ถ้านับจากวันที่ ทักษิณ ชินวัตร กลับมาเหยียบประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 จนถึงวันนี้ ก็เกิน 120 วัน หรือร่วม 4 เดือนแล้ว
120 วันของคุณทักษิณในประเทศไทย เป็น 120 วันที่สร้างความฉูดฉาดกับการเมืองไทยเป็นอย่างยิ่ง
เพราะเป็น 120 วันที่เต็มไปด้วยเรื่องราว เต็มไปด้วยความขัดแย้ง เต็มไปด้วยความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าจับตา

120 วันในความทรงจำของคนไทยจำนวนหนึ่ง คือเป็น 120 วันที่คุณทักษิณในฐานะนักโทษไม่ได้นอนในคุกแม้แต่คืนเดียว
คุณทักษิณเพียงแวะเข้าไปเรือนจำในช่วงเย็นของวันที่ 22 สิงหาคม 2566 และใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก่อนจะถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลตำรวจในคืนเดียวกัน และพำนักอยู่ที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจในฐานะผู้ป่วยมาจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้นในระหว่าง 120 วันของคุณทักษิณ ผู้คนยังได้รับรู้เรื่องราว และความเคลื่อนไหวสำคัญอีกหลายเรื่อง
เพราะหลังรับโทษนอกเรือนจำเพียงไม่นาน คุณทักษิณก็ทำเรื่องขอยื่นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ และเพียงแค่ 10 วันของการรับโทษ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 คุณทักษิณก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ จาก 8 ปี ให้เหลือเพียง 1 ปีเท่านั้น


เหตุผลสำคัญในการขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งปรากฏในพระราชกิจจานุเบกษาระบุว่า
เนื่องเพราะเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์
เมื่อถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา ขณะนี้อายุมาก มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชายทักษิณ เหลือโทษจำคุกต่อไปอีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคม และประชาชนสืบไป
โทษจำคุกที่เหลือเพียง 1 ปีของคุณทักษิณ ทำให้ 120 วันของการต้องโทษจำคุก มีผลต่อคุณทักษิณอีกครั้ง เพราะเป็น 120 วัน หรือ 4 เดือน ที่เทียบเคียงกับการรับโทษจำคุกไปแล้ว 1 ใน 3 ของโทษจำคุก ที่ยังเหลืออยู่
เป็น 120 วัน อันหมายถึงคุณทักษิณที่มีอายุครบ 74 ปี ในปีนี้ มีโอกาสที่จะขอพักโทษได้ตามประกาศกรมราชทัณฑ์ เรื่อง หลักเกณฑ์การคัดเลือกนักโทษเด็ดขาดเข้าโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง พิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป พ.ศ.2563 เพราะเข้าหลักเกณฑ์ทั้งอายุ และการต้องโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
120 วันของคุณทักษิณยังเป็น 120 วันที่อื้ออึงอบอวลไปด้วยบรรยากาศและเสียงวิพากษ์วิจารณ์โจมตีกรมราชทัณฑ์ โจมตีกระทรวงยุติธรรม และนายกรัฐมนตรีถึงแนวทางปฏิบัติที่เอื้อให้คุณทักษิณสามารถอยู่นอกคุกต่อเนื่องมาได้ถึง 120 วัน
และหากคุณทักษิณได้พักโทษ ตามหลักเกณฑ์อายุ นั่นย่อมหมายถึง คุณทักษิณที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุก 8 ปี จะไม่ได้ติดคุกจริงแม้แต่วันเดียว
เสียงอื้ออึงรอบด้านในช่วงเวลา 120 วันบนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจของคุณทักษิณ ไม่เพียงมาจากคู่ขัดแย้งเดิม
ไม่เพียงมาจากสื่ออาวุโสที่ไม่เห็นด้วยกับแนวปฏิบัติดังกล่าว
ไม่เพียงมาจากพรรคก้าวไกล ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน
ยังมาจากอดีตคนใกล้ชิดคุณทักษิณทั้งในแวดวงการเมือง กลุ่มพลังมวลชน และอดีตคนทำสื่อที่เคยทำงานใกล้ชิดพรรคมาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย มาจนถึงพรรคเพื่อไทย
อันเป็น 120 วันที่ก่อให้เกิดแรงสะเทือนที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งต่อตัวคุณทักษิณ ต่อ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ต่อ เศรษฐา ทวีสิน และต่อพรรคเพื่อไทย

การประชุมคณะกรรมาธิการการตำรวจสภาผู้แทนราษฏรที่มี ชัยชนะ เดชเดโช สส.จังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 5 พรรคประธิปัตย์เป็นประธาน ถึงกับหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นวาระสำคัญในการประชุม และมีมติว่า หลังปีใหม่จะเข้าไปขอตรวจสอบสภาพความเป็นอยู่ของคุณทักษิณ บนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ
ซึ่งนั่นคือแรงสะเทือนที่เห็นชัด และมีโอกาสที่จะก่อตัวต่อเนื่อง พร้อมพลังมวลชนที่เริ่มก่อหวอดมากขึ้น

กระนั้นอีกมุมหนึ่ง ระหว่าง 120 วัน บนชั้น 14 ของคุณทักษิณ ก็ยังเกิดเหตุการณ์มากมายในประเทศไทย ที่บางเรื่อง บางเหตุการณ์ ก็ถูกเชื่อมโยงไปยังคุณทักษิณ อำนาจการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ของไทย ถูกสั่นคลอนด้วยความเชื่อทางการเมือง และสมการอำนาจที่เชื่อว่า หลายการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ เรื่องเหล่านั้นต้องส่งไปยังชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจก่อนเสมอ
120 วันบนชั้น 14 ของคุณทักษิณ ยังเกือบจะเทียบเท่า 120 วันของคุณเศรษฐาในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อคุณเศรษฐาได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 23 สิงหาคม 2566
120 วันบนชั้น 14 ของคุณทักษิณ ยังเกิดคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ที่มี สุทิน คลังแสง เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งมาจากพลเรือนเป็นคนแรกที่ไม่ได้ควบตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
อันเป็น ครม.ที่ถูกกล่าวหาว่า มีการเลือกสรร และจัดวาง โดยผ่านการนำขึ้นไปพิจารณาที่ชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ
แม้กระทั่งตำแหน่งที่ปรึกษา ข้าราชการการเมือง เลขาฯ นายกรัฐมนตรี เลขาฯ รัฐมนตรีทุกตำแหน่ง ยังถูกกล่าวหาว่า ต้องผ่านการตรวจสอบและอนุมัติจากชั้น 14 ทั้งสิ้น
แม้แต่ “แรมโบ้อีสาน” เสกสกล อัตถาวงศ์ ที่พลาดหวังจากตำแหน่งทางการเมืองทุกตำแหน่ง ทั้งที่เสนอชื่อมาในโควตาพรรครวมไทยสร้างชาติ ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นชื่อต้องห้ามของชั้น 14 เช่นกัน
120 วันของคุณทักษิณ บนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ จึงอื้ออึงเป็นอย่างยิ่งว่า ทรงอิทธิพลทางการเมือง จนบั่นทอนอำนาจ และความน่าเชื่อถือในตัวคุณเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรีอย่างมีนัยยะ
120 วันของคุณทักษิณ ยังเป็น 120 วันที่มีการพิจารณาเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ จากที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานโดยตำแหน่ง
ว่ากันว่าการประชุม ก.ตร. เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 เกือบไม่สามารถหาข้อยุติ เพื่อลงมติเลือก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งผบ.ตร.คนใหม่ได้ เนื่องเพราะมีผู้เสนอให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อน เพราะข้อมูลที่ได้รับยังไม่ครบถ้วน
แต่หลังจากคุณเศรษฐาเรียกประชุมกลุ่มย่อยกับกรรมการ ก.ตร. พร้อมขอเหตุผลที่จะเลื่อนออกไปว่า หากเลื่อนออกไป ผลการเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่จะเปลี่ยนไปหรือไม่ และเมื่อเสียงส่วนใหญ่ของ ก.ตร.ที่เข้าร่วมพูดคุยวงเล็กด้วยบอกว่า ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง นายกรัฐมนตรีจึงมีคำสั่งให้ประชุมต่อ และขอให้ได้ข้อยุติในวันนั้น

การพูดคุยที่เกิดขึ้นก่อนลงมติ การแสดงท่าทีที่เด็ดขาดของคุณเศรษฐา ที่สั่งการให้ประชุมให้จบในวันนั้น ล้วนแต่มีเสียงเล็ดรอด เสียงวิพากษ์ และข่าวลือหนาหู ว่าเป็นบัญชาจากชั้น 14 ที่โทรศัพท์มาสั่งการนายกรัฐมนตรีให้ทำให้จบ อย่ายืดเยื้อ
และนี่คือเรื่องเล่า 120 วันบนชั้น 14 ของคุณทักษิณ อันเป็นเรื่องเล่าที่มีอรรถรส เรื่องเล่าที่สร้างแรงสั่นสะเทือนทั้งแวดวงการเมือง และแวดวงราชการระดับสูง เรื่องเล่าที่ล้วนแต่ถูกพูดถึงในวงสนทนาสำหรับผู้คนที่สนใจ และติดตามข่าวการเมืองอย่างใกล้ชิด
แต่เรื่องเล่า 120 วัน บนชั้น 14 ของคุณทักษิณ ยังไม่อาจเทียบเท่าเรื่องราวที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้ หากคุณทักษิณได้รับการพักโทษ หรือกรณีคุณทักษิณเข้าเงื่อนไข และหลักเกณฑ์การรับโทษคุมขังในสถานที่อื่น อันไม่ใช่เรือนจำ
เพราะไม่ว่าจะหลักเกณฑ์การพักโทษ หรือการคุมขังนอกเรือนจำ นั่นหมายถึงคุณทักษิณจะได้กลับไปอยู่ที่บ้าน อันมีกฏระเบียบที่อ่อนตัว สำหรับการเข้าพบ
ต่างจากการถูกควบคุมตัวอยู่ที่ชั้นที่ 14 ซึ่งเข้าพบยาก และมีข้อจำกัดทั้งจำนวนคนที่เข้าพบ สุ่มเสี่ยงต่อการถูกพบเห็น สุ่มเสี่ยงต่อการปรากฏตัวในภาพกล้องวงจรปิดของโรงพยาบาล
120 วันบนชั้น 14 คุณทักษิณยังมีบทบาทและมีเรื่องเล่ามากขนาดนี้ แล้วหากคุณทักษิณกลับไปอยู่บ้าน หรือได้รับการพักโทษที่ไปไหนมาไหนได้สะดวกมากขึ้น เรื่องราวและเรื่องเล่าของคุณทักษิณจะมากมายขนาดไหน

ไขปริศนา ปมประเด็นทำไมหลายฝ่ายถึงต้องเคลื่อนไหวคัดค้าน ทำไมหลายฝ่าย...แม้กระทั่งบางคนในพรรคเพื่อไทยเองก็ยังลังเลที่จะสนับสนุนให้คุณทักษิณออกมาเคลื่อนไหวอิสระเช่นนี้
ติดตามได้ใน ทักษิณ ชินวัตร บนชั้น 14 EP ถัดไปที่จะสะท้อนมุมอำนาจ และบทบาทของคุณทักษิณ หากได้รับการพักโทษ หรือเข้าข่ายการไปรับโทษคุมขังที่บ้าน ว่าจะมีอิทธิฤทธิ์หรือทรงอำนาจเพียงใด