ไม่บ่อยนักที่เราจะเห็นหน่วยงานราชการ โดยเฉพาะตำรวจรับรางวัลด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์จากองค์กรเอกชน
ยิ่งองค์กรที่เกี่ยวเนื่องกับสื่อใหม่ (New Media) ยิ่งยากที่หน่วยงานราชการจะรับรางวัลเช่นนี้
แต่ช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางหรือ CIB กลับได้รับรางวัล TikTok Awards Thailand 2023 สาขา Social Impact Partner of the Year : พาร์ทเนอร์ผู้ขับเคลื่อนสังคมดีเด่นแห่งปี จากการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลที่ 1 จาก 5 องค์กรรัฐในงาน TikTok Awards Thailand 2023 งานประกาศรางวัลสุดยอดครีเอเตอร์ผู้สร้างคอนเทนต์ที่สุดแห่งปี

รางวัลนี้ไม่ใช่รางวัลที่จะได้มาโดยง่ายดาย หรือเพียงบริจาคเงินมากหน่อยก็ได้มา แต่เป็นรางวัลที่หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคลนั้นๆ จะต้องผลิตเนื้อหาที่มีผลกระทบและเป็นเสมือนหนึ่งที่พึ่งของสังคมได้อย่างประจักษ์
การได้รางวัลเช่นนี้ ประการหนึ่งสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางประสบความสำเร็จในการเดินเข้าสู่การอยู่เคียงข้างประชาชนมากยิ่งขึ้น กับสัญลักษณ์ของการมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมยุคใหม่
อีกประการหนึ่ง ยังเห็นได้ชัดถึงการทำงานแบบมืออาชีพ มีความทันสมัยทัดเทียมสากล สมกับเป็น FBI เมืองไทย ที่สามารถขับเคลื่อนสังคมเคียงข้างไปกับประชาชน
นั่นก็ยิ่งไม่แปลก ที่จะทำให้สังคมเห็นรอยยิ้มแบบเต็มปากในวันรับรางวัลของ “บิ๊กก้อง” พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ในฐานะผู้นำองค์กรและเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายนี้
ว่ากันว่าเบื้องหลังรอยยิ้มของ “บิ๊กก้อง”ในวันนั้น ไม่ใช่เพียงรางวัลที่ได้รับเท่านั้น แต่เป็นรอยยิ้มแห่งความสำเร็จที่ทำให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เป็นที่พึ่งของประชาชน
ตั้งแต่การป้องปราม ด้วยการเตือนภัย การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การปราบปรามที่นำกำลังเข้าทลายแหล่งซ่องสุม และยึดทรัพย์ของเหล่าอาชญากรไซเบอร์ต่างหาก คือเบื้องหลังรอยยิ้มของ “บิ๊กก้อง” ที่แท้จริง
2 ปีที่ พล.ต.ท.จิรภพเข้ารับตำแหน่ง ผบช.ก. ต่อจาก “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.คนปัจจุบัน เป็น 2 ปีที่ พล.ต.ท.จิรภพ สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับบช.ก.อย่างเห็นได้ชัด

ไม่นับ 3 ปี ที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบ ซี่งสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับหน่วยกำลังสำคัญของ บช.ก. หน่วยนี้มาแล้ว
“บิ๊กก้อง” รับตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบ เมื่อเดือนตุลาคม 2563 และอยู่ในตำแหน่ง 3 ปีก่อน จะขึ้นดำรงตำแหน่ง รองผบช.ก. เมื่อเดือนตุลาคม 2563 และขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบช.ก. เมื่อตุลาคม 2564
2 ปีก่อน ผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่า บิ๊กก้องจะมานั่งตำแหน่งนี้เพียงแค่หนึ่งปี เพื่อเป็นกระดานหกไปสู่ตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแต่งตัวรอสำหรับตำแหน่งประมุขสูงสุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่ทรงอิทธิพลหน่วยงานหนึ่งของประเทศไทย
เนื่องเพราะเวลานั้น “บิ๊กก้อง” มีเพื่อนร่วมรุ่น เตรียมทหาร 34 คือ “บิ๊กราญ” พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นเป็นคู่เทียบ

ทั้ง “บิ๊กก้อง” และ “บิ๊กราญ” เป็นดาวรุ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่เติบโตมาในระนาบเดียวกัน และเป็นคู่ชิงที่สมน้ำสมเนื้อที่สุด ที่จะเบียดกันขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด
ตุลาคม 2564 เมื่อทั้งคู่ต่างเป็นผู้บัญชาการพร้อมกัน คนหนึ่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาล คนหนึ่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง หลายฝ่ายจึงเชื่อว่า ตำแหน่งผู้บัญชาการจะเป็นเพียงหนึ่งในสปริงบอร์ดที่ทั้งคู่จะเข้ามาแค่ปีเดียว ก่อนจะขยับเป็นผช.ผบ.ตร.ในปีถัดไป
แต่ที่สุดก็ถูกแค่ครึ่งเดียว เพราะตุลาคม 2565 มีเพียง “บิ๊กราญ” พล.ต.ท.สำราญ นวลมา คนเดียวที่ขยับขึ้นเป็น ผู้ช่วยผบ.ตร. ส่วน “บิ๊กก้อง”ยังอยู่ในตำแหน่งผบช.ก.เช่นเดิม
ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกต ท่ามกลางเสียงวิพากษ์ ท่ามกลางความงุนงงของสังคม ว่าเหตุใดดาวรุ่งอย่างบิ๊กก้องจึงเหยียบเบรกชะลอตัวอยู่กับที่ ปล่อยให้เพื่อนร่วมรุ่นแซงหน้าขึ้นไปครองความได้เปรียบด้านอาวุโส ซึ่งเป็นความสำคัญลำดับต้นๆ สำหรับการโยกย้ายแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่
คำเฉลยในเวลานั้น คือ...
ประการแรก บิ๊กราญเกิดเดือนมิถุนายน 2516 ซึ่งจะเกษียณอายุในปี 2576 แต่บิ๊กก้องเกิดเดือนธันวาคม 2518 จะเกษียณอายุในปี 2579 หลังบิ๊กราญถึง 3 ปี ดังนั้นบิ๊กก้องจึงไม่จำเป็นต้องขึ้นไปแข่งกับเพื่อน เพราะยังรอได้สบายๆ
เรียกว่า ไปช้าๆ แบบชัวร์ๆ ดีกว่าไปติดดอยอยู่ด้านบนอีกหลายปี
คำเฉลยประการที่สอง อันเป็นที่มาของรางวัล TikTok Awards Thailand 2023 สาขา Social Impact Partner of the Year คือ บิ๊กก้องขออยู่ในตำแหน่งผบช.ก.ต่อ เพราะยังมีภารกิจการสร้างหน่วยที่ยังไม่เรียบร้อย เนื่องจากปีที่ผ่านมา ยังเป็นเพียงการเก็บข้อมูล และเริ่มปรับเปลี่ยนเล็กๆ
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) หรือ CIB เป็นกองบัญชาการขนาดใหญ่ ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีพื้นที่ทำงานครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ มีหน่วยงานภายใต้สังกัดถึง 11 กองบังคับการ จากเดิม 12 กองบังคับการ เนื่องจากมีการยุบกองบังคับการตำรวจรถไฟ
การจัดทัพ ขยับองค์กร ทั้งหน่วย ทั้งระบบ และคน ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่เสร็จในเวลาสั้นๆ แน่นอน
การขออยู่บช.ก.ต่อของบิ๊กก้อง เพื่อสานต่อภารกิจการปฏิรูปหน่วย จึงเป็นภารกิจที่น่าจับตาว่า บิ๊กก้องจะปรับรูปแบบกองบัญชาการหลักแห่งนี้ให้ไปในทิศทางไหน
เพราะหากมองย้อนกลับไปเมื่อครั้งเข้ารับตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบปราม บิ๊กก้องใช้เวลาที่กองปราบถึง 3 ปี

กองปราบปรามในยุคบิ๊กก้อง มีการปรับขยับหน่วยให้กระชับ และเสริมความแข็งแกร่งของหน่วย โดยเฉพาะขณะนั้นคอมมานโดกองปราบถูกแยกออกไปเป็น กองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ และได้รับพระราชทานชื่อเป็น กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 และได้รับพระราชทานชื่ออีกครั้งเป็น กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ
ความเปลี่ยนแปลงในครั้งนั้น ทำให้กองปราบขาดหน่วยขึ้นตรงที่จะเรียกใช้ในการภิจหลักของหน่วย เช่น ปิดล้อม จู่โจม หรือจับกุมคนร้ายในคดีสำคัญๆ บิ๊กก้องจัดตั้งหน่วยปฏิบัติการพิเศษ S.W.A.T. ขึ้นมาอีกหน่วย โดยมอบหมายให้เพื่อนร่วมรุ่น ตท.34 คือ พ.ต.อ.พิจักขณ์ ตารมย์ ขึ้นเป็นผู้กำกับกองกำกับการสนับสนุน ซึ่งเป็นต้นสังกัดของหน่วยปฏิบัติการพิเศษหน่วยนี้ ที่ต่อมาได้ชื่อว่า “หนุมาน”
ผลสำเร็จของการจัดหน่วยที่กองปราบ ทำให้ทันทีที่ขึ้นรับตำแหน่งผู้บัญชการตำรวจสอบสวนกลางในปี 2565 บิ๊กก้องจึงจัดกำลังเพื่อขยับหน่วยสำคัญที่ขึ้นตรง บช.ก.ครั้งใหญ่ เพียงแต่ในห้วงเวลาของฤดูโยกย้าย 2565 บิ๊กก้องยังทำได้แค่ขยับส่วนหัวในฐานะผู้นำหน่วยได้ไม่มากนัก
แต่การโยกย้ายเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ปีที่บิ๊กก้องได้ทำบัญชีโยกย้ายในหน่วยได้อย่างเต็มที่ จึงเห็นการขยับกำลัง และการจัดหน่วยที่น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง
จาก 11 กองบังคับการ โยกย้ายล่าสุด บิ๊กก้องส่งเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 34 เข้าไปเป็นผู้บังคับการถึง 5 กองบังคับการ ทั้งหมดเป็นกองบังคับการสำคัญในบช.ก.ทั้งสิ้น ทั้งกองบังคับการตำรวจทางหลวง ที่บิ๊กก้องส่ง พ.ต.อ.คงกฤช เลิศสิทธิกุล เพื่อน ตท.34 เข้าไปเป็นผู้บังคับการ
กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ป.ป.ป.) ที่ส่ง พ.ต.อ.ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ตท.34 เข้าไปแทนที่ “ผู้การเต่า” พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ที่ขยับขึ้นไปเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง
ขณะที่อีก 3 กองบังคับการ คือ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กองบังคับการตำรวจน้ำ และกองบังคับการศูนย์ฝึกอบรม ก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.34 เช่นกัน ทั้ง พล.ต.ต.อธิป พงษ์ศิวาภัย ผู้บังคับการ.ปอท., พล.ต.ต.พฤทธิพงศ์ นุชนารถ ผู้บังคับการตำรวจน้ำ, พล.ต.ต.จีรเศรษฐ ดาวเงินตระกูล ผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรม
ส่วนกองบังคับการปราบปราม แม้ พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผู้การกองปราบจะไม่ใช่เพื่อนร่วมรุ่น เพราะเป็น ตท.30 แต่รองผู้การกองปราบ และผกก.กองกำกับสำคัญในกองปราบ ก็ล้วนแต่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.34 ทั้งสิ้น
ทั้ง พ.ต.อ.พรศักดิ์ เลารุจิราลัย รองผบก.ป., พ.ต.อ.ณัฐพงษ์ ปิตะบุตร รองผบก.ป., พ.ต.อ.ธงชัย อยู่เกษ ผกก.1 บก.ป., พ.ต.อ.บุญลือ ผดุงถิ่น ผกก.2 บก.ป., พ.ต.อ.พงศ์ปณต ชูแก้ว ผกก. 6 บก.ป., พ.ต.อ.วิจักขณ์ ตารมย์ ผกก.สนับสนุน บก.ป. ต้นสังกัดหน่วยหนุมาน กองปราบ, พ.ต.อ.สมโภชน์ แดงปุ่น ผกก.ฝอ.บก.ป.
ส่วนบก.ปอท. ก็มี พ.ต.อ.วัชรพันธ์ ศิริพากย์ ผกก. 1 บก.ปอท. และ พ.ต.อ.อิทธิพล พรเทวบัญชา ผกก.สอบสวน บก.ปอท.
ทั้งหมดเป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท.34 ที่บิ๊กก้องส่งเข้าไปกำกับ ควบคุม และเปลี่ยนแปลง บช.ก.ไปในทิศทางที่บิ๊กก้องกำหนดทั้งสิ้น

นับจากนี้จึงต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ภายใต้การกำกับของ “บิ๊กก้อง” พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ว่าจะแปรสภาพ บช.ก.ให้เป็นกองกำลังขนาดใหญ่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
หรือจะทำให้ บช.ก. เพื่อเป็นที่พึ่งของประชาชน สมดั่งม็อตโต้ของหน่วย มืออาชีพ เป็นกลาง เคียงข้างประชาชน ได้หรือไม่
บนเส้นทางการก้าวแบบช้าๆ แต่ชัวร์ๆ ของ “บิ๊กก้อง” ที่มีอายุราชการยาวถึงปี 2579