ช่วงหลายวันมานี้ เรื่องราวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มกลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง
ทั้งประเด็นการออกมาเคลื่อนไหวของทั้งนักการเมือง นักกิจกรรม และสื่อหลายสำนัก กรณีตำรวจภูธร อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มีหมายเรียกแกนนำเยาวชนที่ร่วมจัดงานกิจกรรมแต่งกายชุดมลายู ในข้อหาความมั่นคงมาให้ปากคำ

ทั้งเหตุความไม่สงบที่เกิดขึ้นล่าสุด เมื่อมีคนร้ายจำนวนหนึ่งซุ่มโจมตี ชุดเฝ้าตรวจชายแดน ตำรวจตระเวณชายแดนที่ 44 เป็นเหตุให้ตำรวจตระเวณชายแดนเสียชีวิต 1 นาย คือ ร้อยตำรวจโทสถาพร สุจิณโณ หัวหน้าชุดเฝ้าตรวจชายแดนที่ 4411 และบาดเจ็บสาหัส 1 นาย คือ ร้อยตำรวจตรีประเสริฐ แก้วศรี หัวหน้าชุดเฝ้าตรวจชายแดนที่ 4412

ทั้งสองเหตุการณ์แม้จะต่างกัน
เหตุการณ์หนึ่ง ตอบโต้กันด้วยการจัดกิจกรรมแสดงออกถึงจุดยืนทางความคิด และกระบวนการทางกฏหมาย
อีกเหตุการณ์เป็นการปะทะกันด้วยกำลัง ที่ผลัดกันสร้างความสูญเสีย ครั้งนี้เป็นฝ่ายเจ้าหน้าที่ที่สูญเสีย ทั้งบาดเจ็บ และเสียชีวิต
ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นคู่ขนานกันมาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี ตั้งแต่ 4 มกราคม 2547 ที่เกิดเหตุปล้นปืนที่ค่ายกองพันพัฒนาที่ 4 หรือ ‘ค่ายปิเหล็ง’ มาจนถึงปัจจุบัน ที่เพิ่งครบรอบ 20 ปี ไปเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567
เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีความสูญเสียเกิดขึ้นมากมาย
มีผู้เสียชีวิต ทั้งเจ้าหน้าที่ ผู้ก่อความไม่สงบ และประชาชนผู้บริสุทธิ์ไปแล้วถึง 4,577 ราย บาดเจ็บไปอีกกว่า 10,000 คน
สูญเสียทางเศรษฐกิจไปแบบประเมินค่าไม่ได้ เพราะหากประเมินเฉพาะงบประมาณแก้ปัญหาไฟใต้ในแต่ละปี รัฐบาลยังสูญเสียเงินงบประมาณไปร่วม 500,000 ล้านบาท
ไม่นับความเสียหายทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ยังไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้อย่างชัดเจน
20 ปีของการแก้ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ ปัจจุบันยังไม่มีข้อยุติ...
แม้จะมีนายกรัฐมนตรีมาแล้วถึง 8 คน
ผ่านการรัฐประหารมาถึง 2 ครั้ง
มีการเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว 7 ครั้ง
โดย 2 ใน 7 ครั้งถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้เป็นโมฆะ
ตลอด 20 ปีมีความพยายามที่จะเจรจาเพื่อสร้างสันติสุข ผ่านคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขชายแดนใต้มาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง และใช้หัวหน้าคณะพูดคุยเปลืองที่สุด เพราะจนถึงวันนี้ เปลี่ยนมาแล้วมากกว่า 5 คน
แต่การต่อสู้กันทั้งด้านความคิด การแสดงออก การโต้ตอบด้วยกระบวนการทางกฏหมาย และการใช้กำลังผ่านปฏิบัติการทางทหาร และปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธขนาดเล็ก ก็เกิดขึ้นต่อเนื่อง มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นอยู่กับบางช่วงเวลา
แต่วันนี้ที่ต้องหยิบยกเรื่องนี้มาเขียนแบบละเอียดอีกครั้ง และอาจต้องใช้พื้นที่คอลัมน์นี้หลายตอน เพื่อบอกเล่ารายละเอียด และความจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เพราะในช่วงเวลาปีสองปีนี้ เริ่มมีความเคลื่อนไหวบางอย่างที่แหลมคม ส่อเค้าที่จะสร้างเงื่อนไข เพื่อเปิดทางให้องค์กรต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงการแก้ปัญหาในพื้นที่

ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจมากที่สุด และเป็นความละเอียดอ่อน ที่อาจลุกลามขยายวงทางความคิดของผู้คนในพื้นที่ เป็นประเด็นความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกตำรวจสถานีตำรวจภูธร อำเภอสายบุรี ออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีด้านความมั่นคง
เมื่อข้อมูลที่ถูกสื่อสารออกมาผ่านทั้งนักการเมือง และสื่อหลายสำนัก กลับมีนัยยะประหนึ่งว่า
ข้อหาที่ถูกออกหมายเรียก เป็นข้อหาสืบเนื่องมาจากการจัดงานกิจกรรมแต่งชุดมลายู หลายคนถึงตั้งข้อสังเกตุว่า การสวมชุดมลายูเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฏหมายหรือไม่
สื่อบางสำนักยังย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ครั้งนั้นมีการออกนโยบายรัฐนิยม ห้ามชาวไทยที่นับถือศาสนาอิสลามนุ่งโสร่ง และห้ามคลุมฮิญาบ จนเกิดการชุมนุมประท้วงหลายครั้ง ภายใต้การนำของ อดุลย์ ณ สายบุรี หรือ ตนกูยะลา นาเซร์ อดีตสส.จังหวัดนราธิวาสในขณะนั้น และต่อมาตนกูยะลา นาเซร์ได้หลบหนีไปยังประเทศเพื่อนบ้านและได้ก่อตั้งขบวนการแนวร่วมแห่งชาติเพื่อปลดปล่อยปาตานี (Barisan Nasional Pempepasan Patani – BNPP)

ประเด็นนี้ หากเป็นจริง หากมีการตั้งข้อหาแกนนำที่ร่วมกันจัดกิจกรรมสวมชุดมลายู โดยข้อเท็จจริงของการกระทำความผิด มาจากประเด็นการชักชวนผู้คนในพื้นที่ให้มาร่วมกันสวมชุดมลายู นับว่า เป็นเรื่องที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง
แน่นอนว่า หากเป็นเช่นนั้น ความขัดแย้งในประเด็นนี้ย่อมมีโอกาสลุกลามบานปลายเป็นวงกว้าง
เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของหมายเรียกที่ออกโดยพนักงานสอบสวน สภ.สายบุรี เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2566 พบว่า เป็นหมายเรียกที่ระบุเพียงข้อกล่าวหาเท่านั้น โดยพนักงานสอบสวนตั้งข้อกล่าวหาแกนนำที่ร่วมกันจัดงานกิจกรรมการแต่งชุดมลายูในข้อหา
“ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือกระทำเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฏหมายแผ่นดิน อั้งยี่ ซ่องโจรฯ”
หมายเรียกที่ระบุเพียงข้อกล่าวหา โดยมิได้ระบุถึงพฤติกรรมการกระทำความผิดว่า การกระทำใดที่เข้าข่ายเป็นการร่วมกันกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา แน่นอนว่า มีโอกาสที่จะถูกสื่อสารออกไปให้เห็นว่า การจัดงาน การสวมชุดมลายู คือการกระทำที่เป็นพฤติกรรมแห่งความผิด
แน่นอนว่า เชื้อปะทุแห่งความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2478-2502 จากนโยบายรัฐนิยมที่ห้ามชาวไทยผู้นับถือศาสนาอิสลามสวมใส่ชุดมลายูในเวลานั้น ย่อมมีโอกาสปะทุขึ้นมาอีกครั้ง หากชุดข้อมูลการสื่อสาร ถูกสื่อออกไปอย่างคลาดเคลื่อน
แม้ที่ผ่านมากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในหรือ กอ.รมน.ภาค 4 จะพยายามชี้แจงว่า การออกหมายเรียกไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับการแต่งกายชุดมลายู และยืนยันว่า การแต่งกายชุดมลายูถือเป็นการส่งเสริมอัตลักษณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ส่วนการออกหมายเรียกเนื่องจากพบว่า ในงานมีกิจกรรมที่แอบแฝง และยังปรากฏธง BRN (ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี -- Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani) ในพื้นที่จัดกิจกรรม ตลอดจนมีการปลุกปั่นยุยง ให้สื่อไปถึงความหมายของการแบ่งแยกดินแดน

แต่ดูเหมือนความพยายามในการชี้แจงของกอ.รมน.ภาค 4 จะยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง เมื่อข้อมูลที่กระจายในวงกว้าง ทั้งจากความเคลื่อนไหวของนักการเมืองบางราย และสื่อหลายสำนักยังพยายามสื่อสารให้ออกไปในทิศทางที่มีการปิดกั้นการทำกิจกรรม มีการตั้งข้อหาแกนนำที่เชิญชวนให้มีการสวมชุดมลายู
การเผชิญหน้ากันทางความคิดในพื้นที่วันนี้ ยังสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดสงครามข้อมูล สงครามข่าวสาร ที่หากเดินเกมพลาด ก็มีโอกาสเปิดช่องให้องค์กรต่างประเทศที่รอจังหวะเข้ามาแทรกแซงการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมที่จะหยิบยกประเด็นอ่อนไหว และประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ขึ้นบนโต๊ะและยกระดับเป็นเวทีนานาชาติได้ทันที
หน่วยงานด้านความมั่นคงเคยต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ที่เคยตั้งฐานปฏิบัติการออกจากวัด ออกจากโรงเรียน เพราะสุ่มเสี่ยงต่อการดึงเด็กและศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทางการทหารมาแล้ว
ครั้งนี้หากยังเดินเกมพลาดอีก ไม่ชี้แจงประเด็นที่ละเอียดอ่อนให้กระจ่าง หรือยังคงใช้เกมกฏหมายเข้าดำเนินการกับกลุ่มแกนนำมากเกินไป อาจถึงขั้นต้องถอยอีกก้าว หากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนนานาชาติ สบช่องที่จะกระโจนเข้ามาเล่นอย่างเต็มตัว
วาทกรรม “แจ้งความข้อหาสวมชุดมลายู” ที่กำลังแพร่สะพัดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้รอบนี้ จึงหมิ่นเหม่เป็นอย่างยิ่งที่จะก้าวข้ามเส้นบางๆ อันเป็นเส้นบางๆ ระหว่างความ “เข้าใจผิด” หรือ “บิดเบือน”

ขณะเดียวกันการแจ้งข้อกล่าวหาในหลายข้อหามากเกินไป ก็อาจตกหลุมพรางลงไปในหลักการ “ฟ้องปิดปาก” หรือการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์ เพื่อต่อต้านการมีส่วนร่วมสาธารณะ (Strategic Lawsuits Against Public Participation SLAPPs)
เกมการต่อสู้ในพื้นที่นับจากนี้ จึงล้วนแต่เป็นก้าวย่างที่ต้องระมัดระวัง ทั้งหน่วยงานรัฐ สื่อ นักการเมือง และผู้คนในพื้นที่
ก่อนจะตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เข้ามาเติมไฟแห่งความขัดแย้งในพื้นที่ให้คุโชนมากขึ้น