ตุลาฯ ยังอาถรรพ์ ผ่านวันราหูย้าย 19 ปีตากใบ ในวันที่ไร้จุฬาราชมนตรี ‘อาศิส พิทักษ์คุมพล’

25 ต.ค. 2566 - 08:10

  • 25 ตุลาคมปีนี้ ครบรอบ 19 ปีตากใบ เหตุความรุนแรงที่เป็นชนวนความขัดแย้งภาคใต้หลัง พ.ศ.2547

  • การถึงแก่อนิจกรรมของ ‘อาศิส พิทักษ์คุมพล’ จุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของไทย ซึ่งเป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จะเป็นเหตุให้ไฟใต้ที่ยังไม่มอดดับลุกโชนอีกครั้งหรือไม่

  • สงครามอิสราเอล-ปาเลสไตน์อาจส่งแรงกระเพื่อมมายังกลุ่มมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้

ตุลาอาถรรพ์, ทักษิณ ชินวัตร, ทักษิณ, ตากใบ, สามจังหวัดชายแดนใต้, จังหวัดชายแดนใต้, ไฟใต้, อาศิส พิทักษ์คุมพล, จุฬาราชมนตรี, โศกนาฏกรรม, ชนวนความขัดแย้ง, นราธิวาส

เช้าของวันที่ 25 ตุลาคม เมื่อ 19 ปีก่อน (พ.ศ.2547) ตลาดตากใบที่ปกติคึกคักด้วยผู้คนสัญจรไปมาระหว่างเมืองตาบา ในเขตประเทศมาเลเซีย และอำเภอตากใบในฝั่งประเทศไทย

เช้าวันนั้น กลับมีความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เมื่อผู้คนจำนวนหนึ่งทยอยกันเดินทางไปรวมตัวกันที่หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ พร้อมเรียกร้องให้ตำรวจปล่อยตัวชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน จำนวน 6 คน ที่ถูกจับกุมตัวในข้อหา อาจมีส่วนรู้เห็นเป็นใจมอบอาวุธประจำกายให้กับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเอาไปก่อเหตุ

การชุมนุมที่เริ่มต้นจากผู้คนจำนวนไม่มากนักในช่วงเช้า ทวีจำนวนมากขึ้นเนืองแน่นจนล้นไปบนถนนสายหลักบริเวณหน้าสถานีตำรวจ 

ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มผู้ชุมนุม ที่เช้าวันนั้นหลายคนมีผ้าคาดปกปิดใบหน้า ขณะที่ประชาชนอีกจำนวนมาก ส่วนใหญ่มามุงดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ว่ากันว่า บ่ายวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีผู้คนจำนวนมากกว่าหนึ่งพันคนอยู่ในพื้นที่

สถานการณ์ที่ตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เจ้าหน้าที่เตรียมที่จะปล่อยตัวชุดชรบ. (ชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน) ทั้ง 6 คน เพื่อลดอุณหภูมิความขัดแย้งลง

แต่ท้ายที่สุด ระหว่างรอคำสั่งปล่อยตัวอย่างเป็นทางการ สถานการณ์ก็บานปลาย เมื่อเกิดเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้ชุมนุม จนนำมาสู่คำสั่งสลายการชุมนุมแบบเด็ดขาด

การสลายการชุมนุมเริ่มด้วยการปิดล้อมเส้นทางเข้า-ออกพื้นที่ชุมนุมในทุกด้าน และจับกุมผู้คนที่อยู่ในพื้นที่นั้นทั้งหมด ซึ่งหลังปล่อยตัวเฉพาะเด็ก ผู้หญิง และคนสูงอายุ ยังมีปริมาณผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมถึง 1,370 คน และมีผู้เสียชีวิตในพื้นที่ 7 คน

ตุลาอาถรรพ์, ทักษิณ ชินวัตร, ทักษิณ, ตากใบ, สามจังหวัดชายแดนใต้, จังหวัดชายแดนใต้, ไฟใต้, อาศิส พิทักษ์คุมพล, จุฬาราชมนตรี, โศกนาฏกรรม, ชนวนความขัดแย้ง, นราธิวาส
Photo: ภาพเหตุการณ์ตากใบ ขณะผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่รัฐควบคุมตัว ก่อนนำตัวไปค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี (นิทรรศการ สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547)

ปริมาณผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมถึง 1,370 คน ทำให้ต้องใช้รถขนส่งจำนวนมาก และด้วยระยะเวลาที่มีไม่มากนัก เนื่องจากเป็นช่วงใกล้ค่ำ ทำให้ไม่สามารถนำรถกลับมาลำเลียงผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมได้อีกรอบ

เย็นวันนั้นเจ้าหน้าที่จึงตัดสินใจนำผู้ชุมนุมทั้ง 1,370 คนที่ถูกมัดมือไพล่หลัง และถูกถอดเสื้อ อัดเข้าไปในรถบรรทุกที่มีเพียง 28 คัน (อ้างอิงข้อมูลสถาบันพระปกเกล้า)

เท่ากับโดยเฉลี่ยแต่ละคันจะต้องบรรทุกผู้ที่ถูกจับกุมถึง 50 คน มากกว่าค่าเฉลี่ยที่เคยบรรทุกได้ประมาณคันละไม่เกิน 30 คน เกือบเท่าตัว

ระยะทาง 150 กิโลเมตร จากสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส ไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

ฝนที่ตกอย่างหนักลงมาในเย็นวันนั้น

สภาพร่างกายของผู้ชุมนุมที่ถูกมัดมือไพล่หลัง และนอนอัดแน่นซ้อนกันอยู่ในรถบรรทุกที่มีผ้าใบคลุมหลังคาเอาไว้

ผู้คนที่อยู่ในระหว่างถือศีลอด ซึ่งไม่ได้กินอาหารและน้ำมาตลอดทั้งวัน

ตุลาอาถรรพ์, ทักษิณ ชินวัตร, ทักษิณ, ตากใบ, สามจังหวัดชายแดนใต้, จังหวัดชายแดนใต้, ไฟใต้, อาศิส พิทักษ์คุมพล, จุฬาราชมนตรี, โศกนาฏกรรม, ชนวนความขัดแย้ง, นราธิวาส
Photo: คนเข้าชมนิทรรศการ 'สดับเสียงเงียบ จดจำตากใบ 2547 สัญจร: นราธิวาส' ณ เดอ ลาแป อาร์ตสเปซ นราธิวาส (Deep South Mesuem)

ที่สุด 78 คนใน 1,370 คน ก็อยู่ในสภาพที่ทนไม่ไหว เสียชีวิตจากสภาพขาดอากาศหายใจ และร่างกายถูกกดทับ

อีกหลายคนบาดเจ็บ ต้องส่งโรงพยาบาลทันที และต่อมาหลายรายพิการแขน ขาลีบ จากสภาพร่างกายที่ถูกกดทับเป็นเวลานาน

7 ศพในพื้นที่ชุมนุม 78 ศพระหว่างการขนส่ง

รวมมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่อำเภอตากใบถึง 85 ราย และหลังการสอบประวัติ สอบปากคำหนึ่งพันกว่าคนที่เหลือ เจ้าหน้าที่สามารถตั้งข้อหาและดำเนินคดีผู้ชุมนุมได้เพียง 58 คนเท่านั้น และต่อมาศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องทั้ง 58 คนให้พ้นข้อหา เนื่องจากมีหลักฐานไม่เพียงพอต่อการดำเนินคดี

บาดแผลของเหตุการณ์ในคืนวันนั้น ถูกจดจำ และถูกบันทึกอย่างละเอียด ทั้งฉบับเป็นทางการ และฉบับที่ไม่เป็นทางการ ขึ้นอยู่ว่าใครจะเป็นผู้เล่า

ตุลาอาถรรพ์, ทักษิณ ชินวัตร, ทักษิณ, ตากใบ, สามจังหวัดชายแดนใต้, จังหวัดชายแดนใต้, ไฟใต้, อาศิส พิทักษ์คุมพล, จุฬาราชมนตรี, โศกนาฏกรรม, ชนวนความขัดแย้ง, นราธิวาส
Photo: ป้ายภาพ ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้นในจังหวัดปัตตานี ถ่ายเมื่อ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2547 หลังเกิดเหตุที่ตากใบ 5 วัน ทักษิณกล่าวว่ารัฐบาลจะดำเนินคดีกับชาวมุสลิม 300 คนที่ถูกควบคุมตัวระหว่างการจลาจลที่ทำให้ผู้ประท้วงเสียชีวิต 87 คน ในขณะที่อีก 900 คน จะได้รับการปล่อยตัว (AFP / Pornchai Kittiwongsakul)

ว่ากันว่าเมื่อ 19 ปีก่อน เด็กหนุ่มและชายฉกรรจ์ จำนวนกว่าพันคนที่ถูกจับกุมในวันนั้น ซี่งมีอายุเฉลี่ยอยู่ในระหว่าง 18–35 ปี หลังถูกปล่อยตัว เมื่อเจ้าหน้าที่พบว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด

ส่วนหนึ่งกลับบ้าน และเก็บตัวเงียบอยู่กับร่องรอยบาดแผล ทั้งบาดแผลที่ปรากฏบนร่างกาย และบาดแผลที่กรีดลึกอยู่ในใจ

แต่อีกส่วนหนึ่ง หายตัวไปจากหมู่บ้าน ส่วนหนึ่งออกนอกประเทศ ส่วนหนึ่งไปรวมตัวในหลายพื้นที่ แต่ทั้งสองส่วนล้วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือเข้าอบรมการใช้อาวุธ อบรมการก่อเหตุ และอบรมขบวนการทางการเมือง

และนั่นคือ จุดเริ่มต้นของ ขบวนการ RKK ขบวนการคนรุ่นใหม่ที่เป็นกองกำลังติดอาวุธ และเป็นกองกำลังที่เต็มไปด้วยความเคียดแค้น

ตลอด 19 ปีที่ผ่านมาของสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังหลักส่วนหนึ่งก็ล้วนมาจากคนเหล่านี้

ผ่านไป 19 ปี แม้คนเหล่านี้จะเริ่มอ่อนล้า เริ่มโรยรา หลายคนโหยหาที่จะกลับบ้าน โหยหาความอบอุ่นจากครอบครัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไฟใต้จะมอดเชื้อ หรือมอดดับ ตรงกันข้ามเชื้อไฟในพื้นที่กลับถูกโหมขึ้นเป็นระยะ

25 ตุลาคมของทุกปี เรื่องราวของโศกนาฏกรรมตากใบจะถูกหยิบยกขึ้นมาเล่าใหม่ และส่งต่อไปยังรุ่นต่อรุ่น ตอกย้ำความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นในวันนั้น

25 ตุลาคม 2566 อาจต้องจับจ้อง และติดตามการเล่าเรื่องโศกนาฏกรรมตากใบอย่างใกล้ชิด ท่ามกลาง 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น

หนึ่ง คือ สถานการณ์ความรุนแรงระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่กำลังลุกลามไปยังโลกมุสลิมทั่วโลก

เหตุการณ์ขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่กำลังขยายวงไปยังประเทศมุสลิม ทั้งในตะวันออกกลางและทั่วโลก มีผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แบบยากที่จะหลีกเลี่ยง

การชุมนุมบริเวณหน้าสถานทูตอิสราเอลในกรุงเทพมหานคร เมื่อหลายวันก่อน เป็นแค่สัญญาณความเคลื่อนไหวเล็กๆ ระลอกแรกที่เกิดขึ้นเท่านั้น

แต่ยังมีคลื่นใต้น้ำที่พร้อมจะก่อตัวขึ้นเป็นคลื่นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะหากอิสราเอลยังขยายพื้นที่การโจมตีรุกเข้าไปในพื้นที่กาซ่ามากขึ้น จนกลายเป็นการเผชิญหน้ากับกลุ่มประเทศมุสลิมในตะวันออกกลางและทั่วโลก

ซึ่งนั่นจะนำพาไปสู่ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เช่นกัน

19 ปีตากใบในวันนี้ จึงอยู่ในภาวะการณ์น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง

อีกหนึ่ง คือ การถึงแก่อนิจกรรมของ จุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของประเทศไทย อาศิส พิทักษ์คุมพล

ท่านอาศิส แม้จะเป็นจุฬาราชมนตรีคนที่ 18 ของประเทศไทย แต่เป็นจุฬาราชมนตรีคนแรกที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะที่ผ่านมาจุฬาราชมนตรีทุกยุค ทุกสมัยล้วนมีที่มาจากเมืองหลวงแทบทุกคน

ตุลาอาถรรพ์, ทักษิณ ชินวัตร, ทักษิณ, ตากใบ, สามจังหวัดชายแดนใต้, จังหวัดชายแดนใต้, ไฟใต้, อาศิส พิทักษ์คุมพล, จุฬาราชมนตรี, โศกนาฏกรรม, ชนวนความขัดแย้ง, นราธิวาส
Photo: อาคิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรีคนที่ 18

เมื่อครั้งที่ท่านอาศิส ได้รับการแต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี ท่านอาศิสก็เป็นความหวังของคนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เพราะเชื่อว่าท่านเป็นคนที่เข้าใจปัญหา และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย 

ก่อนจะได้รับการแต่งตั้งเป็นจุฬาราชมนตรี ท่านอาศิสเป็นนักวิชาการ และนักการศาสนาในพื้นที่ที่เคลื่อนไหว เพื่อแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงระหว่างนักวิชาการ นักการศาสนา และภาครัฐ รวมถึงเชื่อมต่อกับแกนนำทั้งพูโลและบีอาร์เอ็น ในการหาทางออกและพูดคุย เพื่อลดความขัดแย้ง เมื่อก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งจุฬาราชมนตรี จึงไม่แปลกที่ท่านอาศิสจะเป็นความหวังของทุกฝ่ายในพื้นที่ โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิม

แต่หลังท่านอาศิสล้มป่วยกระทันหัน ท่านอาศิสก็ไม่แข็งแรงเพียงพอที่จะลงไปแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ตามที่ตั้งใจไว้

การถึงแก่อนิจกรรมของอาศิส พิทักษ์คุมพล ท่ามกลางสถานการณ์ร้อนแรงในตะวันออกกลาง และความขัดแย้งในพื้นที่ที่ยังไม่ลดระดับลง ทำให้ต้องจับตามองว่า ใครจะก้าวมารับตำแหน่งจุฬาราชมนตรีท่านใหม่ จะเป็นจุฬาราชมนตรีจากในพื้นที่ภาคใต้ หรือกลับไปเป็นจุฬาราชมนตรีจากเมืองหลวง

เพราะตำแหน่งจุฬาราชมนตรีนี้ที่เทียบเท่าประมุขของศาสนาอิสลาม มีบทบาทสำคัญต่อกิจการอิสลามแทบทั้งหมด

เรื่องเล่า 19 ปีตากใบ ท่ามกลางไฟนอกที่โหมปะทุ กับไฟในที่ยังคุกรุ่น คือโจทย์ข้อใหญ่ที่ห้ามมองข้าม

เพราะทุกเรื่องราว และทุกเรื่องเล่าของความขัดแย้งในพื้นที่ ล้วนแต่เป็นเชื้อไฟที่พร้อมจะลุกไหม้ ได้ทุกเมื่อ

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์