ไฟใต้ในอุ้งมือ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ จะลุกโชน หรือมอดดับ

19 ก.ย. 2566 - 09:50

  • สมศักดิ์ เทพสุทิน นั่งเก้าอี้ประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน จัดการปัญหาความรุนแรงภาคใต้

  • คนนั่งเก้าอี้นี้ส่วนใหญ่เป็นทหาร สมศักดิ์ที่เป็น 'พลเรือน' จะจัดการปัญหาไฟใต้ได้หรือไม่

สมศักดิ์ เทพสุทิน

ตอนแรกตั้งใจจะเขียนเรื่อง 18 ปี รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทางการเมืองของประเทศไทย และท้ายที่สุดละครฉากนี้มาจบลง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 วันที่ ’ทักษิณ ชินวัตร‘ กลับสู่ประเทศไทยเป็นครั้งที่สอง หลังถูกรัฐประหารในค่ำคืนวันที่ 19 กันยายน 2549

อันเป็นช่วงเวลาที่อดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้ เดินไปทางไปประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา 

อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับเวลานี้ และเป็นเวทีเดียวกันกับที่ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 กำลังเดินทางไปร่วมประชุมด้วย

แต่ระหว่างรวบรวมข้อมูล กลับไปสะดุดตากับข่าวมติคณะรัฐมนตรี เรื่องการต่ออายุ พ.ร.ก.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ ครม.มีมติให้ต่ออายุออกไปแค่เดือนเดียว ทั้งที่ทุกครั้งจะต่ออายุออกไปรอบละ 3 เดือน

ไม่เพียงเท่านั้น ยังสะดุดกับรายชื่อผู้ได้รับการมอบหมายป็นประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) ที่มีชื่อ สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่ได้รับตำแหน่งนี้

สมศักดิ์ เทพสุทิน
Photo: สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ภาพถ่ายจากทำเนียบคณะรัฐมนตรี 'เศรษฐา' ในเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล (thaigov.go.th)

ถามว่า ทำไมสะดุดชื่อ ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ในตำแหน่งประธาน กบฉ.

หนึ่ง เพราะตำแหน่งนี้เดิม คือ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ

หนึ่ง เพราะตำแหน่งนี้เดิม จักต้องเป็นรองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบงานความมั่นคง

หนึ่ง เพราะตำแหน่งนี้ ส่วนใหญ่เป็นอดีตนายทหาร น้อยครั้งที่จะมีพลเรือนเข้ามารับผิดชอบ

และอีกหนึ่ง คือ ก่อนนี้ สมศักดิ์ ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.

ซึ่งเท่ากับวันนี้ หากดูในภาพรวมเท่ากับ สมศักดิ์ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลการแก้ไขปัญหาสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ไปเกือบครึ่งค่อนตัว

บทบาทการนั่งเป็นประธาน กบฉ. แน่นอนว่า เกี่ยวข้องอย่างยิ่งต่อการนำเสนอข้อมูล เพื่อการตัดสินใจให้กับ ครม. ที่จะต่ออายุ หรือจะยกเลิกการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่ไหน หรือทุกพื้นที่

บทบาทการกำกับดูแล ศอ.บต. ก็ชัดเจนยิ่งต่อการกำหนดทิศทางงานมวลชน งานพัฒนา งานการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และกำกับดูแลการปฏิบัติงานของข้าราชการพลเรือนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย

อันเป็นบทบาทสำคัญยิ่ง เมื่อเทียบกับหลายรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ส่วนใหญ่อำนาจรวมศูนย์อยู่ที่นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง

รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง ที่ส่วนใหญ่จะเป็นอดีตนายทหาร อดีตนายตำรวจ

สมศักดิ์ เทพสุทิน ถือเป็นนักการเมืองที่ไม่ธรรมดา และมักมีเรื่องที่เกินความคาดหมายเกิดขึ้นเสมอ ทำให้ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่า การได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานใหญ่ครั้งนี้ สมศักดิ์จะมีเรื่องประหลาดใจให้เห็นอีกหรือไม่

สมศักดิ์ เทพสุทิน
Photo: สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี รับภารกิจดูแลปัญหาชายแดนใต้ บนเก้าอี้ประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.)

4 ปีที่ผ่านมาในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ สมศักดิ์รับบทบาทในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

มองจากภาพภายนอก เหมือนเป็นการทำงานเงียบๆ อยู่ 4 ปี แต่ภายในเป็นที่รู้กันว่า มีความเปลี่ยนแปลงมากมาย

มีการบริหารจัดการนักโทษล้นคุกในสไตล์สมศักดิ์ ทั้งการจัดระบบการให้คะแนน และยกระดับนักโทษชั้นดี ชั้นเยี่ยม หลักเกณฑ์ชราภาพ และการตั้งคณะกรรมการพักการลงโทษ มีการนำกำไล EM มาใช้ สำหรับนักโทษในคดีลหุโทษ คดีเช็ค สำหรับผู้ต้องหาที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว

แม้จะมีการใช้งบประมาณในการจัดซื้อกำไล EM จำนวนมาก แต่ก็ตอบคำถามได้ถึงการลดปริมาณนักโทษในคุก

แม้นักโทษคนสำคัญหลายคนจะได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ หลังได้รับโทษจำคุกไปแล้วในช่วงเวลาไม่มากนัก 

แต่ก็มีคำตอบ เพราะเข้าหลักเกณฑ์ และผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพักการลงโทษ

คณะกรรมการชุดนี้จะมีการประชุมทุกเดือน เดือนละครั้ง

แม้กระทั่ง ทักษิณ  ชินวัตร หากจะยื่นคำร้องขอพักโทษ ก็จะต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้

และนี่คือผลงานของ สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กระทรวงที่นักการเมืองใหญ่หลายคนเมินหน้าหน้าหนี

ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังก้าวไปสู่รอยต่อ เปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหาร รัฐบาลกึ่งทหาร มาเป็น 'รัฐบาลพลเรือน' เต็มรูปแบบ

วันนี้เมื่อสมศักดิ์ได้รับตำแหน่ง แม้จะเป็นเพียงรองนายกรัฐมนตรี แต่การได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล ศอ.บต. และยังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประธาน กบฉ. ก็นับเป็นบทบาทที่ควรค่าต่อการจับตายิ่ง

โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ กำลังก้าวไปสู่รอยต่อที่สำคัญยิ่ง

สำคัญ เมื่อเป็นรอยต่อจากการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหาร รัฐบาลกึ่งทหาร มาเป็นรัฐบาลพลเรือนเต็มรูปแบบ

สำคัญ เมื่อไฟใต้รอบใหม่ที่ปะทุนับจากช่วงปลายปี 2546 และต้นปี 2547 กำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 อันเป็นปีที่ตัวละครสำคัญในความขัดแย้งจำนวนมาก กำลังย่างเข้าสู่วัยที่อ่อนล้า

สำคัญ เมื่ออาจเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนการต่อสู้ จากแนวร่วมรุ่นเก่า ไปสู่แนวร่วมรุ่นใหม่

สำคัญ เมื่อปัญหาไฟใต้ กำลังก้าวข้ามการต่อสู้ที่เริ่มต้นจากความคับแค้นที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่ม ไปสู่การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ และยกระดับขึ้นเป็นปัญหาในระดับสากล

สำคัญ เมื่อปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้กำลังก้าวเข้าสู่หัวเลี้ยวหัวต่อของการแทรกแซงครั้งสำคัญ

และที่สำคัญที่สุด ก็คือ เมื่อปัญหาสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่ใช่แค่สงครามของความขัดแย้ง แต่ยังเป็นสงครามผลประโยชน์

ผลประโยชน์อันเกิดจากธุรกิจสีเทา ผลประโยชน์อันเกิดจากเม็ดเงินจำนวนมากที่หลั่งไหลลงไปพื้นที่ และผลประโยชน์อันเกิดจากการบริหารจัดการงบประมาณจำนวนมหาศาลที่กำลังแปรสภาพเป็นเค้กก้อนใหญ่ และกำลังเป็นสมบัติผลัดกันชม

ทั้งหมดเป็นงานที่ท้าทายรัฐบาลพลเรือนที่กำลังเข้าสานต่อ หลังจากผ่านการบริหารโดยรัฐบาลทหาร และรัฐบาลกึ่งทหารมาถึง 9 ปี

รัฐบาลพลเรือนในยุคสมัยของ ทักษิณ  ชินวัตร เคยตัดสินใจผิดพลาดครั้งใหญ่มาแล้ว จากข้อมูลที่ได้รับไม่รอบด้าน และไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

ทักษิณ ชินวัตร, ตากใบ, สามจังหวัดชายแดนใต้, นราธิวาส
Photo: ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวปราศรัยกับชาวบ้านและเจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคง อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี 17 กุมภาพันธ์ 2548 (AFP)

การตัดสินใจยุบ ศอ.บต. การตัดสินใจลงมือปราบปรามกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ ที่ได้รับรายงานว่า เป็นโจรกระจอกที่มีเพียงไม่เกิน 60 คน เป็นการตัดสินใจที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ และเป็นการจุดชนวนไฟใต้ให้ลุกโชนขึ้นมาอีกครั้งในช่วงปี 2546 และ ปี 2547

เมื่อสมศักดิ์เข้ามากำกับดูแล ศอ.บต.และเป็นประธาน กบฉ. แม้จะได้เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และไม่ได้เข้าไปกำกับดูแล กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เพราะเป็นหน่วยงานที่นายกรัฐมนตรีกำกับดูแลโดยตรง ในตำแหน่ง ผอ.รมน.

แต่ ศอ.บต.ก็เป็นหน่วยงานที่สำคัญยิ่ง สำคัญต่อการเป็นศูนย์กลางข้อมูล ศูนย์กลางการประสานงานกับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น สำคัญดั่งหู ตา ของรัฐบาล

การยุบ ศอ.บต. และยุบ พตท.43 เมื่อปี 2545 จนเกิดเหตุไฟใต้รอบใหม่ เพราะเสมือนดั่งการปิดหู ปิดตา ปิดการรับข้อมูลจากพื้นที่ จนไม่รับรู้ถึงความเคลื่อนไหว และการก่อตัวของไฟใต้ในครั้งนั้น

ทักษิณ ชินวัตร, ตากใบ, สามจังหวัดชายแดนใต้, นราธิวาส
Photo: ทหารไทยยืนเฝ้าบริเวณทางเข้าวัด วันที่ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีกำหนดการเยือนตากใบวันที่ 7 พฤศจิกายน 2547 หลังเกิด 'กรณีตากใบ' เมื่อ 25 ตุลาคม หรือราว 2 สัปดาห์ (AFP)

บทบาทของสมศักดิ์ในครั้งนี้จึงสำคัญยิ่งว่า จะขับเคลื่อนศอ.บต.ไปในทิศทางไหน และจะนำเสนอข้อมูล เพื่อตัดสินใจเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างไร

และต้องรอดูว่า เลขาธิการ ศอ.บต. คนใหม่ที่จะมาแทน พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร ซึ่งทำหน้าที่ต่อเนื่องมาถึง 4 ปีเศษ และกำลังจะเกษียณอายุราชการในสิ้นเดือนนี้ จะเป็นใคร

ติดตาม 20 ปีไฟใต้รอบใหม่ อะไรคือ จุดกำเนิด และต่อเนื่องยาวนาน

โดยเฉพาะ20 ปี ตากใบ โศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เมื่อปี 2547 ในคอลัมน์ 'ใบไผ่' นับจากนี้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์