ในที่สุดก็ผ่าน 120 วันบนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจไปแล้ว ท่ามกลางความกังขา และคำถามของสังคมที่พุ่งไปยังกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้นสังกัดของโรงพยาบาลตำรวจ
เป็น 120 วันที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งทางตรงทางอ้อม ตกอยู่ในภาวะพัลวัน
พัลวันกับการค้นคิดประดิษฐ์ถ้อยคำมาตอบคำถามสื่อ
พัลวันกับการหาทางออก และเหตุผลใหม่ๆ ว่าทำไมนักโทษเด็ดขาดอย่าง คุณทักษิณ ชินวัตร ถึงยังไม่ต้องอยู่ในคุกจริงๆ แม้แต่เพียงวันเดียว
พัลวันกับการเตรียมการรองรับการออกจากโรงพยาบาลของคุณทักษิณ ที่วันนี้เข้าเกณฑ์ทั้งการพักโทษในฐานะผู้สูงอายุ และเข้าเกณฑ์การคุมขังนอกเรือนจำ
พัลวันเพราะหากเหตุผลไม่มีน้ำหนักพอ การออกจากโรงพยาบาลตำรวจที่สามารถปรากฏตัวที่ไหนก็ได้ ด้วยการสวมกำไล EM หรือการกลับไปคุมขังที่บ้านของคุณทักษิณ อาจสร้างปรากฏการณ์ขัดแย้งหนักในสังคมอีกรอบ

รัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน และพรรคเพื่อไทยต้องไม่ลืมบรรยากาศของการชุมนุมใหญ่ที่เกิดขึ้นจากพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับลักหลับเมื่อปี 2557
ชนวนเพียงเล็กๆ ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างใหญ่หลวง
รัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรที่กำลังก้าวเดินไปอย่างมั่นคง ล้มครืนอย่างไม่เป็นท่า จากการชุมนุมที่ยืดเยื้อ บานปลาย และนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557
ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ตระกูลชินวัตร และพรรคเพื่อไทยพึงสำเหนียก
กระนั้น วันนี้ก็ผ่าน 120 วันแรกไปแล้ว สิ่งที่ต้องจับตานับจากนี้คือ 60 วันนับจากนี้
60 วันที่รัฐบาลเศรษฐา จะบริหารราชการครบกำหนด 6 เดือน
เป็น 60 วันที่โมเมนตัมทางการเมืองอาจเปลี่ยนทิศ
เป็น 60 วันที่หากคุณทักษิณอดทนได้ ไม่ยอมรับหลักเกณฑ์คุมขังนอกเรือนจำ
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 คุณทักษิณก็จะได้พักโทษ ในฐานะนักโทษสูงอายุ
ถึงวันนั้นแกนอำนาจที่ยังก้ำกึ่งระหว่างชั้น 14 และทำเนียบรัฐบาล อาจเบี่ยงเบนไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้าแทน ซึ่งนั่นอาจหมายถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีการวิเคราะห์กันไว้ก่อนหน้านี้ว่าอาจจะเกิดขึ้น

เพราะที่เป็นที่รู้กันมาตลอดว่า สไตล์คุณทักษิณนั้นจะให้เวลา 180 วัน หรือ 6 เดือนในการประเมินผลงาน ทั้งในขณะบริหารธุรกิจ และครั้งที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ฉะนั้น 60 วันนับจากนี้ จึงเป็น 60 วันอันจะครบ 6 เดือน
6 เดือนอันเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อที่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง เพราะเป็น 6 เดือนที่ต้องประเมินผลงานคณะรัฐมนตรีแบบรายบุคคล
พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคภูมิใจไทย พรรคที่มีระบบการบริหารอำนาจเบ็ดเสร็จจากบ้านใหญ่บุรีรัมย์ อาจไม่เกี่ยวกับการประเมินรอบนี้ เพราะการจัดวางรัฐมนตรีในแต่ละตำแหน่ง ไม่ได้จัดวางไว้เพื่อการตอบแทน หรือเพื่อทดลองงาน

พรรคพลังประชารัฐ ทั้งพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ, ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า และคุณสันติ พร้อมพัฒน์ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นรัฐมนตรีตัวจริง สายตรงแกนอำนาจทั้งสิ้น
เช่นเดียวกับ 3 รัฐมนตรีจากพรรครวมไทยสร้างชาติ พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค, พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล และอนุชา นาคาศัย

แม้อาจจะมีแกว่งอยู่บ้างที่ พิมพ์ภัทรา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แต่การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหลัก ทั้งที่เพิ่งเป็นรัฐมนตรีครั้งแรก แสดงว่าแรงขับเคลื่อนเบื้องหลังของ “รัฐมนตรีปุ้ย” ทายาทมาโนช วิชัยกุล อดีตสส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช 9 สมัย ก็เป็นแรงขับที่ไม่ธรรมดา
ส่วนพรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคประชาชาติ หนึ่งเก้าอี้รัฐมนตรี คือหนึ่งบุคคลที่ทรงอำนาจภายในพรรค ซึ่งย่อมไม่กระเทือนต่อสภาวะครบ 6 เดือนของการประเมินผลงานเช่นกัน
60 วัน นับจากนี้ พรรคที่น่าจะกระทบที่สุดต่อช่วงเวลาประเมินผลงาน หนีไม่พ้นพรรคเพื่อไทย ในฐานะพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
พรรคเพื่อไทย ได้รับการจัดสรรเก้าอี้ 16 ที่นั่งในครม.เศรษฐา 1 รวมเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็น 17 ที่นั่ง
120 วันก่อน รายชื่อรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย หลายรายชื่อปรากฏออกมาท่ามกลางความสงสัย งุนงง และประหลาดใจ เพราะผิดมาตรฐานพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ยุคไทยรักไทย พลังประชาชน และเพื่อไทยยุคคุณยิ่งลักษณ์
รัฐมนตรีบางคน ไม่เพียงเป็นน้องใหม่ทางการเมือง แต่ยังไม่ปรากฏโปรไฟล์ความสำเร็จใดๆ จากการบริหารมาก่อน
รัฐมนตรีบางคน ก็ไม่ประสบความสำเร็จจากการนำทัพในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา
ขณะที่รัฐมนตรีบางคนก็ผิดฝาผิดตัว บางคนจำใจนั่งในตำแหน่งที่มีบทบาทน้อยนิด ทั้งที่ก่อนเลือกตั้ง และ 120 วันที่ผ่านมา สร้างคุณอนันต์ให้กับตระกูลชินวัตรอย่างใหญ่หลวง
60 วันนับจากนี้ จึงเป็น 60 วันที่รัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย จะต้องเร่งสร้างผลงาน เร่งประชาสัมพันธ์ผลงานของตัวเองกันแบบต่อเนื่อง
เป็น 60 วันที่จะพลาดไม่ได้ ลดคันเร่งก็ไม่ได้แม้แต่วันเดียว เพราะอะไรก็เกิดขึ้นภายในเวลาแค่ 60 วัน
รัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยหลายรายเริ่มหาตัวช่วย บางรายต้องหาโครงการ หรือผลงานใดผลงานหนึ่งที่ไม่ใช่ผลงานร่วมกับครม. ผลงานที่รัฐมนตรีริเริ่มเอง ผลงานที่ต้องมีใครช่วยป่าวประกาศ
อย่าแปลกใจที่สื่อหลายสำนักอาจได้รับไมตรีจากทีมงานรัฐมนตรีบางท่าน
สื่อบางสื่อที่ถูกตั้งแง่ บางรายการที่ถูกแสดงอำนาจ เพียงเพราะไม่ถูกใจในประเด็นที่หยิบยกมาเล่น 60 วันนับจากนี้อาจมีดอกไม้มาแทนเสียงเตือน
ขณะที่รัฐมนตรีบางรายเริ่มหนาวยะเยือก แต่ 60 วันนับจากนี้ สปอตไลท์ก็เริ่มสาดส่องไปยังคุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรีที่มีผลงานเด่นชัดมาโดยตลอด

รองนายกรัฐมนตรีที่รับบทผู้เสียสละยอมรับตำแหน่งที่ไร้บทบาท ทั้งที่เป็นผู้ที่ถูกระบุว่ามีส่วนร่วมในการออกแบบขั้นตอน กระบวนการกลับบ้านของคุณทักษิณ ตั้งแต่ระเบียบขั้นตอนการพิจารณาพักโทษ ที่มีคณะกรรมการกลางในการพิจารณานักโทษที่เข้าเกณฑ์พักโทษ ลดโทษ
การออกระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการลดจำนวนนักโทษภายในคุก อันนำมาซึ่งการคุมขังนอกเรือนจำ การสั่งซื้อกำไล EM จำนวนมากเพื่อรองรับนักโทษที่เข้าเกณฑ์การพักโทษ การคุมขังนอกเรือนจำ หรือผู้กระทำความผิดที่ต้องโทษกักขังแทนค่าปรับ ผู้กระทำความผิดในคดีเช็คที่ไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี
ผลงานที่ประจักษ์ของคุณสมศักดิ์ ทำให้การปรับครม.รอบนี้ คุณสมศักดิ์น่าจะได้รับคืนความเป็นธรรม กลับมามีบทบาทในตำแหน่งที่สำคัญมากขึ้น
ส่วนรัฐมนตรีน้องใหม่ รัฐมนตรีฝึกงาน รัฐมนตรีที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นตำแหน่งต่างตอบแทน ล้วนต้องใช้เวลา 60 วันนับจากนี้ ตระเตรียมเพื่อพร้อมรับแรงสั่นสะเทือนของการปรับครม. ขึ้นอยู่กับแรงสนับสนุนใครจะมีพลังมากกว่ากัน
60 วันนับจากนี้ไม่เพียงสั่นสะเทือนภายในพรรคหลักอย่างพรรคเพื่อไทย แต่พรรคร่วมรัฐบาลยังต้องติดตามความเคลื่อนไหวใกล้ชิดที่เกิดขึ้นภายในพรรคประชาธิปัตย์เช่นกัน
พรรคประชาธิปัตย์ที่วันนี้แกนอำนาจตกอยู่ในมือหัวหน้าพรรคคนใหม่ คุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน อย่างชัดเจน
ท่าทีของทั้ง “หัวหน้าต่อ” และเลขาธิการพรรคคู่ใจอย่างนายกฯ ชาย เดชอิศม์ ขาวทอง ล้วนแต่เคยแสดงชัดมาก่อนว่า ทันทีที่เกมอำนาจในพรรคประชาธิปัตย์ได้ข้อยุติ พรรคประชาธิปัตย์ก็พร้อมที่จะทบทวนท่าทีการเข้าร่วมรัฐบาลเช่นกัน

แม้บทบาทของ ชัยชนะ เดชเดโช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการตำรวจ และวัชระ เพชรทอง อดีตสส.จากพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะกรรมาธิการ จะดุดันยิ่งต่อคุณทักษิณ ที่ได้รับสิทธิพิเศษบนชั้น 14 ของโรงพยาบาลตำรวจ
แม้บทบาททั้งคู่จะเข้มข้นยิ่งต่อการตรวจสอบผู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้สิทธิพิเศษแก่คุณทักษิณ อันเป็นบทบาทที่แสดงมิติแห่งความเป็นศัตรู มิติแห่งการเป็นฝ่ายตรงกันข้าม
แต่ภายใต้ความดุดัน ความเข้มข้น บทบาทแห่งการเป็นฝ่ายตรวจสอบ ยังควบคู่ไปกับบทบาทของนายกฯ ชายที่ไม่เคยปฏิเสธความเกี่ยวข้อง และการพูดคุยกับทั้งคุณทักษิณ และแกนนำพรรคเพื่อไทย
บทบาทอันแสดงความมีไมตรี และความพร้อมที่จะเข้าไปเสริมฐานอำนาจให้กับรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ
60 วันของเกมกระชับอำนาจของพรรคเพื่อไทยยามนี้ จึงมีทั้งความเป็นไปได้ในการปรับครม. เพื่อจัดวางรัฐมนตรีตัวจริง ลงในตำแหน่งที่เหมาะสม เพื่อสร้างผลงานภายในเวลาที่เหลือ กอบกู้และฟื้นศรัทธาจากมวลชนที่เคยอยู่เคียงข้างพรรคเพื่อไทยให้กลับมาเป็นพลังที่แข็งแกร่งอีกครั้ง
รวมทั้งปรับครม. เพื่อเพิ่มพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์เข้ามาเติมความเข้มแข็ง และลดอำนาจการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น ในกรณีที่มีเหตุการณ์ไม่คาดคิด

60 วันนับจากนี้ เมื่อถึงวันที่คุณทักษิณออกมาจากชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ และกลับไปพำนักที่บ้านจันทร์ส่องหล้า วันนั้นโมเมนตัมทางการเมือง จะเบี่ยงเบนจากทำเนียบรัฐบาลไปยังบ้านจันทร์ส่องหล้ามากขึ้น
เกมปรับครม. และเพิ่มพรรคร่วมรัฐบาลจึงย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกนาที โดยเฉพาะเมื่อพรรคเพื่อไทยเหลือเวลาเพียง 3 ปีเศษ ที่จะเร่งสร้างผลงาน และสร้างฐานคะแนนเพื่อกลับมาเป็นพรรคอันดับ 1 ในใจคนไทยอีกครั้ง