ถอดรหัส “เรื่องบังเอิญ” ที่มีอยู่จริง (EP.2) ปฏิบัติการเด็ดดอกไม้สะเทือนปทุมวัน “รอย” ลอยลำ นั่งเลขา สมช. “ประจวบ” ขึ้นแท่นชิงผบ.ตร.คนใหม่

9 ม.ค. 2567 - 12:20

  • พล.ต.อ.รอย มานั่งเก้าอี้เลขา สมช. จะส่งผลให้เก้าอี้ รองผบ.ตร.ว่างทันที 1 ตำแหน่ง

  • ผู้ช่วย ผบ.ตร. 10 นาย และรองจเรตำรวจแห่งชาติอีก 2 นาย คือคนที่จะมาชิงเก้าอี้ รองผบ.ตร.

  • พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข ดูทรงเป็น “เต็งหนึ่ง” ที่จะมานั่งเก้าอี้เดิมของ พล.ต.อ.รอย และอาจไปไกลถึง ผบ.ตร. ในปีนี้

spacebar สเปซบาร์, รอย อิงคไพโรจน์, ประจวบ วงศ์สุข, ตำรวจ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, สมช, รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, เลขา สมช, เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

เหมือนบังเอิญ แต่ไม่บังเอิญ เมื่อเก้าอี้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในปีนี้ บังเอิญเป็นตำแหน่งที่ถูกนำมาแก้ขัดในการแก้ปัญหาการโยกย้ายที่ไม่ลงตัว ระดับหัวของหน่วยงานด้านความมั่นคงอีกครั้ง

หลายปีที่ผ่านมา ตำแหน่งเลขา สมช.ส่วนใหญ่เป็นโควตาของทหาร ที่ถูกนำมาแก้ปัญหาการโยกย้ายที่ไม่ลงตัวของกองทัพบก กองบัญชาการทหารสูงสุด และกระทรวงกลาโหม

แต่ปีนี้ เป็นคิวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติวนมาใช้บริการบ้าง หลังเงียบหายไป เพราะเคยใช้บริการแล้ว ‘ติดคอ’ จนส่งผลต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นมาแล้ว

ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปี 2566 ผู้ที่ดำรงตำแหน่งเลขา สมช.ล้วนแต่เป็นนายทหารระดับพลเอก จากทั้งกองทัพบก กองทัพไทย และกระทรวงกลาโหม

  • ตั้งแต่ พล.อ.ทวีป เนตรนิยม ย้ายมาจากตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยทหารพัฒนา กระทรวงกลาโหม มาดำรงตำแหน่งเลขา สมช. ในปี 2558-2560
พล.อ.ทวีป เนตรนิยม
Photo: พล.อ.ทวีป เนตรนิยม
  • พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ ย้ายมาจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม มาดำรงตำแหน่งเลขา สมช. เมื่อปี 2560-2562
  • พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา ย้ายมาจากตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักปลัดกระทรวงกลาโหม มาดำรงตำแหน่งเลขา สมช. เมื่อปี 2562-2563
  • ปี 2563 เป็นคิวที่กองทัพบกใช้บริการบ้าง เมื่อ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ต้องยอมหลบให้รุ่นน้อง ตท. 20 พล.อ.ณรงค์พันธ์  จิตต์แก้วแท้ ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก โดยยอมโยกมารับตำแหน่งเลขา สมช.ในปีสุดท้ายของชีวิตราชการ
  • ปี 2564 เป็นคิวของกองทัพไทย เมื่อการจัดโผตำแหน่งในกองบัญชาการกองทัพไทยไม่ลงตัว ทำให้พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เสนาธิการทหาร สังกัดกองทัพไทย ต้องยอมขยับมาเป็นเลขา สมช. เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.เฉลิมพล  ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองทัพไทยจัดโผและวางตัวนายทหารในกองทัพไทยได้ครบทุกตำแหน่ง ทั้งที่มีอายุราชการเหลืออีก 2 ปี
  • ปี 2566 เป็นคิวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จองใช้บริการมาตั้งแต่ก่อนจะมีการจัดทำบัญชีโยกย้ายภานใน สตช. โดยมีชื่อ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ อาวุโสอันดับ 1 ลอยออกมาจากปทุมวันเป็นระยะ
พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์
Photo: พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์

รอบ พล.ต.อ.รอย เป็นรอบที่ สตช.ขอใช้ตำแหน่งเลขา สมช. รองรับการโยก พล.ต.อ.รอย ออกมาจาก สตช.

ดูจากนัยยะการย้าย ด้านหนึ่งก็เพื่อให้ พล.ต.อ.รอย ได้ดำรงตำแหน่งผู้นำหน่วยในสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในปีสุดท้ายของการรับราชการ

แต่อีกด้านหนึ่ง เมื่อขยับ พล.ต.อ.รอย ก็ย่อมส่งผลให้ตำแหน่ง รองผบ.ตร.ว่างทันที 1 ตำแหน่ง อันหมายถึง จะต้องขยับนายตำรวจที่อยู่ระดับ ผช.ผบ.ตร. หรือเทียบเท่าเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

เมื่อพิจารณานายตำรวจที่อยู่ในตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. หรือเทียบเท่า ที่สามารถขยับขึ้นดำรงแหน่ง รองผบ.ตร.ก็จะมีถึง 12 นาย ประกอบด้วย

ผู้ช่วย ผบ.ตร. 10 นาย 

  1. พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข
  2. พล.ต.ท. ภาณุรัตน์ หลักบุญ
  3. พล.ต.ท.นิรันดร เหลื่อมศรี
  4. พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง
  5. พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร
  6. พล.ต.ท.สำราญ นวลมา
  7. พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธ์
  8. พล.ต.ท.ธนายุตม์ วุฒิจรัสธำรงค์
  9. พล.ต.ท.อัคราเดช พิมลศรี
  10. พล.ต.ท.อิทธิพล อัจริยะประดิษฐ์

และ รองจเรตำรวจแห่งชาติอีก 2 นาย

  1. พล.ต.ท.โสภณรัชต์ สิงหจารุ
  2. พล.ต.ท.ณพวัฒน์ อารยางกูร

ทั้ง 12 นายนี้หากมีการพิจารณาโยกย้ายในเดือนเมษายนที่จะถึง ล้วนมีสิทธิ์ที่จะได้รับการพิจารณา เพื่อเสนอรายชื่อขึ้นดำรงตำแหน่ง รองผบ.ตร.ทั้งสิ้น แม้บางนายจะเกษียณอายุราชการในปีนี้

แต่หากพิจารณาจากลำดับอาวุโส ที่นับจากการขึ้นมาครองตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร.แล้ว พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ก็จะเป็นผู้ช่วยผบ.ตร.ที่อาวุโสอันดับ 1 โดยเป็นผู้ช่วยผบ.ตร. เพียงคนเดียวที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร.ในเดือนตุลาคม 2564

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข
Photo: พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข

ส่วนผู้ช่วยผบ.ตร.ที่เหลือ รวมทั้งรองจเรตำรวจแห่งชาติ ล้วนแต่เพิ่งขึ้นมาดำรงตำแหน่งในปี 2565 และปี 2566

เพราะฉะนั้นหากยึดตามหลักอาวุโส เมื่อ พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ ขยับไปดำรงตำแหน่งเลขา สมช.และหากเดือนเมษายน 2567 มีการพิจารณารายชื่อนายตำรวจที่เหมาะสม เพื่อดำรงตำแหน่งรองผบ.ตร.ที่ว่างลง พล.ต.ท.ประจวบก็ถือว่าเป็น “เต็งหนึ่ง” ทันที

ซึ่งนั่นหมายถึง หากพล.ต.ท.ประจวบ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผบ.ตร.ในเดือนเมษา ก็จะขยับเข้ามาเป็นแคนดิเดตช่วงชิงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนที่ 20 ในการโยกย้ายเดือนกันยายนนี้ทันทีเช่นกัน เพราะพล.ต.ท.ประจวบ แม้จะเกิดปี 2507 แต่เกิดวันที่ 13 พฤศจิกายน 2507 ทำให้จะเกษียณอายุราชการในปี 2568

การขยับ พล.ต.อ.รอย จึงเป็นปฏิบัติการที่เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงปทุมวัน

เพราะถ้าเป็นไปตามนี้ การโยกพล.ต.อ.รอย ก็เป็นการบังเอิญที่คล้าย แต่ไม่เหมือนกับครั้งที่ย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เพื่อขยับ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี จากตำแหน่ง ผบ.ตร.มาเป็นเลขา สมช. และขยับ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร.แทน

เพราะครั้งนี้ลึกซึ้งกว่านั้น เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใช้ตำแหน่งเลขา สมช. กรุยทางข้ามช็อต เพื่อเปิดตำแหน่ง รองผบ.ตร. ขยับพล.ต.ท.ประจวบ จากตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร. ซึ่งเดิมหมดสิทธิ์ลุ้นตำแหน่งผบ.ตร.ไปแล้ว เพราะเกษียณปี 2568 ให้สามารถเข้ามาเป็นหนึ่งในแคนคิเดตช่วงชิงตำแหน่งผบ.ตร.ได้ทันในช่วงปลายปี

นั่นหมายถึงปลายปีนี้ จะมีรองผบ.ตร.และจเรตำรวจแห่งชาติ เข้ามาเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.ถึง 5 คน คือ

1. “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร. อาวุโสอันดับหนึ่ง เพราะแม้จะครองยศ พล.ต.อ.ในตำแหน่งรองผบ.ตร วันที่ 1 ตุลาคม 2565 พร้อมกับ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์ แต่บิ๊กโจ๊กครองตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร. วันที่ 27 มีนาคม 2564 ทำให้บิ๊กโจ๊กมีอาวุโสการครองยศเหนือบิ๊กต่าย

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล, บิ๊กโจ๊ก
Photo: พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล

บิ๊กโจ๊ก เกิดวันที่ 29 ตุลาคม 2513 จึงจะเกษียณอายุราชการในปี 2574  หากได้เป็นผบ.ตร.ในปีนี้ก็จะเป็นผบ.ตร.นานถึง 7 ปี

2. “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผบ.ตร. อาวุโสอันดับสอง ครองยศ พล.ต.อ.ในตำแหน่งรองผบ.ตร วันที่ 1 ตุลาคม 2565 แต่ครองตำแหน่งผช.ผบ.ตร. วันที่ 1 ตุลาคม 2564 หลังบิ๊กโจ๊ก 9 เดือน

พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์
Photo: พล.ต.อ.กิตติรัฐ พันธุ์เพ็ชร์

บิ๊กต่าย เกิดวันที่ 8 ธันวาคม 2568  จึงจะเกษียณอายุราชการในปี 2569 มีสิทธิ์ลุ้นเป็นผบ.ตร.ได้ถึง 2 ปี

3. พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง จเรตำรวจแห่งชาติ อาวุโสอันดับสาม เพราะครองยศพล.ต.อ.ในตำแหน่จเรตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 แม้จะครองตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร. เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 แต่ครองยศ พล.ต.อ.หลังบิ๊กโจ๊กและบิ๊กต่าย

พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง
Photo: พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง

พล.ต.อ.ไกรบุญ เกิดวันที่ 10 พฤศจิกายน 2507 จึงจะเกษียณอายุราชการในปี 2568 มีสิทธิ์ลุ้นเป็นผบ.ตร.ได้ 1 ปี

4. พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผบ.ตร. อาวุโสอันดับสี่ เพราะแม้จะครองยศ พล.ต.อ.พร้อมพล.ต.อ.ไกรบุญ แต่ครองตำแหน่งผู้ช่วยผบ.ตร.วันที่ 1 ตุลาคม 2564 หลังพล.ต.อ.ไกรบุญ หนึ่งปี

พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์
Photo: พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์

พล.ต.อ.ธนา เกิดวันที่ 22 ตุลาคม 2508 จึงจะเกษียณอายุราชการในปี 2569 สามารถลุ้นเป็นผบ.ตร.ได้ 2 ปี

5. ต้องรอการแต่งตั้งโยกย้ายในเดือนเมษายนว่า พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผบ.ตร.จะได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งรองผบ.ตร. หรือไม่ เพราะหากเป็นไปตามนั้น พล.ต.ท.ประจวบ จะเป็นรองผบ.ตร.อาวุโส อันดับห้า ในการพิจารณาตำแหน่งผู้มีสิทธิ์ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในปลายปีนี้

พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข
Photo: พล.ต.อ.ประจวบ วงศ์สุข

ซึ่งหากพิจารณาตามลำดับอาวุโส แน่นอนว่า พล.ต.ท.ประจวบ อยู่ในอาวุโสลำดับสุดท้าย เพราะต้องข้ามอาวุโสมาถึง 4 ลำดับ

แต่หากใช้หลักเกณฑ์การพิจารณาตามความเหมาะสม ประวัติการรับราชการ และการประเมินผลงาน เหมือนปีที่ผ่านมา ว่ากันว่า พล.ต.ท.ประจวบก็น่าจะเป็นเต็งหนึ่ง สำหรับผู้ท้าชิงตำแหน่ง ผบ.ตร.คนใหม่

และปีนี้จะเป็นปีที่ศึกภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะร้อนแรงยิ่งกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เพราะแคนดิเดต ผบ.ตร.ทั้ง 5 ราย ล้วนมีดีกรีไม่ธรรมดาทั้งสิ้น

โดยเฉพาะพล.ต.อ.ไกรบุญ และพล.ต.อ.ประจวบ ที่มีโอกาสลงแข่งได้เพียงครั้งเดียว

ส่วนอาวุโสอันดับ 1 ที่หลายฝ่ายจับตามองว่า จะดิ้นสุดฤทธิ์ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม เพื่อยึดหลักอาวุโสนั้น

แว่วว่าผิดคาด เพราะได้ข่าวว่านั่งตีขิม ทำงานไปเรื่อยๆ ให้ทำอะไร ก็ทำ เพราะถ้าไม่ได้ทำงานแล้วนอนไม่หลับ ส่วนตำแหน่งผบ.ตร.เจ้าตัวบอกรอได้ เพราะอายุราชการยังอีกยาวไกล

รอดูโยกย้ายเดือนเมษาปีนี้ ว่าจะสมช.จะร้อนฉ่าไปถึงเดือนตุลา 2567 หรือไม่ เพราะตุลาปีนี้ พล.ต.ท.สำราญ นวลมา ตท.34 ผู้ช่วยผบ.ตร.ก็จะมีอาวุโสเพียงพอ ที่จะขยับขึ้นมาเป็นรองผบ.ตร. เข้าไลน์มาชิงตำแหน่งผบ.ตร.ในรอบถัดอีกคน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์