จับตาตุลาอาถรรพ์ (EP.5) ชะตากรรมแรงงานไทยในอิสราเอล หินลองทอง ‘เศรษฐา’ นายกฯ ‘มือโปร’ หรือ ‘เทิร์นโปร’

12 ต.ค. 2566 - 17:20

  • ภาพภายนอก ‘เศรษฐา’ ดูตัดสินใจรวดเร็ว เด็ดขาด ด้วยสไตล์การบริหารงานแบบเอกชน

  • ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เศรษฐากลับไม่ฉายแววถึงความเป็นมืออาชีพ เมื่อเทียบกับ ‘ทักษิณ’ และ ‘ลุงตู่’

  • ข้อมูลที่แต่ละหน่วยงานแถลงไม่ตรงกัน ความล่าช้าในการประสานงาน และอื่นมากมาย เป็นบททดสอบว่า ‘เศรษฐา’ เป็นทองจริงหรือไม่

เศรษฐา ทวีสิน, เศรษฐา, นายกรัฐมนตรี, นายก, สงคราม, อิสราเอล, แรงงานไทย, บททดสอบ, การบริหาร, ทักษิณ, ลุงตู่, พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

วิกฤติตุลาฯ อาถรรพ์ ยังร้อนแรง หนักหน่วง และทดสอบความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน อย่างหนัก 
 
ภาพภายนอกแม้จะเห็นนายเศรษฐาตัดสินใจรวดเร็ว เด็ดขาด ใช้สไตล์การบริหารงานแบบเอกชนมาประยุกต์ใช้ในการบริหารประเทศ 
 
แต่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน เศรษฐากลับยังไม่ฉายชัดถึงความเป็นมืออาชีพที่แวววาวสกาวนัก เมื่อเทียบกับสไตล์การบริหารของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร หรือแม้กระทั่ง “ลุงตู่” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

เศรษฐา ทวีสิน, เศรษฐา, นายกรัฐมนตรี, นายก, สงคราม, อิสราเอล, แรงงานไทย, บททดสอบ, การบริหาร, ทักษิณ, ลุงตู่, พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

นายเศรษฐาอาจมองว่า สถานการณ์บางอย่างไม่วิกฤติเพียงพอที่จะต้องหยิบยกรูปแบบการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติหรือ Crisis Management ที่องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ทุกองค์กรจักต้องมีขึ้นมาใช้

นายเศรษฐาอาจมองว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตอนใต้ของอิสราเอล หรือบริเวณฉนวนกาซา ที่มีแรงงานไทยไปทำงานอยู่นับหมื่น ยังเป็นเรื่องไกลตัว

นายเศรษฐาอาจมองว่า การอพยพแรงงานไทยที่แจ้งความจำนงจะกลับประเทศ ซึ่งมีจำนวนล่าสุดทะลุห้าพันคนไปแล้ว อาจไม่ใช่เรื่องวิกฤติ หรืออาจเป็นกระบวนการที่รอได้ เพราะล่าสุดพื้นที่สู้รบแปรจากอิสราเอล ไปสู่พื้นที่ในเขตกาซาแล้ว

นายเศรษฐาอาจเห็นยอดแรงงานที่เสียชีวิต ยังจำกัดอยู่แค่ 20 คน ตามตัวเลขที่มีการแจ้งอย่างเป็นทางการเมื่อบ่ายวันที่ 11 ตุลาคม 2566

เราจึงยังไม่เห็นการบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉินเกิดขึ้น

เราจึงยังไม่เห็นการสั่งการแบบรวมศูนย์หรือ Single Command เกิดขึ้น

เราจึงยังไม่เห็นศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน

เราจึงไม่เห็นการแถลงข่าวแบบ Single Message เกิดขึ้น

ตรงกันข้ามสิ่งที่เห็นในหลายวันที่ผ่านมา คือ แต่ละหน่วยงาน แต่ละกระทรวง ต่างคนต่างทำ ต่างฝ่ายต่างแถลง

นายกรัฐมนตรียังคงกำหนดการเดินทางไปเยือนต่างประเทศตามปกติ

เราเห็นตัวเลขกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงแรงงานที่ไม่สอดคล้องกัน

เราเห็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงข่าวการอพยพคนไทยกลับ โดยใช้พื้นที่ท่าอากาศยานทหารของกองทัพอากาศเป็นที่แถลง

เราเห็นความไม่ประสีประสาของแผนการอพยพที่ถูกตั้งคำถามในหลายแง่มุม ทั้งจำนวนอากาศยานที่ใช้ และความล่าช้าในการประสานงานกับรัฐบาลอิสราเอล ถึงแผนการขอใช้น่านฟ้า

นายกรัฐมนตรีใช้เวลา 5 วันที่ผ่านไปอย่างสิ้นเปลือง

เป็นฟุตบอล ก็เรียกว่า ใช้โอกาสเปลืองในการทำประตู

ท่าทีเช่นนี้ อย่าโกรธ หากมีคนโหยหาถึงอดีตนายกรัฐมนตรี 2 ท่าน

อย่ารู้สึกไม่ดีหากถูกเปรียบเทียบกับอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร และพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา

เพราะทั้ง 2 ท่านโดดเด่น เห็นชัด และสุกสกาววาวยิ่ง สำหรับการตัดสินใจในภาวะการณ์เช่นนี้

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางตอนใต้ของอิสราเอลรอบนี้ พิเคราะห์จากตำแหน่งที่เกิดเหตุ ประเมินจากคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่าย

ไทยอาจไม่จำเป็นต้องยกระดับขึ้นสู่สถานการณ์วิกฤติ สถานการณ์ที่นายกรัฐมนตรีต้องเปิด Hot Line ถึงผู้นำอิสราเอล

แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ เกิดเหตุรุนแรงขึ้นในพื้นที่ที่มีแรงงานอยู่เป็นหมื่น

อย่าแปลกใจที่ทำไมคนไทยเสียชีวิตมากกว่าคนต่างชาติประเทศอื่นๆ

อย่าแปลกใจที่ทำไมคนไทยบาดเจ็บ และถูกจับเป็นตัวประกันมากกว่าชาติอื่น

อย่าแปลกใจที่ยอดผู้สูญหายของแรงงานไทย ยังอยู่ภาวะการณ์ที่ยังประเมินไม่ได้

นั่นเพราะไทยมีแรงงานที่เข้าไปทำงานในภาคเกษตรที่นั่นมากที่สุด

ตัวเลขทางการน่าจะเกินหมื่น

ส่วนตัวเลขนอกระบบยังสรุปไม่ได้

คนไทยจำนวนนับหมื่นอยู่ในพื้นที่สงคราม อยู่ระหว่างสงครามขีปนาวุธของทั้งสองฝ่าย ในจำนวนนั้น 5 พันคนแสดงความจำนงจะขอกลับประเทศ

ถ้าเรายังไม่คิดจะยกระดับสถานการณ์บัญชาการขึ้นเป็น War Room และมีศูนย์สั่งการแบบ Single Command และมีการสื่อสารแบบไม่สร้างความสับสนแบบ Single Message แล้วเราจะรอเวลาไหนครับ

ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยเคยตัดสินใจเปิดปฏิบัติการครั้งสำคัญ ที่ต้องบูรณาการหน่วยงานทั้งหมดเข้าด้วยกัน โดยนายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการแบบเด็ดขาดมาแล้ว 3 ครั้ง

  • ครั้งแรก เป็นปฏิบัติการโปเชนตง จากเหตุจลาจลกลางกรุงพนมเปญ เมื่อปี 2546
  • ครั้งที่สอง คือเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มพื้นชายฝั่งทะเลภาคใต้ของไทย เมื่อปี 2547
  • และล่าสุด วิกฤติโควิดปี 2562

สองครั้งแรกเป็นรัฐบาลของ ทักษิณ ชินวัตร

ส่วนครั้งล่าสุดเป็นรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ปฏิบัติการโปเชนตง พ.ศ.2546

ปฏิบัติการโปเชนตง เมื่อปี 2546 คุณทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นการฉุกเฉิน ทันทีที่ได้รับรายงานว่า เกิดเหตุจลาจลกลางกรุงพนมเปญ และมีทรัพย์สินของคนไทยถูกเผาทำลายหลายแห่ง

ก่อนจะมีมติคณะรัฐมนตรีประณามอย่างรุนแรง และยื่นหนังสือประท้วงต่อเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย พร้อมส่งตัวทูตกัมกูพชากลับประเทศ และลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตลงทันที

ขณะเดียวกันพลเอกธรรมรักษ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้นำปลัดกลาโหม และผู้นำทั้ง 4 เหล่าทัพ เข้าประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรี ก่อนจะตัดสินใจเปิดปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่ เพื่ออพยพคนไทยในกัมพูชากลับ

ครั้งนั้นนายกฯ ทักษิณ มอบหมายให้พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยกองบัญชาการทหารสูงสุดได้จัดตั้ง ศูนย์ปฏิบัติการเพื่อควบคุมและอำนวยการเหตุการณ์ ภายใต้การสั่งการของผบ.สส. ในรหัส “ปฏิบัติการโปเชนตง

ปฏิบัติการโปเชนตงสามารถอพยพคนไทยทั้งหมดกลับสู่ประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย แม้จะเกิดการสูญเสียกำลังพลของกองทัพเรือจากเหตุเฮลิคอปเตอร์ตก แต่ก็ถือว่าเป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ

สึนามิ พ.ศ.2547

เหตการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เป็นอีกครั้งที่นายฯ ทักษิณสั่งการอย่างฉับไว และมีการบูรณาการทุกหน่วยงานเข้าด้วยกัน โดยมีการประชุมคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และมอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงไปคอยสั่งการในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

เศรษฐา ทวีสิน, เศรษฐา, นายกรัฐมนตรี, นายก, สงคราม, อิสราเอล, แรงงานไทย, บททดสอบ, การบริหาร, ทักษิณ, ลุงตู่, พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, สึนามิ, 2547
Photo: ทักษิณ ชินวัตร ลงพื้นที่หลังจังหวัดพังงา หลังเกิดสึนามิ พ.ศ.2547 (AFP - Pornchai Kittiwongsakul)

การสั่งการที่รวดเร็ว โดยใช้กลไกการประชุมครม.เป็นเครื่องมือช่วยในการตัดสินใจ และการมอบหมายงานให้รัฐมนตรีมีอำนาจในการดำเนินการได้ทันที หากเป็นการตัดสินใจในขอบเขตอำนาจที่ได้รับการมอหมาย ทำให้ทุกขั้นตอนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และรองรับในการแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที

การทุ่มเทลงพื้นที่ในครั้งนั้น โดยไม่ทิ้งกำหนดการหาเสียงในพื้นที่อื่น ทั้งที่ขณะนั้นอยู่ในช่วงใกล้จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2548 ทำให้ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ได้คะแนนนิยมกลับมาจากประชาชนอย่างล้นหลามอีกครั้ง จนชนะการเลือกตั้งแบบเด็ดขาดในปีนั้น

รวมทั้งยังทำให้ กฤษ สีฟ้า ปักธงไทยรักไทยลงในภาคใต้ที่จังหวัดพังงาได้สำเร็จเป็นครั้งแรก

“ลุงตู่” กับโมเดล ศบค. มาตรการควบคุม “โควิด”

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นรัฐบาลตัวแทนของพรรคข้าราชการ เพราะยึดระเบียบราชการ และให้ความสำคัญกับคนในวงการราชการมากกว่าจะใช้นักการเมืองหรือภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ

เศรษฐา ทวีสิน, เศรษฐา, นายกรัฐมนตรี, นายก, สงคราม, อิสราเอล, แรงงานไทย, บททดสอบ, การบริหาร, ทักษิณ, ลุงตู่, พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่การตัดสินใจในเรื่องมาตรการควบคุมโควิดได้รับการยอมรับว่า เป็นการตัดสินใจที่เด็ดขาด หลังจากพลเอกประยุทธ์ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการศูนย์ที่มีการถ่ายโอนอำนาจจากรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ มาขึ้นอยู่ภายใต้การสั่งการของผู้อำนวยการ ศบค.

มาตรการทั้งหมด แม้ถูกโจมตีว่าเป็นการรวมศูนย์อำนาจ และฉวยโอกาสใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 รวบอำนาจการบริหารมาไว้ในมือ และมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะสั่งการ ดำเนินการ ออกมาตรการตามที่ระบุในพ.ร.ก.ฉบับนี้ แต่การควบคุมที่ได้ผล และมีมาตรการที่ชัดเจน ทำให้ไทยได้รับการยอมรับว่า เป็นประเทศที่มีมาตรการที่ดีติดอันดับโลกในการรับมือสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19

การตัดสินใจทั้ง 3 ครั้งของรัฐบาลที่ผ่านมา แม้จะฉับไว ทันการ แต่เป็นความฉับไวที่ผ่านการกลั่นกรอง มีการประชุมคณะรัฐมนตรีแบบฉุกเฉิน เพื่อหารือและเลือกมาตรการที่เหมาะสม เด็ดขาด และเห็นผลที่ชัดเจน

ขณะที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน อาจจะรวดเร็วจริง แต่รวดเร็วในการแสดงท่าทีผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียจนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า “ไม่เหมาะสม” และ “ไม่รอบคอบ” ในการแสดงท่าทีเช่นนั้น

นายกฯ เศรษฐาไม่เลือกวิธีประชุมครม.ฉุกเฉิน แต่เลือกวิธีสั่งการตรง และให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงออกมาให้สัมภาษณ์สื่อ

แผนอพยพที่ยังมีจุดอ่อน จำนวนตัวเลขผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญหาย และผู้ที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ยังไม่ถูกแถลงแบบรวมศูนย์

แม้ล่าสุดนายเศรษฐาจะสั่งการให้เพิ่มเที่ยวบินให้เพียงพอ สำหรับการอพยพคนไทยกลับประเทศ ตามจำนวนที่มีการแสดงความจำนงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่มีมาตรการที่เรียกว่า บูรณาการแบบรวมศูนย์สั่งการ ไม่มีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจน

การอพยพคนไทยกลับประเทศ ไม่ได้มีเพียงการนำคนไทยขึ้นเครื่องบินกลับมาเท่านั้น เพราะคนไทยจำนวนมาก ยังอยู่ในพื้นที่ล่อแหลมที่อาจต้องใช้คาราวานรถบรรทุกลำเลียงคนไทยมายังสนามบินในกรุงเทลอาวีฟ

การประสานเส้นทางการบินที่ต้องบินผ่านน่านฟ้าหลายประเทศ การเตรียมกำลังที่ต้องขึ้นไปอากาศยานแต่ละลำ ชุดปฏิบัติการพิเศษ แพทย์ พยาบาล และทีมประสานงาน เจ้าหน้าที่แต่ละกระทรวงไม่สามารถดำเนินการเพียงลำพังได้ หากไม่มีศูนย์ปฏิบัติการ หรือศูนย์สั่งการที่มีอำนาจเต็ม

ทั้งหมดเป็นเรื่องที่นายเศรษฐาต้องเร่งรีบในการตัดสินใจมากกว่า

ถึงเวลาที่ผู้บัญชาการกองทัพไทยต้องเข้ามามีบทบาทใน Operation ที่ต้องบูรณาการกำลังทุกเหล่าทัพหรือยัง

ถึงเวลาที่ต้องมีศูนย์ปฏิบัติการที่มีอำนาจเต็มในการสั่งการหรือยัง

ถึงเวลาที่จะต้องมีศูนย์แถลงข่าวที่ไม่สร้างความสับสนหรือยัง

ถึงเวลาที่จะต้องมีศูนย์ประสานงานดูแลและรับข้อมูลจากญาติแรงงาน เพื่อข้อมูลที่ถูกต้องหรือยัง

หรือยังต้องให้แต่ละกระทรวง แต่ละหน่วยงานต่างคนต่างทำต่อไป

เศรษฐา ทวีสิน, เศรษฐา, นายกรัฐมนตรี, นายก, สงคราม, อิสราเอล, แรงงานไทย, บททดสอบ, การบริหาร, ทักษิณ, ลุงตู่, พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งหมดเปรียบดัง ‘หินลองทอง’ ที่จะทดสอบความสามารถของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่าเป็นนักบริหารมืออาชีพ ที่เรียกว่า ‘มือโปร’ หรือยังเป็นเพียงนักบริหารที่ ‘รอเทิร์นโปร’ เท่านั้น

แต่จะตัดสินใจยังไง ก็อย่าให้อายลุงนะครับ

เพราะอย่างน้อยที่สุด ลุงก็แสดงให้เห็นถึงการตัดสินใจที่เด็ดขาดและเฉียบขาดมาแล้ว

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์