หนังสือจากสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ที่ลงนามโดย “หมอมิ๊ง” นายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอรับโอน พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาตินั้น

อ่านอย่างเผินๆ ดูแบบผิวๆ เหมือนทุกอย่างน่าจะมีจุดลงเอยที่ลงตัว
เพราะเมื่อทางสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีความประสงค์จะขอรับโอน พล.ต.อ.รอย มาดำรงตำแหน่งเลขาสมช.ที่ว่างลงจากการเกษียณอายุราชการของ พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม หากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และตัวพล.ต.อ.รอยไม่ขัดข้อง การดำเนินการทางเอกสาร และขั้นตอนการอนุมัติการส่งตัวก็ไม่น่าจะใช้ระยะเวลามากนัก

ภายในเดือนมกราคมก็คาดว่า สมช.ควรจะได้เลขาสมช.คนใหม่ชื่อ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ดับฝันลูกหม้อ สมช.ที่จะขึ้นดำรงตำแหน่งนี้ไปอย่างน้อยก็อีก 9 เดือน ไปลุ้นใหม่ช่วงปลายกันยายน 2567
แต่กระนั้น ประเทศไทยก็คือประเทศไทย คำว่า THAILAND ONLY สำหรับประเทศนี้มิได้เกิดขึ้นเพราะการจับฉลาก หรือเพราะความบังเอิญ
หากแต่ได้มา เพราะความเป็นจริงล้วนๆ
ในบรรดาอารยประเทศทั้งหลาย ตำแหน่งเลขา สมช.ไม่ควรจะว่างนานขนาดนี้ 3 เดือนเต็ม จนย่างเข้าสู่เดือนที่ 4 จนบัดนี้ ก็ยังไม่มีความชัดเจน 100 เปอร์เซ็นต์ว่าท้ายสุดตำแหน่งเลขา สมช.จะเป็นใคร
จริงอยู่หลายเดือนที่ผ่านมา จนถึงวันนี้ชื่อ พล.ต.อ.รอย คือเต็งหนึ่งมาโดยตลอดที่จะเข้ามาเป็นเลขา สมช.คนใหม่
ล่าสุด หนังสือที่ลงนามโดย “หมอมิ๊ง” ก็ยังเป็นชื่อ พล.ต.อ.รอย อยู่
แต่ที่ผมบอกว่า ยังไม่ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องไม่ลืมว่า ยังมีกระบวนการสำคัญอีก 2 กระบวนการที่ต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ก่อนที่ พล.ต.อ.รอย จะไปดำรงตำแหน่งเลขา สมช.
นั่นคือ พล.ต.อ.รอยต้องยืนยันความสมัครใจที่จะไปเป็นลายลักษณ์อักษรก่อน การโอนย้ายครั้งนี้ถึงจะสมบูรณ์
จากนั้น ขั้นตอนสำคัญที่สุด สิ่งที่ พล.ต.อ.รอย จะต้องดำเนินการคู่ขนานไปพร้อมกัน คือทำหนังสือทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ลาออกจากตำแหน่งราชองครักษ์อย่างเป็นทางการ และต้องรอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พ้นจากตำแหน่งราชองครักษ์ ขั้นตอนการส่งตัวไปดำรงตำแหน่งเลขา สมช. จึงจะครบถ้วนกระบวนการที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ และนำเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีได้

สิ่งที่ยังไม่ปรากฏชัดในวันนี้ คือ
ประการแรก พล.ต.อ.รอย ยืนยันความสมัครใจเป็นลายลักษณ์อักษรหรือยัง
ประการสำคัญ พล.ต.อ.รอย ดำเนินการในขั้นตอนทูลเกล้าขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ลาออกจากตำแหน่งราชองครักษ์หรือยัง
ทั้งสองประการนี้ต่างหากที่ต้องรอความชัดเจน ถึงจะฟันธง 100 เปอร์เซ็นต์ได้ว่า เลขา สมช.คนใหม่ คือ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์
กระนั้น หากทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนทั้งหมด พล.ต.อ.รอย ขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาสมช.จริง
สิ่งที่ต้องมองย้อนกลับไป ก็คือเกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลาเกือบ 4 เดือนของการว่างเว้นตำแหน่งเลขา สมช.
เกิดอะไรขึ้นต่อการปูทางเพื่อส่ง พล.ต.อ.รอย ไปดำรงตำแหน่งนี้
เรื่องบังเอิญหลายๆ เรื่องที่บังเอิญเชื่อมต่อกัน เป็นความบังเอิญหรือความตั้งใจ
ย้อนไปที่เรื่องบังเอิญของ วันที่ 26 ธันวาคม 2566 ก่อนวันที่ 28 ธันวาคม 2566 ที่หมอมิ๊งทำหนังสือขอรับโอน พล.ต.อ.รอย เพียง 2 วัน
เรื่องบังเอิญแรกที่บังเอิ๊ญ...บังเอิญ คือ
บังเอิญว่า เมื่อ_วันที่ 26 ธันวาคม 2566_ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บังเอิญมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.11/2565 ที่อัยการสูงสุด โจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ กรณีโอนย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)


ผลปรากฏว่า ศาลฯ พิพากษายกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร โดยให้เหตุผลว่า จำเลยไม่มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
โดยศาลฯ วินิจฉัยว่า ยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษและรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยโอนย้ายนายถวิลเพื่อให้ตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ว่างลง
คดีนี้เป็นความบังเอิญที่มีนัยยะน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเป็นคำพิพากษาที่สามารถหยิบยกขึ้นมาใช้เป็นบรรทัดฐานใน 3 ประเด็น คือ
- ประเด็นแรก นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทั้งหมด มีอำนาจที่จะโยกย้ายข้าราชการ หากดำเนินการภายใต้มาตรา 57 ของกฎหมายข้าราชการพลเรือน
- ประเด็นที่สอง เรื่องการกระทำความผิดทางอาญา ต้องอาศัยเจตนาเป็นสำคัญ ตามมาตรา 59 ในทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าไม่มีพยานหลักฐานใดๆ ที่บ่งชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีเจตนาพิเศษที่จะไปกลั่นแกล้งนายถวิล
- ประเด็นที่สาม ในเรื่องของคำพิพากษาศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ ในส่วนของศาลปกครองเป็นการพิจารณาถึงการโอนย้ายชอบหรือไม่ชอบ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการพ้นการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ไม่มีเรื่องการกระทำผิดทางอาญาจึงไม่อาจนำคำพิพากษาทั้งสองศาลมาฟังว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำผิดทางอาญา
2 วันหลังจากศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา และมีบรรทัดฐานใน 3 ประเด็นสำคัญ
วันที่ 28 ธันวาคม 2566 ก็บังเอิญมีจดหมายขอรับโอน พล.ต.อ.รอย มาดำรงตำแหน่งเลขา สมช.ทันที เป็นความบังเอิญที่มั่นใจว่า กระบวนการโอนย้ายข้าราชการที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี สามารถกระทำได้ หากเป็นไปตามขั้นตอนของกฏหมาย และขาดเจตนาพิเศษที่จะกลั่นแกล้ง
แต่กระนั้น ความบังเอิญที่เกิดขึ้น เมื่อพิจารณาหลักธรรมในทางพุทธ มีหลักคำสอนของพระพุทธองค์ว่า
ไม่มีความบังเอิญใดใดในโลกนี้ ทุกสิ่งล้วนเกิดจากกรรม เกิดจากเหตุ และปัจจัยทั้งสิ้น
ดังนั้น เมื่อมองย้อนหลังกลับไปสู่เหตุ ย้อนกลับไปสู่กรรม หรือการกระทำ ตามคำพิพากษานี้ จะเห็นชัดว่า ความบังเอิญของคดี น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายถวิล มีความเชื่อมโยงกับบุคคล 4 คน คือ
- พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์
- พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี
- นายถวิล เปลี่ยนศรี
- น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
วันนั้น พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รองผบ.ตร.ทำหนังสือขอความเป็นธรรมกรณีไม่ได้รับความเป็นธรรมในการโยกย้ายแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากรัฐบาลก่อนหน้านี้ซึ่งมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้ดำเนินการตามหลักอาวุโส โดยมิได้เสนอชื่อ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ รองผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 ขึ้นดำรงตำแหน่ง แต่กลับเสนอชื่อ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ที่ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษา สบ.10 ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน

ครั้งนั้นจึงเกิดกระบวนการคืนความเป็นธรรมให้กับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ โดยจะต้องขยับพล.ต.อ.วิเชียรออกจากตำแหน่งผบ.ตร. เพื่อให้ตำแหน่งว่าง เพื่อเปิดทางให้ พล.ต.เพรียวพันธ์เข้าดำรงตำแหน่งแทน แต่ทั้งนี้ก็ต้องหาตำแหน่งที่เทียบเท่าให้กับ พล.ต.อ.วิเชียรด้วย
จนที่สุด ก็มีการเล็งไปที่ตำแหน่งเลขาสมช. ที่ขณะนั้นนายถวิลดำรงตำแหน่งอยู่ วันที่ 6 กันยายน คณะรัฐมนตรี จึงมีมติเห็นชอบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้ย้ายนายถวิลไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ และมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2554 ให้พล.ต.อ.วิเชียรไปดำรงตำแหน่งเลขา สมช.
ขณะที่วันที่ 19 ตุลาคม 2554 คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (กตช.) ก็มีมติเห็นชอบตามการเสนอของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานกตช.ให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผบ.ตร.คนที่ 8

ทั้งหมดเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้น ก่อนจะมาถึง_วันที่ 26 ธันวาคม 2566_ วันที่ศาลมีคำพิพากษาว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีอำนาจที่ทำได้ตามกรอบกฏหมาย
อันนำมาสู่การออกหนังสือขอรับโอนพล.ต.อ.รอย ในอีก 2 วันต่อมา
จะบังเอิญหรือไม่ก็คงต้องมองไปทั้งเหตุและผล ที่จะนำไปสู่การกระทำว่า สอดคล้องพ้องกันหรือไม่แค่ไหน
ความเชื่อมโยงระหว่างนายถวิลไปสู่ พล.ต.อ.วิเชียร และจบลงที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ด้วยคำสั่งและการเสนอชื่อของคนเดียวกัน คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กำลังเป็นความบังเอิญที่เหมือนกันหรือไม่กับเส้นทางสู่เลขา สมช.ของ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์
EP. หน้ามาตามต่อ ว่าด้วยการส่งออก พล.อ.ต.รอย ไปสู่การกรุยทางเพื่อใคร อะไรเป็นคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติหลังจากนี้
ติดตามอย่ากระพริบตา เพราะโยกย้ายเมษานี้ สตช.อาจมีเซอร์ไพร์สที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง