คืนวันอังคารที่ 17 ตุลาคมที่ผ่านมา วัดสำคัญและสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หลายแห่ง เนืองแน่นไปด้วยผู้คนที่แห่แหนกันไปสวดมนต์ และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เนื่องใน ‘วันพระราหูย้าย’
เพราะเชื่อกันว่า เมื่อพระราหูซึ่งเป็นดาวสำคัญด้านบาปเคราะห์เคลื่อนออกจากราศีเมษ อันเป็นราศีประจำเมือง จะทำให้สถานการณ์ความร้อนระอุ และวุ่นวายที่เกิดขึ้นภายในประเทศลดระดับลง และกลับไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น
ค่ำคืนนั้น หลายคนคงภาวนาและขอพรให้เป็นดั่งคำทำนาย
แต่รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงมีหลายความเคลื่อนไหวที่ส่อจะเป็นเชื้อไฟที่สุมและพร้อมจะปะทุให้ลุกโชนขึ้นมาได้ตลอดเวลา โดยเฉพาะความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ที่ผ่านมา แม้ไฟในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูเหมือนจะมอดลง จากท่าทีของ “ผบ.ต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ชักฟืนออกจากกองไฟ ด้วยการสร้างบรรยากาศความปรองดองให้เห็น ทั้งการเปิดโอกาสให้ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผบ.ตร.เข้าพบ และมีภาพการกินข้าวร่วมกันในบรรยากาศที่ชื่นมื่น
แต่ก็ใช่จะกลบร่องรอยความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติลงได้ทั้งหมด

การแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับผู้บัญชาการขึ้นไป เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2566 ที่มีบางตำแหน่งสลับสับเปลี่ยนจากบัญชีแต่งตั้งรอบก่อน แม้ดูจะราบรื่นไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะหลายตำแหน่งยึดหลักอาวุโส และคืนความชอบธรรมให้กับนายตำรวจที่ค้างเติ่งในตำแหน่งเดิมมาหลายปี ทั้งที่ผลงานและอาวุโสถึงเกณฑ์มาหลายปีแล้ว
อย่างเช่น พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผบช.น. ที่พลาดหวังมาทุกฤดูกาล ครั้งนี้มีรายชื่อได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 และ พล.ต.ต.ฐากูร นัทธีศรี รองผบช.ภ. 3 ที่ครั้งนี้ได้ขยับขึ้นดำรงตำแหน่ง ผบช.ภ.3
ทั้งพล.ต.ต.จิรสันต์ และพล.ต.ต.ฐากูร เหลืออายุราชการเพียงปีเดียว เพราะจะเกษียณอายุราชการในปี 2567
ปีนี้จึงถือว่า ทั้งคู่เป็นผู้บัญชาการที่ได้รับคืนความชอบธรรมจากกฎอาวุโสโดยตรง
โดยเฉพาะ พล.ต.ต.จิรสันต์ 2-3 ปีที่ผ่านมา ติดโผรายชื่อว่าที่ผู้บัญชาการมาทุกรอบ แต่ก็พลาดหวังทุกรอบ
อย่างไรก็ตามแม้การแต่งตั้งจะดูราบรื่น แต่ก็ยังมีความพยายามที่จะขยายภาพให้เห็นถึงการวางหมากอย่างแยบยล และยังมีร่องรอยความขัดแย้งปรากฏอยู่ภายใต้มติการเสนอชื่อครั้งนี้
โดยเฉพาะการวางหมากเพื่อสกัดเส้นทางการก้าวสู่ตำแหน่งผบ.ตร.ของบิ๊กโจ๊ก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ที่ปีหน้าจะขยับขึ้นเป็นรองผบ.ตร.ที่มีอาวุโสลำดับ 1 ที่หากยึดโยงกับหลักอาวุโส พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ก็จะนับเป็นแคนดิเดต ผบ.ตร.ที่มีคุณสมบัติครบทันที

ผู้ช่วยผบ.ตร. 3 รายที่ขยับเข้าสู่ตำแหน่งรองผบ.ตร. และจเรตำรวจแห่งชาติในปีนี้ ประกอบด้วย
- พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้ช่วย ผบ.ตร. ขยับเป็นจเรตำรวจแห่งชาติ
- พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผบ.ตร. ขยับขึ้นเป็น รองผบ.ตร.
- พล.ต.ท.ธนา ชูวงศ์ ผู้ช่วยผบ.ตร. ขยับขึ้นเป็น รองผบ.ตร.
ซึ่งนั่นเท่ากับในปีนี้จะมี รองผบ.ตร. 5 ราย คือ
- พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ เกษียณอายุราชการปี 2567
- พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เกษียณอายุราชการปี 2574
- พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เกษียณอายุราชการปี 2569
- ว่าที่พล.ต.อ.สราวุฒิ การพานิช เกษียณอายุราชการปี 2567
- ว่าที่พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ เกษียณอายุราชการปี 2569
และตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ ว่าที่พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง เกษียณอายุราชการปี 2567
เมื่อพิจารณาจาก 5 รองผบ.ตร และจเรตำรวจแห่งชาติ ที่มีสิทธิ์เป็นแคนดิเดตที่จะได้รับการเสนอชื่อขึ้นเป็นผบ.ตร.คนใหม่ในปีหน้า จะเห็นว่าเหลือเพียง 3 รายเท่านั้นที่จะเป็นแคนดิเดตว่าที่ผบ.ตร.คนใหม่ คือ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์, พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ และว่าที่พล.ต.อ.ธนา
เพราะทั้งพล.ต.อ.รอย ว่าที่พล.ต.อ.สราวุฒิ และว่าที่พล.ต.อ.ไกรบุญ ต่างเกษียณอายุราชการพร้อมกันในปี 2567
การวางหมากรอบนี้ทำให้ปีหน้า พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หากยังรักษาเก้าอี้ในตำแหน่งรองผบ.ตร.เอาไว้ได้ ก็ต้องช่วงชิงตำแหน่งผบ.ตร.กับ “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิติรัฐ์ และว่าที่พล.ต.อ.ธนา
แม้พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ จะได้เปรียบทั้งหลักอาวุโส และผลงานที่ผ่านมา ด้วยการคลี่คลายคดีสำคัญมาเป็นจำนวนมาก
แต่คู่ชิงทั้ง 2 คน ต่างก็ไม่ธรรมดาเช่นกัน พล.ต.อ.กิตติรัฐ์ เป็นคนสนิทของอดีตผบ.ตร. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข
ขณะที่พล.ต.อ.ธนา ก็เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายเวรของ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตรองผบ.ตร. ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พล.ต.อ.กิตติรัฐ์ เป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 41 เตรียมทหาร 25 พล.ต.อ.ธนา เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่น 42 เตรียมทหาร 26
ทั้งพล.ต.อ.กิตติรัฐ์ และว่าที่พล.ต.อ.ธนาเกษียณพร้อมกัน คือปี 2569 ส่วนพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เกษียณ 2574
ในปีหน้า หาก “บิ๊กโจ๊ก” ได้รับแต่งตั้งเป็นผบ.ตร. แน่นอนว่าทั้งพล.ต.อ.กิตติรัฐ์ และว่าที่พล.ต.อ.ธนา ก็จะเกษียณอายุราชการที่ตำแหน่งรองผบ.ตร.ทันที เพราะเกษียณในปี 2569
ฉะนั้น ทั้งคู่มีเวลาเพียงปีเดียว ที่จะต้องสร้างผลงาน เพื่อแข่งขันกับพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หากต้องการจะดำรงตำแหน่งผบ.ตร.

ขณะที่ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ปีหน้าที่คุณสมบัติครบทุกอย่าง ก็ต้องทำเต็มที่ เพื่อการก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งเช่นกัน เพราะหากพลาดก็ต้องรอถึงปี 2569 ซึ่งหากถึงเวลานั้นก็ยังมีแคนดิเดตที่ขยับจากผู้ช่วยผบ.ตร.มาจ่อคิวพร้อมเป็นคู่แข่งอีกหลายราย
ทั้งพล.ต.ท.สำราญ นวลมา ผู้ช่วยผบ.ตร. ที่คาดว่าในปีหน้าจะขยับขึ้นเป็นรองผบ.ตร. เกษียณอายุราชการในปี 2576
พล.ต.ท.อิทธิพล อัจริยะประดิษฐ์ ที่ขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยผบ.ตร.ในปีนี้ เกษียณอายุราชการปี 2572
ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นหมากที่วางส่งต่อกันพร้อมที่จะสกัด พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ไม่ให้ไปถึงดวงดาวทั้งสิ้น
ไม่นับรวมความพยายามที่จะส่ง พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ออกไปเติบโตนอกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ที่ยังคงมีกระแสข่าวอยู่ตลอดเวลา เพราะจนล่าสุดก็ยังไม่มีการแต่งตั้งเลขาธิการ ป.ป.ส.คนใหม่ แทนนายวิชัย ไชยมงคล ที่เพิ่งเกษียณอายุราชการไปสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ซี่งนั่นคือสัญญาณความขัดแย้งที่รอวันปะทุ และลุกไหม้ได้ตลอดเวลา ตราบใดที่การสกัดพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ออกจากเส้นทางผบ.ตร.ยังไม่สำเร็จ
เพราะปีหน้าหากพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งผบ.ตร.สำเร็จ นายตำรวจที่เกษียณอายุราชการก่อนปี 2574 ก็จะหมดโอกาสที่ก้าวขึ้นสู่เบอร์หนึ่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทันที
ไม่เพียงแค่นั้น ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตของนายตำรวจตั้งแต่ระดับผู้กำกับการ ผู้บังคับการ ผู้บัญชาการ ที่ไม่ได้อยู่ในสายงานของพล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เช่นกัน

หนึ่งปีนับจากนี้จึงต้องจับตาความเคลื่อนไหวของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การขับเคลื่อนของ “บิ๊กต่อ” พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร.ที่จบรัฐศาสตร์ว่า จะนำหลักการปกครองมาบริหารจัดการความขัดแย้งภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาตินับจากนี้ได้อย่างไร
และฟืนที่พยายามถอนออกจากกองไฟ จะกลับมาโหมลุกไหม้เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่