หลังการถึงแก่อนิจกรรมของจุฬาราชมนตรี อาศิส พิทักษ์คุมพล เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2566 ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้ประกาศให้วันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 เป็นวันประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อสรรหาและคัดเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่แล้ว
ทันทีที่มีประกาศยืนยันวันคัดเลือกในสังคมสื่อออนไลน์ของพี่น้องชาวมุสลิม ก็ปรากฏรายชื่อและประวัติบุคคลที่เหมาะสม ซึ่งสมควรได้รับการเสนอชื่อเป็นจุฬาราชมนตรีคนใหม่ออกมาทันทีเช่นกัน โดยมีถึง 9 รายชื่อ ประกอบด้วย
- นายอรุณ บุญชม ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร
- นายประสาน ศรีเจริญ ผู้ทรงคุณวุฒิ จุฬาราชมนตรี
- ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ กรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
- รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี
- นายชาฟีอี นภากร อิหม่ามประจำมัสยิดมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย
- นายมับรูก บุญมาเลิศ เลขานุการจุฬาราชมนตรี
- นายอับดุลบาซิ เจ๊ะมะ เจ้าของปอเนาะกาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดยะลา
- ผศ.ดร.อับดุลเลาะห์ หนุ่มสุข ประธานคณะทำงานตรวจร่างสำนวนคำวินิจฉัย (ฟัตวา) จุฬาราชมนตรี
- นายอาลี เสือสมิง
ก่อนที่ท้ายที่สุดจะโฟกัสเหลือเพียง 3 รายชื่อ อรุณ บุญชม, ประสาน ศรีเจริญ และ ดร.วิสุทธิ์ บิลลาเต๊ะ เท่านั้น
เนื่องจากทั้ง 3 คนเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม และได้รับการยอมรับจากพี่น้องมุสลิมทั่วประเทศ

กระบวนการคัดเลือกที่จะมีขึ้นในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 จึงน่าติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะแคนดิเดต จุฬาราชมนตรีทั้ง 3 คน ล้วนเป็นผู้นำศาสนา และเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างยิ่งในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และทำงานใกล้ชิดกับอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีท่านที่ผ่านมาทั้งสิ้น
นอกจากนี้ ทั้ง 3 คนยังอยู่ในฐานะเป็นกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยที่มาจากการคัดเลือกของจุฬาราชมนตรี คือ อาศีส พิทักษ์คุมพล โดยตรงด้วย
โดยเฉพาะอรุณ บุญชม และประสาน ศรีเจริญ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมสำนักจุฬาราชมนตรี เพราะนายอรุณ ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และเป็นรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ส่วนประสาน ศรีเจริญ ดำรงตำแหน่งรองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และรองประธานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย
ขณะที่ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ อีกหนึ่งแคนดิเดต เสียเปรียบในประเด็นนี้เล็กน้อย เพราะเป็นเพียงหนึ่งในคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยเท่านั้น ไม่ได้มีตำแหน่งบริหารในสำนักจุฬาราชมนตรีชุดที่ผ่านมา
กระนั้นแม้คุณสมบัติของแคนดิเดตทั้ง 3 รายจะค่อนข้างสูสี และมีประสบการณ์การทำงานในฐานะทั้งคณะกรรมการกลางอิสลาม และผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี
แต่เมื่อพิจารณาจากกระบวนการคัดเลือกที่ระบุในกฎกระทรวงมหาดไทยที่เกี่ยวกับการสรรหาจุฬาราชมนตรี ที่ระบุว่า
“การคัดเลือกจุฬาราชมนตรี จะต้องมาจากเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ และการประชุมต้องมีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมาประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น จึงจะครบองค์ประชุม”
เงื่อนไขดังกล่าว ทำให้ต้องตรวจสอบฐานเสียงของทั้ง 3 คนว่าใครมีโอกาสได้รับเสียงสนับสนุนจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด (กอจ.) ที่มีอยู่ทั้งหมด 40 จังหวัด 786 คน มากที่สุด เพราะเป็นเสียงชี้ขาดสำหรับการสรรหาจุฬาราชมนตรีในครั้งนี้
เงื่อนไขที่ต้องพิจารณาจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้คาดว่า น่าจะเหลือแคนดิเดต เพื่อเข้าสู่การสรรหาจุฬาราชมนตรีคนใหม่เพียง 2 ท่านเท่านั้น คือ
อรุณ บุญชม ประธานกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี และ ดร.วิสุทธิ์ บิลล่าเต๊ะ กรรมการอิสลามกลางแห่งประเทศไทยเท่านั้น


เนื่องจากนายอรุณ และนายประสาน เป็นเสมือนหนึ่งตัวแทนจากส่วนกลาง คือ กรุงเทพมหานคร ภาคกลางและภาคตะวันออก เมื่อต้องเลือกคนใดคนหนึ่ง นายอรุณน่าจะมีเสียงสนับสนุนมากกว่านายประสาน
ส่วน ดร.วิสุทธิ์ เป็นเสมือนตัวแทนจากภาคใต้ เพราะได้รับการสนับสนุนจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใน 14 จังหวัดภาคใต้
แคนดิเดตที่เหลือเพียง 2 ท่าน คือ นายอรุณ และดร.วิสุทธิ์ เมื่อวิเคราะห์จากฐานคะแนนเสียงของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 786 คน ที่มาจาก 40 จังหวัด เมื่อแยกเป็นภาค จะเห็นว่า
- ภาคใต้เป็นภาคที่มีจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมากที่สุด คือ 377 เสียง
- ส่วนกลางที่ประกอบด้วยกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และกรรมการอิสลามประจำจังหวัดใน ภาคกลางและภาคตะวันออก มีจำนวนคะแนนรองลงมา คือ 298 คะแนน จากกรุงเทพ 30 เสียง จากภาคกลางและภาคตะวันออก 268 เสียง
- ภาคเหนือมี 85 เสียง
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมี 26 เสียง
ฐานคะแนนทั้งหมด ดูผ่านๆ ดร.วิสุทธิ์ จากภาคใต้ ที่มีเสียงสนับสนุน 377 เสียง น่าจะได้เปรียบนายอรุณในฐานะตัวแทนกรรมการอิสลามกรุงเทพมหานคร ที่มีเสียงสนับสนุน 298 เสียง
แต่เมื่อพิจารณาจากตัวแปร คือภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนืออีก 111 เสียง ทำให้ใครสามารถดึง 111 เสียงของทั้ง 2 ภาคมาได้ ก็จะได้เปรียบทันที

การสรรหาจุฬาราชมนตรีเมื่อปี 2553 ซึ่งอาศีส พิทักษ์คุมพล ได้เป็นจุฬาราชมนตรี และเป็นจุฬาราชมนตรีจากสายใต้เป็นครั้งแรก แม้จะได้รับเสียงสนับสนุนจากกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั้งหมดในภาคใต้แบบเป็นเอกฉันท์ แต่การสรรหาครั้งนั้น เป็นการสรรหาจากคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเพียง 35 จังหวัดเท่านั้น ทำให้ภาคใต้ที่มีเสียง 377 เสียงสามารถคุมฐานคะแนนได้แบบเบ็ดเสร็จ
แต่การสรรหาครั้งนี้ มีตัวแปรสำคัญอีกอย่าง เพราะจะเป็นการสรรหาจุฬาราชมนตรีครั้งแรกของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดหลายจังหวัด ทั้งจาก 3 จังหวัดในภาคเหนือ คือ เพชรบูรณ์ ลำปาง และแม่ฮ่องสอน และ 2 จังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ ขอนแก่น และชัยภูมิ ซึ่งอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่มีผลต่อการสรรหาจุฬาราชมนตรีจากภาคใต้เสียเปรียบ
ทั้ง 5 จังหวัด มีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้น 59 เสียง จากขอนแก่น 15 เสียง ชัยภูมิ 11 เสียง เพชรบูรณ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน อีกจังหวัดละ 11 เสียง
ในวันที่ 22 พฤศจิกายนที่จะถึง การสรรหาและคัดเลือกจุฬาราชมนตรีคนใหม่ ที่อาคารหอประชุม ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ กรมการปกครอง ถนนคลองเก้า แขวงคลองสิบ เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการลงคะแนนลับ และจะต้องมีกรรมการอิสลามประจำจังหวัดมาประชุมไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศเท่าที่มี เป็นองค์ประชุม โดย รมว.มหาดไทยหรือผู้ซึ่ง รมว.มหาดไทยมอบหมายเป็นประธานในที่ประชุม
จึงน่าจะเป็นการวัดพลังกันระหว่างฐานคะแนนจากภาคใต้ และจากภาคกลาง โดยมีคะแนนจากภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นตัวชี้ขาด
ว่าจุฬาราชมนตรีคนที่ 19 จะยังอยู่ในภาคใต้ เพื่อเป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่
หรือจะกลับไปเป็นจุฬาราชมนตรีจากส่วนกลางอีกครั้งหรือไม่
22 พฤศจิกายนนี้ มีคำตอบ