ส่องนโยบายความมั่นคง ‘เศรษฐา 1’ หรือจะเป็นแค่ ‘งานฝากเลี้ยง’

6 ก.ย. 2566 - 10:19

  • นโยบายความมั่นคงของ ครม.เศรษฐา 1 มีเพียง 3 ย่อหน้า เนื้อหาไม่ชัด มีสถานะเหมือน ‘นโยบายฝากเลี้ยง’

contributor-bamboo-leaves-srettha-1-security-policy-SPACEBAR-Thumbnail
5 กันยายน 2566 เป็นอีกวันที่ต้องถูกบันทึกลงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เนื่องจากเป็นวันที่คณะรัฐมนตรี ‘เศรษฐา 1’ เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อหน้าพระพักตร์ เพื่อพร้อมเข้าปฏิบัติหน้าที่ทันทีที่แถลงนโยบายของรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อย

ส่วนวันที่ 11 กันยายน 2566 ก็จะเป็นวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ที่วันนี้นโยบายรัฐบาลเศรษฐา 1 ได้ถูกแจกจ่ายไปยังสื่อมวลชนแทบทั้งหมด
 
นโยบายที่ถูกยกร่างเพื่อแถลงต่อรัฐสภาความยาวเกือบ 50 หน้า ถูกสรุปเหลือเพียง 14 หน้าให้คุณเศรษฐาใช้สำหรับลุกขึ้นแถลงต่อรัฐสภา
 
เนื้อความใน 14 หน้าที่ถูกสรุปโดยย่อ สาระครอบคลุมกว้างทั้งแนวทางด้านเศรษฐกิจ การสร้างรายได้ การขยายตลาด การสร้างโอกาสใหม่ๆ การใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมไปกับการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/11O0kryKthHeD8DtXlqeos/5bf65558f2c3041dde301b4bdf1025ab/contributor-bamboo-leaves-srettha-1-security-policy-SPACEBAR-Photo01
Photo: เศรษฐา ทวีสิน และคณะรัฐมนตรี
แต่ที่อ่านอย่างละเอียดแล้วยังไม่ชัด คือ ‘นโยบายด้านความมั่นคง’ เพราะมีเพียง 3 ย่อหน้า และเนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่หลักการปฏิรูปกองทัพ การปรับปรุงระบบจัดซื้อ จัดจ้างให้โปร่งใสตรวจสอบได้ รวมถึงการนำทรัพยากรของกองทัพมาจัดสรรเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ 

แผนงานด้านความมั่นคงในนโยบายของ ครม.เศรษฐา 1 ยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศให้ดีขึ้น เมื่อระบุว่า... 
 
คุณภาพชีวิตที่ดี ข้อที่หนึ่ง คือ การมีความมั่นคงทั้งภายในและภายนอกที่สอดคล้องกับสภาวะของโลก รายละเอียดแยกเป็นข้อๆ คือ รัฐบาลจะสนับสนุนให้มีการปรับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคง  
  1. ให้มีความทันสมัยและสามารถตอบสนองต่อการคุกคามและภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21 
  2. เป็นกลไกสำคัญในการพิทักษ์เอกราช สร้างความมั่นคง และความปลอดภัยในทุกพื้นที่ของประเทศ 
  3. สนับสนุนการพัฒนาและการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามและภัยพิบัติ เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ 
นอกจากนี้ รัฐบาลจะร่วมกันพัฒนากองทัพให้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของประเทศพร้อมกับประชาชน โดย 
  1. จะเปลี่ยนรูปแบบการเกณฑ์ทหารเป็นแบบสมัครใจ 
  2. ปรับปรุงการฝึกนักศึกษาวิชาทหารหน่วยบัญชาการรักษาดินแดนให้เป็นแบบสร้างสรรค์  
  3. ลดกำลังพลนายทหารชั้นสัญญาบัตรระดับสูง และกำหนดอัตรากำลังในกองอำนวยการรักษา ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ให้สอดคล้องกับบทบาทและภารกิจในปัจจุบัน และอนาคตของประเทศ 
  4. ปรับปรุงกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ให้มีความทันสมัย โปร่งใส ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับรูปแบบและความเสี่ยงของภัยคุกคามทั้งในปัจจุบันและอนาคต 
  5. นำพื้นที่ของหน่วยทหารที่เกินความจำเป็นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน โดยเฉพาะการใช้เพื่อการเกษตร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค การเพิ่มพูนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ เพื่อสนับสนุนการสร้างรายได้ การสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและการสร้างความเข้มแข็งด้านสังคมของประเทศ 
ทั้งหมดนี้ คือ นโยบายด้านความมั่นคงที่รัฐบาลเศรษฐา 1 จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 11 กันยายน 2566 
 
ซึ่งสะท้อนชัดว่า เป็นการมองจากภาพภายนอก มองจากสายตาคนนอก ที่เห็นกองทัพหรือหน่วยงานด้านความมั่นคง 
 
หนึ่ง คือ ‘ล้าสมัย’ 
หนึ่ง คือ ‘เทอะทะ’ 
อีกหนึ่ง คือ ‘ไม่โปร่งใส’ 
 
การยกร่างจึงเกิดจากภาพรวมที่มองจากสายตาเฉกเช่นนี้ ไม่ได้มองผ่านบริบทความมั่นคงของโลก ความมั่นคงระดับภูมิภาค และความมั่นคงภายในประเทศ ไม่ได้มองผ่านความรู้จริงถึงปัญหา ภารกิจ และโครงสร้างที่แท้จริง 
 
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคทะเลจีนใต้ ความตึงเครียดในช่องแคบมะละกา ความตึงเครียดบริเวณแนวชายแดนไทยพม่า ทั้งตอนเหนือ และตะวันตก ไม่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นหนึ่งในนโยบายที่เด่นชัดด้านความมั่นคง 
 
ประเทศไทยในยามนี้ ตั้งตระหง่านอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดของ 2 มหาอำนาจของโลก ที่จับจ้องจะใช้ประเทศไทยเป็นฐานในการขยายศักยภาพทั้งด้านกำลังรบ และขยายฐานด้านเศรษฐกิจการค้า 
 
การปรากฏตัวของเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และเจ้าหน้าที่สำนักงานปราบปรามยาเสพติดสหรัฐอเมริกาหรือ DEA ในพื้นที่ภาคเหนือของไทย รวมทั้งข้ามไปยังฝั่งท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมาเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา 
 
พร้อมๆ กับข่าวการใช้โดรนโจมตีสถานที่ราชการของเมียนมาในพื้นที่เมืองเมียวดี ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จนสร้างความเสียหายและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเมียนมาเสียชีวิตหลายคน 
 
ข่าวการเคลื่อนไหวของกองกำลังชนกลุ่มน้อยที่มีศักยภาพขนาด 1 กองพันทหารราบ ในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามจังหวัดกาญจนบุรี จนเป็นเหตุให้ไทยยังเปิดจุดผ่านแดนด่านพุน้ำร้อนไม่ได้ 
 
ทั้งหมด ล้วนไม่นับรวมท่าทีระหว่างรัฐบาลจีน และรัฐบาลอเมริกา กรณีทะเลจีนใต้ 
 
ไม่นับรวมความพยายามของรัฐบาลอเมริกาที่ขอเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย 

ไม่นับรวมการซ้อมรบที่เกิดขึ้นถี่ยิ่ง ทั้งการซ้อมรบร่วมไทย-อเมริกา การซ้อมรบร่วมไทย-จีน 

ไม่นับรวมการปรากฏตัวของกองเรือรบสังกัด กองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐในน่านน้ำทะเลอ่าวไทย 

และไม่นับรวมการปรากฏตัวของเรือดำน้ำของราชนาวีจีน ในการซ้อมรบร่วมครั้งล่าสุด 

ทั้งหมด ล้วนเป็นเรื่องความมั่นคงที่เป็นภัยคุกคามจากภายนอกแหลมคมยิ่ง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1GEWyiBoInVZtvhYJmuWLh/007ee3ea3adee9de756cbcade0b5217c/contributor-bamboo-leaves-srettha-1-security-policy-SPACEBAR-Photo02
Photo: ราชนาทีไทยและจีนร่วมซ้อมรบกัน 3 กันยายน 2566
และเป็นสถานการณ์ที่ใกล้เคียงสงครามเย็นในช่วงปี 2516-2523 ที่ห้วงเวลานั้น ประเทศไทยต้องเผชิญกับความกดดันจากลัทธิคอมมิวนิสต์ที่แผ่ขยายลงมาในชายแดนทุกด้านทั้งทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 
 
ยังมีความมั่นคงภายในที่ยังเป็นเผือกร้อนที่รอวันถอดสลักในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 

ความมั่นคงภายในเชิงความคิดที่รอวันปะทุ และรอวันปะทะ ระหว่างคนสองเจนเนอเรชั่น 

ทั้งหมดนี้ รอความชัดเจนจากครม.เศรษฐา 1 ว่าจะลงลึกในรายละเอียดว่าอย่างไร 

ใครจะถูกส่งเข้ามาแก้ปัญหานี้ 
 
เพราะนอกจากส่องนโยบายด้านความมั่นคงที่ไม่ชัดเจนแล้ว ยังไม่มีความชัดเจนในตัวบุคคลที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงอีกด้วย 
 
งานด้านความมั่นคงที่วันนี้ ที่ควรจะเป็นงานสำคัญยิ่งของรัฐบาล กลับเป็นเพียง ‘งานฝากเลี้ยง’ หรือ ‘งานฝากดู’ เพราะล่าสุดปรากฏชื่อ ‘ภูมิธรรม เวชยชัย’ ที่นอกจากจะเป็นรองนายกรัฐมนตรี ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แล้ว ยังถูกมอบหมายให้เป็นรองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบงานด้านความมั่นคงอีกด้วย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/7fuUOdeyTzNv0IjyciUKDj/f63aac391ae643679db8509f702f609c/contributor-bamboo-leaves-srettha-1-security-policy-SPACEBAR-Photo03
Photo: ภูมิธรรม เวชยชัย
งานความมั่นคงที่ถูกมองแค่กำกับดูงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูโผโยกย้ายตำรวจ งานความมั่นคงที่กำกับดูแลกระทรวงกลาโหม 
 
แต่ไม่ใช่งานความมั่นคงที่ต้องกำกับดูแลกระทรวงการต่างประเทศ สภาความมั่นคงแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ 
 
ส่วนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สนามไชย 1 สุทิน คลังแสง วันนี้ยังไม่คุ้นทั้งชื่อ ‘บิ๊กทิน’ และไม่คุ้นกระทั่งมาตรการรักษาความปลอดภัยของระบบทหาร ก็ยังอยู่ในระหว่างการเดินสายคุยกับอดีตนายทหารใหญ่ เพื่อขอคำแนะนำถึงการวางตัว และแนวทางการบริหารกองทัพ
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5587WyWiiuuHhPpvJ7lPAw/193cb756dea4d2bdc6720f1669904a5d/contributor-bamboo-leaves-srettha-1-security-policy-SPACEBAR-Photo04
Photo: สุทิน คลังแสง (นั่งกลางภาพ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
นโยบายของ ‘บิ๊กทิน’ วันนี้ที่ให้สัมภาษณ์ ก็ยังวนในนโยบาย 4-5 ข้อที่ปรากฏในนโยบายเศรษฐา 1 ยังไม่มีอะไรที่ลึกซึ้งที่สะท้อนว่า ‘บิ๊กทิน’ ในวันนี้เข้าใจในงานกลาโหม เข้าใจงานความมั่นคงมากขนาดไหน เข้าใจโครงสร้างกองทัพอย่างลึกซึ้ง และถ่องแท้ขนาดไหน เข้าใจภารกิจของกองทัพแต่ละพื้นที่ชัดเจนขนาดไหน 
 
วันนี้กองทัพภาคที่ 3 ที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันตามแนวชายแดนจากความเคลื่อนไหวของชนกลุ่มน้อยตลอดแนวชายแดนไทย–พม่า 
 
กองทัพภาคที่ 1 ที่ต้องรับผิดชอบแนวรบด้านตะวันตก 

กองทัพภาคที่ 4 กับปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาชายแดนไทย–พม่า และชายแดนไทย-มาเลเซีย ปัญหาผู้อพยพโรฮิงญา 

กองทัพเรือกับการเสริมสร้างศักยภาพที่เหมาะสม และทันสมัยพร้อมรับสถานการณ์ตึงเครียดในทะเลจีนใต้ และในช่องแคบมะละกา การหลั่งไหลของชาวโรงฮิงญาในน่านน้ำทะเลอันดามัน 

กองทัพอากาศกับศักยภาพกำลังรบทางอากาศ การติดตั้งสถานีเรดาร์ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้กรมควบคุมการปฏิบัติการทางอากาศ สามารถจับความเคลื่อนไหวได้ตลอดแนวน่านฟ้า 

เหล่านี้ต่างหากที่ ‘บิ๊กทิน’ ควรให้ความสำคัญ และเริ่มทำการบ้านอย่างจริงจัง
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6bnfVDuXtlcV8o9mkBNIDz/00580c906ce768f6aee2b86712623066/contributor-bamboo-leaves-srettha-1-security-policy-SPACEBAR-Photo05
Photo: สุทิน คลังแสง เข้าพบ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ 4 กันยายน 2566
ปฏิรูปกองทัพ ลดทหารเกณฑ์ ลดนายพล เป็นงานรูทีนที่กระทรวงกลาโหมทำกันมาพักใหญ่แล้ว ไม่จำเป็นต้องหยิบยกมาเป็นนโยบายด้วยซ้ำ 
 
อย่าให้งานด้านความมั่นคงเป็นแค่งานฝากเลี้ยง เป็นแค่นโยบายหาเสียง โดยไม่ลงเนื้อแท้ของงานด้านความมั่นคงที่ควรจะดู 
 
ฝากเป็นการบ้านให้ ‘บิ๊กอ้วน’ รองนายกด้านความมั่นคง และ ‘บิ๊กทิน’ สนามไชย 1 ไตร่ตรองและลองคิด 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/49xaoKSI5QVhtoT7tPPu4v/4305a1e5b283180a7bba5493bc50529e/contributor-bamboo-leaves-srettha-1-security-policy-SPACEBAR-Photo06
Photo: คณะรัฐมนตรี ‘เศรษฐา 1’

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์