจที่เกิดไปแล้ว

และที่ต้องจับตาต่อจากนี้ คือ กระบวนการจัดสรรตำแหน่งเก้าอี้รัฐมนตรีใน ครม.เศรษฐา 1 ว่าใครจะนั่งกระทรวงไหน

รวมถึงจับตาความเคลื่อนไหวสำคัญที่จะเกิดขึ้นใน 2 วันนี้ คือวันที่ 24 และ 25 สิงหาคมว่า การประชุมสภากลาโหม และการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. จะยังคงประชุมตามกำหนดการเดิมหรือไม่

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะต้องเป็นประธานการประชุมทั้ง 2 ชุด ทั้งในฐานะนายกรัฐมนตรีที่เป็นประธาน ก.ตร โดยตำแหน่ง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะเดินหน้าประชุมคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด เพื่อทำบัญชีแต่งโยกย้ายนายทหารและนายตำรวจระดับนายพลเลยหรือไม่

หรือจะรอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่นี้

เพราะการโยกย้ายปีนี้ สำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการจัดวางตำแหน่งคุมกำลังสำคัญของทุกเหล่าทัพ โดยเฉพาะตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพที่มีวางตัวครบทุกเหล่าแล้ว

ถ้าพลเอกประยุทธ์ ไม่เดินหน้าต่อ รายชื่อที่นิ่งแล้ว จะยังนิ่งต่อไป หรือมีโอกาสถูกเปลี่ยน

หากคนทำเป็นคนใหม่ที่อยากจะกำหนดตัว ผบ.เหล่าทัพที่เป็นคนของตัวเอง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์