ส่องโผทหาร...ในสถานการณ์พิเศษ

15 ส.ค. 2566 - 07:32

  • เขย่าเก้าอี้ 4 ผบ.เหล่าทัพ รับรอยต่ออำนาจ

  • ทรงวิทย์ ทัพไทย, เจริญชัย ทัพบก, ชานนท์ ทัพอากาศ

  • จับตา สุวิน เตรียมทหาร รุ่น 25 จะสร้างประวัติศาสตร์ก้าวข้ามรุ่นพี่ ตท. 23 ขึ้นเป็น ผบ. ทัพเรือได้หรือไม่

contributor-bamboo-leaves-watch-soldiers-list-2566-SPACEBAR-Hero
ผ่านการเลือกตั้งมา 3 เดือนเต็ม นับจากวันที่ 14 พฤษภาคม จนถึงวันนี้ (15 สิงหาคม) ประเทศไทยก็ยังไม่ได้บุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 การบริหารราชการแผ่นดินยังอยู่ภายใต้รัฐบาลรักษาการที่ถูกจำกัดอำนาจและความรับผิดชอบ 

บางอย่างทำได้ บางอย่างทำไม่ได้ หรือทำได้ก็ภายใต้ขอบเขตจำกัด และบางอย่างต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง 

การโยกย้ายข้าราชการในช่วงปลายปีนี้ (พ.ศ.2566) เป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลรักษาการทำได้ภายในขอบเขต ซึ่งหากมีความจำเป็นที่จะต้องทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย คณะรัฐมนตรีจะต้องขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน 

แต่การทำบัญชีโยกย้ายนายทหารระดับ 'นายพล' ของกระทรวงกลาโหม อยู่นอกเหนือข้อจำกัดดังกล่าว เพราะมีกฏหมายเป็นของตัวเอง ที่สามารถแต่งตั้งโยกย้ายได้ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก กกต. 

การทำบัญชีโยกย้ายนายทหารปีนี้ จึงมีการประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองรายชื่อชุดเล็ก และการประชุมสภากลาโหมอย่างต่อเนื่อง 

และล่าสุดมีรายงานว่า การทำบัญชีโยกย้ายนายทหารทั้งหมดได้ข้อสรุปที่ลงตัวแล้ว และพร้อมนำเข้าสู่การพิจารณาเห็นชอบของคณะกรรมการชุดใหญ่ในการประชุมสภากลาโหมครั้งหน้า ซึ่งหากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง น่าจะสามารถนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ไม่เกินสิ้นเดือนสิงหาคมแน่นอน 

ความเคลื่อนไหวทั้งหมด ที่มีข้อมูลการจัดวางผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพหลุดออกมาตามสื่อ ทั้งระดับ ผบ.เหล่าทัพ แม่ทัพภาค ผบ.หน่วยระดับคุมกำลัง 

ว่ากันว่าไม่ถูกใจใครบางคนที่เคยทำบัญชีโยกย้ายมาตลอด และอยากเข้าไปมีส่วนในการแก้ใหม่ จีงเริ่มมีการส่งสัญญาณผ่านไปยังพรรคเพื่อไทยขอให้ออกแถลงการณ์ เบรกรัฐบาลรักษาการให้ชะลอการทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทั้งหมดออกไปก่อน เพื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่ โดยเฉพาะบัญชีโยกย้ายกระทรวงกลาโหมที่ปีนี้ ผบ.เหล่าทัพเกษียณอายุราชการครบทุกเหล่า 

แต่ก็ว่ากันว่า แม้จะพยายามกันแค่ไหน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกลาโหม คงไม่ยอมง่ายๆ เพราะการทำบัญชีโยกย้ายนายทหารครั้งนี้ น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายของพลเอกประยุทธ์แล้ว หลังประกาศวางมือทางการเมือง 

นอกจากนั้น การจัดวางกำลังทางทหารรอบนี้ ยังมีนัยยะสำคัญ และเป็นการปรับย้ายในสถานการณ์พิเศษของบ้านเมืองที่อยู่ในช่วงรอยต่อของอำนาจ และรอยต่อของความเปลี่ยนแปลงพิเศษบางอย่าง การจัดวาง ผบ.เหล่าทัพ และการจัดวาง ผบ.หน่วยระดับคุมกำลัง จึงสำคัญยิ่งเพื่อความมั่นใจว่า จะสามารถประคับประคองสถานการณ์บ้านเมืองให้ผ่านช่วงรอยต่อสำคัญนี้ไปได้ 

พลเอกประยุทธ์จึงจำต้องใช้ข้อมูลสำคัญทุกภาคส่วน รวมทั้งหารือผู้เกี่ยวข้อง ร่วมทำบัญชีโยกย้ายครั้งนี้แบบละเอียดทุกตำแหน่ง 

กองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี เตรียมทหาร (ตท.) รุ่น 24 น่าจะไม่พลาดตำแหน่งนี้ หลัง ‘บิ๊กอ้อป’ ต้องเล่นบทผู้เสียสละมาแล้ว ตั้งแต่ครั้งที่พลาดตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 และต้องขึ้นพลโทในตำแหน่งรองเสนาธิการทหารบก จนสุดท้ายต้องข้ามห้วยไปเติบโตที่กองบัญชาการกองทัพไทย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6WhS1MogTaiPsmU94mgPMZ/730610740bbf85b43be0972ddff2c48b/contributor-bamboo-leaves-watch-soldiers-list-2566-SPACEBAR-Photo01
Photo: พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด
แม้จะมี พล.อ.ธิติ เทียนทอง เพื่อนร่วมรุ่น ตท. 24 เป็นคู่เทียบ แต่ในสถานการณ์ความตึงเครียดของโลกปัจจุบัน พล.อ.ทรงวิทย์ ดูเหมาะสมมากกว่า ที่จะร่วมพูดคุยบนโต๊ะเจรจากับผู้นำเหล่าทัพประเทศอื่นๆ 

เปิดโผทัพบก 

กองทัพบกปีนี้ 5 เสือเกษียณ 2 คนคือ พลเอกณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. และพลเอกเกรียงไกร ศรีรักษ์ ผช.ผบ.ทบ. 

ขณะที่ตำแหน่ง ผบ.ทบ. ‘บิ๊กต่อ’ พล.อ.เจริญชัย  หินเธาว์ รองผู้บัญชาการทหารบก น่าจะเป็นบุคคลที่ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ณรงค์พันธ์ เห็นตรงกันว่า เหมาะสมที่จะรับตำแหน่ง สำหรับสถานการณ์ในเวลานี้ 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/5VQhqvluRiAYiWVznF52ay/fd8bb29bf62110a14e9b44fcdacc6637/contributor-bamboo-leaves-watch-soldiers-list-2566-SPACEBAR-Photo02
Photo: พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก
ส่วน ‘บิ๊กโต’ พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เพื่อนร่วมรุ่น ตท. 23 ของพล.อ.เจริญชัย ซึ่งระยะหลังก็เป็นหนึ่งในน้องรักของ พล.อ.ประยุทธ์ อีกคน ขึ้นอยู่กับว่า ‘พี่ตู่’ จะส่งน้องโตไปลงตำแหน่งไหนที่เหมาะสมและได้ทำงานตรงกับความสามารถได้อย่างเต็มที่ 

ส่วนตำแหน่ง 5 เสือที่ว่างจากการขยับของพล.อ.เจริญชัย ขึ้นอยู่กับว่า พล.อ.สุขสรรค์ จะยังอยู่ทบ.ในตำแหน่งรองผบ.ทบ.หรือไม่ หากไม่ 5 เสือก็จะว่างถึง 3 ตำแหน่ง คือ รองผบ.ทบ. และผู้ช่วยผบ.ทบ. 2 ตำแหน่ง 

รองผบ.ทบ.นั้น กระแสข่าวค่อนข้างหนาหูถึงการรีเทิร์นกลับเข้าตำแหน่งหลักของ พล.อ.ธราพงษ์  มาละคำ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก ตท. 24 หลังผิดหวังตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ในการโยกย้ายปีที่ผ่านมา
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6ajpRlubJiPcRhmMi0NBMJ/0cc67b928c656b07ab278f7188aa696b/contributor-bamboo-leaves-watch-soldiers-list-2566-SPACEBAR-Photo03
Photo: พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ รองผู้บัญชาการทหารบก
รอบนี้มีข่าวว่า พี่ตู่จะคืนความชอบธรรมให้ ‘น้องหนุ่ย’ กลับเข้าดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก เข้าไลน์ เพื่อมีสิทธิชิงตำแหน่ง ผบ.ทบ.ในปีหน้า เพราะพล.อ.ธราพงษ์มีอายุราชการถึงปี 2569 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3hToyXuG4FCE6lo65uJ1bl/0484ef1c67f4b8b90c47f0fdd5ef15ba/contributor-bamboo-leaves-watch-soldiers-list-2566-SPACEBAR-Photo04
Photo: พล.อ.ธราพงษ์ มาละคำ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก
ส่วนผู้ช่วยผบ.ทบ.อีก 2 ตำแหน่ง หนึ่งในนั้น น่าจะเป็น ‘บิ๊กปู’ พล.ท.พนา แคล้วปลอดทุกข์ แม่ทัพภาคที่ 1 ตท. 26 เข้ามาเป็นแคนดิเดตสำคัญสำหรับ ผบ.ทบ.คนต่อไปเช่นกัน บิ๊กปูมีอายุราชการยาวถึงปี 2570 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/2Za3zYTG6IHopj6G5paQmt/17fd0c2277cfdd1fa38791b3c1922684/contributor-bamboo-leaves-watch-soldiers-list-2566-SPACEBAR-Photo05
Photo: พล.ท.พนา แคล้วปลอดทุกข์ แม่ทัพภาคที่ 1
อีกหนึ่งตำแหน่งมีชื่อ พล.ท.สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2 เพื่อนร่วมรุ่น ตท. 23 ของพล.อ.เจริญชัย มาแรง โดยมีคู่แข่งคนสำคัญ คือ พล.ท.ณัฐวุฒิ นาคะนคร ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ตท. 24 พล.ท.วรวุฒิ  วุฒิศิริ ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก ตท. 23 บุตรชายของ พล.อ.วัฒนชัย วุฒิศิริ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และพล.ท.ศานติ  สกุนนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ตท. 25 แอบเข้ามาลุ้นในตำแหน่งนี้ด้วย 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/1SScb32V3RSl3B2GkbWgAK/64610f14f2692fe2867585c357e23d2a/contributor-bamboo-leaves-watch-soldiers-list-2566-SPACEBAR-Photo06
Photo: พล.ท.สวราชย์ แสงผล แม่ทัพภาคที่ 2

เปิดโผทัพอากาศ 

ส่วนกองทัพอากาศ แม้จะแข่งขันกันอย่างเข้มข้น ระหว่างตท. 23 ด้วยกัน คือ พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รองผบ.ทอ. และพล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ เสธ.ทอ. โดยมีตท. 24 พล.อ.อ.พันธุ์ภักดี พัฒนกุล ผช.ผบ.ทอ. เป็นตัวสอดแทรก
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/6ihyOGnfmHdikBpr3E8FNA/92ef747502a7b31b62e6bb17479ca31c/contributor-bamboo-leaves-watch-soldiers-list-2566-SPACEBAR-Photo07
Photo: พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา รองผู้บัญชาการทหารอากาศ
แต่สถานการณ์หัวเลี้ยวหัวต่อของประเทศ ที่ต้องการความมั่นใจ และต้องการความเสถียรมากที่สุด ‘บิ๊กหนึ่ง’ พล.อ.อ.ชานนท์ เสืออากาศจากกองบิน 4 น่าจะมีสิทธิ์ลุ้นมากกว่าใคร ท่ามกลางการแอบลุ้นระทึกของบรรดานักบินกองบิน 4 เพราะหากพี่หนึ่งขึ้น น้องๆ อีกหลายคนก็มีโอกาสกลับเข้าไลน์ 

ส่วน ‘เสธ.ณะ’ พล.อ.อ.ณรงค์ คงต้องหวังให้พลังของพล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผบ.ทอ.คนปัจจุบันแรงพอที่ผลักดันรายชื่อผ่านที่ประชุมสภกลาโหม โดยเฉพาะต้องอธิบายคุณสมบัติของ พล.อ.อ.ณรงค์ ต่อพล.อ.ประยุทธ์ ว่ามีคุณสมบัติเหนือกว่า พล.อ.อ.ชานนท์ ตรงไหน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3XVZnTMpvKuZIgIU9Q60gJ/634d683d00edfa3cb2e3479f20dfa8b6/contributor-bamboo-leaves-watch-soldiers-list-2566-SPACEBAR-Photo08
Photo: พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ เสนาธิการทหารอากาศ
เพราะแค่สัญญาใจในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้ ดูเหมือนไม่น่าจะมีน้ำหนักพอต่อการตัดสินใจของพล.อ.ประยุทธ์ 

เปิดโผทัพเรือ 

นอกเหนือกองทัพบกและกองทัพอากาศ กองทัพเรือปีนี้ดูจะเข้มข้นมากกว่าปีที่ผ่านมา เพราะการโยกย้ายปี 2565 ‘บิ๊กเฒ่า’ พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร.ในขณะนั้น เลือกชื่อ ‘บิ๊กจอร์ช’ พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ มาตั้งแต่การโยกย้ายกลางเดือนเมษาฯ ที่ดึง พล.ร.อ.เชิงชาย กลับมาจาก บก.กองทัพไทย เพื่อรอขึ้นตำแหน่งผบ.ทร.ในช่วงปลายปี 

ปีนี้ การแข่งขันค่อนข้างดุเดือดมาตั้งแต่ต้นปี เมื่อมีการลิสต์รายชื่อแคนดิเดตว่าที่ ผบ.ทร.ขึ้นมาถึง 3 ราย คือ พล.ร.อ.อดุง พันธุเอี่ยม ผบ.กองเรือยุทธการ และ พล.ร.อ.ชลทิศ นาวานุเคราะห์ เสธ.ทร. ที่ทั้งคู่เป็นเพื่อนร่วมรุ่น ตท. 23 ต่างกันตรง พล.ร.อ.อดุง เกษียณอายุปี 2567 ส่วนพล.ร.อ.ชลทิศ เกษียณอายุ ปี 2568 
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/3ZYHeRPXHXpLc0qvQWZIpF/d30b89b133adbce7b71217e98479136a/contributor-bamboo-leaves-watch-soldiers-list-2566-SPACEBAR-Photo09
Photo: พล.ร.อ.อดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ
นอกจากนั้นยังมีชื่อ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข ผช.ผบ.ทร. ที่เป็น ตท. 25 เป็นแคนดิเดตที่มาแรงอีกคนหนึ่ง 

ช่วงแรก เสธ.ชลทิศ ค่อนข้างมาแรง ด้วยสายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัวของ พล.ร.อ.ชลทิศ และบิ๊กจอร์ช พล.ร.อ.เชิงชาย ผบ.ทร. จนบิ๊กจอร์ชแสดงออกค่อนไปทางเสธ.ชลทิศ มากกว่า พล.ร.อ.อดุง 

ทั้งที่ก่อนที่บิ๊กจอร์ชจะรับตำแหน่ง เคยมีการพูดคุยกันในโต๊ะกินข้าว ซึ่งมีอดีตนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของ ทร. และบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ว่า จะส่งไม้ต่อให้ พล.ร.อ.อดุง จากนั้นถึงจะเป็นคิวของพล.ร.อ.ชลทิศ หรือพล.ร.อ.สุวิน เพราะทั้งคู่เกษียณอายุราชการปี 2568 พร้อมกัน
https://images.ctfassets.net/i3o8p9lzd06f/NRcHN2Rvm0pfiwmwAxu5H/8ced585b82b93160428102de7a03b48e/contributor-bamboo-leaves-watch-soldiers-list-2566-SPACEBAR-Photo10
Photo: พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข
ล่าสุดกระแสของเสธ.ชลทิศ เริ่มอ่อนลง หลังเจอกระแสข่าวรอบด้านถาโถมเข้าใส่ จนทำให้เหลือคู่ชิงแค่ 2 คนที่ยังโดดเด่น คือ พล.ร.อ.อดุง และพล.ร.อ.สุวิน และเป็นการแข่งขันระหว่าง รุ่นพี่ ตท. 23 และรุ่นน้อง ตท. 25 

การแข่งขันที่ดุเดือดทั้งสงครามข้อมูล สงครามสื่อ ที่ต่างยกให้ พล.ร.อ.สุวินได้เปรียบ พล.ร.อ.อดุง ทั้งอาวุโสการครองยศ พล.ร.อ.ก่อน และเส้นทางการรับราชการที่โดดเด่นกว่า 

ในความเป็นจริง เส้นทางการรับราชการทั้งคู่ต่างโดดเด่นไม่ต่างกันมาก ทั้งการปฏิบัติหน้าที่บนเรือหลักของกองทัพ และการเป็นผบ.เรือหลัก การดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตทหารเรือที่ พล.ร.อ.อดุง ดำรงตำแหน่ง ผช.ทูตทหารเรือประจำกรุงแคนเบอร์ร่า ออสเตรเลีย ส่วนพล.ร.อ.สุวิน เป็น ผช.ทูตทหารเรือประจำกุรงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา 

ส่วนอาวุโสการครองยศ พล.ร.อ.อดุง ขึ้นครองยศ พล.ร.ต.ก่อน พล.ร.อ.สุวิน เพราะขณะที่ พล.ร.อ.อดุงเป็น พล.ร.ต.นั้น พล.ร.อ.สุวิน ยังเป็นนอ.พิเศษเท่านั้น 

แต่สาเหตุที่พล.ร.อ.อดุง ซึ่งเป็นรุ่นพี่พล.ร.อ.สุวินถึง 2 รุ่น และครองยศ พล.ร.ต. ก่อน แต่กลับถูกระบุว่า อาวุโสการครองยศน้อยกว่า เป็นการนับอาวุโสการครองยศ พล.ร.อ. เพราะพล.ร.อ.สุวิน แซงขึ้นเป็นพล.ร.อ.ก่อนพล.ร.อ.อดุง หนึ่งปี 

เส้นทางการเติบโตแบบก้าวกระโดดของ พล.ร.อ.สุวิน เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ เป็นผบ.ทร. และขยับขึ้นเป็นพล.ร.ท.ในปี 2563 ในตำแหน่งหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการ ประจำผู้บัญชาการทหารเรือ 

จากนั้นขยับขึ้นเป็นพล.ร.อ.ในปี 2564 ในตำแหน่ง ผบ.กองเรือยุทธการ ปี 2565 ขยับมาเป็นผช.ผบ.ทร. โดยหลักอาวุโส ทั้งที่การโยกย้ายปีที่ผ่านมา มีชื่อของพล.ร.อ.อดุง อยู่ในข่ายที่จะเป็นผช.ผบ.ทร. 

ขณะที่ พล.ร.อ.อดุง ครองยศ พล.ร.ต.ตั้งแต่ปี 2559 และจัดเป็นนายทหารดาวรุ่งของ ทร.ในขณะนั้น แต่เส้นทางการเติบโตของ พล.ร.อ.อดุง สะดุดอยู่ที่ พล.ร.ต. ถึง 5 ปี ในยุคของ พล.ร.อ.ลือชัย ก่อนจะขยับเป็น พล.ร.ท.ในตำแหน่งเจ้ากรมสื่อสารในปี 2564 และขึ้นเป็น พล.ร.อ.ในตำแหน่ง ผบ.กองเรือยุทธการในปี 2565 

โค้งสุดท้ายนาทีนี้ จึงเหลือเพียงรุ่นพี่ ตท. 23 และรุ่นน้อง ตท. 25 ว่าใครจะเข้าป้ายเป็นเบอร์หนึ่งของกองทัพเรือ และยังต้องลุ้นว่า พล.ร.อ.สุวิน จะสร้างประวัติศาสตร์ให้กองทัพเรือได้หรือไม่ ที่มี ผบ.ทร.เป็นรุ่นน้อง ผบ.ทบ. ถึง 2 รุ่น 

เพราะในอดีตแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์