รุนแรง ร้อนแรง หนักหน่วงยิ่ง สำหรับอาถรรพ์เดือนตุลาฯ
มิพักต้องจับยามสามตา มิพักต้องเปิดตำราดูดวงดาว เพราะไม่ทันจะครบ 10 วัน อาถรรพ์เดือนตุลาฯ ก็ลุกลามไปเกือบทั่วโลก
เช้าวันที่ 7 ตุลาคม โลกต้องตะลึงกับปฏิบัติการที่เรียกว่า “พายุอัลอักซอ” (Al Aqsa Storm) เมื่อกลุ่มติดอาวุธฮามาส เคลื่อนกำลังจากพื้นที่ยึดครองในเขตฉนวนกาซา บุกเข้าโจมตีทั้งทางอากาศและภาคพื้นดิน ต่อพื้นที่ชุมชนตอนใต้ของอิสราเอล

ภาพขีปนาวุธจำนวนนับพันลูกที่ถูกยิงเบิกทาง และภาพกำลังติดอาวุธของกองพลน้อยอัล-กัสซัมของกลุ่มฮามาสที่รุกเข้ามาทั้งทางอากาศ โดยเครื่องร่อนพารามอเตอร์ และทางบกโดยรถยนต์นานาชนิด เป็นภาพที่ทั้งโลกคาดไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้น
จำนวนผู้เสียชีวิตนับร้อย ที่ส่วนใหญ่เป็นประชาชนผู้บริสุทธิ์ในวันแรก เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นหลักพันในวันถัดมา เมื่ออิสราเอลเปิดฉากยิงจรวดถล่มพื้นที่ชุมชนในเขตฉนวนกาซ่า เพื่อตอบโต้ปฏิบัติการของกลุ่มฮามาส
ไม่นับจำนวนประชาชนและเจ้าหน้าที่ของอิสราเอลที่ถูกจับเป็นตัวประกันอีกนับจำนวนมาก
ปฏิบัติการช็อกโลกครั้งนี้ ส่อเค้าอาจลุกลามเพิ่มขึ้น เมื่อโลกอาหรับต่างขยับตัวประกาศพร้อมเป็นพันธมิตรกับปาเลสไตน์ หากถูกอิสราเอลขยายพื้นที่สู้รบรุกรานไปยังเขตเวสต์แบงก์ อันเป็นพื้นที่ของรัฐปาเลสไตน์
ขณะที่สหรัฐก็เคลื่อนกองเรือบรรทุกเครื่องบิน และเรือรบเข้าสู่น่านน้ำทะเลเมดิเตอเรเนียน เพื่อพร้อมสนับสนุนอิสราเอล หากสถานการณ์ขยายตัวขึ้นเป็นสงครามเต็มรูปแบบ
สถานการณ์ร้อนแรง และท่าทีของพันธมิตรของสองฝ่าย เป็นภาวะการณ์ที่อ่อนไหว และประเทศไทย ที่แม้จะอยู่ห่างไกลจากพื้นที่ขัดแย้ง แต่ก็ต้องทบทวน และระมัดระวังท่าทีอย่างรอบคอบ
เพราะการเดินเกมการทูตที่ผิดพลาด หรือเร่งร้อนเกินไป จะทำให้ไทยมีโอกาสเดินเข้าไปสู่การเป็นคู่ขัดแย้ง ทั้งการตรง และทางอ้อมได้โดยง่าย
การแสดงท่าทีของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่แสดงความเห็นผ่านการโพสต์ในแอปพลิเคชัน X เมื่อช่วงค่ำวันที่ 7 ตุลาคม ที่ประณามการโจมตีอิสราเอล ว่าเป็นการโจมตีที่ไร้มนุษยธรรม ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ และขอแสดงความเสียใจต่อรัฐบาลและประชาชนอิสราเอล โดยขอร่วมกับประชาคมโลกประณามการกระทำดังกล่าว
เป็นการแสดงท่าทีที่ถูกวิพากษ์ว่า ด่วนตัดสินใจเร็วเกินไป และขาดข้อมูลสนับสนุนที่เพียงพอ
แม้ต่อมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ปานปรีย์ พหิทธานุกร จะออกมาปรับท่าทีที่ลดลง และยืนยันว่า ไทยยังไม่ได้มีท่าทีประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ที่นายกรัฐมนตรีออกมาประณาม เป็นการประณามการใช้ความรุนแรง รวมถึงการกระทำต่อผู้บริสุทธิ์ โดยเฉพาะคนไทย เพราะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถรับได้
แต่ท่าทีที่ด่วนแสดงออกที่เร็วเกินไปของนายกรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่รัฐบาลและกระทรวงการต่างประเทศ จะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้น
โดยเฉพาะประเด็นความขัดแย้งที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเช่นนี้!
แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง แม้จะอยู่ห่างจากไทยไปนับพันกิโลเมตร แม้ไทยจะไม่ใช่คู่ขัดแย้งของทั้งสองประเทศ
แต่รัฐบาลไทยจำต้องคำนึงเสมอว่า คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย อาจใช้ไทยเป็นสมรภูมิการโต้ตอบกันนอกพื้นที่สู้รบ
เพราะที่ผ่านมา มีข้อมูลความเคลื่อนไหวของกลุ่มมุสลิมที่ต่อต้านอิสราเอล เข้ามาใช้ไทยเป็นฐานในการโจมตีอิสราเอลมาแล้วหลายครั้ง
พบระเบิดซีโฟร์ 1 ตันกลางสีลม
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2537 ประเทศไทยเกือบต้องสูญเสียอย่างรุนแรงจากการก่อวินาศกรรมกลางเมืองหลวง เมื่อเข้าตรวจรถบรรทุกที่นำมาจอดไว้ที่ลานจอดรถสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี หลังจากเกิดอุบัติเหตุเฉี่ยวชน
การตรวจค้นครั้งนั้น พบสารแอมโมเนียมไนเตรตคลุกเคล้าน้ำมันดีเซลน้ำหนัก 1 ตัน และระเบิดซีโฟร์ในขวดน้ำอัดลมขนาด 2 ลิตร หนัก 2 ปอนด์ หรือเกือบ 1 กิโลกรัม จำนวน 2 ลูก ภายในมีเชื้อปะทุไฟฟ้า 10 ดอก รวมถึงดินระเบิดซีโฟร์ขนาด 1/4 ปอนด์อีก 5 ลูก มีเชื้อปะทุภายในรวม 6 ดอก ซึ่งหากระเบิดจะมีอานุภาพทำลายร้างในรัศมี 1-2 กิโลเมตร
ซึ่งนั่นนับเป็นการพบระเบิดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ และเชื่อว่ามีเป้าหมายที่สถานทูตอิสราเอลในประเทศไทย
เพราะรถบรรทุกคันที่ตรวจพบสารประกอบระเบิด คนร้ายได้ขับมาเฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์บริเวณใกล้กับห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลชิดลม ที่ห่างจากสถานทูตอิสราเอลราว 800 เมตรเท่านั้น ทำให้คนร้ายต้องรีบหนีจากที่เกิดเหตุ โศกนาฏกรรมจึงไม่เกิดขึ้น
ไม่กี่วันถัดมา ผู้เชี่ยวชาญจากอิสราเอลได้เดินทางมาตรวจสอบ และประเมินว่า สารประกอบระเบิดหากสมบูรณ์แบบ จะเป็นคาร์บอมบ์ที่มีรัศมีการทำลายล้างสูงถึง 7 กิโลเมตร
แต่ที่น่าสังเกตก็คือ สูตรการผลิตระเบิดที่ใช้ในครั้งนี้เป็นสูตรเดียวกับที่คนร้ายใช้ในการก่อวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดในเมืองแมนฮัตตันของสหรัฐ
หน่วยสืบราชการลับของอิสราเอล ที่ลงมือตรวจสอบประวัติคนร้ายในครั้งนั้น พบว่าหนึ่งในนั้นคือ แรมซี ยูซุฟ ซึ่งเป็นหนึ่งในสามผู้ก่อการร้ายที่ประเทศในตะวันออกกลางหนุนหลัง และมีส่วนเกี่ยวข้องกับการระเบิดตึกเวิลด์เทรด เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2536
ต่อมาทางการไทยขยายผลต่อ และพบแอมโมเนียม ไนเตรต 25 กระสอบซุกซ่อนอยู่ในบ้านเช่าแห่งหนึ่งที่ชาวอาหรับเข้ามาพัก ทำให้เจ้าหน้าที่พุ่งเป้าผู้ต้องสงสัยไปที่กลุ่มศาสนาที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับอิสราเอล และพบว่าหนึ่งในนั้นก็คือกลุ่มเฮซบอลลอฮ์ ที่ล่าสุดมีฐานที่มั่นอยู่ในเขตเลบานอน ล่าสุดกลุ่มเฮซบอลลอฮ์ก็เตรียมที่จะประกาศโจมตีอิสราเอลเช่นกัน
นอกจากเหตุการณ์ เมื่อปี 2537 ยังปรากฏข้อมูลว่า กลุ่มเฮซบอลลอฮ์ได้เข้ามาใช้ไทยเป็นพื้นที่ในการก่อเหตุโจมตีประเทศตะวันตกและอิสราเอลหลายครั้ง
แต่ละครั้งหน่วยงานความมั่นคงของไทยแทบจะไม่ทราบความเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ หากไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น
จับ ‘ฮัมบาลี’ เจ้าของฉายา “บิน ลาเดน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม ปี 2543 ตำรวจไทยยังจับกุมชายชาวตะวันออกกลางรายหนึ่งได้กลางเมืองอยุธยา และเมื่อนำมาตรวจสอบประวัติพบว่า ชายคนดังกล่าว คือ ริดวน อิซามุดดิน หรือ ฮัมบาลี ซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญในเครือข่ายก่อการร้ายอัลเคด้า เจ้าของฉายาที่ซีไอเอเรียกขานว่า “บิน ลาเดน แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

ฮัมบาลีถูกจับได้ขณะปลอมตัวเป็นนักธุรกิจชาวมาเลเซีย และพบว่าอยู่ในช่วงเตรียมวางแผนก่อเหตุวางระเบิด เพื่อป่วนการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ในกรุงเทพฯ ซึ่งมีผู้นำระดับโลก 21 คนเข้าร่วม
และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ชื่อ “จอร์จ ดับเบิลยู บุช”
ฮัมบาลี เป็นชาวอินโดนีเซีย ชื่อจริงคือ เอนเซป นูร์จามาน เคยใช้ชื่อหลายชื่อ ทั้งที่รู้จักกันดีอย่าง ฮัมบาลี หรือ ริดวน อิซามุดดิน กับที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่าง “แดเนียล ซัวเรซ นาเวอิรา” และ “อาเลฮันโดร เดวิดสัน กอนซาเลซ”
ฮัมบาลีเคยไปร่วมรบในอัฟกานิสถาน จนรู้จักและสนิทสนมกับ โอซามา บิน ลาเดน เมื่อกลับมาก็ทำหน้าที่ระดมทุนให้กับอัลเคดาเพื่อส่งคนไปฝึกที่อัฟกานิสถานและจัดซื้ออาวุธ และกลายเป็น “คนกลาง” สำคัญเชื่อมโยง บิน ลาเดน เข้ากับ อาบู บักการ์ บาเชียร์ ผู้นำขบวนการก่อการร้าย เจมาห์ อิสลามิยาห์ (เจไอ)
ฮัมบาลี ได้ชื่อว่าเป็นคนสำคัญในการวางแผนลอบวางระเบิดแหล่งท่องเที่ยวบนเกาะบาหลีของอินโดนีเซียเมื่อ 12 ตุลาคม ปี 2002 ที่เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,002 คน
หลังถูกจับกุมที่อยุธยา ฮัมบาลีถูกคุมขังในเรือนจำประเทศไทย ก่อนจะถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนให้กับสหรัฐอเมริกา และถูกส่งไปคุมขังที่เรือนจำกวนตานาโม ที่ตั้งอยู่ในฐานทัพเรือกวนตานาโมของสหรัฐที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศคิวบา
ทั้ง 3 เหตุการณ์ล้วนมีข้อมูลทางการข่าวที่ชัดเจนว่า กลุ่มก่อการร้ายหลายกลุ่ม เข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานเตรียมที่จะก่อเหตุหลายครั้ง โดยมีอิสราเอล และสหรัฐอเมริกาเป็นเป้าหมายสำคัญ ซึ่งแม้ทุกครั้งจะยังไม่ประสบความสำเร็จ
แต่ข้อมูลทั้งหมด ก็เป็นข้อมูลที่หน่วยงานด้านความมั่นคง และกระทรวงการต่างประเทศจักต้องประมวล และสรุปเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเพื่อประกอบการตัดสินใจ ทั้งการแสดงท่าที และการออกมาตรการที่รัดกุม
ก่อนที่ไทยจะตกเป็นพื้นที่เป้าหมายในการขยายสมรภูมิ และเป็นพื้นที่โต้ตอบกันอีกครั้ง
และก่อนที่จะเพลี่ยงพล้ำ กลายเป็นการ “ชักน้ำเข้าลึก ชักศึกเข้าบ้าน” โดยไม่ตั้งใจ