ส่องทำเนียบเลขา สมช. พล.อ.อ.สิทธิ-น.ต.ประสงค์ สองเลขา สมช.ในตำนาน

6 พ.ย. 2566 - 10:06

  • “บิ๊กรอย” คือตำรวจนายที่สองในประวัติศาสตร์ที่ตอบรับตำแหน่ง เลขา สมช. หรือเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ

  • รู้จักที่มาของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำอะไร มีความสำคัญอย่างไร คุณสมบัติที่ควรมีคืออะไร

  • ทำไม พล.อ.อ.สิทธิ-น.ต.ประสงค์ ถึงเป็นสองเลขา สมช. ในตำนาน

บิ๊กรอย, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์, ประสงค์ สุ่นศิริ, สิทธิ เศวตศิลา, เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมช., หลวงวิจิตรวาทการ, ปิศาจคาบไปป์

ไม่น่าพลิกแล้ว สำหรับตำแหน่ง เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ เลขา สมช. ที่ยังว่างอยู่ เพราะล่าสุด “บิ๊กรอย” พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ตอบตกลงยอมข้ามห้วยจากแยกปทุมวันไปยังตึก สมช. ภายในทำเนียบรัฐบาลแล้ว

ก่อนนี้ “บิ๊กรอย” ยืนยันมาตลอดว่า จะขอเกษียณที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเกษียณในเครื่องแบบตำรวจ เนื่องจากทำใจไม่ได้ที่จะเกษียณในเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน เพราะรับราชการเป็นตำรวจมาทั้งชีวิต

บิ๊กรอย, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์, ประสงค์ สุ่นศิริ, สิทธิ เศวตศิลา, เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมช., หลวงวิจิตรวาทการ, ปิศาจคาบไปป์
Photo: “บิ๊กรอย” พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ตกลงยอมย้ายไปยังตึก สมช. ในทำเนียบรัฐบาล

แต่ที่สุดหลังมีการพูดคุยกันหลายรอบ บิ๊กรอยก็ตัดสินใจยอมขยับมารับตำแหน่งนี้ ถือเป็นการปิดดีลแบบ win-win กันทุกฝ่าย

แต่สำหรับคนใน สมช. จะ win หรือไม่ ไม่มีใครตอบได้ เพราะนี่เป็นอีกครั้งที่ลูกหม้อ สมช.ไม่มีโอกาสได้ขึ้นมานั่งในตำแหน่งสูงสุดขององค์กร

เนื่องเพราะตั้งแต่ปี 2558 หลังการเกษียณอายุของ อนุสิษฐ คุณากร เลขา สมช. ที่เป็นพลเรือนคนล่าสุด จนถึงปัจจุบัน ตำแหน่งเลขา สมช. ล้วนมาจากที่อื่นทั้งสิ้น และเกือบทั้งหมดเป็นทหาร มีปีนี้ที่กำลังจะมาจากตำรวจ

มีคำถาม และข้อสังเกตว่าแปลกหรือไม่ ที่ทหารหรือตำรวจจะมานั่งเป็นเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ตอบได้เลยครับว่า… “ไม่แปลก!”

เพราะจุดกำเนิดของสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่ก่อตั้งขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดขึ้นจากพระราชประสงค์เพื่อให้ภารกิจทางด้านการทหารเพื่อการป้องกันประเทศ เป็นไปอย่างละเอียดรอบคอบ มีประสิทธิภาพ และมีการประสานงานที่ดี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มีสภาเพื่อทำหน้าที่ดังกล่าวขึ้นเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2453 ภายใต้ชื่อ “สภาป้องกันพระราชอาณาจักร”

สภาความมั่นคงแห่งชาติ, รัชกาลที่ 6, พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว, วชิราวุธ
Photo: พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้เป็นต้นกำเนิดสภาความมั่นคงแห่งชาติ (กรมศิลปากร)

โครงสร้าง สมช.ครั้งนั้น มีพระมหากษัตริย์เป็นองค์ประธานสภา ส่วนเลขานุการสภาฯ บัญญัติไว้ชัดเจนว่า จะต้องมาจากตำแหน่ง ‘เสนาธิการทหารบก’ เท่านั้น

หลังปี 2475 ซึ่งได้ยกเลิกสภาป้องกันพระราชอาณาจักร และจัดตั้ง “สภาการสงคราม” ตาม พ.ร.บ.สภาการสงคราม เพราะห้วงเวลานั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 สภาการสงครามที่ตั้งขึ้นก็เพื่อทำหน้าที่ประสานภารกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเจรจาในช่วงสงครามโลกใกล้ยุติ

“สภาการสงคราม” กลับมาเปลี่ยนชื่ออีกครั้ง เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2487 เป็น “สภาป้องราชอาณาจักร” ตัดคำว่า “พระ” ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในปี 2502 และใช้มาจนถึงปัจจุบัน

โครงสร้างเวลานั้นมี ‘นายกรัฐมนตรี’ เป็นประธาน สมช. โดยตำแหน่ง และเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี มีฐานะเป็นข้าราชการพลเรือน และเป็นจุดเริ่มต้นที่เปิดโอกาสให้พลเรือนเข้ามาเป็น เลขา สมช.ได้

เลขา สมช.ท่านแรก แม้จะมียศนำหน้า ‘พลตรี’ คือ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ แต่ชีวิตการทำงานของท่านก็น่าจะนับว่าเป็นพลเรือนมากกว่า เพราะรับราชการในฐานะข้าราชการพลเรือนมาโดยตลอด

พลตรีหลวงวิจิตรวาทการดำรงตำแหน่ง เลขา สมช.ควบคู่การดำรงตำแหน่งปลัดบัญชาการสำนักนายกรัฐมนตรี หรือเทียบเท่ารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในปัจจุบัน และดำรงตำแหน่งจนถึงแก่อนิจกรรม ในเดือนมีนาคม 2505

บิ๊กรอย, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์, ประสงค์ สุ่นศิริ, สิทธิ เศวตศิลา, เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมช., หลวงวิจิตรวาทการ, ปิศาจคาบไปป์
Photo: พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ

แต่นับจากพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เลขา สมช.ก็เป็นทหารต่อเนื่องกันมาอีก 5 คน จนปี 2529 ถึงมีเลขา สมช.ที่เป็นข้าราชการพลเรือน และเป็นลูกหม้อของ สมช.แบบเต็มตัว คือ สุวิทย์ สุทธานุกูล และมีข้าราชการพลเรือนที่เป็น เลขา สมช.อีกเพียง 4 คน รวมเป็น 5 คนเท่านั้น จากจำนวน เลขา สมช.ทั้งหมด 23 คน

เลขา สมช.ที่เป็นพลเรือน หากไม่นับพลตรีหลวงวิจิตรวาทการที่ก้ำกึ่งระหว่างพลเรือนและทหาร ก็มี สุวิทย์ สุทธานุกูล, ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, ประกิจ ประจนปัจจนึก, ถวิล เปลี่ยนศรี และอนุศิษฐ คุณากร

นอกจากนั้นล้วนแต่มาจากนายทหาร โดยมีตำรวจเพียงท่านเดียว คือ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี และหาก ครม.มีมติอนุมัติ ก็จะมี พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เป็นคนที่ 2 และเป็นเลขา สมช.คนที่ 24

ตำแหน่งเลขา สมช.ในอดีตสำคัญมาก เพราะ สมช.ที่จัดตั้งขึ้นรอบใหม่ในปี 2502 เป็นห้วงเวลาเริ่มต้นของสงครามเย็นในภูมิภาคนี้ และเป็นช่วงที่การขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์กำลังแผ่อำนาจไปทั่วทั้งอินโดจีน

ประเทศไทยเป็นโดมิโนตัวสุดท้ายในขณะนั้น และเป็นเดิมพันสำคัญของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานทัพ เพื่อสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารในภูมิภาคนี้

บทบาทของ สมช.และเลขา สมช.ในยุคนั้นจึงค่อนข้างเข้มข้น โดยเฉพาะบทบาทของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ เลขา สมช.ท่านแรก เพราะเป็นบุคคลสำคัญที่ร่วมกันร่างนโยบายสร้างชาติทั้งกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม และจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์

เลขา สมช.ในยุคต้นๆ จึงมักจะมาจากผู้ที่มีความสามารถครบเครื่องทั้งด้านการทหาร การเมือง และการข่าว

เลขา สมช.ในตำนานที่ผู้คนน่าจะจำได้ และมีเรื่องเล่าขานมากมายในแวดวงการเมือง และความมั่นคง น่าจะเป็น พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา และ นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ สองเลขา สมช.ต่อเนื่องกันในช่วงปี 2517-2529

พล.อ.อ.สิทธิ ดำรงตำแหน่งเลขา สมช.ในปี 2517 จนถึงปี 2523

ส่วน น.ต.ประสงค์ ดำรงตำแหน่งเลขา สมช.ต่อจากปี 2523 จนถึงปี 2529

บิ๊กรอย, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์, ประสงค์ สุ่นศิริ, สิทธิ เศวตศิลา, เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมช., หลวงวิจิตรวาทการ, ปิศาจคาบไปป์
Photo: พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา
บิ๊กรอย, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์, ประสงค์ สุ่นศิริ, สิทธิ เศวตศิลา, เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมช., หลวงวิจิตรวาทการ, ปิศาจคาบไปป์
Photo: นาวาอากาศตรีประสงค์ สุ่นศิริ

ช่วงเวลา 2517-2529 เป็นช่วงเวลาสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้ง และเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญจากภัยคุกคามรอบประเทศที่ส่งผลต่อสถาบันหลักของประเทศ

พล.อ.อ.สิทธิ แม้จะเป็นนายทหารโยกมาจากกองทัพอากาศ แต่ประสบการณ์ทั้งด้านการทหาร การเมือง การข่าว และการต่างประเทศ ถือว่าไม่เป็นรองใคร

ประการสำคัญ พล.อ.อ.สิทธิมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและใกล้ชิดกับทั้ง CIA และอีกหลายหน่วยงานด้านความมั่นคงของประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อประเทศไทยในขณะนั้น

โดยเคยทำงานในฐานะล่ามแปลภาษาในคณะกรรมการนเรศวร ซึ่งเป็นคณะกรรมการรับความช่วยเหลือจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้แก่ กรมตำรวจ ในยุคที่มี พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ เป็นอธิบดี

จากนั้นดำรงแหน่งอธิบดีกรมประมวลราชการแผ่นดินหรือ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2497 วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2500 ได้รับพระราชทานยศ พลอากาศจัตวา ด้วยอายุเพียง 37 ปี นับว่าเป็นนายพลอายุน้อยที่สุดในกองทัพอากาศขณะนั้น ก่อนที่จะได้รับตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2516 ก่อนเกิดเหตการณ์ 14 ตุลา 2516 เพียงสองสัปดาห์ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2517 ขณะมียศ พลอากาศตรี

สถานการณ์ในห้วงเวลาที่ พล.อ.อ.สิทธิ ดำรงตำแหน่งเลขา สมช.เต็มไปด้วยเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองและความมั่นคง ทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 การรัฐประหาร และภัยคุกคามจากประเทศเพื่อนบ้าน ภัยคุกคามจากความมั่นคงภายใน เพราะเป็นช่วงเวลาที่พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กำลังเติบโตอย่างมาก หลังจากกลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนจำนวนมากหลบหนีเข้าป่าไปจับอาวุธร่วมกับ พคท. หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา

บิ๊กรอย, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์, ประสงค์ สุ่นศิริ, สิทธิ เศวตศิลา, เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมช., หลวงวิจิตรวาทการ, ปิศาจคาบไปป์
Photo: พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา จับมือกับโรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 40

รวมทั้งสงครามกับกองทัพเวียดนามบริเวณชายแดนไทย–กัมพูชา เมื่อปี 2523 ที่ยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงปี 2530 เลขา สมช.ในห้วงเวลานั้น จึงต้องแม่นยำทั้งด้านการข่าว ต้องประสานกับทางฝ่ายการทหาร การต่างประเทศ ได้อย่างครบเครื่อง

บทบาทของ พล.อ.อ.สิทธิในเวลานั้น ส่งผลให้ท่านได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศถึง 10 ปี ต่อเนื่องนับจากรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ มาจนถึงรัฐบาลของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ จนสามารถยุติสถานการณ์สงครามระหว่างไทย-เวียดนามบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชาได้สำเร็จในปี 2530

ซึ่งถือเป็นหนึ่งเลขา สมช.ในตำนานท่านหนึ่งที่นับว่าครบเครื่อง และควรค่าต่อการจดจำจริงๆ

ส่วนอีกหนึ่งท่านที่ทำงานในตำแหน่งเลขา สมช. และเป็นหนึ่งในตำนานของ สมช. คือ น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ

น.ต.ประสงค์ ฉูดฉาดอย่างมากทั้งในเวทีความมั่นคง เวทีการข่าว และสุดท้ายคือเวทีการเมือง จนได้รับหลากหลายฉายา

แง่มุมนักการข่าว น.ต.ประสงค์ได้รับฉายา “CIA เมืองไทย”

ในแง่มุมการเมือง น.ต.ประสงค์ได้รับการตั้งฉายาจากอดีตนายกรัฐมนตรีที่ชื่อทักษิณ ชินวัตร ว่า “ปีศาจคาบไปป์” เพราะชอบสูบไปป์ และมีภาพจำที่จะต้องคาบไปป์ไว้ที่มุมปากอยู่ตลอดเวลา

บิ๊กรอย, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์, ประสงค์ สุ่นศิริ, สิทธิ เศวตศิลา, เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมช., หลวงวิจิตรวาทการ, ปิศาจคาบไปป์
Photo: “ปิศาจคาบไปป์”

นอกจากนั้นยังได้ฉายา “นายกฯ น้อย” เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ด้วย

น.ต.ประสงค์ เป็นเลขา สมช.ที่เกือบจะเรียกว่าเป็นลูกหม้อ สมช.ได้คนหนึ่ง และเป็นคนใกล้ชิดพล.อ.อ.สิทธิ ทั้งขณะรับราชการที่กองทัพอากาศ และใน สมช.

เพราะตามประวัติแม้ น.ต.ประสงค์ จะเริ่มรับราชการเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนประจำจังหวัดราชบุรี และต่อมาได้รับการโอนไปรับราชการทหารที่ กรมข่าวทหารอากาศ ติดยศเรืออากาศตรี และเป็นนายทหารคนสนิทติดตาม สิทธิ เศวตศิลา ที่สำนักรักษาความปลอดภัย กองทัพอากาศ

แต่หลังจากได้รับทุนไปเรียนด้านข่าวกรองที่กองทัพอากาศ สหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2509 หลังกลับมาก็ย้ายมารับราชการในสังกัด สมช. ตั้งแต่ตำแหน่งหัวหน้ากอง 1 สมช. เติบโตจนเป็นผู้อำนวยการกองข่าว และผู้ช่วยเลขาธิการ สมช., รองเลขาธิการ สมช. และ พ.ศ. 2523 เป็นเลขาธิการ สมช. ต่อจาก พล.อ.อ.สิทธิ ที่เกษียณอายุราชการ

บิ๊กรอย, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์, ประสงค์ สุ่นศิริ, สิทธิ เศวตศิลา, เลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมช., หลวงวิจิตรวาทการ, ปิศาจคาบไปป์
Photo: พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา (กลาง)

น.ต.ประสงค์ ถือว่าเป็นลูกน้องคนสนิท และทำงานใกล้ชิดกับพล.อ.อ.สิทธิ มาโดยตลอด ในช่วงสงครามเย็นทั้งคู่จึงเป็นคู่หูที่ร่วมกันทำงานด้านการข่าว ความมั่นคง และงานการเมือง กระทั่งพล.อ.อ.สิทธิไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ก็ยังเรียกใช้ น.ต.ประสงค์เสมอ

น.ต.ประสงค์เป็นเลขา สมช.จนถึงปี 2529 ก่อนจะลาออกมาดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ และมาทำงานใกล้ชิดกับเจ้านายเก่า คือ พล.อ.อ.สิทธิ ที่ขณะนั้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอีกครั้ง

ห้วงเวลาจากปี 2517-2529 จึงเป็นห้วงเวลาที่เจ้านายและลูกน้องคู่นี้ร่วมกันสร้างผลงานให้กับสมช.อย่างชัดเจนที่สุด และน่าจะเป็นสองเลขา สมช.ที่ถูกบันทึกในตำนาน สมช.ได้อย่างน่าภาคภูมิใจที่สุด

น่าเสียดายที่ตำแหน่งเลขา สมช.นับจากปี 2550 จนถึงปัจจุบัน กลับกลายเป็นตำแหน่งที่ใช้รองรับนายทหารนายตำรวจที่พลาดหวังตำแหน่งสูงสุดในองค์กร มากกว่าที่จะเป็นมือทำงานด้านการข่าวและความมั่นคงจริงๆ

แม้ประวัติ พล.ต.อ.รอย ว่าที่เลขา สมช.คนล่าสุด จะผ่านงานในกองบัญชาการตำรวจสันติบาลอันเป็นหน่วยงานสำคัญด้านการข่าวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาก่อน ทั้งระดับปฏิบัติ และระดับผู้บัญชาการ แต่ปีเดียว หรือความจริงก็ไม่กี่เดือนในตำแหน่งเลขา สมช. ไม่น่าจะเพียงพอให้ “บิ๊กรอย” ที่จิตใจกำลังบอบช้ำ สามารถพลิกฟื้นหรือทำอะไรให้เป็นมรรคเป็นผล มากกว่าสานงานที่มีอยู่และรอเกษียณอายุราชการในปี 2567

บิ๊กรอย, พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์
Photo: “บิ๊กรอย” พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการในปี 2567

พร้อมๆ กับลูกหม้อ และดาวรุ่ง สมช.ที่ทยอยขอย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่นที่มีอนาคตมากขึ้น เพราะรอโตที่นี่ ก็คงเป็นได้แค่รองเลขา สมช.เท่านั้น

ไม่เชื่อก็ลองพลิกอ่านประวัติชีวิตรองเลขา สมช.ในตำนาน พิชัย รัตนพล ดู

เก่งแค่ไหน ก็จบได้แค่รองฯ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์