นุ่มนวล แต่หนักแน่น ทำไม ‘สุทิน คลังแสง’ ถึงเป็นตัวเลือกที่ใช่ในบทบาท ‘สนามไชย 1’

15 ก.ย. 2566 - 09:12

  • สุทิน คลังแสง ถูกวิจารณ์หลังนั่งเก้าอี้นายกฯ กลาโหม ถึงความไม่เหมาะสม

  • ทว่าหลังรับตำแหน่ง ‘บิ๊กทิน’ กลับยิ่งก้าวยิ่งเด่นชัด ยิ่งขยับยิ่งสุกสกาววาวแววยิ่ง

  • ชี้แจงชัด ตอบคำถามเข้าใจง่าย มีท่วงท่านุ่มนวลแต่หนักแน่น อาจเป็นคุณสมบัติและบุคลิก ‘ผู้นำกลาโหม’ ที่ต้องการในเวลานี้

contributor-bamboo-leaves-suthin-exfriend-new-role-in-military-SPACEBAR-Thumbnail
ใครเห็นภาพการโค้งคำนับสุดสวยรับความเคารพของกองทหารเกียรติยศของ สุทิน คลังแสง เจ้าของนามเรียกขาน ‘สนามไชย 1’ เมื่อวันก่อน ล้วนแต่มีมุมคิดที่ต่างกัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/107WBwDTaUcguO95NQfMm4/0fbbfd864d4b8f7d59135973864b20f0/contributor-bamboo-leaves-suthin-exfriend-new-role-in-military-SPACEBAR-Photo01
Photo: สุทิน คลังแสง โค้งให้เกียรติทหาร ระหว่างตรวจแถวกองทหารเกียรติยศ 13 กันยายน 2566
บ้างก็วิจารณ์ถึงจุดยืนที่เปลี่ยนไปของนักการเมืองผู้นี้ 

บ้างก็อมยิ้ม ในท่าทางการโค้งคำนับที่โน้มลงต่ำเกือบถึงสะเอว 

บ้างก็ปรามาสว่า คือบทบาทของ ‘รัฐมนตรีตรายาง’ ที่จำใจเข้ามารับตำแหน่งนี้เพราะไม่มีเก้าอี้อื่นว่าง 

บ้างก็วิพากษ์ลึกลงไปถึงการแสดงออกที่หมอบราบคาบแก้วต่อผู้มีอำนาจ หรือหมอบราบให้กับกองทัพ 

แค่ค้อมศรีษะเล็กน้อย หรือยกมือไหว้รับการเคาพก็น่าจะเพียงพอแล้ว 

ทำไมต้องทำถึงเพียงนั้น... 
 
นั่นคือหลากท่าที หลากความคิด และหลากมุมมองที่มีต่อนักการเมือง นักสู้แห่งที่ราบสูงคนนี้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6Vrbm4zfgShUrWPqRsy0AD/ea89b3e5371be39ded0e9c15a2f55941/contributor-bamboo-leaves-suthin-exfriend-new-role-in-military-SPACEBAR-Photo02
Photo: สุทิน คลังแสง แถลงข่าวในวันเข้าทำงานวันแรกที่กระทรวงกลาโหม 13 กันยายน 2566
แต่สำหรับผมที่วิพากษ์ตั้งแต่วันที่มีชื่อ ‘สุทิน คลังแสง’ ปรากฏขึ้นในนาม ‘สนามไชย 1’ และเฝ้าจับตามองความเคลื่อนไหวของ สุทิน คลังแสง มาตลอดการเข้ารับตำแหน่ง 

ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายเข้าพบผู้ใหญ่ในแวดวงกองทัพ เข้าพบผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง การตอบคำถามในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภา หรือการให้สัมภาษณ์ในวันรับตำแหน่งวันแรกที่กระทรวงกลาโหม 

และล่าสุดการให้สัมภาษณ์สดทางโทรศัพท์ในรายการเจาะลึกทั่วไทยของ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ 

ผมกลับมองว่า ท่าทีและบทบาทของนักการเมืองจากภาคอีสานผู้นี้ ไม่ธรรมดายิ่ง ไม่ธรรมดาถึงขั้นที่กูรูนักสัมภาษณ์จอมต้อนแขกอย่าง ‘หมาแก่’ ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ถึงกับกล่าวชมในรายการว่า ตอบคำถามได้ดี 

บทบาทของ สุทิน คลังแสง รอบนี้ ถึงขั้นต้องหาข้อมูลเพิ่มนอกเหนือประวัติพื้นๆ ที่ปรากฏอยู่ทั่วไปว่า อะไร ทำไม และเพราะอย่างไร พรรคเพื่อไทยถึงส่ง สุทิน คลังแสง เข้ามานั่งในตำแหน่งที่ไม่เคยปรากฏว่า มีพลเรือนที่ไม่ใช่นายกรัฐมนตรี เคยเข้ามาดำรงตำแหน่งมาก่อน 
 
เกมเสี่ยงเช่นนี้ เกมท้าทายอำนาจกองทัพเช่นนี้ ไม่ใช่เกมที่คนอย่าง “ทักษิณ  ชินวัตร” ผู้เป็นดั่งจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทยเคยทำ และเชื่อว่า ไม่คิดจะทำ 

ปริศนาข้อแรก สุทิน เป็นใคร มีบทบาทในพรรคเช่นไร ถึงเป็นตัวเลือกที่ถูกหยิบขึ้นมาใช้ในสถานการณ์รอยต่ออำนาจเช่นนี้ 

ถ้าผู้ที่คร่ำหวอดในแวดวงการเมือง จะจดจำสุทินได้ดีในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ในสภาชุดที่ผ่านมา และในฐานะบทบาทนักพูด สุทินจะถูกเลือกให้เป็นผู้อภิปรายปิด หรืออภิปรายสรุปในการอภิปรายไม่ไว้วางใจทุกๆ ครั้ง 

ถ้าหมอชลน่าน ศรีแก้ว เป็นผู้อภิปรายเปิด สุทินก็จะเป็นผู้อภิปรายสรุป 

นี่คือ 2 ขุนพลหลักของพรรคเพื่อไทยในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/m2KmE3Nxm9Js8kUwh17Yy/6ab40a05fd75291aa704e8a8da51a7fb/contributor-bamboo-leaves-suthin-exfriend-new-role-in-military-SPACEBAR-Photo03__1_
Photo: ชลน่าน ศรีแก้ว (แถวหน้า คนที่ 3 จากซ้าย) และสุทิน คลังแสง ขณะถ่ายภาพหมู่คณะรัฐมนตรี 5 กันยายน 2566
จุดเด่นคือทั้งหมอชลน่าน และสุทินเป็นคนที่ขมวดประเด็น และสรุปประเด็นได้ดี อภิปรายให้เห็นภาพชัด และสรุปได้ตรงเป้าหมายและตรงประเด็น 

หมอชลน่านและสุทินมีบทบาทโดดเด่นตีคู่กันมาในพรรคเพื่อไทย และเป็นแคนดิเดตที่ถูกหมายตาจากกลุ่มที่มีอำนาจการบริหารในพรรคเพื่อไทยว่า วันหนึ่งวันใด คนใดคนหนึ่งใน 2 คนนี้ จะต้องรับบทบาทหัวหน้าพรรค 

และท้ายที่สุดวันที่ต้องเลือกก็เป็น 2 คนนี้ที่เข้ารอบสุดท้าย หมอชลน่านเฉือนสุทินเพียงแค่การใช้เวลาตัดสินใจน้อยกว่าสุทินเพียงไม่กี่วินาที ในการตอบคำถามว่า พร้อมที่จะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนต่อไปไหม 

ขณะที่สุทิน คิดนานไปนิดก่อนจะตอบรับ ทำให้คะแนนความเป็นผู้นำ และความกล้าตัดสินใจของสุทินสู้หมอชลน่านไม่ได้ 

แต่นั่น ก็คือบุคลิกของสุทิน บุคลิกที่ใช้สมองคิดก่อนปากจะตอบ และเป็นหนึ่งในคุณสมบัติสำคัญที่ส่งสุทินเข้าสู่กระทรวงกลาโหมในเวลานี้เช่นกัน 

ความสำคัญของสุทินยังเห็นได้ชัดว่า เขาอยู่ในระนาบเดียวกับระดับบริหารของพรรค เพราะนอกจากจะเคยดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทยยุคของนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นหัวหน้าพรรคแล้ว 

สถานะของสุทินยังน่าจับตามองยิ่ง หากพิเคราะห์จากที่ตั้งของห้องทำงานของสุทินในพรรคเพื่อไทย 

เมื่อห้องทำงานของสุทิน อยู่บนชั้น 3 ของที่ทำการพรรคเพื่อไทย 

ชั้น 3 ที่มีเพียงห้องทำงานเพียง 4 ห้อง คือ 

หนึ่ง ห้องทำงานของหมอชลน่าน ศรีแก้วในฐานะหัวหน้าพรรค 

หนึ่ง ห้องทำงานของ ประเสริฐ จันทรรวงทอง ในฐานะเลขาธิการพรรค 

หนึ่งห้องทำงานของ วิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธาน ส.ส.พรรค 

และอีกหนึ่งห้อง คือ ห้องทำงานของ สุทิน คลังแสง 

บทบาทเช่นนี้ จึงเป็นบทบาทที่การันตีว่า การฟอร์มรัฐบาลเศรษฐา 1 จะต้องมี สุทิน คลังแสง ติด 1 ในตำแหน่งรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงใด กระทรวงหนึ่งแน่นอน 

หรือหากจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีไม่ลงตัว อย่างน้อยตำแหน่งหลักทางการเมือง ตำแหน่งหนึ่ง ตำแหน่งใด จะต้องเป็นของนักการเมืองจากที่ราบสูงผู้นี้แน่ 

ที่สุดในวันจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีโควตาพรรคเพื่อไทย ก็ปรากฏชื่อ ‘สุทิน คลังแสง’ ถึง 3 กระทรวง ทั้งกระทรวงศีกษาธิการ กระทรวงที่ดูจะเหมาะกับอดีตนักบริหารการศึกษาผู้นี้ เพราะสุทินคร่ำหวาดในวงการการศึกษามานาน ทั้งในฐานะครูผู้สอน และในฐานะนักบริหารสถานศึกษา 

อีกกระทรวง คือกระทรวงวัฒนธรรม ที่อาจจะไม่ตรงนัก แต่ก็ไม่ยากที่จะบริหารได้ มิใช่เพราะภาพที่ปรากฏบนเวทีรำวงในบทบาทนักร้องนำ หากเพราะไม่ใช่กระทรวงที่มีความซับซ้อนมากนัก 

และอีกตำแหน่งก่อนถึงกลาโหม คือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ยากสำหรับการจะนั่งบริหารเช่นกัน 

แต่สุดท้าย ทำไมมาจบที่กระทรวงกลาโหม กระทรวงอำนาจที่เป็นกระทรวงสำคัญยิ่งสำหรับกองทัพ 

กระทรวงที่ไม่ใช่กระทรวงมหาสมบัติที่นักการเมืองอยากเข้ามาบริหาร และเป็นเผือกร้อนในภาวะการณ์รอยต่ออำนาจที่สุ่มเสี่ยงยิ่งต่อการท้าทายบทบาทอำนาจกองทัพ และสถาบันด้านความมั่นคง 

แต่เพียงแค่ไม่กี่วัน นับจากวันแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา จนถึงวันที่เข้ารับตำแหน่งวันแรกที่กระทรวงกลาโหม การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันนั้น และการตอบคำถามในรายการ เจาะลึกทั่วไทย เช้าวันที่ 15 กันยายน 2566 

‘สุทิน’ ทำให้เห็นว่า ทำไมพรรคเพื่อไทยถึงเลือกสุทิน คลังแสง ครูบ้านนอก สส.อีสาน และไม่เคยข้องเกี่ยวกับกองทัพมาก่อน นอกจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่องการปฏิรูปกองทัพ และงบจัดซื้ออาวุธ   

ดูจากประวัติแล้ว สุทินน่าจะไม่เคยแม้กระทั่งเป็นทหารเกณฑ์ด้วยซ้ำ! 

การตอบคำถามของฝ่ายค้านในรัฐสภา ทั้งกรณีการปฏิรูปกองทัพ กรณีการหมอบราบคาบแก้วให้กับผู้มีอำนาจ แหลมคมและชัดเจน

“ปฎิรูปและพัฒนา ความหมายเหมือนกัน คือ ทำให้ดีขึ้น การทำให้ดีขึ้น ทำฝ่ายเดียวไม่ได้ การสื่อสารให้เกิดความร่วมมือ ไม่ควรใช้ภาษาสื่อสารที่จะเผชิญหน้าท้าทาย เพราะสุดท้ายจะไม่ประสบผลสำเร็จ 

“หนักแน่นในเป้าหมาย แต่นุ่มนวลในวิธีการ ดีกว่าหนักแน่นในเป้าหมาย ที่ต้องถือธงเดินหน้าบดขยี้กัน” 
 
นี่คือวาทะของสนามไชย 1 ในการตอบคำถามสมาชิกรัฐสภาในวันแถลงนโยบาย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5K3nTbKEb6vyXWxgw3h2ax/b75fb47e846ec8d422d67135f0d272a6/contributor-bamboo-leaves-suthin-exfriend-new-role-in-military-SPACEBAR-Photo04__1_
Photo: สุทิน คลังแสง ขณะชี้แจงการปฏิรูปกองทัพ 13 กันยายน 2566
ไม่เพียงเท่านั้น สุทินยังอธิบายจำนวนนายพลที่จะลดลงในปี 2570 โดยอัตโนมัติ ได้แบบเข้าใจได้ถ่องแท้ จากจำนวนนักเรียนเตรียมทหารในแต่ละรุ่นซึ่งรับลดลงทุกปี 

ปี 2570 จะเป็นปีที่นักเรียนเตรียมทหารรุ่น 27 หรือ ตท. 27 ที่มีจำนวนมากในเวลานั้น จะเกษียณอายุมากที่สุด เหลือที่จะเกษียณปี  2571 และปี 2572 เพียงไม่มากนัก ตท.รุ่นหลังจากนั้น ก็จะมีปริมาณนายทหารลดลงทุกรุ่น เพราะความจำเป็นลดลงตามสถานการณ์ของประเทศ และสถานการณ์ในภูมิภาค 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่อดีต ผบ.ทบ.บางท่าน เคยพูดแบบเจ็บปวดว่า เป็นเรื่องที่อธิบายได้ง่ายมาก แต่ 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อถูกพรรคก้าวไกลหยิบยกขึ้นมาโจมตี ทำไมคนในกองทัพถึงไม่พยายามอธิบาย

“ถ้าออกมาพูด มันก็ตอบได้ ตัวเลขก็มี การเกณฑ์ทหารก็ลดลงทุกปี เพราะสมัครใจมากขึ้น การปฏิรูปกองทัพก็ทำมาตลอด แต่ไม่ออกมาโต้แย้ง ไม่ชี้แจง ยอมอยู่เฉยให้กองทัพถูกย่ำยี”

และนี่คือบทบาทของ สุทิน สนามไชย 1 คนใหม่ที่ชัดเจนยิ่ง 

ชัดเจนว่า นับจากนี้ กระทรวงกลาโหม อาจไม่จำเป็นต้องมีโฆษก เพราะรัฐมนตรีตอบชัดกว่า รัฐบาลย่อยข้อมูลได้ง่ายกว่า 

สุดท้าย รัฐมนตรีมีท่าทีในการตอบคำถาม และการชี้แจงนุ่มนวลกว่า 

หนักแน่นในเป้าหมาย แต่นุ่มนวลในการปฏิบัติ

และนี่คือ 1 จุดเด่นของรัฐมนตรีกลาโหมที่มาจากพลเรือน 

แม้แต่เรื่อง ‘เรือดำน้ำ’ เรื่องยากที่หลายคนเลี่ยงตอบ 

สุทิน ยังตอบให้ง่าย จนเข้าใจได้มากขึ้น 
 
ง่าย เพราะหนึ่ง ไม่ได้เป็นคนจัดซื้อ 

ง่าย เพราะไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ 

ง่าย เพราะมีข้อมูลจากกองทัพเรือที่ครบ ลึกทุกด้าน 

และสุดท้ายง่ายเพราะสรุปประเด็นได้ชัดเจน 

ส่วนประเด็นความจัดเจนเรื่องกองทัพ จัดเจนเรื่องความมั่นคง 

เมื่อส่องทีมงานรอบตัว ที่แม้อาจมีที่มาที่น่ากังขา เพราะล้วนเป็นคนใกล้ตัวอดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่การปรากฏชื่อของ พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ ตท. 20 ในฐานะเลขาธิการรัฐมนตรี พลเอกสมศักดิ์ รุ่งสิตา ตท. 19 ในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรี สองอดีตเลขาสภาความมั่นคงแห่งชาติ 

และอีกหนึ่ง ตท. 20 พลอากาศเอกสุรพล พุทธมนต์ อดีตรองผู้บัญชาการทหารอากาศ เข้ามาในฐานะผู้ช่วยรัฐมนตรี 

ยังแสดงให้เห็นถึงความพร้อมและความแน่นหนาด้านข้อมูลของกองทัพให้ สุทิน คลังแสง นั่งบริหาร และตอบคำถามสังคมได้ชัดเจนมากขึ้น

ซึ่งนี่อาจเป็นคำตอบว่า ทำไมผู้นำทางจิตวิญญาณของพรรคเพื่อไทย และทีมบริหารพรรคเพื่อไทยจึงเลือก สุทิน คลังแสง นักการเมืองบ้านนอกจากแผ่นดินที่ราบสูงมานั่งเก้าอี้กระทรวงสำคัญกระทรวงนี้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/14rbav0PABp8bGMYZljEEA/e77d9f14a3524142db5ed2511a28afeb/contributor-bamboo-leaves-suthin-exfriend-new-role-in-military-SPACEBAR-Photo05__1_
Photo: สุทิน คลังแสง วันแรก ณ กระทรวงกลาโหม 13 กันยายน 2566
เพราะนี่คือ การลดแรงเสียดทานจากทั้งในกองทัพ ลดแรงเสียดทานจากทั้งในสภา ลดแรงเสียดทานจากการเสียดสีของเป้าหมายการอภิปรายกองทัพ

ด้วยท่วงท่าที่นุ่มนวล แต่หนักแน่นในเป้าหมายของ สุทิน คลังแสง ‘สนามไชย 1 คนใหม่’ ที่เหนือความคาดหมายและคาดการณ์จากทุกแวดวง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์